ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



หุ่นยนต์กับการช่วยพัฒนาสุขภาพจิตใจ

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้นายจ้างดำเนินการส่งเสริม ปกป้องสุขภาพจิตที่ดีในที่ทำงาน แต่การดำเนินการมักถูกจำกัดด้วยเรื่องทรัพยากรและบุคลากรไม่เพียงพอ การนำหุ่นยนต์มาทดแทนได้ตอบโจทย์ว่าช่วยแก้ไขช่องว่างนี้ แต่การศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่เชื่อมโยงกับสุขภาพจิตนั้นส่วนใหญ่มักทดลองในห้องปฏิบัติการ นักวิจัยคิดว่าต้องนำหุ่นยนต์ออกจากห้องทดลองและศึกษาว่ามันมีประโยชน์อย่างไรในโลกแห่งความเป็นจริง

ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษได้ทำการศึกษาในบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีโดยใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ฝึกสอนเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตในการทำงาน มีพนักงาน 26 คน เข้าร่วมทดสอบเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยแบ่งกลุ่มอยู่กับหุ่นยนต์ 2 แบบที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกอยู่กับหุ่นยนต์ “มิสตี” สูง 36 ซม. คล้ายของเล่น ส่วนอีกกลุ่มอยู่กับ “คิวที” หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์คล้ายเด็กสูงราว 90 ซม.

โดยทั้ง 2 แบบจะมีเสียง สีหน้าบนหน้าจอและระบบการสอนที่เหมือนกัน นักวิจัยพบว่าลักษณะทางกายภาพของหุ่นยนต์ส่งผลต่อวิธีที่ผู้เข้าร่วมวิจัย พนักงานที่อยู่กับ “มิสตี” เผยว่ารู้สึกผูกพันกับหุ่นยนต์ เพราะดูเรียบง่ายกว่า ทำให้มีความคาดหวังที่ต่ำกว่าและพูดคุยกับหุ่นยนต์ได้ง่ายกว่า ขณะพวกที่อยู่กับ “คิวที” พบว่าความคาดหวังของพนักงานไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากคาดหวังว่าหุ่นยนต์จะมีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ แต่ไม่เป็นไปตามที่คาดเลยไม่ค่อยประทับใจนัก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความแตกต่างระหว่างความคาดหวังและความเป็นจริง นักวิจัยมองว่าศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในที่ทำงาน การพูดสิ่งต่างๆออกมาดังๆ แม้กระทั่งกับหุ่นยนต์ก็มีประโยชน์ต่อการพยายามปรับปรุงสภาพจิตใจ.

Credit : University of Cambridge


เปิดตัว 'นางสงกรานต์ 2566' ทรงนามว่า 'กิมิทาเทวี' " มีมหิงสาเป็นพาหนะ

เปิดตัว 'นางสงกรานต์ 2566' ทรงนามว่า 'กิมิทาเทวี' ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ออก ประกาศสงกรานต์ ปี 2566 ซึ่งยึดตามฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันมหาสงกรานต์" ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที

นางสงกรานต์ 2566 ทรงนามว่า "กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ

วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย, วันพุธ เป็น อธิบดี, วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ และวันศุกร์ ยังเป็น โลกาวินาศ

สงกรานต์ 2566 เป็นวันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว

เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี


นอนหลับอย่างไร? ให้มีสุขภาพที่ดี

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะควรนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

17 มี.ค.66 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การนอนหลับที่ดีเป็นผลดีต่อสุขภาพ เราจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญของการนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ การนอนหลับที่ดีต้องคำนึงถึง

1. ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมตามวัย ดังนี้ ทารก 0-2 เดือน ต้องการนอน 12-18 ชม., ทารก 3-11 เดือน ต้องการนอน 14-15 ชม., เด็กต้องการนอน 11-12 ชม., วัยรุ่นต้องการนอน 8-9 ชม., ผู้ใหญ่และวัยสูงอายุต้องการนอน 7-8 ชม., สตรีมีครรภ์ต้องการนอน อย่างน้อย 8 ชม.ขึ้นไป

