ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 26 กุมภาพันธ์ 2565

ชาวเน็ตแชร์ "พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต" ที่ดูไบ สุดล้ำเปิดให้ยานอวกาศเข้าจอด

บรรดาชาวเน็ตตะลึง แห่แชร์คลิปวิดีโอเปิดตัวอาคาร "พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต" แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนครดูไบ ที่เปิดตัววันที่ 22-02-2022 สุดล้ำเปิดด้านบนออก ให้ยานอวกาศบินเข้าไปจอดข้างในได้

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 65 ทางการนครดูไบ แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต (The Museum of the Future) สถาปัตยกรรมรูปแบบงานศิลปะ ซึ่งกำลังเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนครดูไบด้วยรูปทรงอาคาร 7 ชั้นแบบไร้เสาที่สวยงามแปลกตา ตกแต่งด้วยตัวอักษรอาหรับ ความสูง 77 เมตร บนเนื้อที่ 30,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยแมทเทอร์ บิน ลาเฮจ ศิลปินชาวยูเออี

โดยพิพิธภัณฑ์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ตรงกับเลข 22.02.2022 และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่ 23 ก.พ.นี้ สนนราคาบัตรเข้าชมอยู่ที่ 145 ดีแรห์ม หรือประมาณ 1,200 บาทสำหรับเด็กและผู้สูงอายุเข้าชมฟรี ภายในจะจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีแห่งอนาคตของมนุษยชาติ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับบรรดานักประดิษฐ์ทั่วโลก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บรรดาชาวเน็ตต่างแชร์คลิปวิดีโอที่เว็บไซต์ Government of Dubai Media Office ของรัฐบาลดูไบ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเปิดตัวอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต เป็นภาพเหตุการณ์ที่แสดงให้เป็นถึงจินตนาการแห่งโลกอนาคต เมื่อยานอวกาศบินเข้ามาใกล้ตัวอาคาร ก่อนที่ส่วนบนของอาคารจะเปิดออกด้วยเทคโนโลยีกลไกล้ำสมัย เพื่อให้ยานอวกาศเข้าไปจอดด้านในได้ก่อนที่จะปิดกลับลงมาตามเดิม.


รู้จัก “พาลินโดรม” มหัศจรรย์ตัวเลข ตัวอักษร กับ 22022022

กระแสเลขพาลินโดรม (Palindrome Number) มาแรงอีกครั้งในวันนี้ ด้วยตัวเลข 22022022 ซึ่งหมายถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 ที่หลายคนโพสต์ตัวเลขนี้กันอย่างคึกคักกันในไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียของตัวเองวันนี้ ที่ใครพลาดอาจต้องรออีกหลายปี

ความมหัศจรรย์ของตัวเลขพาลินโดรมนี้ คือ เวลาเขียนหรืออ่านจากข้างหน้า หรืออ่านไล่ตัวเลขจากข้างหลัง ก็จะได้ตรงตัวเป๊ะๆ เดียวกัน หรือค่าเท่าเดิม ตรงกับความหมายของคำว่าพาลินโดรม Palindrome ที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คำว่า Palin หมายถึง อีกครั้ง ส่วน drome หมายถึง ทิศทาง อย่างเช่นเลข 8 หลัก เกี่ยวกับวันเวลา อย่างวันเดือนปีของวันนี้ 22022022 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า กับตัวเลข 03022030 ซึ่งหมายถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2030

นอกจากตัวเลข ยังมีคำพาลินโดรม (Palindrome Words) คำต่างๆ ที่มีตัวอักษรเขียนเรียงจากหน้าไปหลัง หรือไล่จากหลังไปหน้า ก็ยังคงได้ความหมายเดียวกัน เช่น คำว่า Level, Dad, Tenet, Madam, Radar หรือวลี ประโยคพาลินโดรม (Palindrome Phrase หรือ Sentences) เช่น Don’t nod! No lemon, no melon

นอกจากนี้ยังมีการอ่าน หรือเขียนอีกแบบหนึ่งที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้ข้อมูลไว้ในเพจว่า แบบแอมบิแกรม (Ambigram) คือรูปแบบที่อ่านออกเสียงได้เหมือนกันทั้งแบบปกติหน้าหลัง และแบบกลับหัว เช่น 8088 หรือคำว่า Noon ลักษณะการเขียนคำแบบพาลินโดรมในสมัยโบราณ ยังมีถ้อยคำในแบบเวทมนตร์คาถาอีกด้วย.


