ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ยืนยัน “ฟอสซิลรอยเท้า” ในฮามี่เป็นของ “เทโรพอด” เคยอยู่บนโลก 120 ล้านปีก่อน

– ซินหัว รายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนยืนยันว่า ฟอสซิลรอยเท้า ที่ค้นพบในเมืองฮามี่ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์กินเนื้อที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อมากกว่า 120 ล้านปีก่อน

คณะวิจัยนำโดยสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ค้นพบรอยเท้าขนาดเล็กทั้งหมด 9 รอย บริเวณ “แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ในแอ่งถู่ฮา-แอ่งฮามี่” ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

การประเมินจากความยาวของรอยเท้าไดโนเสาร์เหล่านี้พบว่ามีความสูงของสะโพกราว 65 เซนติเมตร ลำตัวยาว 171 เซนติเมตร และน้ำหนัก 30 กิโลกรัม บ่งชี้ว่ารอยเท้าเกิดจากไดโนเสาร์กลุ่ม “เทโรพอด” ขนาดเล็ก และสรุปว่าน่าจะเหยียบทิ้งไว้ตามแนวชายฝั่งทะเลสาบน้ำตื้น หลังจากศึกษาร่องรอยของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โครงสร้างเชิงตะกอน และชั้นหินในพื้นที่ที่ค้นพบรอยเท้าแล้ว

ทีมวิจัยยังค้นพบรอยเท้าสัตว์มีกระดูกสันหลังมากมายและหลากหลายในเมืองฮามี่เป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงรอยเท้าของไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดและกลุ่มซอโรพอด นกและไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรซอร์

นายหวัง เสี่ยวหลิน นักวิจัยผู้นำการศึกษานี้ กล่าวว่าฟอสซิลรอยเท้าสามารถมอบข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางนิเวศวิทยาที่ฟอสซิลโครงกระดูกไม่สามารถให้ได้ ทั้งยังมอบเบาะแสคุณลักษณะอื่นๆ ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ทิ้งรอยเท้าไว้ เช่น ความเร็วของการเคลื่อนที่ พฤติกรรมการล่า และสภาพแวดล้อม นอกเหนือจากชนิด ความสูงสะโพก ความยาวลำตัว และน้ำหนักตัว

นายหวังเสริมว่าการค้นพบเหล่านี้เป็นหลักฐานทางตรงแสดงการมีอยู่ของไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดภายในอาณาจักรสัตว์กลุ่มเทอร์โรซอร์ของเมืองฮามี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีฟอสซิลสัตว์กลุ่มเทอร์โรซอร์มากที่สุดในโลก

พร้อมทิ้งท้ายว่ามีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ใกล้กับแห่ลงรอยเท้าเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองฟอสซิลสำคัญเหล่าและเป็นประตูสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานบินได้อันลึกลับที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนโลก


จาก'ไมโครพลาสติ'สู่งานศิลปะรางวัลUOB

ไมโครพลาสติกจำนวนมหาศาลปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ภูเขา ทะเล ไปจนถึงธารน้ำแข็ง ชยะไมโครพลาสติกนี้ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ในเวลาเดียวกันกลับไม่มีการรายงานถึงเรื่องนี้กันมากนัก เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย มอบรางวัลชนะเลิศการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566 ประเภทศิลปินมืออาชีพแก่นางสาวปรัชญา เจริญสุข อายุ 26 ปี จากผลงานเทคนิคสื่อผสมบนผ้าใบ ”ปากน้ำชุมพร” ซึ่งศิลปินนำเศษไมโครพลาสติกนับหมื่นชิ้นเปลี่ยนให้กลายเป็นงานศิลปะ ตีแผ่ข้อเท็จจริงและอันตรายของไมโครพลาสติก ผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์

