ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



นักบินอวกาศ "เสินโจว-16" ของจีนกลับถึงโลกอย่างปลอดภัย

นักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-16 เดินทางกลับถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัย หลังจากปฏิบัติภารกิจเป็นเวลายาวนาน 5 เดือน ในสถานีอวกาศของจีน

แคปซูลยานอวกาศเสินโจว-16 เดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย หลังลงจอดที่จุดลงจอดตงเฟิง ได้สำเร็จเมื่อเวลา 08.11 น. ของวันนี้ (31 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยทีมแพทย์ยืนยันว่านักบินอวกาศทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างมากของภารกิจในอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเป็นครั้งแรก หลังจากที่สถานีอวกาศจีนเข้าสู่ขั้นตอนการใช้งานและการพัฒนา และอยู่ในอวกาศนาน 154 วัน

จากข้อมูลขององค์การอวกาศจีน นักบินอวกาศ 3 คน ในภารกิจเสินโจว-16 ที่ประกอบด้วย จิง ไห่เผิง, จู หยางจู และกุ้ย ไห่เฉ่า ออกจากแคปซูลอย่างปลอดภัยและราบรื่นภายในเวลา 09.10 น. หลังจากออกจากแคปซูลส่งคืนแล้ว นายจิง ไห่เผิง หัวหน้าทีมนักบินอวกาศได้กล่าวถึงภารกิจขณะอยู่ในอวกาศว่า เขามีความสุขและประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่

จู หยางจู หนึ่งในลูกเรือเสินโจว-16 ซึ่งเข้าร่วมภารกิจในฐานะวิศวกรการบินอวกาศคนแรกของจีน กล่าวหลังจากอพยพออกจากแคปซูลส่งคืนว่าเขาหวังว่าจะฟื้นตัวเร็วๆ นี้เพื่อเข้าร่วมภารกิจอวกาศในอนาคตอีกครั้ง

องค์การอวกาศจีนกล่าวว่า ภารกิจดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ได้ผ่านการประเมินการบินและการทดสอบภาคปฏิบัติระหว่างปฏิบัติภารกิจ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาโครงการและวิทยาศาสตร์อวกาศขนาดใหญ่ในอนาคต

ยานอวกาศเสินโจว-16 ถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน และเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศจีน และอยู่ในวงโคจรรอบโลกเป็นเวลา 154 วัน ซึ่งทำภารกิจการทดลองทางวิทยาศาสตร์ 70 รายการ และออกไปท่องอวกาศรวมแล้วเกือบ 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ ได้มีนักบินอวกาศชุดใหม่ ได้แก่ ถัง หงโป, ถัง เซิ่งเจี๋ย และเจียง ซินหลิน ได้เดินทางไปสับเปลี่ยนพวกเขาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยภารกิจเสินโจว-17 เข้าจอดเทียบท่าสถานีอวกาศในวันที่ 26 ต.ค. และส่งมอบภารกิจในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และจะปฏิบัติภารกิจทดลองทางวิทยาศาสตร์และซ่อมแซมความเสียหายเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับสถานีอวกาศ

ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจแรกที่มีมนุษย์ควบคุมสำหรับการประยุกต์ใช้และการพัฒนาสถานีอวกาศจีน ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างนักบินอวกาศและเจ้าหน้าที่วิจัยภาคพื้นดิน ทำให้มีการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศจำนวนมากในด้านต่างๆ เช่น การยศาสตร์ เวชศาสตร์อวกาศ นิเวศวิทยาสิ่งมีชีวิต เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ของไหล และเทคโนโลยีอวกาศ ภารกิจครั้งนี้ยังถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตในอวกาศและการวิจัยของมนุษย์ ฟิสิกส์แรงโน้มถ่วงต่ำ และเทคโนโลยีอวกาศใหม่ๆ.


โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงวัย ป้องกันและรักษาได้หรือไม่

โรคกระดูกพรุน เป็นหนึ่งในโรคภัยที่มักพบเจอได้ในผู้สูงอายุ และส่งผลกระทบร้ายแรงได้หากประสบอุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม ทำให้กระดูกหักได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากมวลกระดูกบางลง แต่โรคกระดูกพรุนก็สามารถป้องกันและรักษาได้อย่างถูกวิธีเช่นกัน

โรคกระดูกพรุน คืออะไร ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง

โรคกระดูกพรุนมักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากการที่มวลกระดูกในร่างกายลดลง ส่งผลให้กระดูกบางลงและไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ถึงขั้นที่ว่าแค่ล้มเบาๆ หรือยกของหนักก็ทำให้กระดูกหักได้ พญ.อติพร เทอดโยธิน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิมุต ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกพรุน และการดูแลกระดูกและกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุจากอังกฤษ และเวชศาสตร์การชะลอวัยจากสหรัฐอเมริกา อธิบายว่าโรคกระดูกพรุนมักเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ผู้สูงวัยโดยเฉพาะผู้หญิงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ชาย

“ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนประมาณ 33% ส่วนเพศชายจะอยู่ประมาณ 20% โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะกระดูกของผู้หญิงมีขนาดเล็กกว่า และเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงที่ช่วยยับยั้งการสลายตัวของกระดูกจะลดลง ส่งผลให้กระดูกสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว”

อาการโรคกระดูกพรุน

สิ่งที่เป็นข้อเสียของโรคกระดูกพรุนก็คือ จะไม่มีอาการอะไรเลย แต่จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อกระดูกเราหักไปแล้ว ส่วนอาการที่เป็นสัญญาณเตือนที่พบได้คือปวดหลัง ซึ่งเกิดจากกระดูกบางมาเป็นเวลานาน อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีกระดูกสันหลังยุบตัว และจะทำให้หลังค่อมและเตี้ยลงได้ นอกจากกระดูกสันหลังแล้ว กระดูกอื่นๆ ที่ถูกทำลายมาก คือ ข้อมือและสะโพก ด้วยเหตุนี้เราจึงควรระมัดระวังและหาทางป้องกันโรคกระดูกพรุนก่อนที่จะสายเกินไป

กระดูกพรุน-กระดูกเสื่อม ต่างกันอย่างไร

ในผู้สูงอายุยังมีอีกโรคหนึ่งที่มักพบเจอได้บ่อยๆ นั่นคือ โรคกระดูกเสื่อม ซึ่งมีความแตกต่างจากโรคกระดูกพรุนตรงที่จะทำให้เรารู้สึกปวดหรือเคลื่อนไหวได้ลดลงตรงข้อที่มีการเสื่อมสภาพ ส่วนโรคกระดูกพรุนนั้นทำให้กระดูกบางลง คุณภาพและความแข็งแรงของกระดูกลดลง มีผลให้กระดูกต่างๆในร่างกายหักง่าย โดยอาจไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ มาก่อนเลย จริงๆ แล้ว นอกจากผู้สูงอายุ โรคกระดูกทั้งสอง สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ป่วยที่ใช่ยาประเภทสเตียรอยด์ เป็นต้น

วิธีป้องกัน โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนเกิดจากการที่มวลกระดูกของเราลดลง ซึ่งการป้องกันนั้นเริ่มต้นจากการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี

ออกกำลังกายให้เพียงพอ

ควบคุมน้ำหนักไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI)

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่

การออกกำลังกายเป็นประจำและกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้

“โรคกระดูกพรุนถือว่าเป็นภัยเงียบ เพราะไม่มีการแสดงอาการใดๆ เลย รู้ตัวอีกทีก็อาจเป็นตอนที่ล้มกระดูกหักไปแล้ว เราจึงต้องไปตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงวัยที่เสี่ยง คือหลังหมดประจำเดือน หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงอื่นๆ ก็ควรมาตรวจคัดกรองเร็วขึ้น การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนจะใช้เครื่อง Dual X-ray Absorptiometry (DXA) เพื่อหามวลกระดูก ตรวจ Vertebral Fracture Assessment (VFA) ซึ่งเป็นการตรวจหาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบ ควบคู่กับการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อคำนวณหา FRAX Score ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในอีก 10 ปีข้างหน้า หากผลการตรวจออกมาว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็จะได้รับการรักษาต่อไปตามความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย” พญ.อติพร เทอดโยธิน อธิบายเสริม

แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุนก่อนเกิดอันตรายร้ายแรง

สำหรับคนที่มีภาวะกระดูกบางแต่ยังไม่ถึงขั้นกระดูกพรุน แพทย์ รพ.วิมุต แนะนำว่าสามารถรักษาได้ด้วยตนเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ป้องกันการหกล้ม ทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อเสริมระดับวิตามินดีในร่างกาย ควบคู่ไปกับการรับประทานแคลเซียม และวิตามินดีเสริมตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนในกรณีที่มีการใช้ยาที่มีผลต่อมวลกระดูก เช่น ยาประเภทสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

