ระบบศาลไทยโดยสังเขป (Summary of the Thai Court System)

ปีนี้ได้รับเชิญให้ไปสอนวิชาการล่ามให้กับล่ามประจำศาลในประเทศไทยหลายแห่ง จึงได้จัดทำหลักสูตรวิชาการล่ามขึ้นเพื่อสอนล่ามกฎหมายที่ประเทศไทยด้วย

การที่จะเป็นล่ามในศาลนั้น ล่ามจะต้องเข้าใจถึงระบบศาลและกระบวนต่างๆ การทางกฎหมาย ล่ามกฎหมายที่เมืองไทยควรเข้าใจระบบศาลไทย และถ้าแปลในประเทศอเมริกาก็ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระบบศาลของอเมริกาด้วย ฉันได้เขียนเกี่ยวกับระบบศาลในอเมริกาไปแล้ว คราวนี้ได้เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับศาลไทยใหม่แล้วสรุป เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายให้กับื่านผู้อ่านค่ะ

ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบบศาลไทยประกอบไปด้วย 4 ศาลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในนามของพระมหากษัตริย์ ดังนี้

1. ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court)

2. ศาลปกครอง (Administrative Courts)

3. ศาลทหาร (Military Courts)

4. ศาลยุติธรรม (Courts of Justice)


ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ภายใต้คำแนะนำของคณะวุฒิสมาชิก

ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีหน้าที่วินิจฉัยถึงประเด็นสภาพการบังคับใช้ของกฎหมาย ระเบียบและวินิจฉัยปัญหาการตัดสินใจของรัฐบาลภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยการใช้กฎหมายและการขัดกันแห่งกฎหมายกับรัฐธรรมนูญ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้นกว้างมาก เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการประกาศให้บทบัญญัติส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมีสภาพเป็นโมฆะหรือไม่มีสภาพการบังคับใช้ได้


ศาลปกครอง

ศาลปกครองมีหน้าที่ในการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ศาลปกครองมีอำนาจในการวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ศาลปกครองแบ่งออกเป็น 2 ศาลได้แก่ ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองชั้นสูง คณะตุลาการศาลปกครองในศาลปกครองแต่ละชั้นศาลจะได้รับการกำหนดโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 คน ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาและจากคณะรัฐมนตรี อีก 1 คน ประธานศาลปกครองสูงสุดจะได้รับการคัดเลือกและความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองและวุฒิสภา โดยที่การเสนอชื่อดังกล่าวจะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวายองค์พระมหากษัตริย์เพื่อทรงพิจารณาเห็นชอบต่อไป


ศาลทหาร

ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาทางทหารและข้อพิพาทที่เกี่ยวกับราชการทหารและผู้ซึ่งตกอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมายพระราชอำนาจให้ผู้บังชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่แต่งตั้งหรือถอดถอนตุลาการศาลทหารได้ ทั้งนี้ อำนาจในการวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลทหารเป็นอิสระ ศาลอื่นไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหารได้

ศาลทหารประกอบด้วย ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลางและศาลทหารสูงสุด คล้ายคลึงกับศาลยุติธรรม ที่เรียกว่า ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตามลำดับ ในกรณีเกิด “เหตุการณ์พิเศษ” เช่น ภาวะสงครามหรือมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก จะมีศาลเหลือเพียงศาลเดียวในระบบศาลทหาร


ศาลยุติธรรม

ศาลยุติธรรมมีหน้าที่พิพากษาคดีที่นำมาสู่ศาล เว้นแต่คดีดังกล่าวอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอื่นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ศาลไทยไม่มีระบบลูกขุน ในคดีส่วนใหญ่ จะมีผู้พิพากษา 2 คนนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเพื่อพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรต่อโจทก์ สำหรับคดีที่ไม่มีความซับซ้อนหรือโทษไม่หนักมาก จะมีผู้พิพากษาเพียง 1 คนนั่งบัลลังก์เพื่อพิพากษาคดี แต่ในคดีที่มีความซับซ้อนและโทษที่หนัก จะมีผู้พิพากษา 3 คนนั่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี

ศาลยุติธรรมในประเทศไทยประกอบไปด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ศาลชั้นต้นประกอบไปด้วยศาล จำนวน 9 ศาล ได้แก่ ศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลล้มละลาย ศาลเยาวชนและครอบครัว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตารางต่อไปนี้จะแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงภาพรวมของระบบศาลไทย


ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลปกครอง ----------->
ศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองชั้นต้น

ศาลทหาร -------------->
ศาลทหารสูงสุด
ศาลทหารกลาง
ศาลทหารชั้นต้น

ศาลยุติธรรม ----------->

ศาลชั้นต้น ------>
ศาลแขวง
ศาลจังหวัด
ศาลแพ่ง
ศาลอาญา
ศาลแรงงานกลาง
ศาลภาษีอากรกลาง
ศาลล้มละลาย
ศาลเยาวชนและครอบครัว
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

