ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



เช็ก 8 สัญญาณ “วัยทอง” อาการแบบไหนที่ใช่ เท่าไร

อาการวัยทอง วัยทอง หรือวัยหมดระดู คือภาวะที่ผู้หญิงขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบอวัยวะต่างๆ โดยมากมักพบในอายุประมาณ 50 ปี แต่ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ช่วงอายุ 30 กลางๆ และจะแปรปรวนแบบสังเกตได้ชัดเจน เมื่ออายุประมาณ 40 ปี

อาการวัยทองเกิดขึ้นในช่วงที่รังไข่เริ่มหยุดทำงาน ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรง จนกระทบกับการใช้ชีวิต โดยสามารถสังเกตอาการสำคัญต่างๆ ได้ดังนี้

1. อาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน

อาการร้อนวูบวาบในวัยทองเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ อาการร้อนวูบวาบ มักเป็นความรู้สึกที่แผ่จากบริเวณหน้าอกขึ้นไปที่ลำคอและใบหน้า มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออก และตามมาด้วยอาการหนาวสั่น อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันหากเกิดในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับ

2. การมาของประจำเดือนเปลี่ยนไป

อาการที่สังเกตได้ชัดเจนในช่วงวัยทองคือการมาของประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางรายประจำเดือนอาจขาดและหายไปเลย ในขณะที่บางรายจะค่อยๆ น้อย และหมดลงถือว่าปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีเลือดออกนานขึ้นเกิน 7 วัน หรือออกกะปริดกะปรอยผิดปกติ ควรตรวจหาสาเหตุให้ละเอียด

นอกจากนี้ควรระวังโรคมะเร็งไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ใช่อาการวัยทอง เพราะบางคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการปกติในช่วงวัยทองจึงไม่ได้ทำการตรวจให้ละเอียด หรือไปรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ รวมทั้งสมุนไพรบางชนิดเพื่อขับถ่ายหรือกำจัดของเสียในร่างกาย จนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกผิดปกติ หรือปวดท้องบริเวณท้องน้อย และเมื่อมาพบแพทย์อาการก็ลุกลามไปมากแล้ว

อาการประจำเดือนขาดหายหรือค่อยๆ มาน้อยลงและหมดไป เป็นส่วนหนึ่งของอาการวัยทองที่พบได้ทั่วไป

3. ช่องคลอดแห้ง

อาการวัยทองที่พบได้คือ ช่องคลอดแห้ง เพราะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบๆ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบ และหย่อนตัว เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือหัวเราะ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

4. ผิวเหี่ยวและเล็บเปราะ

เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผิวหนังจะเหี่ยวแห้งและบางลง เกิดรอยช้ำได้ง่าย มีอาการคัน เล็บเปราะหักง่าย ผมร่วง หรือบางลง เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และการเปลี่ยนไปตามวัย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียคอลลาเจน ความหนาของผิวลดลงหลังหมดประจำเดือน

5. มีอาการซึมเศร้า

พบภาวะซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย กังวล กระวนกระวาย ขาดสมาธิในการทำงาน และนอนไม่หลับได้บ่อยขึ้นในช่วงวัยทอง แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาการทางจิตใจในช่วงวัยทองนี้มักมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต ความกังวลเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่วัยชรา รวมทั้งสูญเสียความมั่นใจที่รูปลักษณ์ไม่สวยงามเหมือนในอดีต ความรุนแรงขึ้นอยู่กับสภาพสังคมแวดล้อมด้วย

6. กระดูกพรุน

เมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงวัยทองจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย ซึ่งปกติแล้วร่างกายเราจะมีการสร้างกระดูกใหม่และสลายกระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่มีการสร้างกระดูกใหม่มากกว่าการสลายกระดูก แต่หลังอายุ 35 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกผู้หญิงไทยจะลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.3-0.5 ต่อปี

การสลายกระดูกในลักษณะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 5-10 ปี กระดูกจึงอาจบางลงจนเกิดกระดูกพรุนได้ในวัยนี้ หากไม่มีการป้องกันใดๆ อาจทำให้กระดูกหักได้แม้เพียงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป จะไม่แสดงอาการใดๆ จะปรากฏเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้นแล้ว โรคกระดูกพรุนจึงถือเป็นภัยเงียบของผู้หญิงวัยทอง

