ตอนที่ 3 Life Has Options ชีวิตนี้มีทางเลือก

ที่กล่าวมาทั้งหลายทั้งปวงนี้ domestic violence ยังครอบคลุมถึงการข่มเหงพ่อแม่พี่น้อง เด็ก ผู้สูงวัย หรือคนที่ไม่สมรสกันก็ได้

สำหรับท่านที่ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกายท่านไม่จำเป็นต้องทนอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันต่อไป หากมีใครบอกว่าจำเป็นต้องอยู่ ต้องทนอยู่ให้ได้เพราะไม่มีทางเลือก แท้ที่จริงแล้วเมื่อเราจำเป็นต้องตัดสินใจเราจะมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทางเสมอ ชีวิตจะไม่พบทางทางตันหรอกค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกทางเดินของเราอย่างไร ทางที่เราจะเลือกนั้นไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เสมอไป ขอแค่เลือกในสิ่งที่ทำให้ชีวิตที่จะดำเนินต่อไปนั้นมีความสุขก็พอแล้ว

หากท่านยังมืดมน ไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างไรดีก็สามารถปรึกษาคนรอบข้างที่ไว้วางใจได้ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดมักจะกระทำข่มเหงเมื่อเวลาโกรธจัด ควบคุมอารณ์ไม่ได้ ก็สามารถหันหน้ามาปรึกษากันในเวลาที่อารมณ์เย็นลง ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดรู้ตัวว่าได้กระทำในสิ่งที่ไม่ดีลงไป กรณีเช่นนี้ก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องปัญหาครอบครัวและการใช้ชีวิตคู่ได้ ผู้เชี่ยวชาญอาจจะแนะนำให้ผู้กระทำผิดไปชั้นเรียนเกี่ยวกับการจัดการควบคุมอารณ์ หากนึกไม่อาจว่าเป็นชั้นเรียนอะไร ท่านอาจจะเคยเห็นคนใส่เสื้อยืดที่เขียนติดหน้าอกว่า

My anger management class pisses me off!

แปลเป็นภาษาพูดก็คงจะใกล้เคียงกับ ชั้นเรียนการจัดการความโกรธทำให้ ตรูโมโหปรี้ด

ส่วนกรณีที่ร้ายแรงขนาดต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจ ก็สามารถโทรไปที่หมายเลข 911 ได้เลย แต่พึงระลึกไว้ด้วยว่าเมื่อแจ้งไปแล้วและภายหลังกลับกลายเป็นว่าคืนดีกันได้ก่อนตำรวจจะมา ท่านจะโทรแจ้งตำรวจที่กำลังเดินทางมาว่าไม่ต้องมาแล้วนั้นย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องมาตรวจสอบให้แน่ใจตามที่ได้รับแจ้ง เมื่อมีการแจ้งเหตุนั้นแต่ละเหตุการณ์ที่ได้รับแจ้งจะมีหมายเลขการแจ้งเหตุ (incident number) กำกับ เจ้าหน้าที่จะต้องติดตามเรื่องจนถึงที่สุดเพื่อเขียนรายงานสรุปการปฏิบัติงาน หากคู่กรณีอยู่ด้วยกันแต่ละคนจะถูกสัมภาษณ์เบื้องต้นแบบแยกกันเพื่อประเมินสถานการณ์ เหยื่อต้องให้ปากคำอย่างชัดเจน และมีหลักฐานสนับสนุน เพราะฉะนั้นการจดบันทึกรายละเอียดไว้ว่าถูกกระทำร้ายอย่างไรบ้าง รุนแรงแค่ไหน หรือการถ่ายรูปไว้จะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมาก ตัวอย่างการกระทำที่อาจเป็นนำมาซึ่งการจับกุมเช่น ฝ่ายหนึ่งอาจปิดประตูขังไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งออกจากห้องหรือออกจากบ้านไป แต่ไม่ได้ลงมือทำร้ายร่างกาย ฝ่ายที่กักขังอาจถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพก็ได้ อนึ่งเหยื่อที่แจ้งเหตุก็ไม่สามารถกลับคำให้การได้ เพราะถ้าเกิดเหตุขึ้นจริงแต่ภายหลังกลับคำให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือในชั้นศาลก็จะถูกตั้งข้อกล่าวหาการให้ข้อมูลเท็จ