2. คุณภาพการนอนหลับที่ดีไม่ถูกรบกวนให้ตื่นระหว่างหลับ การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ จะส่งผลดีต่อร่างกายได้แก่ การสร้างภูมิคุ้มกันและควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย, เพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ, ลดการหลั่งของฮอร์โมนที่เพิ่มการย่อยสลายพลังงาน เพื่อเก็บสงวนพลังงานไว้ใช้ยามจำเป็น ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน, ช่วยให้ความทรงจำและการเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดีขึ้น

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนอนหลับที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ หากเรานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบดังนี้

1. ผลกระทบระยะสั้น ได้แก่ มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน อารมณ์แปรปรวน มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกช้าลง มีอาการวูบหลับใน มีโอกาสเกิดอันตรายจากการขับรถหรือการทำงานที่ใช้ความระมัดระวังสูง มีความผิดพลาดในการตัดสินใจ สมาธิความจำไม่ดีส่งผลต่อการเรียน การทำงานในแต่ละวัน

2. ผลกระทบระยะยาว จะเกิดภาวะเจ็บป่วยง่าย โรคประจำตัวที่เป็นอยู่อาจกำเริบหรือควบคุมได้ยาก ดังนั้นการนอนหลับให้มีสุขภาพที่ดี เราจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อสุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับ (good sleep hygiene) 10 ข้อ ได้แก่

1.ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด รวมทั้งควรนอนหลับในระยะเวลาที่เหมาะสมกับช่วงอายุ

2.ไม่แนะนำให้นอนงีบกลางวันนานเกินกว่า 30 นาที และไม่งีบหลับหลังบ่าย 3 โมง (เฉพาะในผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ควรนอนกลางวันตามปกติ)

3.หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน

4.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน

5. ควรผ่อนคลาย เพื่อลดความวิตกกังวลก่อนนอน

6.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใกล้เวลานอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน

7. รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน หลีกเลี่ยงแสงสว่างตอนกลางคืน

8.ควรใช้เตียงนอนเพื่อการนอนเท่านั้น

9.ห้องนอนและเตียงนอนควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสมเย็นสบาย ระบายอากาศดี ไม่ควรมีแสงเล็ดลอดเข้ามาและไม่ควรมีเสียงดัง

10.หากขึ้นเตียงนอนแล้วนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกจากที่นอน ไปทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่น และเมื่อรู้สึกง่วงจัดค่อยกลับมานอนใหม่อีกครั้ง


การหกล้มในผู้สูงอายุ-ภัยเงียบในครอบครัว

สิ่งหนึ่งที่เกิดในหลายประเทศทั่วโลกคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคืออัตราการเกิดต่ำ และผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 18.94% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ทำให้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุผุดขึ้นจำนวนมาก แม้กระทั่งในช่วงของการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญ ชงนโยบายเพื่อสวัสดิการผู้สูงอายุหลาย ๆ อย่างออกมา อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ร่างกายเสื่อมถอยลงปัญหาสุขภาพรุมเร้าทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในตัวเอง และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม อย่างการหกล้มในผู้สูงอายุที่พบมาก โดยข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าคนไทย อายุเกิน 60 ปี เสียชีวิตจากการหกล้มราว 1,600 คนต่อปี เรียกว่ามากกว่าอุบัติเหตุจากท้องถนน โดยผู้ชาย 60% หกล้มนอกบ้าน ผู้หญิง 55% หกล้มในบ้าน เพศหญิงหกล้มมากกว่าเพศชาย 1.6 เท่า

สาเหตุมาจากปัจจัยภายใน เช่น หน้ามืด เวียนหัว ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เรียกว่าเป็นปัจจัยภายในจากสุขภาพ 80% ปัจจัยจากภายนอก 20% อาการหลังหกล้มที่พบคือศีรษะแตก เลือดออกในสมอง ฟกช้ำ ปวดหลังรุนแรง อาจถึงกระดูกหัก บางส่วนต้องนั่งรถเข็น และ 20% ของผู้สูงอายุ หกล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก มีโอกาสเสียชีวิตได้ใน 1 ปี