7. หลงลืมง่าย

อาการหลงลืมง่ายเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่วัยทอง ความสามารถในการจำชื่อคน หรือข้อมูลสำคัญลดลง โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง และพบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 โรคนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังอายุ 65 ปี และพบในหญิงมากกว่าชาย เป็นมากในคนที่ไม่ค่อยใช้สมองคิดบ่อยๆ ดังนั้นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทองไม่ควรปล่อยสมองให้อยู่นิ่ง ควรมีกิจกรรมให้สมองได้ทำงานบ่อยๆ เช่น การคิดเลข ต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น

8. โรคหัวใจและหลอดเลือด

การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงวัยทองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันเลว (LDL) ส่วนไขมันดี (HDL) จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

หากพบว่าตนเองมีกลุ่มอาการดังกล่าวหลายอาการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและดูแลปัญหาในวัยทอง

ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลศิริราช ปิยราชมหาการุณย์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


รู้ไว้ไม่เสี่ยงไตวาย! เช็ก 6 สัญญาณร่างกาย ทานเกลือ-โซเดียมมากเกินไป

อาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากนมมีโซเดียมต่ำเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนรู้ดีว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่รู้หรือไม่ การทานอาหารที่มีปริมาณเกลือมากเกินไปจะเกิดผลต่อร่างกายอย่างไร แล้วทางที่ดีควรบริโภคเกลือเท่าไรในหนึ่งวัน

นพ. หวงเสวียน ชี้ให้เห็นว่า ร่างกายของเราต้องการเกลือโซเดียมเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาความสมดุลต่อสุขภาพ แต่ละคนที่ควรบริโภคโซเดียมประมาณ 1,500 มก.ต่อวัน และปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวันต่อคนคือ 2,400 มก. (เทียบเท่ากับเกลือ 6 กรัม)

ซึ่งข้าวแช่เย็นที่ต้องเข้าไมโครเวฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในชีวิตประจำวัน รวมถึงขนมต่าง ๆ เช่น มันฝรั่งทอด, ของดอง และปลาหมึกฉีก ทำให้ปริมาณโซเดียมที่เราได้รับในแต่ละวันโดยเฉลี่ยมากกว่า 4,000 มก. ซึ่งหมายความว่าในหนึ่งวันเราทานเกลือมากกว่า 10

ทางทีมข่าวสดจะขอแนะนำ 6 สัญญาณทางกายภาพของการรับประทานเกลือมากเกินไป การวิจัยทางการแพทย์ เตือนมานานว่า ทานเกลือมากเกินไปอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง แล้วร่างกายของเรารู้ได้อย่างไรว่าเราได้รับเกลือมากเกินไป?

ในเรื่องนี้ นพ. หวงเสวียนกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “นี่เป็นคำถามที่ดีจริงๆ!” และแยก 6 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดจากการทานเกลือมากเกินไป ดังนี้

1. รู้สึกแน่นท้อง เมื่อทานเกลือมากเกินไป ท้องของจะรู้สึกบวมหรือบีบรัด ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณทางร่างกายที่พบบ่อยที่สุดที่เห็นทันทีเมื่อทานนเกลือมากเกินไป เนื่องจากโซเดียมส่วนเกินทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้และของเหลวส่วนเกินจึงสะสมอยู่ในร่างกาย ดังนั้น ขอเตือนอีกครั้งว่าอาหารไม่จำเป็นต้องเค็มมากและมีโซเดียมมากเกินไป เช่น แซนวิช พิซซ่า และซุปกระป๋องบางชนิดอาจไม่เค็มมากแต่ปริมาณโซเดียมยังเกินมาตรฐาน

2. ความดันโลหิตสูง หากร่างกายดูดซึมโซเดียมมากเกินไป โซเดียมจะทำให้ไตดูดน้ำกลับมากขึ้น และของเหลวจำนวนมากจะค้างอยู่ในหลอดเลือด ทำให้ปริมาตรในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นตามธรรมชาติ

