ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ส่อง 10 เทรนด์สุขภาพที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2024

เรื่องของสุขภาพตลอดปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่แค่เทรนด์ที่เป็นกระแสเท่านั้น แต่มันนำไปสู่วิถีชีวิตของคนยุคหลังโควิดที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมาเป็นอันดับแรก เมื่อพูดถึงเรื่องการมีสุขภาพที่ดี ในแต่ละปีก็จะนำมาซึ่งเทรนด์ใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมา และคาดการณ์ว่าจะได้รับความนิยมต่อเนื่องไปอีกยาวๆ ว่าแต่จะเกิดอะไรขึ้นในปี 2024 กับเทรนด์สุขภาพบ้าง ไม่ว่าจะด้านอาหาร โภชนาการ และการออกกำลังกายที่มีแนวโน้มจะฮิตสุดๆ ไปดูกันเลย!

อาหาร Plant-based จะมาแรง

จากยอดวิวใน #plantbased บน TikTok ที่มากถึง 1 พันล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในปี 2024 ผู้คนจะยิ่งนิยมอาหารที่ทำจากพืชจากธรรมชาติมากกว่าทางเลือกอื่นที่ผ่านกระบวนการพิเศษ เช่น อาหารสังเคราะห์และเนื้อสัตว์

โปรตีนจากพืชจะเป็นที่นิยมมากขึ้น

ในปี 2023 โปรตีนจากพืชได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมียอดวิวบน TikTok ถึง 2 พันล้านครั้งใน #highprotein ความนิยมโปรตีนจากพืชจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2024 แน่นอน ทั้งถั่ว เมล็ดพืช และพืชตระกูลถั่ว

กินแบบ Balanced Diet

การกินอาหารที่สมดุลไม่เพียงแต่ช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาหารที่สมดุลคืออาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในสัดส่วนที่ถูกต้อง รวมถึงคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และน้ำ

Sustainability ยังไม่หายไปไหน

ความยั่งยืนจะอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนอย่างกลมกลืนมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่มาจากเกษตรกรรมแบบปฏิรูป เลือกบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การลด Food Waste และเทรนด์การใช้ส่วนผสมที่อาจถูกทิ้งหรือ ‘ไม่สวย’ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้น

Group Exercise ทำให้การออกกำลังกายสนุกขึ้น

การออกกำลังกายแบบกลุ่มจะมาแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pickleball มาแน่! วัดจากการที่มียอดวิวบน TikTok เกี่ยวกับ Pickleball ในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 459 ล้านครั้ง นอกจากนี้กีฬาที่จะเริ่มฮิตขึ้นอีกครั้งคือกอล์ฟและเทนนิส

PHA Training จะได้รับความนิยมมากขึ้น

PHA หรือ Peripheral Heart Action Training คือการออกกำลังกายที่ผสมผสานทั้งคาร์ดิโอและแรงต้านในมูฟเมนต์ที่เน้นความไวและพักระหว่างเซ็ตน้อยๆ เพื่อคงอัตราการเต้นของหัวใจให้สูงอยู่เสมอ การได้บิลด์และเบิร์นในคราวเดียว แถมได้บริหารร่างกายแบบทั่วร่างในระยะเวลาอันสั้นนี่แหละที่ทำให้คลาสออกกำลังกายลักษณะนี้ได้รับความนิยมไม่มีตก

Pilates จะเป็นที่นิยมในวงกว้าง

หากลองเสิร์ช #RealMenDoPilates ทางอินสตาแกรมก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า พิลาทีสจะไม่เป็นเพียงการออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงอีกต่อไป นอกจากนี้ผลสำรวจจาก Les Mills ในปี 2023 ยังพบว่ากลุ่ม Gen Z เข้าคลาส Reformer Pilates เพิ่มขึ้นถึง 63% และมีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้

Fitness App จะฉลาดล้ำและแม่นยำกว่าเดิม

ไม่มีเวลาเข้ายิม? ไม่ใช่ปัญหา เพราะแค่มี Fitness App ก็ออกกำลังกายได้ทุกที่ทุกเวลา และยิ่งผนวกกับพลังของ AI หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนโลกในยุคนี้ด้วยแล้ว เราจะได้ผลประมวลเรื่องสุขภาพแบบองค์รวมที่แม่นยำและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากกว่าที่เคย