ในกรณีที่ถูกทำร้ายขั้นรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษานั้น บางโรงพยาบาลจะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รักษากฏหมายให้ทราบตามกฎหมายของรัฐ แพทย์ที่ตรวจรักษาจะบันทึกหลักฐานการตรวจไว้อย่างละเอียด ซึ่งช่วยให้หลักฐานประกอบคดีมีน้ำหนักมากขึ้น กรณีนี้รวมถึงการทำร้ายทางเพศสำหรับเหยื่อทุกเพศทุกวัย

ตามห้องน้ำสาธารณะ คลีกนิครักษาโรคทั่วไป ทั้งของรัฐบาลและเอกชน สถานีตำรวจ มักจะมีเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิว หรือสติกเกอร์รณรงค์เกี่ยวกับความรุนแรงในครัวเรือน ซึ่งจะย้ำอยู่สองประเด็นคือ หนึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ และสองมีหมายเลขโทรศัพท์สำหรับแจ้งเหตุ ก็ให้แจ้งตามนั้น ซึ่งเมื่อเวลาแจ้งเจ้าหน้าที่จะถามเสมอว่าเหยื่อรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ และตลอดการสนทนา เจ้าหน้าที่จะถามซ้ำอีกเพื่อให้แน่ใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสภาพจิตใจ ตลอดจนความกลัวหรือความสับสนต่าง ๆ อาจทำให้เหยื่อตอบไม่ตรงกับความรู้สึกที่แท้จริง หากภายหลังเหยื่อตอบว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะกลับไปที่ที่เคยพักอาศัย เจ้าหน้าที่จะจัดหาที่พักชั่วคราวให้เหยื่อจนสุดความสามารถ และอาจมีการขอความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ใกล้เคียงก็เป็นได้

สำหรับรัฐวอชิงตันนั้นองค์กร หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้รอดพ้นจากการกระทำทารุณในครอบครัว ได้แก่

- สถานีตำรวจทุกแห่ง

- YWCA Seattle/King/Snohomish ซึ่งให้บริการในเขตพื้นที่เมืองซีแอตเติล คิงเคาน์ตี และสโนโฮมิชเคาน์ตี Website: www.svlawcenter.org

SVLS Hotline: 206-832-3632

- API CHAYA ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ให้บริการและช่วยเหลือเหยื่อผู้รอดพ้นจากการกระทำทารุณในครอบครัว เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวเอเชีย ชาวเอเชียตอนใต้ และชาวเกาะแปซิฟิก Website: www.apichaya.org

Helpline: 206-325-0325

- The National Domestic Violence Hotline โทรศัพท์ 1-800-799-SAFE หรือ 1-800-799-7233 ตลอด 24 ชั่วโมง

- National Coalition Against Domestic Violence. Website: ncadv.org.Hotline: 1-800-799-7233 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

- ติดต่อ 911 ได้ตลอดเวลาทั้งจากโทรศัพท์บ้าน หรือโทรศัพท์มือถือ

สำหรับท่านที่อยู่รัฐอื่นก็คิดว่าน่าจะมีความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน บางหน่วยงานยังทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานอื่นเพื่อฝึกอาชีพและช่วยเหลือเรื่องการหางานให้ เพื่อให้เหยื่อมีความมั่นคงทางด้านการเงิน ยืนบนลำแข้งของตนเองได้ต่อไป

ท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากไว้นะคะว่าปัญหาทุกอย่าง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ย่อมมีทางแก้ไข ค่อย ๆ หาทางแก้อย่างมีสติ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น อย่าเพิ่งหมดหวัง ดังสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า

Every cloud has a silver lining. ในสิ่งที่เลวร้ายยังพอมีสิ่งที่ดีปรากฎอยู่

คำศัพท์เพิ่มเติม

false imprisonment [N] การทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ การกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

falsifying of information [N] การให้ข้อมูลเท็จ การให้การเท็จ

mandatory [ADJ] เกี่ยวกับคำสั่ง เกี่ยวกับข้อบังคับ [N] ผู้ได้รับมอบอำนาจ

mandatory statue [N]บทกฏหมายที่บังคับให้กระทำการ

recant [VI] กลับคำ ถอนคำ


หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่ก็สามารถแบ่งปันได้นะคะ

(จากกลุ่มเฟซบุ๊ค Thai and Lao Interpreters' Study Group)