จัดสังฆทานด้วยตัวเอง 5 อย่าง พระได้ใช้ คนจัดได้บุญ

หลายคนมักกังวลเวลาจะแวะซื้อสังฆทานไปถวายพระ กลัวว่าจะได้ของไม่ดีบ้าง ของหมดอายุไปแล้วบ้าง หรือข้างในถังจะเป็นของที่พระจะไม่ได้ใช้และไม่ได้ประโยชน์หรือเปล่า วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์แนะการซื้อของจัดสังฆทานด้วยตัวเองอย่างง่าย ปลอดภัยไร้กังวล เพราะสามารถดูวันผลิด วันหมดอายุของสินค้าได้ด้วยตัวเอง และยังมีประโยชน์แบบสิบเต็มสิบอีกด้วย

สังฆทานใส่อะไรบ้าง

1. ยาสามัญประจำบ้าน ยาหม่อง ยาพารา ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ไอยาเบื้องต้นที่สามารถบรรเทาได้ในช่วงแรกที่เกิดอาการ

2. เครื่องนุ่งห่มพระสงฆ์ ผ้าไตรจีวร เสื้ออังสะ ผ้าขนหนูสีสุภาพ รองเท้าแตะ หน้ากากอนามัยสีสุภาพ

3. ของใช้ส่วนตัวพระสงฆ์ ใบมีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ยาสระผม ทิชชู่

4. เครื่องเขียน เช่นสมุด ปากกา ดินสอ ยางลบ

5. หนังสือธรรมะ สารคดีต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีของที่ไม่ควรนำไปถวายพระด้วย อย่างเช่น

สิ่งเสพติด เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารที่บรรจุโฟม อาหารกระป๋อง เครื่องดื่มแต่งกลิ่นสี

หมายเหตุ

- สิ่งของที่ซื้อต้องมีฉลากชัดเจนวันผลิตและวันหมดอายุ มี อย.ถูกต้อง

- เครื่องใช้ และกลุ่มผลิตภัณฑ์สารเคมีควรแยกกัน

- เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีประโยชน์


งานวิจัยเผย ออกกำลังกาย 90 นาที อาจเพิ่มการตอบสนองภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน

ทีมนักวิจัย เปิดเผยรายงานการศึกษาล่าสุด ระบุว่า การออกกำลังกายหลังได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโควิด-19 อาจช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไอโอวา สเตท เปิดเผยว่า พวกเขาได้ทำการทดลองโดยนำผู้ใหญ่จำนวน 70 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-87 ปี และหนูอีก 80 ตัว มาออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ หลังได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 พบว่า มีการตอบสนองของแอนติบอดีในระดับที่ดี และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ

ทีมนักวิจัย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ แต่ประสิทธิภาพดังกล่าวขึ้นอยู่กับลักษณะร่างกายของแต่ละคน

ในการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการทดลองแยกกัน โดยให้ทำการทดลองด้วยการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นระดับเบาไปจนถึงปานกลางเป็นเวลา 90 นาที ผ่านการออกไปเดินในรูปแบบการเดินเอาต์ดอร์ ปั่นจักรยาน และวิ่งจ็อกกิ้ง ผลปรากฏว่า การออกกำลังกายได้ช่วยเพิ่มการตอบสนองของแอนติบอดีต่อวัคซีนโควิด และไข้หวัดใหญ่ได้ดี