’ปากน้ำชุมพร’ ใช้ไมโครพลาสติกทำงานศิลปะสื่อภัยเงียบ

นางสาวปรัชญา เจริญสุข ศิลปินหญิง กล่าวว่า มีประสบการณ์ทำงานศิลปะจากขยะทะเลมา 4 ปี แต่ใช้ขยะชิ้นใหญ่ทำงานศิลปะ ก่อนจะเห็นข่าวพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูไทย รู้สึกสะเทือนใจอยากส่งต่อความรู้สึกนี้ผ่านการสร้างสรรค์ผลงาน” ปากน้ำชุมพร” เลือกโลเกชั่นปากน้ำชุมพร เพราะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนและมีคูคลองไหลลงสู่ทะเล ผลงานเป็นการสำรวจร่องรอยที่มนุษย์ทิ้งไว้ในปัจจุบันผ่านไมโครพลาสติกที่ร่อนจากทรายชายหาดในบ้านเกิดของตนเพื่อเก็บ ร่อน ทำการคัดแยกแยกไมโครพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และนำมาติดเรียงเป็นภาพมุมสูงปากน้ำชุมพร ซึ่งมีทีมงานเป็นพ่อกับแม่ช่วยร่อนเศษไมโครพลาสติกด้วย ตนใช้เวลากว่า 2 เดือน สร้างงานชิ้นนี้ หวังให้งานศิลปะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม

“ ผลงานชิ้นนี้ทำให้คนรับรู้ปริมาณไมโครพลาสติกและแจ้งให้ทราบว่า ตอนนี้มีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในสภาพแวดล้อมมหาศาล ตั้งใจใช้งานศิลป์สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายที่มองไม่เห็น ทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการขยะที่ไม่ดีพอของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง วิถีชีวิตของชุมชนที่ก่อขยะครัวเรือนเล็ดลอดลงสู่ทะเล สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับจะนำไปต่อยอดขยะพลาสติกที่เหลือจากการทำงานศิลปะ มีแนวคิดจะนำกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ขอบคุณธนาคารยูโอบีที่จัดเวทีประกวดงานศิลปะ เปิดโอกาสให้ศิลปินได้พัฒนาและต่อยอด ส่งเสริมให้ศิลปินเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นต่อไปอีกด้วย “ ปรัชญา ศิลปินอิสระย้ำ

บรรยากาศพิธีมอบรางวัลจิตรกรรมยูโอบี 2566

ด้าน นายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ผลงานชนะเลิศของปรัชญา กระตุ้นความนึกคิดให้เห็นถึงปัญหาไมโครพลาสติกที่อยู่ใกล้ตัวเรา การใช้ไมโครพลาสติกเป็นส่วนสำคัญสร้างงานได้สื่อสารข้อความที่กระทบใจผู้ชมได้อย่างดี ย้ำให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เช่นเดียวกับยูโอบีมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในตลาดอาเซียน ในฐานะธนาคารที่มีเครือข่ายครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาค เราพร้อมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับเพื่อนพนักงาน ลูกค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ผู้บริหาร UOB และ ผู้บริหาร สศร. กับ2 ศิลปินรางวัลชนะเลิศ

สำหรับคณะกรรมการตัดสินจิตรกรรมยูโอบี ปี66 ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการตัดสิน อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ , ลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการและเลขานุการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ ศ.เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทัศนศิลป์

สำหรับรางวัลชนะเลิศ UOB Painting of the Year ประเภทศิลปินอาชีพ นางสาวปรัชญา เจริญสุข ได้รับเงินรางวัล 750,000 บาท และจะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าแข่งขันกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม เพื่อชิงรางวัลระดับภูมิภาค UOB Southeast Asian Painting of the Year ประจำปี 2566 และโอกาสที่จะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเป็นศิลปินในพำนัก (artist in residence) เป็นเวลา 1 เดือน ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่น ได้แก่ นายสันติภาพ เพ็งสวย คณะครุศาสตร์สาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 22 ปี จากผลงาน “Joy” ด้วยเทคนิคสื่อผสมบนผ้าใบ ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ศิลปะในห้องเรียน

ผลงาน “Joy” ด้วยเทคนิคสื่อผสมบนผ้าใบ

นายสันติภาพ กล่าวว่า ตอนส่งผลงานประกวดไม่ได้คาดหวังรางวัล แต่อยากทำงานแนวใหม่ๆ เน้นแนวคิดและกระบวนการสร้างงาน ผลงานชิ้นนี้เกี่ยวกับการเติมเต็มความสุขให้กับน้องๆ ใน ร.ร.ขยายโอกาส ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตนเมื่อครั้งมีโอกาสเป็นครูฝึกประสบการณ์วิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเผชิญปัญหาด้านขาดแคลนอุปกรณ์และข้อจำกัด ทำให้ตนต้องหาวัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่มาประยุกต์ใช้สร้างสื่อการเรียนการสอนให้ได้ทั้งความรู้ ความสุขและความสนุกสนานมาสู่นักเรียน

“ ผมมีความสุขและรู้สึกอบอุ่นที่กิจกรรมต่างๆในชั้นเรียนศิลปะเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานศิลปะชิ้นนี้ อยากให้มีเวทีประกวดจิตรกรรมยูโอบีต่อเนื่อง ช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่และผู้ที่ชื่นชอบศิลปะได้แสดงความสามารถ “ แชมป์ศิลปินหน้าใหม่กล่าว

สนใจชมนิทรรศการจิตรกรรมยูโอบี ปี 2566 ผลงานจะจัดแสดงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 12- 29 ต.ค. 2566 จากนั้นจะไปจัดแสดงชั้น 1 อาคารยูโอบี พลาซา กรุงเทพ วันที่ 30 ต.ค.66 – 5 ม.ค. 67 ชมฟรี


ซากเมืองเก่าแห่ง “เจริโค” ในเวสต์แบงก์ มรดกโลกแห่งใหม่ของยูเนสโก

ในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการประกาศให้ซากเมืองเก่าบนเนินเขาเทล เอส สุลต่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลุมขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองเจริโค ของเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์ ขึ้นบัญชีเป็น “มรดกโลก”

โดยซากเมืองเก่าดังกล่าว ไม่ค่อยเป็นที่สนใจของผู้คนมากนัก เนื่องจากซ่อนตัวอยู่บริเวณชายขอบเมืองเจริโค กระทั่งมีการขุดค้นพบหลักฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนที่อยู่อาศัยเมื่อราว 10,000 ปีก่อน และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก โดยยูเนสโก

หลังการประกาศ บรรดาชาวบ้านต่างพากันแสดงความยินดี ที่ซากเมืองเก่าแห่งนี้ ได้รับการรับรองจากองค์กรระดับโลก

อับดุลคารี ไซเดอร์ นายกเทศมนตรีเมืองเจริโค บอกว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่รู้สึกได้ว่า มีความยุติธรรมบนโลกแห่งนี้ และหวังว่า การประกาศให้ซากเมืองเก่าในเมืองเจริโคเป็นมรดกโลก จะส่งผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยว

ทั้งนี้ เมืองเจริโค ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ มีโบราณสถานมากมาย รวมถึงพระราชวังฮิชาม ซึ่งเป็นสถานที่ของชาวอิสลามในยุคแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์หวังว่า จะได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกแห่งต่อไปของยูเนสโก

นอกจากนี้ ก็ยังมีอารามที่ตั้งอยู่บนภูเขาแห่งการผจญ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลว่า มีซาตานมาล่อล่วงผจญพระเยซูว่า จะมอบโลกให้ปกครอง และท้าทายให้ทรงกระโดดลงไป

และยังมีโบราณสถานสำคัญในพระคัมภีร์ กระจายอยู่ไปทั่วเมือง

แต่แม้ว่าเมืองเจริโค จะเป็นเมืองที่มีโบราณสถานมากมาย หากแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็น้อยมาก

ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โรงแรมในเมืองเจริโค มีนักท่องเที่ยวเข้าพักเพียง 32,535 คน เปรียบเทียบกับเมืองเบธเลเฮม ของเวสต์แบงก์ ที่มีนักท่องเที่ยวถึง 221,377 คน

ดังนั้น การที่ยูเนสโกประกาศให้ซากเมืองเก่าแห่งเมืองเจริโค เป็นมรดกโลก ก็น่าจะทำให้เมืองเจริโค เป็นที่รู้จักของชาวโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เขตเวสต์แบงก์ อยู่ในความยึดครองของอิสราเอล และตอนนี้ สถานการณ์ระหว่างฮามาส ในฉนวนกาซา กับอิสราเอล ก็ดูยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง


อียิปต์ขุดพบ “สุสาน” เก่ากว่า 3,400 ปี เจอกระดาษปาปิรุส-บันทึกโยง “คัมภีร์มรณะ”

อียิปต์ขุดพบ “สุสาน” – ซินหัว รายงานจากการเปิดเผยของกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุของอียิปต์ว่าค้นพบสุสานจาก “ยุคอาณาจักรใหม่” ของอียิปต์โบราณ บริเวณแหล่งฝังศพทูนา เอล-เกเบล เขตผู้ว่าการมินยาทางตอนใต้ของประเทศ

นายมอสตาฟา วาซิริ เลขาธิการสภาสูงด้านโบราณคดีแห่งอียิปต์ ระบุว่าสุสานนี้มีอายุราว 3,400 ปี เป็นของขุนนางอาวุโสและปุโรหิต ถูกค้นพบในพื้นที่อัล-กูไรฟา โดยทีมภารกิจโบราณคดีของอียิปต์ที่นำโดยสภา ประกอบด้วยหลุมศพหินตัดจำนวนมาก และวัตถุอื่นๆ อีกนับร้อย

นายวาซิริเสริมว่าเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบสุสานจากยุคอาณาจักรใหม่ในดินแดนที่ 15 ของอียิปต์โบราณตอนบน ภูมิภาคอันเป็นที่รู้จักจากกลุ่มสุสานของยุคอาณาจักรเก่า ยุคกลางที่ 1 และยุคอาณาจักรกลาง รวมถึงเป็นการค้นพบหลังจากพยายามขุดสำรวจมานาน 7 ปี

ส่วนหนึ่งของวัตถุโบราณที่ค้นพบจากสุสานแห่งนี้เป็น “กระดาษปาปิรุส” สภาพสมบูรณ์ดี ความยาวราว 16-18 เมตร จากการศึกษาเบื้องต้นพบการบันทึกข้อความเกี่ยวกับ “คัมภีร์มรณะ” (Book of the Dead) และโลงศพไม้แกะสลักทาสีของลูกสาวของ “มหาปุโรหิตดเจฮูติ” (Djehuti) เทพเจ้าอียิปต์โบราณ

นอกจากนี้ทีมภารกิจโบราณคดีของอียิปต์ซึ่งขุดสำรวจพื้นที่อัล-กูไรฟา เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 ยังค้นพบเครื่องราง เครื่องประดับ หิน โลงไม้บรรจุมัมมี่ รวมถึงรูปแกะสลักขนาดเล็ก “อูชับติ” (Ushabti) ทำจากดินเผาและไม้ด้วย


'ออกพรรษา 2566' หยุดไหม ตรงกับวันอะไร เปิดสิ่งควรทำ วันออกพรรษา

'ออกพรรษา 2566' หยุดไหม ตรงกับวันอะไร เปิดประวัติความเป็นมา 'วันออกพรรษา' และสิ่งที่ควรปฏิบัติ เป็นที่มาของประเพณี ตักบาตรเทโว

“วันออกพรรษา” หรือ “วันปวารณาออกพรรษา” นับเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือน ของพระสงฆ์ โดยตามปกติแล้ววันออกพรรษา จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยวัน “ออกพรรษา 2566” ปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. 2566 และไม่ถือเป็นวันหยุด...วันออกพรรษา มีความสำคัญอย่างไรกับพุทธศาสนิกชน และเรามักจะทำบุญอย่างไรใน วันออกพรรษา ไปหาคำตอบกัน

ออกพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาของพระเป็นเวลา 3 เดือน หรือพูดง่ายๆ ว่า วันสุดท้ายที่ต้องอยู่จำพรรษาในแต่ละปี และพระสงฆ์จะต้องอยู่ให้ครบอีกหนึ่งราตรี จึงจะครบถ้วนบริบูรณ์ ในวันออกพรรษานี้ พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุ ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยจิตที่เมตตา เพราะในช่วงระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย

ซึ่งตามพระพุทธบัญญัติแล้ว หลังจาก “ออกพรรษา” พระสงฆ์มีสิทธิที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ

ไปไหนไม่ต้องบอกลา

ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด

ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้

มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้นออกไปอีก 4 เดือน

“วันออกพรรษา” ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์

ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนา