ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 23 พฤษภาคม 2563

ผลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อโลกที่กำลังพัฒนา

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563 Ethnic Media Service ได้เชิญผู้สื่อข่าวจากชุมชนหลากเชื้อชาติเข้าร่วมการประชุมผ่านทางโทรภาพในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อโลกที่กำลังพัฒนา โดยมีวิทยากรรับเชิญจากหลายสาขา ได้แก่ Demetrios Papademetriou ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของสถาบัน Emeritus, Migration Policy Institute จากกรุงวอชิงตัน ดี ซี Dan Nepstad ประธานและผู้ก่อตั้งสถาบัน Earth Innovation Institute และ Dulce Gamboa ผู้เชี่ยวชาญทางนโยบายจาก Bread for the World

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อรูปแบบการโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลก การจำกัดการเดินทางและการปิดพรมแดนทำให้การอพยพของผู้ลี้ภัยก็เป็นได้ยากลำบากเช่นเดียวกับการอพยพมาอยู่ร่วมกันของครอบครัว การย้ายถิ่นฐานของของแรงงานกลุ่มเกษตรกรรมซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศที่พัฒนาในส่วนของห่วงโซ่อาหารก็ต้องหยุดชะงักลงด้วย “ใน 6 เดือนข้างหน้านี้ไม่รู้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะมีปัญหามากแค่ไหนเมื่อเทียบกับช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในปี 1930 เราไม่ได้เห็นสิ่งที่ร้ายแรงแบบนี้มานานแล้ว และนอกจากนี้การแพร่ระบาดยังมีผลต่อโลกที่กำลังพัฒนาด้วย เราเริ่มเห็นการเดินทางกลับของผู้คน ที่น่าตกใจคือใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีชาวโรมาเนียถึง 1.3 ล้านคนกลับไปยังประเทศโรมาเนียและเริ่มเห็นคนที่เป็นผู้อพยพชุมนุมกันที่พรมแดนหลายแห่งเช่น จุดที่ติดกับประเทศเม็กซิโก” Demetrios Papademetrious กล่าว

นอกจากผลกระทบในเรื่องของการย้ายถิ่นฐานแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวยังทำให้ประชาชนที่เคยเป็นผู้ทำการเกษตรทิ้งพื้นที่ทำมาหากินแล้วเข้าไปแผ้วถางป่าชื้นแทนเพื่อความอยู่รอด “การย้ายถิ่นฐานเหล่านี้อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อก็ได้” Dan Nepstad กล่าว “ไฟป่าทำให้เกิดมลพิษจากควันไฟซึ่งก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาทางเดินลมหายใจ ดังนั้นเราจึงควรจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือในเรื่องของเงินทุน การทำการตลาดและระบบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจการเกษตร”

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนที่ประสบปัญหาวิกฤตทางอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นเท่าตัว องค์กรอาหารโลกคาดว่าเมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2020จะมีประชนชนถึง 265 ล้านคนอยู่ในภาวะวิกฤตนี้ “การขาดอาหารทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาอย่างเฉียบพลันในหลายประเทศ เช่น แองโกล่า เซ๊าท์ซูดาน และเยเมน มี 29 ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านอาหารในปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 25% ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการสูญเสียรายได้ สูญเสียนักท่องเที่ยว รวมทั้งไม่มีเงินจากครอบครัวที่ทำงานนอกประเทศส่งมาเช่นเดิม ประเทศเวเนซูเอล่าซึ่งมีระบบเศรษฐกิจล้มเหลวก็เกิดปัญหาภาวะทุพโภชนาด้วยเช่นกัน ในประเทศแถบละตินอเมริกาประชาชนมีรายได้ต่ำยิ่งทำให้ปรับตัวกับภาวะวิกฤตได้ยาก ปัญหาที่น่าห่วงที่สุดคือประเทศในแถบอาฟริกา เช่น เซ๊าท์ซูดาน เยเมน ทรัพยากรน้ำ ระบบการทำน้ำให้สะอาด การฆ่าเชื้อ รวมถึงคุณภาพของอาหารก็แย่ลงด้วย สำหรับในประเทศสหรัฐปัญหาทางด้านอาหารเกิดกับชุมชนผู้ไม่มีสถานะพลเมือง ดังนั้นเราจึงควรจะกระตุ้นสภาคองเกรสให้ดูแลทุกคนในเรื่องของไวรัสโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกัน” Dulce Gamboa กล่าว

