ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 7 พฤษภาคม 2565

ไขปริศนาองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต

3 พ.ค. 2565:โลกของเราก่อตัวขึ้นเมื่อราว 4,500 ล้านปีก่อน แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตบนโลกยังเป็นปริศนา เพราะในช่วงเริ่มต้นของการดำรงอยู่ของโลกนั้น โลกถูกโจมตีทั้งอุกกาบาต ดาวหาง และวัตถุอื่นๆจากอวกาศ อีกทั้งอาจร้อนเกินกว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 4,000 ล้านปีก่อน อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าสิ่งมีชีวิตแรกของโลกคือจุลินทรีย์ในทะเลยุคดึกดำบรรพ์อายุประมาณ 3,500 ล้านปีก่อน

จัดอยู่ในอุกกาบาตประเภท Carbona ceous chondrites มาตรวจสอบใหม่โดยทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโดในญี่ปุ่น ระบุว่า การวิจัยครั้งนี้แตกต่างจากงานวิจัยครั้งก่อน และไม่ได้ใช้กรดเข้มข้นหรือของเหลวร้อนในการสกัดองค์ประกอบทั้ง 5 ของสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่านิวคลีโอเบส (Nucleobases) ซึ่งนิวคลีโอเบสเป็นสารประกอบที่มีไนโตรเจนอันมีความสำคัญต่อการสร้างโครงสร้างเกลียวคู่ที่มีลักษณะเฉพาะของดีเอ็นเอ (DNA) และดีเอ็นเอก็มีรหัสพันธุกรรมสำหรับ สิ่งมีชีวิตทุกชนิด

นักวิจัยอธิบายว่าในการตรวจสอบอุกกาบาตครั้งก่อนนั้น พบนิวคลีโอเบสก็จริง แต่ไม่ครบชุด 5 เบส โดยพบแค่ อะดีนิน, กัวนีน, ยูราซิล แต่กลับตรวจไม่พบไทมีน และไซโทซีน ซึ่งเพิ่งมาตรวจพบในการวิจัยครั้งใหม่ ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่าทั้งไทมีนและไซโทซีนมีโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนกว่าอีก 3 ชนิด ดังนั้น การพบนิวคลีโอเบสที่ครบสมบูรณ์ของ DNA และ RNA ในอุกกาบาตเหล่านั้น จึงเป็นหลักฐานใหม่ว่าอุกกาบาตพวกนี้อาจเป็นแหล่งสำคัญของสารประกอบอินทรีย์ที่จำเป็นต่อการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกของโลก.


นีแอนเดอร์ธัล ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ

หลายข้อสงสัยที่นักวิจัยมีต่อกลุ่มมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล (Neanderthals) ที่เป็นสายพันธุ์ใกล้ชิดบรรพบุรุษมนุษย์เรา เช่น พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดี หรือว่าพวกเขาต้องการสภาพแวดล้อมที่มีอากาศอบอุ่นมากกว่า เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ นักวิจัยจึงออกสำรวจพื้นที่ที่กลุ่มมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลเคยอาศัยอยู่ โดยเฉพาะที่หมู่บ้านลิชเทินแบร์ก ในภูมิภาคเวนด์แลนด์ของเยอรมนี

ทีมวิจัยหลายสถาบันนำโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมักซ์ พลังค์ ที่ศึกษาด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ในเมือง ไลป์ซิกของเยอรมนี ตรวจสอบซากวัตถุที่หลงเหลืออยู่ของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล เพื่อสำรวจรายละเอียดความสัมพันธ์ระหว่างการปรากฏตัวของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ในทางตอนเหนือ กับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทีมวิจัยพบว่าในช่วงยุคน้ำแข็งสุดท้ายนั้นมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลได้ไปเยือนพื้นที่ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือสุดของพวกเขาแม้จะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น

นอกจากนี้ยังศึกษาพบว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธัลได้ครอบครองชายฝั่งทะเลสาบที่มีป่าไม้เล็กๆเมื่อประมาณ 90,000 ปีก่อน ซึ่งมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น โดยเครื่องมือหินที่พบในที่ตั้งฐานที่อยู่เดิมนั้น เป็นเครื่องยืนยันถึงกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น งานไม้ การแปรรูปพืช และที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงในเครื่องมือหินก็บ่งบอกว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธัลมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป.