สุขภาพกายดีอย่างเดียวไม่พอ สุขภาพจิตต้องดีด้วย

สุขภาพจิตยังคงเป็นเรื่องที่โลกให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแง่การออกกำลังกายเองก็เห็นได้ชัดว่ายิมบางที่เริ่มเพิ่มคลาส Sound Healing เพื่อเสิร์ฟการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมแก่ลูกค้ายิ่งขึ้น คาดว่าเราคงจะได้เห็นกิจกรรมที่ช่วยฮีลใจในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

สายฟิตให้ความสำคัญกับการ Recovery มากขึ้น

ออกกำลังกายหนักแล้วก็ต้องฟื้นฟูร่างกายด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการบำบัดร่างกายด้วย Ice Baths มากขึ้น ซึ่งปีนี้เราจะยังคงได้เห็นกิจกรรมรวมถึงอุปกรณ์ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกเช่นกัน เช่น Cryotherapy, Sauna และ Pneumatic


สังเกต 'โรคไซนัสอักเสบ' อาการคล้ายไข้หวัด แต่อันตรายกว่าที่คิด

‘โรคไซนัสอักเสบ’ คืออะไร

ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกบริเวณรอบๆ จมูกที่ช่วยลดน้ำหนักของกะโหลกไม่ให้หนักเกินไป ซึ่งถ้าเยื่อบุไซนัสถูกกระตุ้นจากฝุ่น เชื้อโรค มลภาวะ สารพิษ หรือปัจจัยอื่นๆ ก็จะทำให้ไซนัสเกิดการอักเสบได้ โดยผู้ป่วย ไซนัสอักเสบ มักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกลงคอ ไอ ปวดบริเวณใบหน้าหรือศีรษะ ได้กลิ่นลดลง และในบางคนจะได้กลิ่นเหม็นจากภายในจมูก ด้าน ผศ.พญ.กวินญรัตน์ อธิบายเพิ่มว่า “คนมักสับสนระหว่างไข้หวัดกับโรคไซนัสอักเสบ เพราะมีอาการคล้ายกัน โดยเฉพาะโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่มักจะเกิดหลังจากเป็นหวัด หรือตอนที่อาการของหวัดเริ่มดีขึ้น แต่อยู่ๆ ก็อาการหนักขึ้นมา และอาจมีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย”

ปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคไซนัสอักเสบ

โรคไซนัสอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา มีอาการฟันผุจนเชื้อลุกลามเข้าไปในไซนัส ในกรณีไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อ แล้วมีการอักเสบไปที่บริเวณ ไซนัส แต่ในกรณีไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีปัจจัยส่งเสริมได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักๆ คือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ความไม่สมดุลของภูมิคุ้มกันกับสิ่งแวดล้อม และมลภาวะที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

‘ไซนัสอักเสบ’ เป็นแล้วรีบรักษาก่อนแทรกซ้อนลามขึ้นตา-สมอง

ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรค ไซนัส มักจะเกิดในคนไข้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น โดยเชื้ออาจลุกลามเข้าตา ทำให้ตาบวม ตามัว เห็นภาพซ้อน หรือตาบอดได้ และในกรณีที่ลุกลามขึ้นสมอง ก็จะทำให้ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองหรือเป็นฝีเป็นหนองในสมอง ผู้ที่ป่วยเป็น ไซนัสอักเสบ จึงควรรักษาอาการให้ดีก่อนเป็นอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน

แพทย์เตือน PM2.5 อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ-เสี่ยงไซนัสอักเสบเรื้อรัง

PM2.5 เป็นอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กๆ ซึ่งเมื่อเราสูดเข้าไปก็จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง คนที่เจอ PM2.5 เยอะๆ ก็จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบ นอกจากนี้การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM2.5 สูง ก็จะทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดีเข้าไปสะสมในเยื่อบุไซนัสมากขึ้น ทดแทนแบคทีเรียประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในโพรงไซนัสเดิม ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจหลั่งสารออกมาต่อต้าน ซึ่งมักจะอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ และนำไปสู่อาการไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ด้วย โดยแพทย์แนะนำให้ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

วิธีการดูแลรักษาโรคไซนัสอักเสบ

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อ จะสามารถรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ และให้ยาลดบวมตามความเหมาะสมของแต่ละคน ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรัง จะรักษาได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับอาการ เช่น ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ พ่นยาสเตียรอยด์ กินยาฆ่าเชื้อ และการผ่าตัด ไซนัส ด้วยกล้องเอนโดสโคป นอกจากนี้ หากรักษาอาการของโรคอื่นๆ ที่กระตุ้นการอักเสบและติดเชื้อของไซนัส เช่น ฟันผุ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ก็สามารถช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นได้

