Thai and Lao Interpreters' Study Group กลุ่มล่ามศึกษา ล่ามไทย-นายพาสาลาว ตอนที่ 1/2

ละม่อมเป็นใคร ทำไมเก่งจัง โดย อาภัณตรี ปุระเทพ

ยังจำกันได้ไหมเวลาอ่านเราหนังสือพิมพ์ ฟังข่าวสารจากวิทยุ หรือโทรทัศน์ เวลาตำรวจจับผู้ร้ายได้ มักจะจับได้โดยละม่อม เราคงจะเคยนึกในใจ หรือแอบชื่นชมว่าตำรวจไทยชื่อนาย "ละม่อม" นี่เก่งจริง ๆ แล้วเก่งอย่างนี้จับได้เกือบทุกคดีที่เป็นข่าว ยศของแกเป็นนายสิบ จ่า หรือดาบ หรือได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจหรือเปล่าน้อ...

มารู้จักกับ "ละม่อม" กันเถอะ

ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542

ละม่อม ว. สุภาพ อ่อนโยน (ใช้แก่กิริยาอาการที่เรียบร้อย งดงาม ไม่ขัดเขิน ไม่กระด้าง) มักใช้เข้าคู่กับคําว่า ละมุน เป็น ละมุนละม่อม หมายความว่า อ่อนโยน นิ่มนวล โดยไม่มีการขัดขืน (ใช้แก่การจับกุม) เช่น ตำรวจจับผู้ร้ายได้โดยละม่อม

แล้วทีนี้เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษจะแปลอย่างไรดี เพราะ "ละม่อม" ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุม (arresting officer) อย่างที่เราเคยจินตนาการ หรือที่ตลกนำมาล้อเลียน

ขอยกตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษที่ใกล้เคียงกับบริบทของการจับผู้ร้ายได้โดยละม่อมดังนี้ค่ะ

Police captured all three suspects without resistance.

ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสามคนได้โดยไม่มีการขัดขืน

Cold weather helps police arrest suspect peacefully just before 6:00 a.m.

อากาศที่เย็นช่วยให้ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้อย่างสงบเรียบร้อยก่อนเวลาหกโมงเช้า

แถมนิดแถมหน่อย

ส่วนกรณีที่จับไม่ได้นั้นคนร้ายก็หนีไปได้ตามระเบียบ สงสัยระเบียบคงทำความผิดไว้ มีหมายจับอยู่ก่อนแล้ว เลยต้องหนีตามระเบียบไป (ชักจะเริ่มไร้สาระ 555)

หากท่านใดมีตัวอย่างเพิ่มเติมก็เขียนมาได้นะคะ ขอให้มีความสุขทุกท่าน

(จากกลุ่มเฟซบุ๊ค Thai and Lao Interpreters' Study Group)

Domestic Violence การใช้ความรุนแรงในครัวเรือน ตอนที่ 1 โดย อาภัณตรี ปุระเทพ ล่ามไทยประจำรัฐวอชิงตัน

คำว่า domestic violence นี้นอกจากหมายถึงการกระทำทารุณต่อคู่สมรสแล้วยังรวมถึงการทำร้ายด้วยความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะคู่สมรส แต่ยังรวมถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว เช่นการกระทำทารุณต่อเด็ก (abuse of children)

ตามสถิติอาชญากรรมที่พบนั้น ส่วนใหญ่ผู้ที่กระทำทารุณกรรมเป็นเพศชาย แต่เพศหญิงก็เป็นผู้ที่กระทำทารุณกรรมเช่นกัน เพียงแต่ผลลัพธ์เป็นส่วนน้อย ผู้เขียนจะขอไม่ยกสถิติมาอ้างอิงในที่นี้เพราะท่านสามารถค้นหาได้ตามแหล่งข้อมูลสาธารณะทั่วไป

โดยภาพรวมนั้นถ้ามองถึงสาเหตุหลัก การทำร้ายด้วยความรุนแรงในครอบครัวนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจและการควบคุม (power and control) ที่ผู้กระทำทารุณกรรมต้องการ และอยากให้มั่นใจว่าตนเป็นผู้มีอำนาจและการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จในบ้าน จึงใช้ทุกวิถีทางที่จะสามารถกระทำได้เพื่อให้ตนเป็นผู้กุมบังเหียนในการดำเนินชีวิตของครอบครัว โดยทั่วไปผู้กระทำทารุณกรรมมักจะเป็นผู้ที่มีรายได้หลักในครอบครัว จึงคิดว่าตนมีสิทธิในการใช้อำนาจและควบคุมบุคคลอื่น ๆ ให้กระทำในสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้องและเหมาะสม

แล้วผู้ถูกกระทำล่ะ ก็เป็นเหยื่อของการทำร้ายด้วยความรุนแรงในครอบครัวดี ๆ นี่เอง (victim of domestic violence) ในบางกรณีอาจจะมีผู้กระทำทารุณคนเดียว แต่มีเหยื่อมากกว่าหนึ่งคน ส่วนวิธีการทำร้ายด้วยความรุนแรงนั้นไม่เฉพาะเพียงการกระทำทารุณข่มเหงทางร่างกาย (physical abuse) เท่านั้น หากยังรวมถึงการทำร้ายข่มเหงทางด้านจิตใจ เช่น การขุมขู่ (threat) การกระทำทารุณข่มเหงด้วยวาจา (verbal abuse) ด้วยเช่นกัน

หากท่านได้ดูการแข่งขันซุปเปอร์โบลครั้งที่ 49 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว ท่านอาจจะเคยเห็นโฆษณาที่เป็นการถ่ายทอดเสียงจากการโทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือจาก 911 ของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ในสายดูเหมือนว่าเธอกำลังโทรสั่งพิซซ่า แต่ด้วยความชาญฉลาดของเจ้าหน้าที่ที่รับสายที่สามารถใช้วิธีตั้งคำถามเธอ เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ โดยที่ในการตอบคำถามนั้นทำให้เธอมีโอกาสที่จะปลอดภัยจากการทำร้ายร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้น จนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาช่วยเหลือเธอได้ทัน

หากท่านเป็นเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมในครอบครัว หรือท่านรู้จักใครที่ตกเป็นเหยื่อ ขอให้กระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ หรือเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยนะคะ ตอนต่อไปจะขอนำหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนเหยื่อเคราะห์ร้ายมาแบ่งปัน


คำศัพท์เพิ่มเติม

abuse [N] การใช้อำนาจโดยมิชอบ [นิติศาสตร์] การใช้ในทางที่ผิด [การแพทย์]

aggravated assault [N] การทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส [นิติศาสตร์]

assault [N] การทำร้ายร่างกาย [นิติศาสตร์]

assault and Battery [N] การลงมือทำร้ายร่างกาย [นิติศาสตร์]

assault risk [N] ภัยจากการจู่โจมทำร้าย [นิติศาสตร์]

associated person [N] ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตน

battery [N] การทำร้ายร่างกาย [นิติศาสตร์]

battered child syndrome [N] กลุ่มอาการเด็กที่ถูกทารุณ

bigamy [N] การสมรสซ้อน

bodily injury [N] การทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย [นิติศาสตร์]

civil and criminal remedies for victims of domestic violence [N] กระบวนการทางแพ่งและอาญาในการคุ้มครองและแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับความรุนแรงในครอบครัว

child abuse [N] การล่วงละเมิดในเด็ก การทารุณกรรมเด็ก การทารุณกรรมบุตร

civil remedy for victims of harassment [N] วิธีการเยียวยาทางแพ่ง

coerce [VT] บีบบังคับ ขู่เข็ญ

cohabitants [N] ผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภรรยา

dating violence [N] ความรุนแรงในการนัดพบฉันท์ชู้สาว

homicide [N] การฆาตกรรม (การฆ่าคนตายโดยเจตนา)

immediate danger [N] ภยันตรายฉุกเฉิน [นิติศาสตร์]

injunction [N] คำสั่งห้าม (ของศาล) [นิติศาสตร์]

kick someone in the teeth [IDM] ทำร้ายจิตใจ (คำไม่เป็นทางการ)

lay a finger on [IDM] ทำร้าย

lay a hand on [IDM] ทำร้าย

The Protection from Harassment Act [N] กฎหมายว่าด้วยความคุ้มครองจากการคุกคาม [N] การคุ้มกัน สภาวะที่อยู่ภายใต้การคุ้มกัน

threat [VT] ขู่ ข่มขู่ [นิติศาสตร์]

threat [N] การข่มขู่ การขู่เข็ญ [นิติศาสตร์]

victim of dating violence [N] เหยื่อความรุนแรงในการนัดพบฉันท์ชู้สาว

(จากกลุ่มเฟซบุ๊ค Thai and Lao Interpreters' Study Group)