ถ้าหากพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว การรักษาก็จะเป็นไปตามความรุนแรงของโรค โดยเริ่มจากการปรับอาหาร การออกกำลังกาย และไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม พร้อมกับการให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย ซึ่งตัวยาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาเพิ่มการเสริมสร้างกระดูกและยายับยั้งการสลายกระดูก ทั้งนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดตลอดการใช้ยาและการรักษา

“แม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะพบมากในผู้สูงวัย แต่สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ คือการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงไว้ตั้งแต่วัยรุ่น และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีโดยไม่ต้องรอให้เจ็บหนัก หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือเป็นโรคกระดูกพรุนจะได้รักษาได้ทันเวลา เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดี และมีความสุขได้ในทุกๆ วัน” พญ.อติพร เทอดโยธิน กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลวิมุต, โรงพยาบาลกรุงเทพ


นักดาราศาสตร์พบดาวทารกกำลังหลบหนี

ระบบสุริยะเราประกอบด้วยดาวฤกษ์แม่ ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์บริวาร 8 ดวง เรียงกันจากชั้นในสุดไปจนถึงชั้นนอก ไล่เรียงจากดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เคลื่อนโคจรรอบดวงอาทิตย์ อย่างไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยหรือหนีหาย แต่อาจมีคนสงสัยว่าแล้วมีบ้างไหมที่ดาวจะหนีไปจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ก็ต้องบอกว่ามีและพวกมันยังกระจัด กระจายไปทั่วกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแห่งชาติจีน ของสภาวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่า การหลบหนีของดวงดาวจากบ้านเกิดของตนคือกระบวนการสำคัญในการวิวัฒนาการ ซึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือกก็เช่นกัน สาเหตุที่เป็นไปที่ทำให้ดาวหลบหนีก็อาจเพราะดาวถูกผลักออกไป เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ในระบบดาวที่มีดาวอายุน้อยๆหลายดวง หรือดาวถูกพลังงานที่เกิดจากวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ ในช่วงดาวสูญเสียการควบคุมหรือมีปฏิสัมพันธ์ในเมฆโมเลกุล ซึ่งดาวที่มีวิถีโคจรค่อนข้างชัดเจนมักจะแยกตัวออกจากแหล่งกำเนิดโดยสิ้นเชิง แต่ในทางตรงกันข้าม ดาวทารกมักจะฝังลึกอยู่ในเมฆโมเลกุล ทำให้ยากต่อการวัดลักษณะการเคลื่อนไหวของพวกมัน ส่งผลให้ข้อมูลการสังเกตการณ์ดาวที่กำลังหลบหนีไปจากแหล่งกำเนิดยังคงไม่สมบูรณ์มากนัก

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแห่งชาติจีนและมหาวิทยาลัยกวางโจวในจีน เผยว่า จากการใช้ความเข้มของเส้นสเปกตรัมของปฏิสัมพันธ์โมเลกุลที่มีความละเอียดสูง ก็ได้ค้นพบเป็นครั้งแรกถึงเหตุการณ์ดวงดาวที่เพิ่งถือกำเนิดได้หลบหนีจากบ้านเกิด ในบริเวณก่อตัวดวงดาวที่เรียกว่า G352.63-1.07 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้อยกว่า 4,000 ปีก่อน ในบริเวณกลุ่มเมฆโมเลกุลนายพราน ที่เป็นบริเวณกำเนิดดาวทารกในกาแล็กซีทางช้างเผือก.

Credit : National Astronomical Observatories (NAOC)


แฟนคลับแคคตัสห้ามพลาด พบกระบองเพชรหายาก ในงาน "เขาใหญ่แคคตัสแคมป์" 3-5 พ.ย.นี้

คนรักแคคตัสไม่ควรพลาดงาน Khaoyai cactus camp ระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย. 66 ที่เขาใหญ่ พบกระบองเพชรหายากสวยงามหนึ่งเดียวในไทย เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้คนมาเที่ยวเขาใหญ่มากขึ้น

