ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 24 สิงหาคม 2562

อินเดียมีลุ้น ฝันใกล้เป็นจริง‘จันทรายาน-2’ เริ่มโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว

อินเดียเฮ ยาน‘จันทรายาน-2’ เริ่มโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว เหลืออีกไม่กี่วันหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ยานลำนี้จะลงจอดบนดวงจันทร์ ที่บริเวณขั้วใต้ ทำให้อินเดียเป็นชาติที่ 4 ของโลก ส่งยานไปลงดวงจันทร์

เมื่อ 20 ส.ค.62 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ยานอวกาศจันทรายาน-2 (Chandrayan-2) สำรวจดวงจันทร์ ของอินเดีย เริ่มโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว เกือบหนึ่งเดือนหลังจากองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Isro) ได้ทำการปล่อยยานอวกาศจันทรายาน-2 ไปยังดวงจันทร์ จากฐานปล่อยจรวดที่สถานีอวกาศศรีหริโคตา ในเมืองศรีหริโคตา รัฐอานธรประเทศ เมื่อ 22 ก.ค.62 ตามเวลาท้องถิ่น

องค์การวิจัยอวกาศอินเดียแจ้งว่า ขั้นตอนในการส่ง ยานอวกาศจันทรายาน-2 เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์สำเร็จเรียบร้อย เมื่อเวลา 09.20 น.ของวันอังคารที่ 20 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากใช้เวลาในขั้นตอนนี้ 1738 วินาที

ประธานองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย แถลงข่าว ยานจันทรายาน-2 เริ่มโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย ได้ตั้งเป้าหมาย ที่ยานอวกาศจันทรายาน-2 จะลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ในวันที่ 6 หรือ 7 กันยายน ที่จะถึง หลังจากถูกปล่อยจากฐานปล่อยจรวดศรีหริโคตา เมื่อวันที่ 22 ก.ค. และเดินทางไกลเป็นระยะทางถึง 384,000 กิโลเมตร ซึ่งหาก จันทรายาน-2 ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ จะทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ของโลก ต่อจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน ที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์


สหรัฐฯ ทดสอบยิงขีปนาวุธร่อนต้องห้าม หลังสนธิสัญญานิวเคลียร์หมดอายุ

สหรัฐฯ ทดสอบขีปนาวุธร่อนแบบยิงจากภาคพื้น หลังจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่พวกเขาทำกับรัสเซีย และห้ามใช้อาวุธประเภทนี้หมดอายุ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 19 ส.ค. 2562 ว่า กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่ากองทัพได้ดำเนินการทดสอบยิงขีปนาวุธร่อน ประเภทยิงจากภาคพื้นดิน พิสัยไกลกว่า 500 กม. ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามภายใต้สนธิสัญญาพลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ที่พวกเขาทำกับรัสเซีย แต่สหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวออกไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

การทดสอบขีปนาวุธร่อนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยยิงจากฐานบนเกาะ ซาน นิโคลัส ของรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากยิงสำเร็จ ขีปนาวุธลูกนี้บินไปถูกเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปมากกว่า 500 กม.

ด้านพันโท โรเบิร์ต คาร์ฟเวอร์ โฆษกเพนตากอน ยืนยันว่า ขีปนาวุธที่ทดสอบคือ ‘โทมาฮอว์ค’ ซึ่งตามปกติจะถูกยิงจากเรือรบหรือเรือดำน้ำ โดยใช้ระบบยิงขีปนาวุธแนวตั้งตรง ‘มาร์ก 41’ (Mark 41 VLS) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีนัยสำคัญ เพราะ มาร์ก 41 มีติดตั้งอยู่ที่โปแลนด์และโรมาเนีย ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย และถูกมอสโกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศทั้งนี้ อาวุธที่มีพิสัยโจมตีระหว่าง 500-5,000 กม. ถูกห้ามใช้ภายใต้สนธิสัญญา INF ปี 2530 ซึ่งเป็นกลไกควบคุมอาวุธสำคัญที่ช่วยลดความตึงเครียดทางนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณจะถูกตัวจากข้อตกลงนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และประกาศถอนตัวในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และเมื่อสหรัฐฯ กับรัสเซียไม่ต่ออายุข้อตกลง ในที่สุด INF ก็หมดอายุอย่างเป็นทางการไปในวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่าน.