3. อาการบวมน้ำ เมื่อมีโซเดียมในร่างกายมากเกินไป ของเหลวในร่างกายจะคั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ในหลอดเลือดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายด้วย ซึ่งจะทำให้ใบหน้า มือ เท้า และข้อเท้าของคุณเกิดอาการบวมน้ำได้ง่าย

4. ความรู้สึกกระหายน้ำ หลังรับประทานอาหาร หากคุณกระหายน้ำมาก อาจเป็นเพราะรับประทานและร่างกายดูดซึมโซเดียมมากเกินไปจนดึงน้ำจากเซลล์ออกสู่ภายนอกเซลล์มากขึ้น ในกรณีนี้ อาจเริ่มรู้สึกกระหายน้ำมาก ตามธรรมชาติ มนุษย์จะต้องการดื่มน้ำมากขึ้น เพราะการดื่มน้ำจะช่วยปรับสภาพเกลือให้เป็นกลางและทำให้รู้สึกอยากดื่ม

5. การเพิ่มและลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เมื่อมีโซเดียมมากเกินไป คุณจะกักเก็บน้ำไว้ในร่างกายมากเกินไป และอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ แต่คุณเคยพบว่าบางครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์หรือสองสามวัน น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะกินเกลือมากเกินไป

คุณเคยสังเกตไหมว่า บางครั้งน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นหรือลดลงในไม่กี่วัน หากคุณมีน้ำหนักมากกว่า 1 กก. ในหนึ่งวัน หรือ 2 กก. ในหนึ่งสัปดาห์ คุณสามารถระลึกได้ว่าอาหารที่คุณกินในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมาอาจมีเกลือมากเกินไป เพียงลดเกลือลงใน 2-3 วัน น้ำหนักของคุณก็อาจลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

6. เข้าห้องน้ำบ่อย การทานเกลือมากเกินไปอาจทำให้เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น อาจเป็นเพราะโซเดียมมากเกินไปทำให้กระหายน้ำมาก ซึ่งอาจกระตุ้นให้คุณดื่มน้ำมากขึ้น จากนั้นคุณอาจต้องเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะมากขึ้นกว่าปกติ

ขอบคุณที่มาจาก Ettoday


'ยูเนสโก'เลือกภาพ'โนรา' เผยแพร่ทั่วโลกบนเฟสบุ๊ค -นิตยสารTIME เลือกอีสาน- ภูเก็ต 1 ใน 50 สุดยอดสถานที่ของโลกปี 2023

27 มีนาคม 2566 : นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการที่การแสดง “โนรา” ของไทยได้ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564

เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้ UNESCO ได้ร่วมเผยแพร่รูปภาพโนราของไทยพร้อมติดแฮชแท็กWe are #LivingHeritage ขึ้นเผยแพร่บนหน้าเฟสบุ๊กของ UNESCO (https://www.facebook.com/unesco) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปทั่วโลก สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยทั่วประเทศเป็นอย่างมาก “โนรา” เป็นศิลปวัฒนธรรมของไทย ศิลปะการแสดงที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นภาคใต้ ผสมผสานในเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม ศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิง ตลอดจนเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์สวยงาม โดยภาพโนราใน เฟสบุ๊กของ UNESCO มีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าไปร่วมชื่นชมแสดงความยินดี แล้วร่วมกันเผยแพร่ภาพดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 “โนรา” ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา จาก UNESCO ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อย่างเป็นทางการ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนลำดับที่ 3 จาก โขน และ นวดไทย อีกทั้ง “โนรา” ถือเป็น Soft Power ที่ไทยมุ่งผลักดันให้เกิดการต่อยอดและขับเคลื่อนในเชิงมิติของวัฒนธรรม ที่ผ่านมา วธ. ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมโครงการส่งเสริม “โนรา” ทั้งการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินโนราในฐานะศิลปินแห่งชาติ จัดให้มีเวทีการแสดงและถ่ายทอดภูมิปัญญาโนราในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ล่าสุด “นิตยสาร TIME” โดย https://time.com/collection/worlds-greatest-places-2023 สื่อดังระดับโลกได้มีการจัดอันดับ World’s Greatest Places 2023 หรือ “สุดยอดสถานที่ของโลก” ประจำปี 2023 เป็นการเสนอชื่อสถานที่ที่ได้จากเครือข่ายในแวดวงการท่องเที่ยว ทั้งผู้สื่อข่าวและผู้สนับสนุนในประเทศต่างๆ

