เรื่องเล่าจากล่าม 19 พฤศจิกายน 2559

เทคนิคการแปลแบบฉับพลัน (Simultaneous Interpreting Techniques)

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ฉันมีงานแปลมากขึ้นกว่าเดิมมากเนื่องจากความต้องการล่ามทุกภาษาสูงขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ งานส่วนใหญ่จะเป็นงานแปลแบบฉับพลันและต้องเดินทางต่างรัฐ ต่างเมืองอยู่เสมอ มีหลายงานที่มีผู้เสนอให้ไปแปลในประเทศต่างๆ ด้วย ล่ามที่สามารถแปลในโหมดนี้ได้ดีจะได้ค่าตอบแทนต่อวันสูง บางงานก็สูงมากทีเดียวและที่ฉันชอบก็คืองานแปลแบบฉับพลันได้พาไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ทั้งปี วันนี้เลยจะเขียนเกี่ยวกับเทคนิคการแปลแบบฉับพลันซึ่งเป็นโหมดการแปลที่ฉันถนัดที่สุด

ล่ามสมัยนี้จะต้องฝึกแปลแบบฉับพลันให้ได้ดีเพราะงานส่วนใหญ่จะเป็นการแปลโดยใช้โหมดนี้ เช่น ในศาล (ยกเว้นตอนพยานให้การ) การประชุมนานาชาติ (international conference) การประชุมทางการทูต (diplomatic conference) การประชุมทางธุรกิจหรือการประชุมของคณะกรรมการบริหาร (business or board meeting) การฝึกอบรม (training session) การบรรยายและการนำเสนอข้อมูล (lecture and presentation) ทัวร์ต่างๆ (tours) และการสัมมนา(seminar)


การฝึกทักษะการแปลแบบฉับพลัน

มีอยู่สี่อย่างที่สำคัญสำหรับการแปลในโหมดนี้ นั่นก็คือผู้แปลจะต้องมีสมาธิ ต้องคิดอย่างรวดเร็ว ต้อวใช้ภาษาให้สละสลวยและต้องมีความอึด ข้างล่างนี้จะเป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้รวบรวมไว้จากประสบการณ์ของตัวเอง

- ล่ามจะต้องมีสมาธิ ต้องตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่ ต้องเข้าใจภาษา สำเนียงและเนื้อหาของผู้พูด ถ้าล่ามไม่เข้าใจเองแล้ว จะไม่สามารถแปลให้กับผู้ฟังเข้าใจได้ (ยกเว้นบางกรณีสำหรับเนื้อหาบางอย่างเท่านั้น) การเข้าใจเนื้อหาและรู้เรื่องราวความเป็นมาของเนื้อหาจะทำให้แปลได้ราบรื่นและผู้ฟังจะเข้าใจได้ดี ดังนั้นล่ามฉับพลันที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะสามารถแปลได้ดีกว่าล่ามที่ไม่เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น

- ความไวเป็นสิ่งสำคัญมาก ล่ามต้องรู้คำศัพท์ สำนวน วลีและสามารถแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งให้ได้ไวที่สุด เพราะไม่มีเวลาที่จะมานั่งคิด การที่จะแปลได้รวดเร็ว ต้องฝึกพูด ฝึกแปลบ่อยๆ เพราะถ้าเราไม่ค่อยได้ใช้คำนั้นหนือสำนวนนั้นเราจะนึกไม่ทัน พูดไม่ออก ถึงแม้เราจะเข้าใจความหมายก็ตาม ดังนั้นล่ามจะต้องให้เก่งในคู่ภาษาที่ตนแปลพอๆ กัน ถ้าแปลไทยกับจีนก็ต้องแปลทั้งสองภาษานี้ให้ได้รวดเร็ว หลายคนทำงานนี้ไม่ได้เพราะฝึกพูดแต่ภาษาเดียว พอตัวเองเข้าใจแล้ว ก็ไม่เปิดคำศัพท์ดูว่าแปลว่าอะไร หรือไม่ยอมทบทวน ปล่อยให้ผ่านๆ ไป พอถึงเวลาจะใช้จริงๆ ก็จะแปลไม่ทัน แต่นานๆ ที ล่ามแปลฉับพลันจะติดขัดบ้าง เพราะเราไม่ใช่ยอดมนุษย์หรือพวก X-Men แต่อย่าให้ติดบ่อย เพราะจะทำให้ตัวเองสะดุด ทำให้ผู้ฟังสะดุดไปด้วย และถ้าเป็นคำสำคัญที่เป็นใจความสำคัญที่ล่ามไม่แปลหรือแปลผิด จะทำให้การแปลลดประสิทธิภาพลงทันที จะทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้ ดังนั้นเรื่องความไวจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

- ต่อมาคือการใช้ภาษา ล่ามต้องพูดให้คนฟังเข้าใจให้ได้มากที่สุด ไวยากรณ์ต้องดี การออกเสียงต้องชัดเจน รู้จักการใช้วลีให้เหมาะสม ต้องรู้จักว่าจะใช้คำไหน การแปลฉับพลันนั้นจะแปลตามตัวไม่ได้ ต้องแปลไอเดีย โดยการฟังให้ดี แล้วประมวลสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อออกมาเป็นภาษาที่สละสลวย ควรพูดให้เป็นประโยคที่ชัดเจน อย่าพูดเป็นคำๆ กระท่อนกระแท่น อย่าให้ตะกุกตะกัก อย่าเอ่อๆ อ่าๆ และล่ามต้องรู้จักวอร์มเสียงของตัวเองด้วย ต้องวอร์มเสียงเหมือนกับนักกีฬาที่ต้องวอร์มร่างกายและกล้ามเนื้อก่อนลงสนาม จะได้ไม่เหนื่อยมาก บางงานต้องแปลติดต่อกันหลายอาทิตย์ จึงต้องรู้จักใช้เสียงเพื่อไม่ให้ตัวเองเหนื่อยเกินไป วิธีที่ดีที่สุดเพื่อที่จะพัฒนาการใช้ภาษาและเสียงในขณะแปลฉับพลันนั้นก็คือ การอัดเสียงของตนเองไว้ ผู้เขียนจะอัดเสียงหรือบางครั้งก็จะอัดวิดีโอขณะที่แปลแบบฉับพลันไว้เพื่อวิจารณ์ตัวเอง แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ

- ข้อนี้สำคัญที่สุดสำหรับผู้เขียน นั่นก็คือการมีสุขภาพที่แข็งแรงและการพักผ่อนให้เพียงพอก่อนลงสนาม ประสาทสัมผัสทุกอย่างต้องรวดเร็ว การมีสุขภาพแข็งแรงจะทำให้สมองปรอดโปร่ง พูดจาได้อย่างชัดเจน ไม่เหนื่อยง่าย เนื่องการการแปลโหมดนี้ต้องใช้สมาธิอย่างสุดๆ ทำให้ร่างกายเหนื่อยและเพลียง่าย ฉันว่าบางทีไปขุดดินยังไม่เหนื่อยเท่า แต่ละวันหลังจากเสร็จงาน จะสลบไสลไปตามๆ กัน ฉันจึงทุ่มเทมากกับการดูแลร่างกาย ฉันจะล้างพิษออกจากร่างกายสม่ำเสมอ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินกาแฟ ไม่กินน้ำอัดลม ไม่กินอาหารขยะหรืออาหารฟ้าทส์ฟูดต่างๆ กินผักสดผลไม้ ถั่วต่างๆ และออกกำลังกายโดยการทำโยคะทุกวันอย่างไม่เคยขาด คิดว่าได้ผลมากเพราะสังเกตดูคนอื่นๆ เขาจะเหนื่อยไวกว่าเราจากการทำงานชิ้นเดียวกัน

- เวลาแปลผิดหรือนึกคำไม่ได้ อย่าไปมัวพะวงหน้าพะวงหลัง เพราะถ้ามัวพะวง เขาก็ยิ่งพูดไปไกลกว่าเดิม จะทำให้แปลตกมากขึ้น การแปลผิดหรือแปลใจความสำคัญตกไปอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีเสียงรบกวน ผู้พูดพูดเบาเกินไป เสียงของล่ามกลบเสียงผู้พูดหรือล่ามเข้าใจผิดเอง ถ้ามีโอกาสแก้ตัว ให้ใช้โอกาสนั้นแก้ได้ เช่น ในตอนต้น เราแปลว่า 15,000 แต่ความจริงต้องเป็น 150,000 หรือตอนแรกคิดคำไม่ออก ตอนหลังนึกได้ ก็ให้ใช้คำที่นึกได้นั้นเมื่อมีโอกาส บางทีก็อาจตกคำที่เป็นกุญแจสำคัญไป เช่น คำว่า not ทำให้เนื้อหาอาจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในลักษณะนี้ต้องรีบแก้ ถ้าเป็นไปได้ ความผิดพลาดในลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ แม้แต่กับล่ามที่มีประสบการณ์ในระดับสูง

สรุปง่ายๆ ก็คือ วิธีที่จะแปลในโหมดฉับพลันนี้ให้ดีได้นั้น จะต้องฝึกบ่อยๆ ทั้งด้วยตัวเองและภาคสนาม แรกๆ อาจจะดูยากกว่าการแปลแบบต่อเนื่อง แต่ถ้าฝึกถึงขั้นที่ใช้การได้ดีแล้ว ล่ามส่วนใหญ่จะชอบการแปลโหมดนี้มากกว่า แต่กว่าจะถึงเป็นระดับมือโปรที่ลูกค้าพอใจได้นั้น ก็ต้องใช้ความเพียรพยายามและความตั้งใจอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และถ้าเป็นไปได้ให้เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์เพื่อที่จะพัฒนาตนเองได้ถูกต้องและรวดเร็ว


............................

ฉันจะเปิดคอร์สสอนกลางปีหน้านี้ร่วมกับล่ามผู้มีประสบการณ์ท่านอื่นๆ และแขกรับเชิญชาวอเมริกันที่มีความรู้ในสาขาต่างๆ ที่จะเชิญมาเป็นวิทยากรเพื่อให้เราได้ฝึกแปล จะมีแบบฝึกหัดต่างๆ สำหรับล่ามและผู้ต้องการฝึกภาษาอังกฤษในระดับสูง ซึ่งจะสอนทั้งการออกเสียง การใช้คำศัพท์วลีหลายพันคำ (กำลังรวบรวมอยู่) และจะจัดเวิร์คช็อป (การอบรมเชิงปฏิบัติการ)ตามเมืองต่างๆ ในสหรัฐด้วยค่ะ นี่เป็นภาพบางส่วนจากเวิร์คช็อปที่ชิคาโกปลายเดือนตุลาที่ผ่านมา