ปธน. สหรัฐฯ ยกเลิกแผนเยือนเดนมาร์กกะทันหัน หลังถูกดับฝันเจรจาซื้อเกาะกรีนแลนด์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยกเลิกการเดินทางเยือนเดนมาร์ก หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กออกมาระบุว่าจะไม่ขายเกาะกรีนแลนด์ให้สหรัฐฯ

เดิมทีนายทรัมป์มีกำหนดเดินทางเยือนเดนมาร์กในวันที่ 2 ก.ย. นี้ ตามคำเชิญของ สมเด็จพระราชินีนาถ มาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขาระบุว่า สหรัฐฯ สนใจซื้อเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเอง ของเดนมาร์ก แต่นายกรัฐมนตรีเมดเดอ เฟรดริกสัน ของเดนมาร์ก บอกว่าเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” และหวังว่านายทรัมป์คงจะไม่จริงจังอะไรกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี ล่าสุดนายทรัมป์ได้ทวีตข้อความประกาศว่าจะไม่ไปเยือนเดนมาร์ก

“เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความพิเศษและผู้คนก็ช่างน่าทึ่ง แต่ที่ดูจากความเห็นของ นายกรัฐมนตรีเมดเดอ เฟรดริกสัน ซึ่งไม่สนใจที่จะเจรจาซื้อขายกรีนแลนด์ ผมจึงเลื่อนการหารือที่มีกำหนดจัดขึ้นในสองสัปดาห์นี้ออกไป…”

โฆษกของทำเนียบเทียบขาว ยืนยันว่า ได้ยกเลิกการเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่แดนิชบรอดคาสต์คอร์ปอร์เรชัน (Danish Broadcasting Corporation–DR) รายงานว่า สำนักพระราชวังเดนมาร์ก ได้ยืนยันเช่นกันว่าได้รับแจ้งการยกเลิกการเยือนแล้ว

ลีน เบลเลอบี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของสำนักพระราชวังเดนมาร์ก กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ”

นายทรัมป์ ยืนยันรายงานก่อนหน้านี้ที่ว่าเขาสนใจซื้อกรีนแลนด์ และเมื่อถูกตั้งคำถามเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า เขาพิจารณาที่จะใช้ดินแดนของสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนกับกรีนแลนด์หรือไม่ นายทรัมป์ตอบว่า “อาจทำได้หลายอย่าง”

“นี่เป็นข้อตกลงอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่” เขากล่าว

ทว่าเจ้าหน้าที่ทางการเดนมาร์กและกรีนแลนด์ปฏิเสธแนวคิดนี้ โดยนายกรัฐมนตรีคิม คีลสัน ของกรีนแลนด์ กล่าวว่า “กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย แต่กรีนแลนด์เปิดกว้างที่จะให้ความร่วมมือและทำการค้ากับประเทศอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐฯ”

ลาร์ส โลเกอ แรสมูสสัน อดีตนายกรัฐมนตรีของเดนมาร์ก ทวีตข้อความว่า “นี่คงเป็นมุกตลกวันเอพริลฟูลส์เดย์ (April Fool’s Day) แน่ ๆ”

โซเรน เอสเปอร์สัน โฆษกด้านต่างประเทศของพรรคแดนิชพีเพิลส์ (Danish People’s Party) ซึ่งเป็นพรรคประชานิยม กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ดีอาร์ของเดนมาร์กว่า “ถ้าเขาคิดเรื่องนี้จริง ก็คงเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าเขาบ้าไปแล้ว”


ทำไม “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “อาหารติดคอ” มากกว่าวัยอื่นอื่นๆ?

จริงๆ แล้วปัญหาการสำลักอาหาร หรืออาหารติดคอสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเด็ก และผู้สูงอายุ เด็กเล็กอาจจะเป็นเพราะขนาดของอาหารใหญ่เกินไปแล้วเผลอกลืนลงคอจนทำให้สำลัก หรือติดเล่นจนทำให้กลืนอาหารผิดจังหวะ แต่สำหรับผู้ใหญ่วัยสูงอายุ ก็มีความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร หรืออาหารติดคอ เพราะเป็นวัยที่น้ำลายในปากน้อยลง ทำให้อาหารอาจติดคอได้ง่ายเวลากลืนนั่นเอง

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วย สำลักอาหาร-อาหารติดคอ

1. หากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการทรมาน ไม่สามารถส่งเสียงได้ ลองทุบหลังตรงระหว่างไหล่ทั้งสองข้างก่อน 5 ครั้ง ด้วยแรงพอประมาณ หากอาหารยังลงไปไม่ลึกมาก อาจจะออกมาทางปากได้

2. หากอาหารยังไม่ออกมา ให้เข้าทางด้านหลังของผู้ป่วย โอบผู้ป่วยจากทางด้านหลัง

3. เอามือประสานกัน กดไปที่หน้าอก ยกผู้ป่วยเล็กน้อยแล้วเขย่าตัวเพื่อให้ผู้ป่วยสำลักอาหารออกมา

4. ทั้งหมดนี้ควรรีบทำภายใน 3-5 นาทีที่แสดงอาการ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้

5. หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ พูดไม่ออก ให้จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้น เปิดทางเดินหายใจ ยกปลายคางขึ้น และ อีกมือหนึ่งกดหน้าผากลง เป่าปากเพื่อช่วยในการหายใจ