Credit : M. Weiss / M. Hein


“ไมเกรน” อีกหนึ่งโรคฮิตของคนออฟฟิศ

เชื่อว่าทุกคนจะต้องเคยมีอาการ “ปวดศีรษะ” ซึ่งหากอาการปวดศีรษะมีความรุนแรง ย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณ ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือไปทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการปวดศีรษะนี้เป็นสัญญาณของโรคต่างๆ มากมายหลายโรค และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคไมเกรน”

“ไมเกรน” เป็นโรคที่เกิดจากวงจรภายในสมองเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท และหลอดเลือดที่ผิดปกติ โดยอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย คนที่เป็นไมเกรนมักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไมเกรน นอกจากนี้ไมเกรนอาจมีผลจากฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรน หรือ ผู้หญิงบางคนจะเป็นไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือน ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นไมเกรนได้ ได้แก่ ความเครียด อดนอน รับประทานอาการไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารที่มีผงชูรส หรืออาหารแปรรูปที่มีสารไนเตรต-ไนไตรต์ เช่น แฮม ไส้กรอก เป็นต้น

ไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไมเกรนที่มีอาการเตือน (aura) นำมาก่อน และไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน ซึ่งพบได้บ่อยกว่า

อาการเตือน (Aura)

ผู้ที่เป็นไมเกรนโดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะเลย โดยไม่มีอาการเตือนเหล่านี้นำมาก่อน แต่ในผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือนนำมาก่อน จะมีอาการเตือนนำมาก่อนอาการปวดศีรษะประมาณ 10-15 นาที บางคนอาจจะนานเป็นชั่วโมง โดยมีอาการหลากหลายกันออกไป เช่น

● อาการที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น อาการเตือนชนิดนี้พบได้บ่อยกว่า โดยผู้ป่วยจะเห็นภาพเบลอเมื่อมองไปด้านหน้า ส่วนขอบที่เบลอจะค่อยๆ ขยาย เห็นเป็นขอบซิกแซก บางคนเห็นแสงวูบวาบ ซึ่งอาจจะขยายเป็นวงที่กว้างขึ้นได้

● รู้สึกชาตามแขนขา พบได้น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเตือนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น

อาการปวดศีรษะไมเกรน

ช่วงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ผู้ป่วยจะปวดตื้อๆ หรือปวดตุ้บๆ มักจะเป็นข้างเดียว แต่ไม่ได้เป็นข้างเดียวกันทุกครั้ง จะสลับเป็นอีกข้างได้ บางคนอาจจะมีอาการร้าวมาที่กระบอกตา หรือร้าวมาที่คอได้ อาการปวดมักจะเป็นประมาณ 4-72 ชั่วโมง ระหว่างที่มีอาการปวด อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ นอกจากนี้จะมีความรู้สึกไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้น คนที่เป็นไมเกรน มักต้องการอยู่ในที่มืดๆ และในที่เงียบๆ เวลาที่มีอาการปวด นอกจากนี้ ในรายที่มีอาการปวดมากๆ อาจไม่สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หลายรายอาจต้องนอนพัก

หลังจากที่อาการปวดศีรษะหายไปแล้ว บางคนก็จะรู้สึกเหนื่อย เพลีย หรือมีอาการง่วงเหงาหาวนอนได้ การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไมเกรนได้โดยดูจากประวัติ และการตรวจร่างกายตามระบบและการตรวจร่างกายทางระบบประสาท โดยในโรคไมเกรนนั้นการตรวจร่างกายจะไม่พบความผิดปกติใดๆ การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมนั้นไม่จำเป็นในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยกเว้นในบางรายที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้น หรือมีอาการบางอย่างที่ไม่ตรงไปตรงมากับโรคไมเกรน จึงจะส่งตรวจเพิ่มเติมเป็นเฉพาะรายไป

แม้ว่าโรคไมเกรนจะไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ในคนที่มีอาการมากๆ ก็จะทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะไม่สามารถทำงานได้ บางรายอาจต้องนอนทั้งวัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะก็มักจะซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง ซึ่งการรับประทานยาแก้ปวดถี่เกินไปก็จะทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้ (เรียกว่า Medication-overuse headache) ดังนั้นคนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย เช่น มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษา

การรักษาอาการปวด เป็นการรักษาตามอาการ โดยยาที่ใช้รักษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ให้กินเฉพาะเวลาที่มีอาการเท่านั้น ยากลุ่มนี้มีด้วยกันหลายชนิด ตั้งแต่ชนิดที่หาซื้อได้เอง (over-the-counter) เช่น พาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น หากรับประทานยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะเบื้องต้นแล้ว อาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะมีการพิจารณาใช้ยากลุ่มที่จำเพาะต่ออาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น triptans แต่การใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในการพิจารณาและความดูแลของแพทย์ บางคนถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาแก้อาเจียนซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อาการปวดศีรษะดีขึ้นด้วย