ผลปรากฏว่า มีสถานที่ในประเทศไทยก็ติดอันดับในลิสต์มา 2 แห่งจากทั้งหมด 50 แห่ง ได้แก่ 1. ภาคอีสาน (ไม่ได้เจาะจงจังหวัด) โดย นิตยสาร TIME ได้อธิบายถึงเหตุผลพอสังเขปว่า เป็นภูมิภาคขนาดใหญ่ที่สุดในไทย โดยตั้งอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีเมนูอร่อยสุดคลาสสิกอย่าง “ส้มตำ” และ “ลาบ” เป็นอาหารรสเปรี้ยวเผ็ดและหอมอบอวลไปด้วยสมุนไพร นอกจากนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจอย่าง “ปราสาทเขาพนมรุ้ง” เป็นต้น.

2.เกาะภูเก็ต นิตยสาร TIME ได้อธิบายเหตุผลว่า เป็นจังหวัดท่องเที่ยวของไทยที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมุ่งหน้าไปเยือนมากที่สุด ซึ่งเหมาะกับทุกคนในครอบครัว นอกจากจะมีทะเลและชายหาดที่สวยงามระดับโลกแล้ว ภูเก็ตยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่เฉพาะตัว อาหาร ที่พักหลากหลายกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยวในเมืองเก่าที่นำเสนอเทศกาลดั้งเดิมและงานตลาดนัดที่พบเจอได้ทั่วเกาะ โดยสถานที่ 2 แห่งของไทยเป็น 50 “สุดยอดสถานที่ของโลก” ประจำปี 2023 ร่วมกับ ประเทศโดมินิกา ,เมืองบาร์เซโลนา สเปน , อุทยานแห่งชาติตอร์เรส เดล ไปย์เน (Torres del Paine) ชิลี, ลาดักห์ (Ladakh ) อินเดีย ,เมืองเชอร์ชิลล์ (Churchill) Manitoba แคนาดา , เมืองออร์ฮุส (Aarhus) เดนมาร์ก และ เมืองเกียวโต ญี่ปุ่น เป็นต้น


นั่งนาน ฆ่าคนได้ ! วิจัยพบ คนไทยนั่งนานกว่า 7 ชม. เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

28 มี.ค. 2566-12:26 น.:รู้ไว้ไม่เสี่ยงตาย วิจัยพบคนไทยนั่งนานกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน เพราะรูปแบบทำงานเปลี่ยน ทำเผาผลาญพลังงานต่ำ เสี่ยงโรค เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ภัยเงียบอันตราย สำหรับพฤติกรรมเดิมของวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำงานในอาชีพไหน อาจจะเสี่ยงโรค เสียชีวิตก่อนวัยอันควรโดยไม่รู้ตัว อนาคตตัวเลขทะยานน่าห่วง

ล่าสุด นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย

วิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพคนไทยในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในผู้ที่มีอายุ 18 – 80 ปี จำนวน 78,717 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

สาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เช่น การเปลี่ยนจากการทำงานภาคเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการนั่งในห้องทำงานแทน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ

ผลการศึกษายังพบว่า คนไทยมีการทดแทนการขยับร่างกายที่น้อยในการทำงาน ด้วยการออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมนันทนาการในยามว่างแทน โดยเฉพาะคนเมือง พบว่ามีสัดส่วนกิจกรรมทางกายในนันทนาการ และการเดินทางมากกว่าคนชนบท

เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพในการเข้าถึงสถานที่นันทนาการ โครงสร้างพื้นฐานในการเดิน ทั้งทางเดินเท้า การผังเมือง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ ในเมืองดีกว่าชนบท ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ จะลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวานโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น