กระบวนการทางอาญาและทางแพ่งในสหรัฐอเมริกา

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านที่เคารพ

ดิฉันดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญให้มาเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ

ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ดิฉันชื่อเบญจวรรณ ภูมิแสน มีอาชีพเป็นล่ามกฎหมายและนักเขียนอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโกซึ่งทำมาได้กว่ายี่สิบปีแล้ว

คุณผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย รวมทั้งความรู้ด้านกฎหมายที่ดิฉันได้เขียนเป็นบทความไว้ เรื่องเล่าเหล่านี้มาจากประสบการณ์จริงของตัวเองและประสบการณ์ของคนอื่นที่เป็นเรื่องจริงจากที่เห็นในศาลที่ได้สะสมมาจากการเป็นล่ามกว่า 3,000 คดี ไม่ใช่เรื่องสมมุติหรือจินตนาการขึ้น ดิฉันได้เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนตัวละครเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของบุคคลเหล่านั้น แต่เนื้อเรื่องยังคงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ เป็นข้อมูลและเป็นอุทาหรณ์ได้ดี ข้อมูลและเรื่องราวที่ดิฉันเขียนลงในหนังสือเล่มนี้ มาจากสิ่งที่ดิฉันทำวิจัยและประสบด้วยตนเองทั้งสิ้น หลายอย่างเป็นความคิดเห็นของดิฉันหรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากคนที่ดิฉันได้สัมผัสถึงชีวิตของเขา ดิฉันพยายามเขียนทุกอย่างจากความทรงจำที่ได้บันทึกไว้ในสมองและในสมุดบันทึกให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุด ได้ใส่ความคิดเห็นและความรู้ของตัวเองลงไปบ้าง และถึงแม้ว่าดิฉันจะได้ศึกษาเรื่องกฎหมายและทำงานกับทนายความผู้เชี่ยวชาญในคดีเฉพาะด้านมาหลายร้อยคนแล้วก็ตาม แต่ดิฉันก็ไม่ได้เป็นทนายความที่มีใบอนุญาตที่จะให้คำปรึกษาด้านกฎหมายได้ ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณของตัวเองว่าจะเชื่อหรือไม่ หากมีข้อสงสัยใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายหรือเนื้อหา กรุณาปรึกษากับทนายความหรือผู้ที่มีความรู้เรื่องนั้นๆโดยตรง ดิฉันและทางหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอขอปฏิเสธที่จะรับผิดชอบต่อความเสียหาย ข้อพิพาทหรือความไม่สะดวกใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลจากคอลัมน์นี้ (จากนี้ไปในบทความดิฉันใช้คำแทนตัวว่า "ฉัน" นะคะ)

คุณผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวและข้อมูลต่างๆ ได้จากคอลัมน์นี้ค่ะ


--------------

กระบวนการทางอาญาและทางแพ่งในสหรัฐอเมริกา

Criminal and Civil Procedures in the U.S.

ก่อนที่จะนำผู้อ่านเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ ของคนไทยที่เกิดขึ้นในอเมริกา ฉันขอปูทางให้ผู้อ่านทราบถึงกระบวนการทางอาญาและทางแพ่งในอเมริกาโดยสังเขปเสียก่อนเพราะต่อไปฉันจะอ้างถึงขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ ฉันได้เรียบเรียงโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้อาศัยอยู่ในอเมริกาได้ศึกษาไว้

กระบวนการทางอาญาและขั้นตอนการดำเนินคดีในศาล Criminal Procedure and the Court Process

ในคดีอาญา อัยการผู้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ (ในคดีของสเตท) หรือรัฐบาล (ในคดีของเฟดเดอรัล) จะทำหน้าที่เป็นโจทก์ของแผ่นดินดำเนินการฟ้องร้องผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดทางอาญา โดยทั่วไป ผู้เสียหายจะไปยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจหรือโทรแจ้ง 911 และตำรวจจะมาดูว่าจะจับกุมผู้ถูกกล่าวหา ณ สถานที่เกิดเหตุหรือไม่ คดีอาญาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. คดีอาญาอันเป็นความผิดต่อแผ่นดิน (ไม่สามารถยอมความกันได้) นั้นจะได้รับการดำเนินคดีโดยอัยการ เนื่องจาก เป็นความผิดอันส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม ทำให้สังคมตกอยู่ในอันตราย หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม ซึ่งหมายรวมถึง การค้ายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า การหนีภาษี การพนันที่ผิดกฎหมายและการทุจริตคอร์รัปชั่น

2. คดีอาญาอันเป็นความผิดต่อส่วนตัว (สามารถยอมความกันได้) เป็นการกระทำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม การกระทำผิดของจำเลยส่งผลต่อตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้นได้แก่ การละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า การเปิดเผยข้อมูลความลับทางการค้า การละเมิดลิขสิทธิ์ การฉ้อฉล การโกงเจ้าหนี้ การยักยอก การบุกรุก การข่มขืนในบางกรณี การทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ผู้เสียหายมีหน้าที่ต้องร้องทุกข์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด หากคดีขาดอายุความ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้เสียหายจะไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้

ในฐานะล่าม ฉันมีบทบาทในคดีอาญาเริ่มตั้งแต่การถูกจับกุมตัว หรือบางครั้งก็ก่อนหน้านั้น บางคดีต้องไปเป็นล่ามให้หน่วยสืบสวนเพื่อหาหลักฐานและสอบปากคำพยานก่อนที่จะมีการจับคุมเกิดขึ้น หลายคดีที่ทำตั้งแต่ถูกจับจนถึงตัดสิน ถ้าคุณหรือเพื่อนๆ ถูกจับในคดีอาญาในอเมริกา คุณควรศึกษาข้อมูลในบทนี้ ฉันจะสรุปให้ฟังย่อๆ ว่าขั้นตอนตั้งแต่ถูกจับจนถึงขั้นตัดสินในอเมริกา เขาทำกันอย่างไรบ้าง นี่เป็นเพียงบทสรุปที่จะให้ภาพกว้างๆ กับผู้อ่านเท่านั้น

เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น จะมีกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินคดีทางอาญาดังต่อไปนี้


1. ขั้นพนักงานสอบสวน The Investigation Process

เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้เริ่มกระบวนการสอบสวน ดำเนินการรับแจ้งเหตุและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นสำนวนคดี กฎหมายได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจดังนี้

- สืบเสาะหาตัวผู้กระทำผิด รวบรวมหลักฐานและสอบสวนพยานที่รู้เห็น

- ตรวจค้นตัวบุคคลหรือสถานที่เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหาเมื่อมีหมายศาล เช่น ในคดีร้ายแรงหรือสถานการณ์ที่รุนแรงอันส่งผลต่อชีวิต

- ออกหมายเรียกพยานและหมายเรียกตัวผู้ต้องหา

- ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้สอบสวน

- อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน

ในความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ (misdemeanor) เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอาจคุมตัวผู้ต้องหาไว้สอบถามเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คำถามที่เจ้าหน้าที่ถามนั้นอาจเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวว่าผู้ต้องหาเป็นใครและอาศัยอยู่ที่ไหน เป็นต้น


สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา

สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา มีดังต่อไปนี้

- พบและปรึกษาทนายความสองต่อสอง ในการขอพบทนายความ จะต้องร้องขอต่อนายตำรวจเวรประจำการสถานีตำรวจนั้นๆ โดยเขียนคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษร หรือจะใช้คำพูดก็ได้ แต่ต้องระบุชื่อทนายความนั้นด้วย และสำหรับผู้ต้องหาที่ไม่มีเงินจะจ้างทนายความได้ ศาลจะจัดทนายความบริการว่าความให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

- มีทนายความอยู่ด้วยทุกครั้งในข้อตอนการสอบสวน

- ได้รับการเยี่ยมตามสมควร คือในเวลาปกติตามที่ทางราชการกำหนด ส่วนในเวลาอื่น ต้องขออนุญาตจากนายตำรวจเวรประจำการผู้รับผิดชอบก่อน

- ได้รับรักษาโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย ถ้าเจ็บป่วยก่อนถูกควบคุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำผู้ต้องหาที่เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลของทางการเพื่อรับการรักษา แต่ถ้าเจ็บป่วยในระหว่างถูกควบคุมตัว ร้อยเวรประจำการจะเป็นผู้รายงานต่อหัวหน้าสถานีเพื่อพิจารณาอนุญาตนำตัวส่งโรงพยาบาล

- ได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหาสามารถประกันตัวเองหรือให้เพื่อน ญาติ ทนายความหรือนายประกันประกันตนออกไปได้ โดยใช้หลักทรัพย์หรือบริการของบริษัทที่รับทำหน้าที่เป็นนายประกัน (bail bonds หรือ bondsman)