2. ยากลุ่มป้องกันอาการปวด ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน แนะนำปรึกษาแพทย์ เนื่องจากจะมีบทบาทของการใช้ยากลุ่มป้องกันอาการปวด ยากลุ่มนี้จะต้องรับประทานทุกวันแม้ไม่มีอาการปวดศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น ยากลุ่มนี้ก็มีอยู่หลายชนิด โดยการใช้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้มียากลุ่มใหม่ๆ ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท CGRP ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาฉีด แพทย์เป็นผู้เลือกใช้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยเป็นรายๆ ไปตามข้อบ่งชี้ แต่ยากลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง

การดูแลตนเองและการป้องกัน

ผู้ที่เป็นโรคไมเกรน สามารถดูแลตนเองได้ง่ายๆ โดยการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด และ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ เช่น กลิ่น หรือ อาหารบางอย่าง ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ควรทำไมเกรนไดอารี่ เพื่อบันทึกว่ามีอาการปวดศีรษะวันใดบ้าง ปวดมากแค่ไหน มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ปวดศีรษะหรือไม่ อย่างไร และรับประทานยาอะไรไปบ้าง ในรายที่มีอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ควรมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการใช้ยาป้องกันอาการปวดศีรษะ และ ป้องกันอาการปวดศีรษะจากการรับประทานยาแก้วปวดบ่อยเกินไป

แหล่งข้อมูล

อ. นพ.พิเชฐ เติมสารทรัพย์ สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


หมีขาวจ่อถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ

มอสโก (บลูมเบิร์ก/บิสเนสอินไซเดอร์) - รัสเซียตัดสินใจแล้วว่าจะถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส แน่นอนแล้ว อ้างเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกต่อรัสเซียกรณีบุกโจมตียูเครน พร้อมแจ้งชาติพันธมิตร 1 ปีล่วงหน้า

ดมิทรี โรโกซิน ผู้อำนวยการองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย หรือรอสคอสมอส ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์รอสซิยา 24 ของรัสเซียว่า ได้กำหนดกรอบเวลาของการถอนตัวออกจากไอเอสเอสแล้ว ทางการรัสเซียยังไม่จำเป็นต้องประกาศต่อสาธารณะ แต่จะมีการแจ้งบรรดาพันธมิตรของไอเอสเอสหนึ่งปีล่วงหน้า เขากล่าวว่า ขอบเขตของการทำกิจกรรมบนไอเอสเอสนั้นจะกำหนดโดยรัฐบาลและประธานาธิบดี รอสคอสมอสจะมีเวลาในการทำหน้าที่บนไอเอสเอสไปจนถึงปี 2024 ซึ่งสิ่งที่เขาสามารถบอกได้ตอนนี้คือ จากข้อบังคับ รัสเซียจะต้องแจ้งเตือนประเทศพันธมิตรหนึ่งปีล่วงหน้าหากจะยุติการปฏิบัติหน้าที่บนไอเอสเอส

โรโกซินยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงเวลาที่เหลือนี้ รัสเซียจะเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งาน Russian Orbital Service Station หรือ รอสส์ ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งใหม่ของรัสเซีย และจะสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโรโกซินกล่าวโทษมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกว่า เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้รอสคอสมอสดำเนินการตามปกติได้เมื่อต้องทำงานร่วมกับสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ บนไอเอสเอส และว่ารัสเซียต้องยุติภารกิจบนไอเอสเอสตราบใดที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศของรัสเซีย

ทั้งนี้ รัสเซียควบคุมระบบควบคุมการเคลื่อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของไอเอสเอส โดยปกติแล้ว เมื่อไอเอสเอสอยู่ในวงโคจร แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงไอเอสเอสมายังชั้นบรรยากาศ ดังนั้น ไอเอสเอสจึงต้องใช้โมดูลขับเคลื่อน พยุงให้ไอเอสเอสอยู่ในที่ที่ควรจะเป็น หากไม่มีการควบคุมนี้ของรัสเซียไอเอสเอสจะค่อยๆ ตกไปสู่ชั้นบรรยากาศโลกและจะเผาไหม้ แม้นักบินอวกาศยังมีเวลาในการหนีออกมา และเดินทางกลับโลกได้ แต่หากไม่มีการควบคุม อาจมีชิ้นส่วนหนักจำนวนมาก ตกลงมาที่พื้นผิวโลกได้

นอกจากนี้ ชาติต่างๆ ต้องใช้ยานโซยุซของรัสเซียในการนำนักบินอวกาศทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น และแขกคนอื่นๆ ไปยังไอเอสเอส โดยโรโกซินเคยกล่าวว่า ไม่มีอะไรแทนที่ยานโซยุซได้ สหรัฐฯก็ไม่มียานเช่นนี้ นอกจากนี้ รัสเซียยังช่วยขับเคลื่อนไอเอสเอสไม่ให้ชนขยะบนอวกาศและรักษาระดับโคจรที่ถูกต้อง เน้นย้ำว่ารัสเซียคือผู้อุทิศหลักให้กับไอเอสเอส ดังนั้น การที่ไม่มีรัสเซียในไอเอสเอส ไอเอสเอสก็จะไม่มีอยู่อีกต่อไป


ดังไกลถึงแดนลุงแซม! สื่อมะกันตีข่าว'จรวดมอญลูกหนู'บั้งไฟแห่งเมืองปทุม

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 “จรวดมอญลูกหนู” ประเพณีที่ถูกขนานนามว่าเป็น “บั้งไฟแห่งเมืองปทุม” ได้รับความสนใจไปไกลถึงแดนลุงแซม เมื่อเว็บไซต์ นสพ.The Roanoke Times สื่อท้องถิ่นฉบับเก่าแก่ในเมืองโรอาโนค รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว Watch Now: Thai province holds annual amateur rocket-firing competition เป็นคลิปวีดีโอประเพณีการแข่งขันจุดลูกหนู เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ระบุว่า ประเพณีแข่งลูกหนู เป็นประเพณีการละเล่นอย่างหนึ่งตามปกติการแข่งขันลูกหนูจะกระทำในงานศพของพระสงฆ์ชาวรามัญ แต่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง ซึ่งมีชาวมอญมาอยู่ในหมู่ที่ 14 - 15 ได้นำการแข่งขันลูกหนูมาเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงสงกรานต์เพื่อให้งานสงกรานต์มีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น โดยจัดที่วัด เช่น วัดหัตถสารเกษตร , วัดปัญจฑายิกาวาส , วัดเกตุประภา ฯลฯ อ.ลำลูกกา มีการเชิญชวนให้มีการจัดลูกหนูเข้ามาแข่งขัน

ชาวบ้านจะช่วยกันทำลูกหนูเพื่อเตรียมไปแข่งขัน ลูกหนูที่นำมาแข่งขันนั้นจะต้องจัดแต่งภายนอกให้ดูสวยงามเพื่อประกวดกันด้วย จะประดับประดาด้วยกระดาษสีต่างๆ ครั้นถึงกำหนดแต่ละวัดจะจัดขบวนแห่ลูกหนูคล้ายขบวนพาเหรดของนักกีฬาการแต่งกายของคนในขบวนจะต้องเหมือนกัน อาจจะจัดเป็นขบวนประเภทสวยงามหรือประเภทความคิด หรือประเภทตลกขบขันแล้วแต่จะจัดมา

ขบวนแห่ลูกหนูจะนำด้วยกลองยาวหรือแตรวง และมีป้ายบอกชื่อหน่วยงานที่จัดมาและมีนางรำแต่งตัวสีฉูดฉาดเต้นรำตามจังหวะเพลงไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณงานคณะกรรมการตัดสินก็จะให้คะแนนไปด้วย ก่อนที่จะทำการแข่งขันจะต้องนำลูกหนูแห่รอบเมรุเวียนซ้ายเสียสามรอบก่อน แล้วจึงแห่ออกไปยังสนามแข่งขัน เมื่อติดตั้งลูกหนูเข้ากับลวดสลิง เพื่อเตรียมแข่งขันต่อไป

วัดเจ้าภาพจะต้องจัดตั้งเมรุศพเผาศพหลอก มีปราสาทยอดแหลมครอบเมรุศพไหว้กลางทุ่งนาที่จัดเป็นสนามแข่งขันให้สูงเด่นตระหง่าน แล้วปักเสาขึงลวดสลิงให้ปลายลวดพุ่งไปยังปราสาทที่เมรุศพตั้งอยู่ ลวดสลิงที่จัดไว้นั้นจะต้องให้ครบตามจำนวนผู้ส่งลูกหนูเข้าแข่งขัน จับสลากเลือกสาย แล้วนำลูกหนูเข้าประจำสายของตนโดยผูกลูกหนูติดกับสายลวดสลิงทุกสายแล้วจุดเรียงกันไปจนกว่าจะหมด