6. ถ้าลองเป่าปากแล้วหน้าอกไม่ยกขึ้น ให้ใช้มือกดที่ท้อง ในท่านอนหงาย 6-10 ครั้ง

7. ถ้าเป็นเด็กเล็กให้ใช้วิธีตบระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง สลับกับกดหน้าอก และคอยตรวจเช็กช่องปาก ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมให้ใช้นิ้วเกี่ยวออกมา

8. หากผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัว พูดได้ และหายใจได้ตามปกติ แต่ยังรู้สึกว่ามีอาหารติดคออยู่ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกันการสำลักอาหาร-อาหารติดคอ

1. นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที

2. กินอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด

3. อย่ากินอาหารขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที

4. อาหารที่กินควรแบ่งเป็นขนาดชิ้นเล็กๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป

5. ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การเดิน

6. กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย

7. ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว

8. อย่ากินอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น


ระวัง ! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A H1N1

อาการหวัดธรรมดาแต่รุนแรงกว่า 8 กลุ่มเสี่ยงต้องระวังอันตรายถึงชีวิต แนะวิธีป้องกันอย่าเข้าใกล้คนป่วยหวัด ไม่ใช้ของร่วมคนอื่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ฉีดวัคซีน

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A H1N1 เป็นโรคติดต่อระหว่างคนสู่คน อาการจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่ไข้หวัดใหญ่ H1N1 จะรุนแรงมากกว่า โดยสังเกตอาการได้ดังนี้ มีไข้สูงราว 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ปวดเมื่อยร่างกาย ตามข้อ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ปอดบวม เบื่ออาหาร บางรายมีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน สามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย การไอหรือจาม

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่ตั้งครรภ์ เมื่อได้รับเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน เช่น ปอดที่ติดเชื้อไวรัสอยู่แล้วอาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายได้ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกัน และหากติดเชื้อควรรีบพบแพทย์เพื่อรับยาภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.โรงพยาบาลราชวิถีกล่าวว่า การป้องกันตนเองจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่A H1N1 คือ พยายามอย่าเข้าใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลางตักอาหาร กินอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่ๆ มีผู้คนจำนวนมาก หรือเป็นช่วงระบาดของโรค การฉีดวัคซีนก็เป็นวิธีป้องกันได้ดี แต่กรณีนี้แพทย์จะเน้นกลุ่มเสี่ยงในการเข้ารับวัคซีน เพราะมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่า


‘คิม’โกรธจริง สั่งยิงขีปนาวุธครั้งที่ 6 ลั่นไม่ขอเจรจาเกาหลีใต้อีกแล้ว

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือโกรธจริง สั่งยิงขีปนาวุธนำวิถีพิสัยใกล้อีก 2 ลูก ตกทะเล นับเป็นการยิงมิสไซล์ครั้งที่ 6 ในระยะไม่ถึงเดือน พร้อมประกาศลั่นไม่ขอเจรจาใดๆ กับเกาหลีใต้อีกแล้ว

เมื่อ 16 ส.ค.62 สำนักข่าวต่างประเทศ รอยเตอร์ บีบีซี รายงานว่า คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ โกรธไม่เลิก สั่งยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้อีก 2 ลูก ตกทะเลทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศ เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. นับเป็นการยิงขีปนาวุธครั้งที่ 6 ในระยะเวลาไม่ถึงเดือน เพื่อต้องการตอบโต้กองทัพสหรัฐฯ ซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ อีกทั้ง ก่อนยิงขีปนาวุธครั้งล่าสุดนี้ คิม จอง อึน ยังได้สั่งให้คณะกรรมาธิการด้านการรวมชาติอย่างสันติ ออกแถลงการณ์ ประกาศเกาหลีเหนือจะไม่ขอเจรจาใดๆ กับเกาหลีใต้อีก ชี้ว่าประธานาธิบดีมุน แจ อินแห่งเกาหลีใต้ ‘ยโสโอหัง’

คณะเสนาธิการร่วมกองทัพเกาหลีใต้ ระบุว่า เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธลูกแรก หลังเวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นไม่นานนัก โดยขีปนาวุธได้บินไกลเป็นระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร ที่ระดับความสูง 30 กิโลเมตร และตกในทะเลตะวันออก หลังจาก 6 วันก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือเพิ่งยิงขีปนาวุธครั้งที่ 5 ตกทะเลญี่ปุ่นและทะเลตะวันออก

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสฯที่ 15 ส.ค. ประธานาธิบดี มุน แจ อินแห่งเกาหลีใต้ ได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องใน ‘วันปลดปล่อยแห่งชาติ’ (Liberation Day) จากการปกครองโดยญี่ปุ่นเมื่อปี 2488 โดยประธานาธิบดีมุน แจ อิน กล่าวว่า เป้าหมายของความสำเร็จในการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี อยู่ที่ ‘ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่วิกฤติที่สุด’ ขณะที่การเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ดูเหมือนอยู่ในภาวะชะงักงัน.