ดังนั้นแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่การออกกำลังกายจะไม่ส่งผลข้างเคียงใดๆ หลังได้รับวัคซีน และจากการทดลองเชื่อได้ว่า ในผู้ใหญ่ที่มีการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในระดับเบาถึงปานกลางเพียงหนึ่งเซสชัน ก็อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายได้แล้ว

อย่างไรก็ดี การศึกษาของทีมนักวิจัยครั้งนี้ เป็นแต่เพียงข้อมูลเบื้องต้น และมีความจำเป็นที่จะต้องทดสอบกับผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ถือเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า การมีร่างกายที่แข็งแรง การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองต่อวัคซีนได้ดี

ที่มา: CBS Boston, ScienceDirec


เช็กอาการติดโควิด-19 หนักแค่ไหนมีสิทธิเข้าโรงพยาบาล

เมื่อติดโควิด-19 มีเงื่อนไขต้องรอเช็กอาการว่าหนักแค่ไหนถึงจะมีสิทธิเข้าโรงพยาบาล กลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยมากขึ้น เพราะยอดผู้ป่วยติดโควิด-19 เริ่มกลับมาทะลุหลักหมื่นคนตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับไปน้อยกว่าหลักหมื่น แล้วในยุคของโอมิครอนระบาดเร็ว แต่ไม่รุนแรง กลุ่มไหนเสี่ยงที่จะติดโควิดบ้าง และเมื่อรู้ว่าเสี่ยงต้องปฏิบัติอย่างไร

ข้อแรกที่ต้องรู้ก่อนคือ เราเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิดหรือไม่ และควรปฏิบัติตัวอย่างไร

กรมควบคุมโรคอธิบายถึง ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงล่าสุด คือผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ชุดพีพีอี ตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่สัมผัส และใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่เข้าข่าย หรือยืนยันในวันเริ่มป่วย หรือภายใน 3 วันก่อนมีอาการ

หรือผู้ที่อยู่ใกล้ หรือพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ ที่เข้าข่าย หรือยืนยัน ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วย

หรืออยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก กับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที

5 ข้อปฏิบัติตัวเมื่อรู้ว่าอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด หรือเข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิด มีดังนี้

• กักตัวที่บ้าน 7 วัน ตรวจสอบอาการป่วยทุกวัน

• ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5-6 หลังเจอผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย

• หากตรวจ ATK แล้วติดเชื้อ ให้ลงทะเบียน โทร 1330 สปสช.เพื่อรับการดูแลกักตัวที่บ้าน

• จากนั้นสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน ระหว่างนี้ออกจากบ้านได้ถ้าจำเป็น ป้องกันตนเองแบบเต็มที่ ไม่ไปที่สาธารณะ เลี่ยงใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น

• ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังเจอผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย

อาการติดโควิด-19 หนักแค่ไหนมีสิทธิเข้าโรงพยาบาลรักษา

สำหรับเกณฑ์ที่รัฐจะพิจารณาว่า ติดโควิดแล้วอาการหนักแค่ไหนถึงจะส่งต่อเข้าโรงพยาบาล ยังคงยึดตามข้อมูลจากกรมการแพทย์ที่เคยระบุไว้ว่า กรณีผู้ติดโควิดอยู่ระหว่างการกักตัว และดูอาการที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) หรือ อยู่ในพื้นที่ที่ชุมชนจัดให้ (Community Isolation หรือ CI) หากมีอาการเหล่านี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ในการส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ดังนี้

• เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ในระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง

• ค่าออกซิเจน (Oxygen saturation) ต่ำกว่า 94% หายใจมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือหากหายใจมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที ควรติดต่อแพทย์ที่ดูแลในระบบ HI และ CI

• กลุ่มผู้ป่วย 608 คือผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการเปลี่ยนแปลง

• สำหรับผู้ป่วยเด็ก ที่มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือ ค่าออกซิเจน (ต่ำกว่า 94% หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็วเกินเกณฑ์อายุ) ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง