ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 4 เมษายน 2563

การถอยของธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออก

เคยมีความคิดกันว่าธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออกนั้นถูกคุกคามน้อย แต่เมื่อธารน้ำแข็งอย่างเดนแมน (Denman) ถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากกลุ่มวิทยาศาสตร์หิมะภาค (cryosphere) ก็เริ่มเห็นหลักฐานของความไม่แน่นอนของแผ่นน้ำแข็งทางทะเลที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ และห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การนาซา ในสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยพบว่าธารน้ำแข็งเดนแมนสูญเสียมวลน้ำแข็งไป 268,000 ล้านตัน ระหว่างปี พ.ศ.2522-2560 และยังพบว่าธารน้ำแข็งของแอนตาร์กติกาตะวันออก ได้ถอยห่างออกไป 5 กิโลเมตรในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา ทำให้สร้างความกังวลว่ารูปร่างของพื้นผิวดินที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็งอาจอ่อนแอมากขึ้นต่อการล่มสลายของสภาพภูมิอากาศ

ที่น่าห่วงตามมาก็คือหากธารน้ำแข็งเดนแมนละลาย จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งการตรวจสอบอย่างละเอียดที่สุดในธารน้ำแข็งและบริเวณโดยรอบทำให้รู้เบาะแสที่น่าตกใจเกี่ยวกับสภาวะภายใต้ภาวะโลกร้อน.

พัฒนาไจโรสโคปที่แม่นยำใช้นำทาง

31 มี.ค. 2563/สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้มีไจโรสโคป (gyroscope) เพื่อตรวจจับทิศทางของหน้าจอและช่วยให้ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนรู้กำลังเดินทางไปยังทิศทางใด แต่ความแม่นยำ ของไจโรสโคปยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ซึ่งเป็นเหตุผลที่โทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟนมักจะระบุทิศทางและการนำทางมีความผิดพลาดบ่อยครั้ง

ความแม่นยำนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยานยนต์ขับเคลื่อนอิสระ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ไจโรสโคปสมรรถนะสูงที่มีขนาดใหญ่กว่าและแพงกว่ามาก ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาสร้างไจโรสโคปขนาดเล็ก ที่มีความแม่นยำมากกว่าไจโรสโคปสมรรถนะสูงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันถึง 10,000 เท่า

ที่สำคัญคือไจโรสโคปขนาดเล็กนี้ นอกจากจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับไจโรสโคปขนาดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ ยังมีราคาถูกกว่า ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ กับระบบนำทางของโดรนและรถยนต์ขับเคลื่อนอิสระได้โดยไม่ต้องมีสัญญาณจีพีเอส (GPS)

ภาวะกระดูกบาง เรื่องใกล้ตัวที่ใส่ใจ

ภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่าปกติ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นภาวะกระดูกพรุน ผู้ที่ประสบพบว่าตนเองเป็นภาวะกระดูกบาง จะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่ภาวะนี้จะนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้ในอนาคต หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

นพ.ปานนภ พยัคฆพันธ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า ผู้ป่วยภาวะกระดูกบาง หรือ Osteopenia จะมีความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่าปกติ จึงทำให้กระดูกของผู้ป่วยอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เหมือนบุคคลทั่วไป แต่ก็ไม่ได้เปราะบางแตกหักง่ายเหมือนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้ตัวช้าว่าตนเองมีภาวะกระดูกบาง เนื่องจากมักไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาการเจ็บปวดใดๆ ออกมาจนกว่าจะได้มาตรวจและวินิจฉัยโดยแพทย์

โดยปกติกระดูกจะมีเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีนตามกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย เพื่อทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอ แต่ภาวะกระดูกบางมักเกิดขึ้น เมื่อร่างกายมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก ดังนั้นแพทย์จะรักษาโดยการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และชะลอกระบวนการเกิดภาวะนี้ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา อาทิ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง รับประทานยาเม็ดเสริมแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งวิตามินดีจะช่วยกระบวนการดูดซึมแคลเซียม เพื่อรักษามวลกระดูกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่หากแพทย์พิจารณาแล้วผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูกหรือเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก

ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะกระดูกบาง เช่น ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะกระดูกบาง เช่น

• อายุ อายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

• เพศ ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีมวลกระดูกน้อยกว่า มีอายุยืนกว่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้มากขึ้น

• กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นภาวะนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมของภาวะดังกล่าวได้

• การใช้ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ยากันชักบางชนิด นอกจากนี้ การทำคีโมหรือเคมีบำบัดที่ต้องมีการฉายรังสีก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้ได้เช่นกัน

การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกบาง สำหรับบุคคลทั่วไป โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ระมัดระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานาน และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำทุกปี

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว มีแพทย์ผู้ชำนาญการให้การดูแลรักษาสามารถวินิจฉัยและรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น รวมถึงภาวะกระดูกบาง โดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางและมีประสบการณ์การผ่าตัดทั้งแบบเปิดและส่องกล้อง ทำให้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วและปลอดภัยขึ้น

ผลพวงมนุษย์เก็บตัวหนีโควิดฯ ทะเลอินเดียสะอาดขึ้น เต่าหญ้าเกือบครึ่งแสนขึ้นวางไข่รอบ 2

เผยแพร่: 31 มี.ค.ไม่เพียงแค่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เท่านั้น หากแต่การเก็บกักตัวอยู่กับบ้านของผู้คนหลาย ๆ ประเทศในช่วงนี้ยังถือเป็นการเยียวยาธรรมชาติไปในตัวอีกด้วย

ก่อนหน้านี้สื่อต่างประเทศหลายๆ เจ้า อาทิ รอยเตอร์, ซีเอ็นบีซี ฯลฯ ได้รายงานถึงสภาพน้ำในคลองเมืองเ วนิส ที่กลับมาใสสะอาดขึ้น ภายหลังจากที่อิตาลีได้ออกมาตรการปิดเมืองและขอให้ผู้คนอยู่กับบ้าน

ล่าสุดสื่ออินเดียได้รายงานว่า ตอนนี้ชายหาด ของรัฐ Odisha ไม่ว่าจะเป็น Gahirmatha และ Rushikulya ได้มีเต่าหญ้าทะเล Olive Ridley พากันขึ้นมาวางไข่ครั้งที่สองกันหลายหมื่นตัว

ตามรายงานระบุว่าปีที่ผ่านมา เต่าหญ้าทะเล Olive Ridley แทบจะไม่กลับขึ้นมาวางไข่ครั้งที่สองเลย เนื่องมาจากชายหาดที่ากปรกและการรบกวนจากนักท่องเที่ยว

กระทั่งในปีนี้การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้คนอินเดียเก็บตัวอยู่กับบ้าน ชายหาดหลายแห่งมีเวลาฟื้นตัวจนสะอาดกระทั่งบรรดาเต่าพากันขึ้นมาวางไข่รอบสอง

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อุทยานระบุว่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา มีเต่าประมาณ 72,142 ตัวที่ขึ้นมาวางไข่บนชายฝั่งของอิเดีย ซึ่งเฉพาะที่ Rushikulya ที่เดียวน่าจะมีเต่าอย่างน้อย 475,000 ตัวมาวางไข่เป็นจำนวนกว่า 60 ล้านฟองเลยทีเดียว

โดยระยะฟักตัวของเต่าหญ้านั้นจะอยู่ที่ 45 วันซึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ทางเจ้าหน้าที่จะจัดเวรยาม อาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวังไข่เต่าจากทั้งสุนัขและเรือเพื่อให้การฟักตัวผ่านไปด้วยดี

สำหรับเต่า Olive Ridley ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ พบได้ในเขตน้ำอุ่นบริเวณมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และเซาท์แอตแลนติก มีขนาดตัวอยู่ที่ 0.6-0.8 เมตร และมีน้ำหนักสูงถึง 45 -50 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยจะมีอายุประมาณ 50 ปี

ที่มา https://www.eastmojo.com/coronavirus-updates/2020/03/29/covid-19-olive-ridley-turtles-start-nesting-on-odisha-coast

5 เทคนิคง่ายๆ พิชิต "ออฟฟิศซินโดรม"

31 มี.ค. 63 / ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความตึงเครียด วิตกกังวล ต่อคนหลายๆ คนไม่ว่าจะโดยทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม โดยมีโรคที่อาจตามมากับความเครียดได้ก็คือ โรคปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือออฟฟิศซินโดรม เพราะอะไร และ จะป้องกันได้อย่างไร นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล จะมาเล่าให้ฟัง

ความเครียดหรือ วิตกกังวล ทำให้เกิดการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง ได้อย่างไร?

โดยปกติกล้ามเนื้อคอ บ่า ต้องรับน้ำหนักศรีษะ ซึ่งหนักราวๆ 7 กิโลกรัม เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน กล้ามเนื้อหลังก็ต้องรับน้ำหนักตัว และศรีษะเช่นกัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นเกิดความตึงตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ความเครียดหรือความวิตกกังวลจะมีผลทางอ้อม กับกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่อยู่รอบๆ กระดูกสันหลัง คอ บ่า ไหล่ โดยทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวอยู่ แสดงอาการปวดออกมาได้ง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด ตึง ล้า ไปจนถึงอ่อนแรง

ซึ่งหากมีทั้งกล้ามเนื้ออักเสบและความเครียดทั้งสองสิ่งประกอบกัน จะส่งผลให้อาการปวดเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนบางครั้งไม่สามารถทำงานได้ หรือทำงานได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม นอกจากนี้ หากความตึงตัวและความเครียดเหล่านี้คงอยู่นาน จะส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง บางครั้งปวดลามไปที่ท้ายทอย ศรีษะ หรือบริเวณรอบๆ เบ้าตา คล้ายกับ “อาการปวดไมเกรน” ได้ การปล่อยให้ปวดเรื้อรังนอกจากจะส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ในผู้ป่วยบางรายอีกด้วย