ในกรณีของผู้ป่วย ไซนัสอักเสบ บางประเภท เช่น ไซนัสอักเสบ ที่รักษาด้วยยาไม่หาย ไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา ไซนัสอักเสบเรื้อรังแบบที่มีริดสีดวงจมูก แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีสำหรับการผ่าตัดไซนัสที่เรียกว่า Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) เป็นการผ่าตัดไซนัสโดยใช้กล้องเอนโดสโคป ที่ไม่มีแผลบริเวณใบหน้า ส่วนจะไซนัสไหนบ้าง ผ่ามากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตัวโรคของแต่ละคน

"ปัจจุบันเราเจอทั้งมลภาวะและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อาจเสี่ยงต่อโรค ไซนัสอักเสบ ได้ เราจึงต้องรักษาสุขภาพให้ดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นเยอะๆ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตัวเองแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการอักเสบของ ไซนัส และปกป้องระบบทางเดินหายใจของเรา" ผศ.พญ.กวินญรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย


จับตา 8 เทรนด์ผู้สูงอายุ 2567 อายุเป็นเพียงตัวเลข สูงแค่วัยแต่กำลังใจยังไหว

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวมาสักระยะแล้ว สำหรับปี 2567 เทรนด์ความต้องการของผู้สูงวัยจะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง การที่โลกรายล้อมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและเป็นยุคดิจิทัล ส่งผลต่อวิธีคิดและชีวิตของผู้สูงวัยมากน้อยแค่ไหน

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ได้เผยเทรนด์ 2567 เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงวัยทั่วโลกในเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ (เกิดปี พ.ศ. 2489-2507) และเจนเอ็กซ์ (เกิดปี พ.ศ. 2508-2523) ซึ่งอยู่ในช่วงวัยกลางคนที่ต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในไม่ช้า ในบทวิเคราะห์ Trend 2024: REMADE ANEW เกี่ยวกับแนวโน้มและความเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจสร้างสรรค์ ไว้ดังต่อไปนี้

เบบี้บูมเมอร์ (เกิดปี พ.ศ. 2489-2507)

1. คอนเทนต์ต้องเอาใจวัยเก๋า

นับตั้งแต่หลังวัยเกษียณ เบบี้บูมเมอร์ก็มีเวลามากมายสำหรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับยุคดิจิทัล จนมีเฟซบุ๊กเป็นสื่อโซเชียลที่ครองใจคนกลุ่มนี้เป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก รวมทั้งยังกลายเป็นลูกค้าผู้ทดลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแบบทดลองใช้ฟรีและแบบจ่ายเงินมากกว่า 1.2 พันล้านครั้งต่อเดือน จึงทำให้หลายแบรนด์หันมาลงทุนด้านโฆษณาผ่านแอปพลิเคชันหรือคัดสรรคอนเทนต์เอาใจวัยเก๋ามาไว้บนสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก หรือติ๊กต่อก เพื่อจูงใจบูมเมอร์ให้ตามไปดาวน์โหลดต่อบนแอปพลิเคชัน

2. ชอบความอิสระเสมือนอยู่บ้าน

หลายคนต้องการที่อยู่อาศัยในบ้านมากกว่าในสถานพยาบาล หากจำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาล ก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้รู้สึกถึงชีวิตที่มีอิสระ ได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยไม่รู้สึกเหมือนถูกควบคุม รวมทั้งมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไวไฟ เพื่อให้ติดต่อกับเพื่อนฝูงบนโลกโซเชียลได้อย่างอิสระ

3. ทำงานเพื่อคุณค่าของตนเอง

รายงานจาก AARP ระบุว่าบูมเมอร์ถึง 40% วางแผนที่จะ “ทำงานจนกว่าจะตกงาน” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการเงิน หรือการที่พวกเขาไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้ในวัยเกษียณ จึงทำให้หลายคนเลือกทำงานจนถึงอายุ 70 ปีปลายๆ โดยงานที่เลือกทำจะต้องเห็นคุณค่าของพนักงาน โดยไม่แบ่งแยกผู้สูงวัยจากคนรุ่นใหม่ และให้เวลาสำหรับการดูแลสุขภาพหรือวันลาสำหรับตรวจสุขภาพเฉพาะบุคคล

4. ที่ปรึกษาผู้มากด้วยประสบการณ์

Senior Opinion Leader หรือ SOL หมายถึงผู้นำความคิดเห็นอาวุโส ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับในสาขาอาชีพมายาวนาน เป็นสถานะทางอาชีพที่ทำให้เหล่าบูมเมอร์รู้สึกถึงคุณค่า และได้รับการยอมรับจากสังคม แม้จะไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่การมีตำแหน่งที่ปรึกษาเพื่อเกื้อหนุนกิจการหรือส่งเสริมองค์กรให้ยั่งยืน ถือเป็นความสำเร็จสำหรับคนวัยนี้

5. พร้อมเปย์เพื่อความสุขในชีวิตบั้นปลาย

หลังจากต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดมาหลายปีด้วยความวิตกกังวลเรื่องโรคระบาด บูมเมอร์อาจไม่ใช่กลุ่มคนที่ออกไปใช้ชีวิตแบบสุดโต่งเป็นคนแรก แต่เป็นกลุ่มคนที่พร้อมจะสลัดวิถีชีวิตแบบมัธยัสถ์ และพร้อมจ่ายเงินแบบสุดโต่งมากที่สุดเพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในบั้นปลายชีวิต ได้แก่ การลงทุนเพื่อสุขภาพ การลงทุนด้าน ประสบการณ์การรับประทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยว และกิจกรรมเข้าสังคม โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่เริ่ม เปิดใจกับการใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ตู้กดอาหาร และหุ่นยนต์สาธารณะมากขึ้น เพราะสิ่งนี้คือการใช้จ่ายที่ทำให้รู้สึกถึงการเท่าทันโลก

6. อายุเป็นเพียงตัวเลข

การตลาดแบบไม่จำกัดอายุ หรือ Ageless Marketing คือความสบายใจสำหรับบูมเมอร์ที่จะสานฝันกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อน เช่น อิสระในการใช้บริการออกกำลังกายประเภทต่างๆ ในฟิตเนส การสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นที่ไม่จำกัดอายุหรือมีสีสันที่ฉูดฉาด การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับสรีระคนทุกช่วงวัยแม้จะเป็นผู้สูงอายุก็ตาม โดยต้องคำนึงถึงหลักการยศาสตร์ การทำความสะอาด และการเคลื่อนย้ายที่สะดวกเป็นอันดับแรก การสานฝันนี้อาจรวมถึงการมีตัวตนบนสื่อออนไลน์ อย่างการเป็นครีเอเตอร์ที่ผลิตคอนเทนต์ หรือไอดอลผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงแม้จะมีอายุอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม

7. ใส่ใจสุขภาพมากกว่าวัยอื่น

ช่วงเวลาของการชะลอวัยในบูมเมอร์มักจะลงทุนให้กับไลฟ์สไตล์ที่ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง งานวิจัยจาก Global State of Mind Index โดย ASICS พบว่าผู้ที่มีอายุ 57-70 ปี จะมีความกระตือรือร้นในการออกกำลังกายโดยเฉลี่ย 215 นาทีต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับเจนซีที่ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 111 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้น ความกระตือรือร้นนี้ยังส่งผลถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ อย่างผลิตภัณฑ์เสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก เสริมการนอนหลับ และบำรุงสมอง เพื่อป้องกันอาการของโรคอัลไซเมอร์

8. พร้อมทิ้งโลกโซเชียลเพื่อความสุขทางใจ

แม้บูมเมอร์จะชื่นชอบไลฟ์สไตล์ดิจิทัลเพื่อเท่าทันกระแสบนสื่อโซเชียล แต่ในทางกลับกันก็เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาวะทางจิตและอารมณ์เป็นอันดับต้นๆ โดยกิจกรรมที่สามารถปลีกชีวิตออกจากโลกดิจิทัลให้กลายเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนอย่างแท้จริง กิจกรรมที่เหล่าบูมเมอร์โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างให้ความสนใจ นั่นคือการทำสวน ผลผลิตจากธรรมชาติที่มีคุณค่ามากกว่าราคา นำไปสู่ความภาคภูมิใจและสามารถประหยัดต้นทุนการใช้ทรัพยากรได้ คนกลุ่มนี้จะเข้าใจกระบวนการได้มาซึ่งผลผลิตดีกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกสรรสินค้ามารับประทาน โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ไร้สารพิษและดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

เจนเอ็กซ์ (เกิดปี พ.ศ. 2508-2523)

สำหรับคนในช่วงวัยเจนเอ็กซ์ ซึ่งมีอายุระหว่าง 44-59 ปี เป็นช่วงวัยทำงานที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุในไม่ช้า ก็มีความสำคัญต่อสังคมไม่น้อยไปกว่ากลุ่มผู้สูงวัยเช่นกัน