- ถ้าคุณไม่เข้าใจภาษาอังกฤษดี คุณมีสิทธิที่จะได้รับบริการแปลภาษาโดยล่ามกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐเพื่อที่จะได้ยินได้ฟังทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับคดีของคุณเหมือนกับที่จำเลยที่พูดภาษาอังกฤษได้ยินได้ฟังในทุกขั้นตอน ล่ามจะต้องแปลเนื้อหาของต้นฉบับภาษาอังกฤษให้กับคุณฟัง ถึงแม้เนื้อหานั้นคุณอาจจะไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษากฎหมาย ถ้าเกิดคุณไม่เข้าใจสิ่งที่ล่ามแปล ให้ถามทนายความผ่านล่ามเพื่อให้ทนายอธิบายให้ฟังใหม่ได้ ภาษากฎหมายซับซ้อนและบางอย่างเข้าใจได้ยาก

หากคุณถูกตำรวจจับในคดีอาญา คุณจะยังเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ (suspect) ก่อนที่ตำรวจจะจับคุณใส่กุญแจมือ ตำรวจจะต้องแจ้งสิทธิของคุณว่าไม่จำเป็นต้องให้การใดๆ เพราะสิ่งที่คุณพูดออกมาอาจเป็นการกล่าวโทษให้ตนเอง (self-incrimination ) และสามารถนำมาใช้ในการลงโทษตัวคุณเองในศาลได้ สิทธินี้เรียกว่าสิทธิมิแรนดา (Miranda rights)


การแจ้งสิทธิให้กับผู้ต้องสงสัยก่อนทำการจับกุม (Miranda Warning)

- You have the right to remain silent. คุณมีสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆทั้งสิ้น

- Anything you say can and will be used against you in a court of law. ถ้อยคำของคุณอาจถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดีในขั้นศาล

- You have the right to an attorney present during questioning. คุณมีสิทธิที่จะมีทนายความระหว่างการสอบสวน

- If you cannot afford an attorney, one will be appointed for you. หากคุณไม่มีเงินจ้างทนายความ ทางรัฐจะแต่งตั้งทนายความให้

- You can decide at anytime to exercise these rights and not answer any questions or make any statements? คุณสามารถใช้สิทธินี้ได้ทุกเมื่อและไม่จำเป็นต้องตอบคำถามหรือให้การใดๆ

- Do you understand these rights? คุณเข้าใจสิทธิเหล่านี้หรือไม่

- Having these rights in mind, do you wish to talk to us now? หลังจากที่ได้ทราบสิทธิต่างๆ นี้แล้ว คุณต้องการที่จะพูดกับเรา (เจ้าหน้าที่) หรือไม่

ถ้าเกิดตำรวจลืมหรือไม่แจ้งสิทธินี้ให้คุณทราบก่อน ถือว่าคำให้การหรือการสารภาพนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยความสมัครใจและจะไม่สามารถนำมาใช้ในศาลได้ หลายครั้งตำรวจจับผู้ต้องสงสัยที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษหรือพูดได้แค่งูๆ ปลาๆ และบอกสิทธินี้โดยที่ผู้ต้องสงสัยไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจ หลายครั้งทนายของฝ่ายจำเลยจะเอาประเด็นนี้มาใช้ในการแก้ต่าง ดังนั้น ถ้าถูกจับ พอได้ยินตำรวจพูดและไม่เข้าใจทั้งหมด ให้รีบบอกก่อนเลยว่า I don't understand. I need a Thai interpreter. (ไอ๋ ด๋นท์ อั๋นเดอะสแต้นด์. ไอ๋ หนีด อะ ไท้ อิ่นเท้อพรีเถอะ) ตำรวจจะโทรหาล่ามภาษาไทยให้ ตอนนี้มีบริการล่าม ทางโทรศัพท์ ตลอด 24 ชั่วโมงโดยบริษัท Language Line Solutions ฉันเคยทำงานเป็นล่ามทางโทรศัพท์เหมือนกัน ตอนที่เริ่มงานล่ามใหม่ๆ

พอไปถึงที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่จะดูว่ามีหลักฐานหรือมูลว่าจะยื่นเรื่องฟ้องผู้ต้องสงสัยหรือไม่ ถ้าคิดว่ามีหลักฐานพยานพอ ก็จะยื่นเรื่องให้กับสำนักงานอัยการ



อ่านต่อตอนหน้า