ทำอย่างไรถึงจะได้งานล่ามดีๆ (โพสท์นี้สำคัญสำหรับผู้ที่อยากเป็นล่ามมืออาชีพ)

สำหรับฉันแล้ว การเป็นล่ามอิสระนั้น เป็นอาชีพหนึ่งที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจที่สุดเพราะได้มีโอกาสเดินทาง เรียนรู้คำศัพท์หลากหลายสาขาวิชา ได้เจอผู้คนหลายระดับและรายได้ดี

ถ้าเป็นล่ามประจำที่ใดที่หนึ่ง เช่น ทำให้กับบริษัทเดียว แปลในศาลหรือโรงพยาบาลอย่างเดียวหรือทำงานให้รัฐบาลที่ต้องประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดหรือแปลแต่สาขาเดิมๆ ตลอด แน่นอนก็จะสามารถแปลสาขานั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ มีงานประจำที่มั่นคงกว่า แต่ก็จะไม่มีโอกาสได้ฝึกคำศัพท์สาขาใหม่ๆ ไม่ได้ต้องเดินทางท่องเที่ยวเหมือนกับล่ามอิสระ


วันนี้จะพูดถึงวิธีการหางานของล่ามอิสระ (freelance interpreter)

- ต้องทำเรซูเมให้ดี พยายามหาประสบการณ์ที่เกี่ยวกับภาษาและงานล่ามหรืองานแปลเอกสารลงให้มากที่สุด

- ส่งไปหาเอเจนซี่และหน่วยงานต่างๆ ให้มากที่สุด ดูลิงค์ต่างๆ ข้างล่างนี้

- ต้องส่งไปหลายๆ ที่ ไม่ใช่ส่งไปแค่ 2-3 ที่ เข้าไม่ตอบมา ก็หยุดอยู่ตรงนั้น อย่าหยุด หาต่อเรื่อยๆ

- พยายามไปสอบให้ได้ใบประกอบการสักใบหรือสองใบเพื่อเอามาลงในเรซูเมเพื่อให้ดูดี

- เน็ตเวิร์คกับคนทั้งในและนอกวงการ เช่น ที่วัด งานสมาคมต่างๆ การบอกต่อนี่สำคัญมาก งานส่วนมากของฉันมาจากการบอกต่อ เมื่อลูกค้าพอใจกับผลงาน เขาก็จะบอกต่อกันไป

- ทำอุปกรณ์โฆษณา เช่น นามบัตร เว็บไซท์ เฟซบุ๊ก วิดีโอ

- อย่าชักช้า เพราะสมัยนี้ ข้อมูลข่าวสารเดินทางรวดเร็ว ต้องขยันเช็คเมลเผื่องานเข้าต้องรีบรับ ช้าคนอื่นเอาไปกิน

- ต้องขยันเรียนเพิ่มเติมและฝึกฝนทบทวนความรู้เดิมที่เรียนมา ลูกค้าที่จ้างเราหลายเจ้าไม่เกี่ยงราคา อยากได้ล่ามที่เก่งๆ (แต่ราคาก็ต้องสมเหตุสมผล)

- สมัยนี้ต้องทำงานล่ามฉับพลันให้ได้ ล่ามฉับพลันสำหรับงานประชุมรายได้เฉลี่ยต่อวันมากกว่าล่ามประเภทอื่นๆ ต้องพยายามฝึกจนทำให้ได้ดี

- สำหรับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ เช่นที่อเมริกา ควรรีบเป็นอเมริกันซิติเซ่นเพราะงานที่ดีๆ หลายงานจำเป็นต้องเป็นคนที่ถือสันชาตินั้นถึงจะทำได้

ล่ามหลายคนไม่ค่อยมีงานเพราะไม่ขยันโปรโมทและพัฒนาตนเอง สมัครไปไม่กี่แห่งแล้วรอให้เขาเรียก ซึ่งนานๆ จะมาที ทำให้ความสนใจในงานล่ามลดน้อยลง และขาดกำลังใจ