1. วัยเดอะแบก พร้อมรับความกดดันรอบด้าน

งานวิจัยของไมเคิล เอส. นอร์ท (Michael S. North) จากสถาบันธุรกิจสเทิร์นมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุว่าวัยกลางคนมีความกดดันมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งเรื่องการสร้างรายได้ การจัดหาประกันสำหรับครอบครัว ทั้งยังมีความเครียดทางด้านการเงิน เช่น การวางแผนเกษียณอายุที่มั่นคง นอกจากนี้ ข้อมูลบางส่วนยังแสดงให้เห็นว่าเจนเอ็กซ์มีภาระหนี้สินมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ และส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องจากการที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และลูกไปพร้อมๆ กัน

2. พัฒนาทักษะเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง

ประสบการณ์จากการอยู่ในกลุ่มแรงงานช่วงเศรษฐกิจตกต่ำต้นทศวรรษ 2533 ภาวะฟองสบู่แตก และวิกฤติตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2551 ทำให้เหล่าเจนเอ็กซ์ตระหนักถึงความสำคัญของการจ้างงานเป็นอย่างดี แม้ทุกวันนี้เจนเอ็กซ์หลายคนจะดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น แต่การเลิกจ้างครั้งใหญ่รอบล่าสุดกลับส่งผลกระทบต่อตำแหน่งผู้บริหารอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นหลายคนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำด้วยการฝึกฝนทักษะใหม่เพื่อเป็นผู้นำคนสำคัญในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสริมสร้างความไว้วางใจในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนไป

3. สื่อต้องเปิดใจรับคนเจนเอ็กซ์

แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของแรงงานสหรัฐอเมริกา แต่พวกเขากลับไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงบนสื่อ การศึกษาและติดตามผลของ AARP พบว่า 62% ของกลุ่มผู้สูงวัยรู้สึกว่าโฆษณาไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และ 47% กล่าวว่า “โฆษณาของคนในวัยเดียวกันกับตนเองกลับส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ล้าสมัย” เช่นเดียวกับเนื้อหาบนสื่อกระแสกระแสหลัก อย่าง ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ที่นักแสดงหญิงเมื่ออายุ 40 ปีมักถูกผลักให้ได้รับบทเสริมในฐานะแม่หรือภรรยามากกว่าจะเป็นตัวละครหลัก แบรนด์สินค้าหลายแบรนด์และเอเจนซี่ยุคนี้จึงต่างพยายามมองหาวิธีการสื่อสารภาพและข้อความที่สื่อถึงเจนเอ็กซ์อย่างเหมาะสม รวมทั้งสะท้อนมิติที่หลากหลาย และเน้นย้ำความแอ็กทีฟตามไลฟ์สไตล์ในชีวิตจริงมากที่สุด

4. สินค้าเพื่อสุขภาพต้องปรับตัวให้เข้ากับช่วงวัยที่เปลี่ยนไป

แบรนด์สุขภาพของผู้หญิงกำลังขยายไปสู่ความงาม โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาผิว เส้นผม และหนังศีรษะ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนผู้หญิงมากกว่า 1 ล้านคนในสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะหมดประจำเดือนในทุกปี ภายในปี 2568 คาดว่าตัวเลขของสตรีในกลุ่มดังกล่าวจะแตะ 1.1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนพร้อมสำหรับการขยายตัว สถิติที่เกิดขึ้นกำลังช่วยอธิบายถึงแนวโน้มเชิงบวกของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความสะดวกสบาย สุขภาวะทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนของเหล่าเจนเอ็กซ์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกช่วงวัย

5. ช็อปปิ้งที่หน้าร้านยังสำคัญ

49% ของเจนเอ็กซ์นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าเพื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์จริง ในขณะที่ 51% นิยมซื้อผ่านออนไลน์ ส่วนใหญ่เพื่อความสะดวกสบาย แม้ตัวเลขค่าเฉลี่ยในการซื้อจะใกล้เคียงกัน แต่พบรายงานความถี่ในการจับจ่ายของผู้บริโภคในร้านค้าและออนไลน์ที่แตกต่างกัน โดยผู้บริโภคในร้านค้ามักจะจับจ่ายสินค้าความงามทุกเดือน เมื่อเทียบกับการช็อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคที่เฉลี่ยเพียงไตรมาสละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่ใช้จ่ายราว 60 ดอลลาร์สหรัฐ ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง โดย 1 ใน 4 จะใช้จ่ายมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยได้อย่างชัดเจน