ก่อนปิดการประชุมวิทยากรทั้งสามท่านได้เสนอแนวทางในการช่วยบรรเทาปัญหาหลายประการ เช่น การใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วยเหลือการตัดสินกรณีผู้ลี้ภัย เปิดให้สายการบินกลับมาบินได้อีกด้วยมาตรการที่ระมัดระวังยิ่งขึ้น เริ่มเปิดธุรกิจกลับมาโดยดูแบบอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จ สร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้คน ผู้ออกนโยบาย นักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ และหยุดการเลือกปฏิบัติเพราะไวรัสกระทบทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”


Ethic Media Service หรือ EMS เป็นองค์กรที่เป็นสื่อกลางที่สนับสนุนการสื่อสารในทุกเชื้อชาติ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเวบไซด์ ethnicmediaservices.org

เครดิต: เรื่อง/ภาพ: วลัยพรรณ เกษทอง

ฟอสซิล “เมกาแร็ปเตอร์” ตัวใหม่ ความยาว 10 เมตร ทีมนักสำรวจพบที่อาร์เจนตินา

ฟอสซิล “เมกาแร็ปเตอร์” ตัวใหม่ - วันที่ 19 พ.ค. บีบีซี รายงานว่า คณะนักบรรพชีวินวิทยาค้นพบฟอสซิลของ เมกาแร็ปเตอร์ ตัวใหม่ ในภูมิภาคพาตาโกเนียของอาร์เจนตินา ถือเป็นหนึ่งในเมกาแร็ปเตอร์ตัวสุดท้าย ก่อนที่ไดโนเสาร์ทั้งหมดจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

คณะนักวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในกรุงบัวโนสไอเรส ค้นพบฟอสซิลจำนวนมากระหว่างงานภาคสนามนาน 1 เดือน ในเอสตันเซีย ลา อานีตา รัฐซานตาครูซ ทางใต้ของประเทศ หนึ่งในนั้นเป็นเมกาแร็ปเตอร์ ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ในตระกูล เมกาแร็ปเตอริแด (Megaraptoridae)

ฟอสซิลของเมกาแร็ปเตอร์ที่ค้นพบประกอบด้วยกระดูกสันหลัง ซี่โครง และส่วนหนึ่งของหน้าอกกับหัวไหล่ เป็นของสปีชีส์ ที่มีความยาวราว 10 เมตร เป็นหนึ่งในเมกาแร็ปเตอร์ตัวใหญ่สุดในตระกูลเมกาแร็ปเตอริแดที่มีการค้นพบจนถึงตอนนี้

เฟอร์นานโด โนวาส ผู้นำคณะนักบรรพชีวินวิทยา กล่าวว่า ฟอสซิลของเมกาแร็ปเตอร์ตัวใหม่นี้มีอายุย้อนหลังไป 70 ล้านปี สู่ปลายยุคไดโนเสาร์ ถือเป็นตัวแทนเมกาแร็ปเตอร์ตัวทสุดท้ายก่อนสิ้นยุคไดโนเสาร์ทั้งปวง ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป

สำหรับลักษณะกายภาพ เมกาแร็ปเตอร์มีแขนกล้ามเนื้อและกรงเล็บเหมือนเคียว ความยาวมากถึง 35 เซนติเมตร คาดว่าใช้แขนและกรงเล็บเป็นอาวุธหลักในการล่าเหยื่อ มากกว่าขากรรไกรเหมือนไดโนเสาร์ชนิดอื่นๆ

นอกจากนี้ เมกาแร็ปเตอร์มีสี่ขาทรงพลังและยาวที่ช่วยให้การก้าวเร็วขึ้น และหางยาวที่ช่วยในการทรงตัว จึงมีความปราดเปรียวกว่า ไทแรนโนซอรัส หรือ ที. เร็กซ์ และสามารถจับไดโนเสาร์กินพืชตัวเล็กกว่าที่เดินสองขาได้อย่างสบายๆ