ถ้าอาการเป็นไม่มาก หรือ เพิ่งเริ่มเป็น หมอมีคำแนะนำเพื่อลดอาการปวดเหล่านี้

5 วิธีง่ายๆ ลดปวด ลดตึง อย่างได้ผล

1.ยืดกล้ามเนื้อคอ จะช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ และยังช่วยลดอาการปวดคอรวมไปถึงอาการปวดร้าวไปที่ท้ายทอยและขมับได้ การยืดกล้ามเนื้อคอ สามารถทำได้ง่ายๆ ในที่ทำงาน สามารถทำได้ด้วยตนเอง ใช้เวลาไม่ถึงสองนาที วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่หมอแนะนำที่สุด

2.การนวดเบาๆ ที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ สามารถช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ผ่อนคลาย ลดอาการปวดร้าวไปยังศรีษะ ท้ายทอย และบริเวณบ่าไหล่ได้ นอกจากนี้การใช้ความร้อนที่เหมาะสมเข้าช่วยร่วมกับการนวด จะทำให้กล้ามเนื้อลดการตึงตัวได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.ปรับอุปกรณ์และท่านั่งทำงานให้เหมาะสม เพราะท่านั่งทำงานคือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับโรคออฟฟิศซินโดรม การนั่งทำงานหรือใช้คอมพิวเตอร์ผิดท่าเป็นเวลานาน จะส่งผลให้กล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ หลัง ทำงานอย่างหนัก จนเกิดการอักเสบขึ้นได้ เคล็ดลับง่ายๆ อย่างหนึ่งก็คือ การปรับความสูงของเก้าอี้ให้เหมาะสมกับโต๊ะทำงานและนั่งให้เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นอยู่เสมอ จะช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ถ้าเท้าไม่สามารถแตะพื้นได้ อาจต้องใช้ที่พักเท้าช่วยครับ

4.พักและยืด หมอแนะนำให้ผู้อ่านพักจากท่าการทำงานทุกๆ 1 ชั่วโมง โดยพักประมาณ 3-5 นาที ระหว่างพัก ให้ทำงานยืดกล้ามเนื้อคอ และกล้ามเนื้อหลัง ดื่มน้ำเปล่า หันมองไกลๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ จะช่วยทำให้ร่างกายและกล้ามเนื้อต่างๆ ผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

5.อย่างปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะจะทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อได้ง่ายขึ้น การดื่มน้ำจะช่วยให้เกิดสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย สงผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างที่มีผลต่อการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟก่อนนอน ซึ่งจะเพิ่มการตึงตัวของกล้างเนื้อและทำให้กล้ามเนื้ออักเสบหายได้ยากมากขึ้น

พยายามสังเกตตนเองอย่าปล่อยให้อาการเป็นมาก หรือเป็นยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ เพราะจะรักษาได้ยาก และบางครั้งเป็นเรื้อรังได้ ถ้าอาการแย่ลง หรือ ไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป อย่าลืมดื่มน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยลดความเครียดของร่างกายได้.

ไม่ใช่แค่สูงวัย! 'วัยกลางคน' ก็เสี่ยงป่วย-ตายจากโควิด-19

ผลการวิจัยใหม่ในอังกฤษพบว่า คนวัยกลางคนมีความเสี่ยงติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 เหมือนกัน

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารโรคติดเชื้อแลนเซ็ตได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 3,600 คนในจีนแผ่นดินใหญ่ และข้อมูลผู้ได้รับการอพยพกลับจากเมืองอู่ฮั่นที่พบการระบาดเป็นแห่งแรก พบว่า อายุเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความรุนแรงของการติดเชื้อ ผู้ป่วยอายุเกิน 80 ปีต้องเข้าโรงพยาบาลเกือบ 20%

ขณะที่ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 30 ปีต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 1% หากนำจำนวนผู้ที่มีอาการปานกลางหรือไม่มีอาการมาคำนวณด้วย อัตราผู้ป่วยวัย 50 ปีเศษที่ต้องเข้าโรงพยาบาลจะอยู่ที่ 8.2%

ผลการศึกษาพบว่า อัตราผู้เสียชีวิตในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับการยืนยันอยู่ที่ 1.38% แต่หากนำจำนวนผู้ไม่ได้รับการยืนยันมาคำนวณด้วยจะลดลงเหลือ 0.66%

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตทั่วโลก 39,025 คน จากจำนวนผู้ป่วย 802,967 คนจนถึงเวลา 19.50 น. ณ วันนี้ (31 มี.ค.) ตามเวลาในไทย คิดเป็นสัดส่วน 4.85%