“พญ.เมธินี ไหมแพง” รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยการหกล้มของผู้สูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพของร่างกายจากอายุที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การวางข้าวของกีดขวางทางเดิน พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การใช้ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ในส่วนของการแก้ปัญหา สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการฝึกเดินที่ถูกต้อง สวมรองเท้าที่เหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว การสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดี การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือเมื่อต้องใช้ยาควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) ไม้เท้า

การปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การค่อย ๆ ลุกยืนอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตกในท่ายืนหรือหน้ามืด การหาราวสำหรับเกาะเดิน ประเมินการใช้ยา หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้มแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ปัญหานี้ของผู้สูงอายุ ทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องเตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจฉุกเฉินจากการหกล้ม รวมถึงปัญหาผลกระทบระยะยาว

ในส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพ ทำแคมเปญ “ล้มหนึ่งครั้ง ลามเกินหนึ่งเจ็บ” เพื่อรองรับกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังและอุบัติเหตุได้สูงกว่ากลุ่มอื่น โดยต้องมีทีมแพทย์และบุคลากรสหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุจากการล้มตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูก สมอง หัวใจ และหลอดเลือด แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อหากเกิดอุบัติเหตุจะรีบวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด อาการทุเลาได้รับการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรม “รุกก่อนล้ม…ป้องกันก่อนลาม” ให้ความรู้และประเมินความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มและจัดเวิร์กช็อป “ล้มอย่างไรให้ปลอดภัย” ให้กับประชาชนที่สนใจ ซึ่งที่ต้องจัดเวิร์กช็อปเพื่อให้ความรู้ อวัยวะของเรามีความสัมพันธ์กัน เมื่อบาดเจ็บจุดหนึ่งอาจส่งผลต่ออวัยวะอื่น เช่น ล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก หรือศีรษะแตกเลือดออกในสมองนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ นอนติดเตียง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลตั้งแต่นาทีแรกที่เกิดอุบัติเหตุ

พญ.เมธินี กล่าวต่อว่า การตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุเฉพาะก็สำคัญ เช่น ชุดตรวจสุขภาพสมอง หัวใจ ชุดประเมินความเสี่ยงกระดูกพรุน ชุดตรวจประเมินความเสี่ยงล้มในผู้สูงวัย พร้อมให้ข้อมูลสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ หรือเตรียมตัวเข้าการเป็นผู้สูงวัย ใน bangkokhospital.com/silver-age ตลอดจน facebook.com/BangkokHospital และ Social Media อื่น ๆ ได้ที่ linktr.ee/bangkok hospital หรือฉุกเฉิน โทร. 1724

การเตรียมตัวรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งตัวผู้สูงอายุเองทั้งบุตรหลานเองต้องร่วมกันทำความเข้าใจ เพื่อความสุขในครอบครัว แต่ปัญหาที่จะตามมาต่อไป จากที่มีอัตราการเกิดต่ำคือจะมีผู้สูงอายุที่เป็นโสดมากขึ้น ตรงนี้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองควรคิดนโยบายอะไรสำหรับผู้สูงอายุที่จะต้องอยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น.

อภิวรรณ เสาเวียง...


กรมการแพทย์แผนไทยฯ ประกาศ 15 สมุนไพรเป็น Herbal Champions จ่อตีตลาดโลก

21 มี.ค.2566 - กรมการแพทย์แผนไทยฯประกาศ “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า วางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ และกลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ บัวบก มะขามป้อม ไพล ขิง กระชาย ว่านหางจระเข้ กวาวเครือขาว มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระท่อม กัญชง และกัญชา

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากรายงานของ Euromonitor International แสดงให้เห็นว่า มูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีขนาดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี จัดเป็นประเทศที่มีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก (รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี และไต้หวัน) ซึ่งมั่นใจว่าสมุนไพร Herbal Championsทั้ง 15 รายการ ที่ประกาศไปนี้จะช่วยขยายตลาดสมุนไพรไทยในเวทีโลกได้ ทั้งนี้สมุนไพรหลายรายการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 รายการแรก (ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ) มีความต้องการในตลาดโลกอยู่แล้ว

“ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรที่นิยมแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ มีสรรพคุณทางยาโดดเด่นด้านระบบทางเดินอาหาร มีศักยภาพเติบโตสูง มูลค่าตลาดหลักหมื่นล้านบาท มีข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตลาดโลกมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชันถึง 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออกสูงสุด 225.54 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 61.5% การนำเข้ามีมูลค่า 382.96 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐอเมริกานำเข้าสูงสุด 62.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.4% ส่วนตลาดประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชัน 2.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้นชันลำดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.8% ของตลาดส่งออกทั้งหมดแม้ว่าปัจจุบัน ไทยจะมีราคาส่งออกขมิ้นชันต่อหน่วย 2,244 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าราคาต่อหน่วยของโลก (1,612 เหรียญสหรัฐ/ตัน) แต่ไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาและเพิ่มมูลค่าขมิ้นชันได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเกษตร และการแปรรูปขมิ้นชัน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของขมิ้นชันในตลาดโลกยังมีอีกมาก

“ฟ้าทะลายโจร”เป็นยาสมุนไพรที่ถูกใช้กันมายาวนานและแพร่หลายในหลายประเทศทั่วทวีปเอเชีย มีสรรพคุณโดดเด่นด้านการรักษาอาการหวัด อาการเจ็บคอ และอาการไอ โดยระยะที่ผ่านมาเป็นสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ตลาดของยาฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ The Global Industry Research รายงานมูลค่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรในตลาดโลก ปี 2022 พบว่ามีมูลค่า 164.18 ล้านเหรียญสหรัฐ

และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 331.01 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2028 โดยเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรจะยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการผลักดัน ฟ้าทะลายโจรให้เป็นสมุนไพรที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“กระชายดำ” หรือโสมไทย (Thai Ginseng) จัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย แม้จะยังเป็นที่รู้จักในประเทศไทยไม่มากนัก แต่กลับเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ปัจจุบันตลาดในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระชายดำอยู่หลากหลาย อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟผสมกระชายดำ อาหารเสริม ยาแผนโบราณ เป็นต้น สรรพคุณหลักของกระชายดำคือการเพิ่มสมรรถนะทางกาย ทำให้สดชื่นและสามารถออกกำลังได้นานขึ้น จึงมีแนวโน้มถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับนักกีฬาและสำหรับผู้สูงอายุ

จากข้อมูลสถิติการนำเข้าส่งออกของกรมศุลกากรระหว่างปี 2559-2564 พบว่าประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบกระชายดำ 172 ล้านบาท และสารสกัดกระชายดำ 44.5 ล้านบาท ในขณะที่ Future Market Insights (FMI) มีการประเมินความต้องการตลาดของสารกลุ่มฟลาโวน (flavones) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบมากในกระชายดำ มีมูลค่าสูงถึง 12.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2031 ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนากระชายดำอย่างจริงจังเพื่อสร้างชื่อเสียงและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป

ปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติโดย 6 กระทรวงหลักกล่าวคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายส่งเสริมสมุนไพร herbal champions โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตสมุนไพร (เกษตรกร) และ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร (SME) ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ช่วยผลักดันจากการขายส่งวัตถุดิบเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่าสูง เช่น การแปรรูปเป็นสารสกัด ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง เป็นต้น การตรวจรับรองคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนข้อมูลการศึกษาวิจัยต่างๆเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ และการส่งเสริม ด้านการตลาด เน้นผลักดันในเชิงรุกทั้งในรูปแบบ Offline และ Online

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครขอรับสิทธิ์การส่งเสริมการประกอบการภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 สามารถเข้าไปแสดงความจำนงได้ที่เว็บไซด์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกดเลือกขอรับสิทธิ์และใช้งานระบบส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร (https://www.dtam.moph.go.th/index.php?lang=th) โดยท่านจะได้รับใบรับรองจากระบบภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้ลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสามารถนำใบรับรองดังกล่าวไปใช้เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้ภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562