นางสาวนิตยา มังกรงาม ผู้จัดงานเขาใหญ่แคคตัสแคมป์ หรือ Khaoyai cactus camp กล่าวว่า ในปี 66 นี้เราได้จัดงานรวบรวมสวนกระบองเพชรทั่วฟ้าเมืองไทย ในสไตล์เฟสติวัลรับหนาวอีกครั้ง หลังจากปี 65 ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่ชื่นชอบแคคตัส โดยในปี 2566 นี้เราจัดงานภายใต้ Khaoyai cactus camp EP 2 ซึ่งงานจะเริ่มตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน 3 คืนเต็มๆ ระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย. 66 ที่เขาใหญ่ที่ซึ่งมีอากาศดีเป็นอันดับ 7 ของโลก ณ ดิโอเชี่ยนเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้จัดงานเขาใหญ่แคนตัสแคมป์ กล่าวต่อว่า สำหรับไฮไลต์ในงานดังกล่าวจะมีตั้งแต่กิจกรรมการเวิร์กช็อปที่เกี่ยวข้องกับไม้แคคตัส ลานฉายหนังกลางแปลง การประกวดกระบองเพชรชิงถ้วยรางวัล รวมถึงการประกวด best costume และฟรีคอนเสิร์ตจากวงภูมินทร์ นอกจากนี้ยังมี บูธร้านอาหารที่ยกขบวนกันมากว่า 100 ร้านค้า สโลว์บาร์ รวมไปถึงโซนงานแอนทีค งานคราฟต์ก็มีให้เลือกสรร ที่สำคัญงานนี้เข้าฟรีอีกด้วย

"เรามั่นใจว่างานนี้จะรวบรวมคนรักกระบองเพชร หรือไม้แคคตัสทั่วฟ้าเมืองไทยมาอยู่เขาใหญ่ ซึ่งมีทั้งกระบองเพชรหายาก กระบองเพชรส่วนงานแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงแคคตัสอีกด้วย ที่สำคัญยังงานคราฟต์ งานศิลปะ ให้ได้เสพอีกด้วย และเราชื่อว่าการจัดงานครั้งนี้จะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยวเขาใหญ่ และโคราชด้วยเช่นกัน" นางสาวนิตยา กล่าว.


อ.เฉลิมชัย ประกาศตามหามือพ่นกำแพงวัด เรียกมาวาดให้เสร็จ ไม่โกรธแถมต้อนรับชุดใหญ่

กำลังเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ กับความสัมพันธ์ของศิลปินแห่งชาติ อย่าง อ.เฉลิมชัย กับศิลปินรุ่นใหม่ที่เกิดจากภาพวาดบนผนังกำแพงที่ 3 วัยรุ่นแอบมาวาดไว้ แต่งานนี้ศิลปินรุ่นเก๋ากลับไม่โกรธ แต่ออกตามหามาวาดให้เสร็จ เพราะเป็นผลงานที่สวยมาก

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) 2554 ผู้สร้างวัดร่องขุ่น จ.เชียงราย หนึ่งในแลนด์มาร์กอันวิจิตรงดงาม ได้โพสต์คลิปวิดีโอตามหาศิลปินสตรีทอาร์ตที่แอบมาพ่นสีสร้างผลงานศิลปะบนผนังกำแพงทางออกลานจอดรถวัดร่องขุ่นเมื่อคืนก่อน ว่า

“ดีใจ และไม่โกรธเคืองเลย ไม่รู้ว่าเป็นฝืมือของศิลปินใน จ.เชียงรายหรือเปล่าที่มาแอบเขียนรูปผนังตรงทางออกของที่จอดรถวัด สวยงามเลย ไม่ต้องแอบซ่อนลูก ศิลปินเชียงรายไหม มาเลย สวยมากๆ ลุงจะรื้อให้เลย แล้วมาวาดเลย ตรงนี้จะมีเถา (รก) มาเลยลูก มาเลย เอากลางวันไม่ต้องแอบซ่อน เขียนได้ยังไงกลางคืน ยินดีมากๆ มาเลยมาวาดเลย ดีกว่ากำแพงสกปรก เต็มที่เลย” อ.เฉลิมชัยกล่าว

ก่อนต่อมา อ.เฉลิมชัย จะได้อัดคลิปขณะให้คนงานมารื้อหญ้าที่ขึ้นบริเวณกำแพงออกให้จนสะอาด พร้อมระบุว่า “ไม่ได้ล่อจับนะ ให้มาทำจริงๆ ดำเนินการถอนหญ้าปรับภูมิทัศน์ให้แล้ว เชิญมาได้เลยนะครับ”