มีล่ามคนหนึ่งที่ฉันรู้จัก เขาเก่งทั้งด้านการแปลเอกสาร การเป็นล่ามฉับพลัน อยู่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในอเมริกา เขาขยันส่งเรซูเมไปแทบทุกที่ ตอนนี้มีลูกค้าทั้งในอเมริกาและยุโรป ได้เดินทางตลอดปี ลูกค้ายอมจ่ายค่าเดินทางให้ บางทีฉันก็มีโอกาสได้ร่วมงานด้วย เขาฝึกตัวเองและทำอย่างที่ว่าไว้นี้แทบทุกอย่าง ถือว่าเป็นล่ามคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงมาก

และก็รู้จักล่ามอีกคน ที่ฉันคิดว่าภาษาเขาไม่ถึงขั้นดีมาก แต่โปรโมทตัวเองเก่งสุดๆ คนนี้ก็มีงานทำตลอด ถึงแม้จะไม่ได้งานระดับอินเตอร์ แต่ก็ถือว่าโอเค

เพราะฉะนั้นต้องขยันหมั่นศึกษา ขยันหางาน ไม่รอให้งานวิ่งมาหา และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับล่ามคนอื่นๆ พยายามติดตามโพสท์ต่างๆ ของกลุ่มนี้ มีคนเก่งๆ อยู่หลายคน ถึงแม้คุณจะไม่ได้ทำงานล่ามก็ตาม ความรู้ที่ได้จากการเรียนภาษาสามารถเปิดโลกทัศน์ สามารถช่วยเรื่องงานและเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้


เกร็ดความรู้จากงานล่าม

บางทีเวลาแปลเร็วๆ ก็คิดคำไม่ทันเหมือนกันนะ ต้องหาคำมาแทนแก้ขัดก่อน นี่เป็นตัวอย่างคำที่คิดขึ้นเองตอนนึกคำไม่ออก

- แปล ขนมปังกรอบ ว่า crispy bread แต่ควรเป็น cracker

- แปล ที่บังแดด (ในรถยนต์) ว่า flip-flop sunblock แต่ควรเป็น sun visor - แปล เตียงสองชั้น ว่า double-decked bed แต่ควรเป็น bunk bed

- แปล ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า inspector for the country's affairs แต่ควรเป็น ombudsman

- แปล มโนทัศน์ ว่า visualization แต่ควรเป็น conceptual thinking

- แปล วาทกรรม ว่า frame of mind แต่ควรเป็น discourse

ตามบริบทแล้ว ฝรั่งฟังเข้าใจ บางทีก็ฮาว่าเรารู้จักบัญญัติคำขึ้นมา


จะทับศัพท์และใช้คำย่อเมื่อไหร่ดี

การเป็นล่ามจะไม่เหมือนการแปลเอกสาร ต้องรวดเร็วและมีไหวพริบอย่างมาก เวลาแปลเอกสาร เรามีเวลาคิด เราสามารถใส่วงเล็บอธิบายได้ แต่เวลาแปลแบบฉับพลันต้องรีบหาคำมาใช้ให้ถูกต้องและรวดเร็ว หลายครั้งไม่มีเวลาอธิบาย เพราะฉะนั้นการทับศัพท์และการใช้คำย่อจะสามารถช่วยได้

ง่ายๆ คือเราจะใช้คำทับศัพท์ได้ ก็เมื่อเรารู้ว่าคนที่เราแปลให้ฟังนั้นเขาเข้าใจและรู้ว่ามันคืออะไร บางครั้งถ้าเรามีเวลา เราก็จะอธิบายให้เขาฟังก่อน เช่นคำว่า jury trial (3 พยางค์) แปลว่า การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน (12 พยางค์) เวลาแปลฉับพลัน จะพูดไม่ทันเพราะภาษาไทยยาวเกินไป เราก็สามารถใช้ jury trial ได้ เมื่อเรารู้ว่าคนที่เราแปลให้ฟังนั้นเข้าใจแล้ว ตัวอย่างอีกคำคือคำว่า preliminary hearing ในคดีอาญาสถานหนัก (felony) ภาษาอังกฤษเรียกย่อๆ ว่า prelim ภาษาไทยแปลว่า การรับฟังหลักฐานพยานในขั้นต้น เวลาแปลฉับพลัน ยากที่จะพูดทัน ต้องหาคำสั้นๆ มาใช้แทน หรือทับศัพท์ว่า prelim ไปเลย ถ้าได้มีโอกาสอธิบายให้จำเลยฟังก่อนแล้วว่า preliminary hearing คืออะไร

บางทีคนไทยที่อยู่อเมริกานานๆ ก็ใช้คำทับศัพท์จนชิน ล่ามก็ใช้ตามเขาได้เลย เช่น คำว่า ticket หรือจะแปลว่า ใบสั่ง ให้เขาฟังก่อน แต่เขาก็ยังเรียกมันว่า ticket ตลอด ก็เรียกตามเขาได้

บางทีคำย่อต่างๆ เช่น UN ที่คำเป็นที่รู้จักกันดี ก็ทับไปเลย ยกเว้นถ้าเขาพูดเต็มว่า United Nations เราก็ควรแปลเต็มว่า องค์การสหประชาชาติ ยกเว้นตอนแปลฉับพลัน สามารถย่อเป็นยูเอ็นได้ แต่ถ้ามีเวลาก็ควรแปลเต็ม ถ้าเขาพูดว่า Lao PDR เราก็แปลว่า สปป.ลาว แต่ถ้าเขาพูดว่า Lao People's Democratic Republic เราก็ควรจะแปลเต็มว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น

ที่ศาลและหน่วยงานราชการใช้คำย่อเยอะมาก ล่ามต้องรู้ด้วยว่า คำย่อต่างๆ นั้นมันย่อมาจากอะไร เพราะทนาย ตำรวจ ผู้พิพากษาเขาใช้กันจนชิน เขาจะสันนิษฐานว่าคนอื่นก็จะรู้ด้วย เช่น คำว่า CHP = California Highway Patrol หรือ ตำรวจทางหลวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย อันนี้ล่ามต้องรู้ไว้ คำย่อบางตัวเราไม่รู้จริงๆ ก็ถามเขาได้ถ้ามีโอกาส ถ้าไม่มี ก็ใช้คำย่อนั้นซื้อเวลาไปก่อน

สรุปคือเราจะใช้คำย่อหรือทับศัพท์เมื่อเราแน่ใจว่าผู้ฟังทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เข้าใจ ถ้ามีผู้ฟังเป็นร้อย ต้องดูดีๆ ว่าควรจะใช้หรือไม่ ถ้ามีเวลาอธิบายก่อนก็จะช่วยได้ แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าจะใช้คำไหน บางทีล่ามที่ทำงานเป็นทีมก็จะปรึกษากันก่อนเรื่องการใช้คำ และก็ดูด้วยว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน ขอให้คนฟังเข้าใจและเนื้อหาสำคัญไม่ขาดตกบกพร่อง ก็ถือว่าการสื่อสารประสบความสำเร็จ


สำเนียงภาษาอังกฤษที่หลากหลาย

ปัญหาอันหนึ่งที่พบบ่อยของการแปลฉับพลันในการประชุมนานาชาติคือ สำเนียงภาษาอังกฤษของชาติต่างๆ ... เมื่อสองเดือนที่แล้ว ล่ามภาษาอื่นๆ ทึ่แปลด้วยกันหลายคนบ่นว่าไม่เข้าใจว่าประธานาธิบดีฟิลิปปินส์พูดอะไร นอกจากสำเนียงอังกฤษที่เข้าใจยากแล้ว ท่านยังพูดแบบน้ำไหลไฟดับอีกด้วย ยากที่จะแปลทัน แต่ก็ทำให้ดีที่สุด งานอาทิตย์นี้ก็เจอสำเนียงอังกฤษของชาวอินเดีย ทานเซเนีย เบลิซ ที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และจากประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย สโลวาเกีย ตูนีเซีย ฝรั่งเศส ต้องตั้งใจฟังและใช้สมาธิสุดๆ ถึงแม้จะคุ้นเคยกับเนื้อหาและคำศัพท์ก็ตาม เจ็บหัวนิดหน่อย


ศัพท์ที่ได้เรียนรู้ในสัปดาห์นี้

อาทิตย์นี้เป็นล่ามให้กับนักวิชาการจากประเทศไทย มีศัพท์ที่บัญญัติใหม่เยอะมาก บางคำเราใช้ทับศัพท์จนเคยชิน เดี๋ยวนี้จะต้องแปลให้ถูกต้องเพราะเป็นคำที่ใช้กันในแวดวงนักวิชาการ

ประชาพิจารณ์ public hearing

ประชามติ referendum

อัตถิภาวนิยม หรืออัตภาวะนิยม existentialism

จิตนิยม idealism

ประสบการณ์นิยม หรือปฏิบัตินิยม pragmatism, experimentalism หรือ instrumentalism

วัตถุนิยม หรือ สสารนิยม materialism

โทมัสนิยมใหม่ neo-Thomism

สัจนิยม realism

สุนทรียศาสตร์ aesthetics


กลัวว่าต้องเสียเงินจ้างล่าม

เคสที่ศาลวันนี้ "คุณมาทำไม ไม่ได้ขอล่ามสักหน่อย" "พี่พูดได้ค่ะ มาอยู่ได้ 30 ปีแล้ว ไม่เอาล่ามค่ะ"

ฉันเลยตอบว่า "งั้นตอนผู้พิพากษาเรียกเคสพี่ พี่ค่อยบอกทางศาลนะคะว่าพี่ไม่ต้องการล่าม หนูจะยืนอยู่ข้างๆ"

"อ้าว คุณต้องไปยืนข้างๆ ด้วยหรือ"

"ใช่ค่ะ ศาลเรียกหนูมาเป็นล่ามให้พี่"

"อ้าวเหรอ งั้นพี่ต้องจ่ายเงินมั้ยเนี่ย"

"ไม่ต้องค่ะ ในคดีอาญา จำเลยในคดีอาญามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญอเมริกาที่จะได้ล่ามฟรีในทุกขั้นตอนค่ะ"

"เหรอค่ะ งั้นคุณแปลให้พี่ก็ได้"

พอศาลเรียก เขาฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเลยและตื่นเต้นมาก พูดอังกฤษก็ตะกุกตะกัก ตกลงเลยต้องให้ฉันแปลให้ตลอดรายการ

ที่พี่เขาไม่อยากได้ล่ามเพราะกลัวว่าจะต้องเสียเงิน เขาไม่รู้ว่ามีบริการล่ามฟรี อีกอย่างเขาชัวร์ภาษาอังกฤษตัวเองมาก แต่เขาไม่รู้ว่าภาษาที่ใช้ในศาลนั้นมีคำศัพท์พิเศษอยู่มาก ขนาดคำเบสิคๆ เช่น คำว่า arraignment, plea, infraction, misdemeanor, conviction ยังไม่เข้าใจเลย การมาอยู่ประเทศอเมริกานาน แต่ไม่ได้ศึกษาหรือไม่ได้ใช้คำเหล่านี้ ก็จะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อาจยอมรับผิดหรือรับข้อเสนอสุ่มสี่สุ่มห้าได้

พอเคสจบลง พี่เขาบอกขอบคุณอย่างมากและบอกว่าถ้าไม่ได้ล่ามวันนี้ คงไม่รู้เรื่อง ต้องได้กลับมาใหม่ตอนที่มีล่าม และก็ดีใจที่ไม่ได้เสียตังค์