ศาลสูง ---------->
ศาลฎีกา
ศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ (Courts of Appeals)

ศาลอุทธรณ์มีหน้าที่ในการพิจารณาคดีที่ได้รับการอุทธรณ์มาจากศาลชั้นต้น เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจในคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น คู่ความฝ่ายนั้นสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งมายังศาลอุทธรณ์ได้ ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา

กระบวนการในการอุทธรณ์มีลักษณะเป็นการทบทวนคดีมากกว่าการพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากโดยปกติในชั้นอุทธรณ์จะไม่มีการสืบพยานอีก เว้นแต่กรณีที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรสืบพยานเพิ่มเติม มีอำนาจเรียกพยานมาสืบเองหรือสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบให้ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วก็จะส่งสำนวนกลับมายังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป และในการพิจารณาจะต้องมีผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีอย่างน้อยจำนวน 3 คน ทั้งนี้ ศาลจะข้ามเรื่องรายละเอียดเบื้องต้นและจะพิจารณาคดีว่ามีปัจจัยที่ไม่เป็นธรรมหรือมีข้อผิดพลาดในกระบวนพิจารณาคดีหรือไม่ หากศาลอุทธรณ์ตัดสินพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ถือว่าคดีดังกล่าวได้ยุติลง เว้นเสียแต่ผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้จะยื่นฎีกาต่อไปยังศาลฎีกา หากผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะส่งคดีกลับยังศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์สามารถมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังต่อไปนี้ การพิพากษายืน ยกแก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ อาจสั่งให้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ หรือการสั่งให้มีการหาหลักฐานมาสนับสนุนเพิ่มเติม หรือถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเป็นเนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนการพิจารณาก็จะพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี

ศาลอุทธรณ์มีจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง และทุกแห่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น หนึ่งในศาลอุทธรณ์ 10 แห่งนั้นจะพิจารณาคดีอุทธรณ์จากศาลชั้นต้นที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และอีก 9 แห่งที่เหลือนั้นจะรับพิจารณาคดีอุทธรณ์จากศาลจังหวัดต่างๆ หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม ศาลอุทธรณ์ ภาค 1-ภาค 9


ศาลฎีกา (Supreme Court)

ศาลฎีกามีเพียงแห่งเดียวและตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เขตอำนาจศาลฎีกาครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ศาลฎีการับพิจารณาคดีที่ได้รับการฎีกามาจากศาลอุทธรณ์หรือรับฎีกาโดยตรงขึ้นมาจากศาลชำนัญพิเศษ

ประธานศาลฎีกาเป็นตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายตุลาการ ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาในแต่ละกรณี จะต้องมีผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีถึงสามคนเป็นองค์คณะ อย่างไรก็ตาม หากคดีมีความสำคัญมาก ประธานศาลฎีกาจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาเข้าร่วมการพิจารณาคดีไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด

ศาลฎีกาประกอบไปด้วยแผนกคดีพิเศษทั้งสิ้น 11 แผนกด้วยกัน ซึ่งแต่ละแผนกสามารถตัดสินให้คดีถึงที่สุดได้เลยทันที และประธานศาลฎีกามีหน้าที่แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกามาประจำแต่ในละแผนก ดังนี้

- แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

- แผนกคดีแรงงาน

- แผนกคดีภาษีอากร

- แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

- แผนกคดีล้มละลาย

- แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

- แผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ

- แผนกคดีสิ่งแวดล้อม

- แผนกคดีผู้บริโภค

- แผนกคดีเลือกตั้ง

- แผนกคดีปกครอง (ภายใน)

หน่วยงานทางกฎหมายอื่นๆ

นอกเหนือจากศาลต่างๆที่กล่าวไป มีหน่วยงานทางกฎหมายที่สำคัญอื่นๆซึ่งมักจะได้รับการกล่าวถึงในระบบกฎหมายไทย ดังนี้

สำนักระงับข้อพิพาท (Alternative Dispute Resolution Office หรือ ADRO )

สำนักงานระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม หรือที่รู้จักกันว่าเป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการประจำประเทศไทยมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริม ให้ความร่วมมือและระงับข้อพิพาทในคดีแพ่ง คดีอาญาและข้อพิพาททางพาณิชย์ต่างๆที่สามารถประนีประนอมยอมความกันได้ โดยอาศัยวิธีการไกล่เกลี่ย การระงับข้อพิพาทหรืออนุญาโตตุลาการตามบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

สำนักระงับข้อพิพาทยังมีหน้าที่ในการพัฒนาระบบ แบบฟอร์ม เกณฑ์ กระบวนการ ระเบียบ ขั้นตอนและมาตรฐานในการระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางพาณิชย์ โดยอนุญาโตตุลาการและวิธีการระงับข้อพิพาทอื่นๆทั้งในศาลและนอกศาล


สำนักงานอัยการสูงสุด

สำนักงานอัยการสูงสุด (Office of the Attorney General หรือ OAG) มีเขตอำนาจรับผิดชอบการฟ้องร้องที่ครอบคลุมคดีอาญาทุกประเภทและสามารถเป็นโจทก์ฟ้องในคดีแพ่งได้ในบางกรณี สำนักงานอัยการสูงสุดทำหน้าที่เป็นทนายความของแผ่นดิน สามารถฟ้องจำเลยที่กระทำความผิดในคดีอาญาได้ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุดยังให้คำแนะนำด้านกฎหมายแก่รัฐและหน่วยงานของรัฐด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเป็นโจทก์ฟ้องแทนบุคคลธรรมดาได้ในกรณีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ในคดีอาญา เช่น การปล้น เป็นต้น และสามารถยกเลิกคดีหรือสั่งให้ดำเนินการสอบสวนในคดีอาญาต่างๆได้ อัยการสูงสุดหรือผู้กระทำการแทนอัยการสูงสุดคือผู้ที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการฟ้องร้องการฆาตกรรม หรือไม่ หรือจะร้องขอให้ศาลบำเหน็จรางวัลให้แก่ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐในการนำจับผู้ต้องหา

หน้าที่หลักของสำนักงานอัยการสูงสุดคือการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ในคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุดจะเป็นทนายของรัฐขึ้นต่อสู้คดีในศาลแทนรัฐ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะขอหลักฐานจากบุคคลที่อ้างว่าตนเป็นพลเมืองไทยได้ อีกทั้ง สำนักงานอัยการสูงสุดยังสามารถเพิกถอนความเป็นพลเมืองไทยของบุคคลผู้ที่ได้รับสัญชาติโดยกำเนิดที่มีบิดาเป็นชาวต่างชาติ หรือบุคคลผู้ซึ่งทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยง ความเสื่อมเสียหรือผู้ซึ่งกระทำการใดๆอันอาจทำให้เกิดความไม่สงบหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนได้

อีกบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญของสำนักงานอัยการสูงสุดคือการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและช่วยเหลือประชาชนในกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย เช่น การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาเมื่อไม่จำเป็นต้องมีการคุมขังในขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับการพิพากษาให้จำคุกโดยความผิดพลาด

นอกเหนือจากนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดยังมีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยาเสพติด และการค้ายาเสพติด ตลอดจนการสอบสวนการได้มาซึ่งทรัพย์สินและการฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ซึ่งมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นหรือร่ำรวยอย่างผิดปกติภายหลังการดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ตามในคดีอาญานั้น พนักงานอัยการจะมีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องผู้กระทำผิดได้ต่อเมื่อมีการสอบสวนความผิดนั้นแล้วโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือพนักงานสอบสวนอื่นของรัฐตามที่กฎหมายให้อำนาจทำการสอบสวน และทั้งนี้จะต้องได้ตัวผู้กระทำความผิดมาปรากฏตัวต่อศาลด้วย


สภาทนายความแห่งประเทศไทย

สภาทนายความแห่งประเทศไทยเป็นสมาคมทนายความ ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการกำหนดระเบียบและกฎเกณฑ์ให้แก่สมาชิก เช่น การออกใบประกอบวิชาชีพทนายความ การเก็บบันทึกการลงทะเบียนและการบันทึกกิจกรรมต่างๆของทนายความ ตลอดจนการรักษาจรรยาบรรณและจริยธรรมประจำวิชาชีพทนายความ

สภาทนายความเป็นสมาคมของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับใช้ประชาชนและองค์กรต่างๆโดยการสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม การประกอบวิชาชีพโดยสุจริตและการให้เคารพต่อกฎหมาย อีกทั้ง ยังมีการให้บริการจัดหาทนายความอาสาให้แก่ผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการว่าจ้างทนายความ ตลอดจนการว่าความให้ชาวต่างชาติและการจัดหาล่ามให้ชาวต่างชาติด้วย

สภาทนายความยังจัดให้มีการอบรมและการฝึกงานเบื้องต้นให้แก่สมาชิกและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายในช่วงวันเวลาทำการปกติโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

เรียบเรียงใหม่จากหนังสือ Thai Law for Foreigners ภาคภาษาไทย โดยเบญจวรรณ ภูมิแสน และทนายความเริงศักดิ์ ทองแก้ว