และในเย็นวันนั้น ปรากฏว่ามีศิลปินสตรีทอาร์ต จำนวน 3 คน ได้มารายงานตัว อ.เฉลิมชัย ได้ถ่ายคลิปและทักทายด้วยความยินดี ทั้งยังแนะนำศิลปินแต่ละคนว่ามีทั้งมาจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเชียงราย และชวนให้ไปอุดหนุนศิลปินรุ่นใหม่ด้วย

โดยเพจยังเผยด้วยว่า “ไม่โดนด่า แถมท่าน อ.มอบเงินให้ไปซื้ออุปกรณ์มาทำอีก 10,000 บาท พรุ่งนี้มาชมความคืบหน้ากันครับ”

และเมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม อ.เฉลิมชัย ยังได้โพสต์ความคืบหน้าผลงานศิลปะบนกำแพงว่าใกล้จะเสร็จแล้วด้วย


4 วิธีรักษา 5 ท่าบริหาร อาการ ไหล่ติด' ใครปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น รีบศึกษาด่วน

ปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น อาจเกิดจากไหล่ติด หรือเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เป็นอีกหนึ่งอาการที่สร้างความเจ็บปวด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งอาการนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน

ปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น อาจเกิดจาก ไหล่ติด หรือเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เป็นอีกหนึ่งอาการที่สร้างความเจ็บปวด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งอาการนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน วันนี้ นพ.สิริศักดิ์ บูรณวัฒนาโชค แพทย์ผู้ชำนาญการศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง จะมาอธิบายของอาการ ไหล่ติด และวิธีรักษาให้ฟังกันค่ะ

นพ.สิริศักดิ์ บูรณวัฒนาโชค

ข้อไหล่ติดมีอาการอย่างไร

ข้อไหล่ติดจะทำให้เกิดอาการปวด ปวดเวลากลางคืน ปวดไหล่ทางด้านหน้า หรือว่านอนตะแคงแล้วปวด โดยได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่1 จะปวดไหล่ตอนกลางคืน ซึ่งหากมีอาการ 6-9 เดือน แสดงว่ามีข้อไหล่ติดแล้ว

ระยะที่ 2 ข้อไหล่ติดจะส่งผลให้แขน ข้อไหล่ เริ่มขยับได้น้อยลงเรื่อยๆ จนอาจติดได้ทุกทาง ระยะนี้มีเวลาเป็นได้ถึง 1 ปี

ระยะที่ 3 ระยะที่ข้อไหล่เริ่มคลายตัวเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะขยับข้อไหล่ได้ดีขึ้น บางคนอาจใช้เวลานานถึง 2 ปี

จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดไหล่เกิดจากโรค ไหล่ติด

สิ่งสำคัญคือก่อนจะหาสาเหตุของโรคต้องดูด้วยว่ามีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด มีหินปูนในข้อไหล่ หรือมีกระดูกยื่นในข้อไหล่ จะต้องมาพบแพทย์ เพราะอาจต้องตรวจด้วยการเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูสภาวะเอ็นข้อไหล่ร่วมด้วย

ข้อไหล่ติด รักษาอย่างไร

กินยา อาจจะเป็นยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ

ทำกายภาพบำบัด

ฉีดยาเสตียรอยด์เข้าข้อไหล่ ซึ่งการฉีดยานี้คนไข้หลายคนมักจะกังวล แต่จริงๆ แล้วค่อนข้างปลอดภัยและมีผลยอมรับชัดเจนว่าลดอาการปวด อาการข้อไหล่ติดชัดเจน ผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง เจ็บน้อย แผลเล็กหายค่อนข้างไว หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับมาขยับข้อไหล่ได้ดี

ข้อไหล่ติด ต้องส่องกล้องผ่าตัดทุกรายหรือไม่

ส่วนใหญ่แล้วโรคข้อ ไหล่ติด สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัด เพียงแต่กินยา ทำกายภาพบำบัด ฉีดยา มีคนไข้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องผ่าตัด กลุ่มแรกคือ มีโรคอื่นร่วมด้วยอย่างเช่น มีเอ็นข้อไหล่ฉีก กลุ่มนี้ต้องผ่าตัดแน่นอน เพราะว่าจะต้องผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปดูเอ็นข้อไหล่ หรือว่าผู้ป่วยที่มีหินปูนในข้อไหล่ก้อนใหญ่ ก็ต้องส่องกล้องไปเอาหินปูนออกมา คนที่มีกระดูกยื่นหรือกระดูกงอกในข้อไหล่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องส่องกล้องเข้าไปกรอกระดูกในเอ็นข้อไหล่ แต่หากเป็น โรคข้อไหล่ติด อย่างเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะไม่รักษาด้วยการผ่าตัดก่อน แต่ถ้า 6 เดือนแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องเข้ารับการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่

เทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ แพทย์จะนำกล้องเข้าทางด้านหลังข้อไหล่ 1 รู และผ่าตัดเจาะอีก 1 รูทางด้านหน้า เพื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปตัดเนื้อเยื่อหุ้มที่มันห่อตัวออก ซึ่งการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องข้อไหล่มีข้อดีคือทำให้แพทย์เห็นพยาธิสภาพภายในข้อได้ทั่วถึง และทำการด้วยขนาดของกล้องเพียง 3 มิลลิเมตร ทำให้แผลมีขนาดเล็ก หายเร็วและเกิดผลแทรกซ้อนน้อย นอนพักในรพ. 1-2 วันหลังการรักษามีอาการเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบปกติ ทำให้เข้ารับการทำกายภาพบำบัดได้เร็วขึ้น ส่งผลให้กลับมาใช้งานข้อไหล่ได้อย่างรวดเร็วขึ้นมาก

นอกจากนี้ยังมี 5 ท่าบริหาร หากมีอาการไหล่ติด สามารถทำได้เองที่บ้านมาแนะนำ

ยืนหันหน้าเข้าหาผนังห้อง ยกแขนที่หัวไหล่เจ็บไปข้างหน้า เหยียดข้อศอกให้ตรง (ใช้มือข้างที่ดีควบคุม) ข้อและนิ้วมือตรง เดินเข้าหาผนังห้องให้ปลายนิ้วแตะฝาผนัง พยายามเลื่อนปลายนิ้วให้สูงขึ้นด้วยการเดินเข้าหาผนังห้องจนรู้สึกตึงและเจ็บหน่อยๆ จึงก้าวถอยหลังออกมา แล้วเดินหน้าเข้าไปใหม่ ทำซ้ำ 10 ครั้ง

นั่งลงบนเก้าอี้ เอามือทั้งสองข้างประสานกันขึ้นเหนือศีรษะ เหยียดข้อศอกให้ตรง แล้วเอาแขนทั้งสองข้างแนบหูหลังจากนั้นงอข้อศอกให้มือที่ประสานกันวางที่ท้ายทอย แบะศอกออกให้เต็มที่ นับ 1 ถึง 5 แล้วเหยียดข้อศอกตรงมือประสานเหนือศีรษะ แล้วเอาแขนทั้งสองข้างแนบหู ทำซ้ำแบบนี้ประมาน 10 ครั้ง

ยืนหรือนั่ง เอาแขนข้างที่เจ็บเหยียดตรงอยู่ระดับไหล่ งอข้อศอกให้มาแตะไหล่ข้างที่ดีและใช้มือข้างที่ดีดึงข้างหลัง ข้อศอกข้างที่เจ็บให้มือข้างที่เจ็บแตะด้านหลังของหัวไหล่ข้างที่ดี ท่านี้จะคล้ายกับล็อคคอตัวเอง (ทำจำนวนเท่าที่ทำได้)

ยืนหันหน้าเข้าหามุมห้องให้ห่างพอสมควร แขนกางระดับไหล่ ให้ศอกงอ 90 องศา ใช้ฝ่ามือวางบนฝาหนังทั้งสองข้างของมุมห้อง ก้าวขาข้างที่ไหล่เจ็บไปข้างหน้า แล้วแอ่นอกเข้าหามุมห้อง ควบคุมให้หัวไหล่ข้างเจ็บยืดจนตึงและเจ็บหน่อยๆ นับ 1 ถึง 5 แล้วถอยส่วนหน้าอกกลับและแอ่นอกเข้าไปใหม่ ทำซ้ำ 10 ครั้ง

นั่งหรือยืนห้อยแขนไว้ข้างลำตัว เหยียดข้อศอกให้ตรง ยักไหล่ขึ้น 2 ข้าง แล้วแบะไหล่ไปข้างหลังและปล่อยลงข้างหลัง ทำซ้ำแบบนี้ประมาน 10 ครั้ง

หมั่นทำซ้ำบ่อยๆ และพยายามหลักเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติด เพื่อชีวิตที่ไม่ต้องทนกับอาการปวดและทรมาน

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากโรงพยาบาลเปาโล