บทเรียนจากการเป็นล่าม ตอนที่ 3

การบาดเจ็บทางจิตใจจากการมีส่วนร่วมหรือรับฟังประสบการณ์ที่ขมขื่นของผู้อื่น Vicarious Trauma

มีหลายอาชีพที่ผู้ประกอบการณ์จะได้ยินได้ฟังประสบการณ์ที่ข่มขื่น ประสบการณ์ในทางลบ เรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์ และการระบายอารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันแล้ว วันเล่า ตัวอย่างของอาชีพเหล่านี้ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ แพทย์ พยาบาล ทนายความ และล่าม

ถึงแม้ว่าผู้รับฟังจะไม่ได้ประสบกับเหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง แต่จากการที่ได้รับฟังเรื่องราวที่เป็นลบที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้มีผลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจได้ ถ้าไม่รู้จักวิธีเยียวยาหรือป้องกัน

อาการต่างๆ ที่อาจตามมาก็มี ฝันร้าย นอนไม่หลับ หลงๆ ลืมๆ วิตกกังวล ขี้ระแวง ไม่อยากอาหาร หดหู่ สับสน ซึมเศร้า ภูมิต้านทานต่ำ เป็นต้น

ฉันได้ฝึกตัวเองเพื่อที่จะลืมสิ่งที่ไม่ดีที่ได้เห็นหรือได้ยินมา บางอย่างได้ยินจนชินหู ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา พอเสร็จงานแล้วก็แล้วไป แต่บางเรื่องทำอย่างไร ฉันก็ลืมไม่ได้ ภาพเหล่านั้นมักวนเวียนมาปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ

ฉันได้เป็นล่ามในคดีฆาตกรรมคดีหนึ่ง พยานต้องมาให้การต่อหน้าลูกขุน อัยการก็จะเอารูปต่างๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี (exhibits) มาให้พยานดูเพื่อถามคำถามต่างๆ ฉันก็ได้เห็นภาพที่น่าสยดสยองเหล่านั้นด้วย กว่าจะถามคำถามเสร็จสิ้น ฉันก็ได้เห็นภาพต่างๆ เหล่านั้นพร้อมกับพยานเกือบสามสิบภาพ มันเป็นภาพที่สยองขวัญจนแทบจะอาเจียนออกมา พยานก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นทุกครั้งที่เห็นภาพเหล่านั้น แต่ฉันก็ต้องอดทนทำคดีต่อไปจนเสร็จสิ้น

มีอีกเคสหนึ่งที่ฉันลืมไม่ลงคือเคสที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ฉันถูกเรียกไปเป็นล่ามให้กับแม่ของผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แพทย์บอกว่าจำเป็นที่จะต้องเอาเครื่องช่วยหายใจออก (mechanical ventilator) แพทย์ได้อธิบายถึงเหตุผลต่างๆ ที่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นก่อนผู้เป็นแม่และครอบครัวเข้าไปลา ฉันก็แปลไป นั่งดูแม่ที่น้ำตาคลอไป แต่น้ำเสียงฉันก็ค่อยๆ สั่น น้ำตาเริ่มคลอเบ้า ฉันเข้าใจถึงความรัก ความเจ็บปวดของแมแม่ที่ต้องเห็นลูกของตนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตามปกติแล้ว ฉันจะไม่แสดงความรู้สึกยินดี ยินร้ายออกมา จะแปลไปตามเนื้อความเท่านั้น แต่ในกรณีนี้ ฉันไม่สามารถที่จะอดกลั้นได้

วิธีที่ฉันใช้ในการเยียวยาก็สำหรับการบาดเจ็บทางจิตใจจากการมีส่วนร่วมหรือรับฟังประสบการณ์ที่ขมขื่นของผู้อื่นก็คือ การปล่อยวาง ฉันได้ฝึกตนเองที่จะปล่อยวางได้แทบทุกเรื่อง ฉันออกกำลังกายโดยการทำโยคะและเดินขึ้นลงเนินเขาในเมืองซานฟรานซิสโก ฉันชอบร้องเพลงและเต้นรำ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทำเป็นประจำ นอกจากจะดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังช่วยเป็นการผ่อนคลายความเครียดและเป็นการรักษาจิตใจของตนจากการบาดเจ็บทางจิตใจที่ฉันได้รับมาทั้งทางตรงและทางอ้อม


รู้ภาษาลาวได้เปรียบ Advantages of Knowing the Lao Language

ฉันมีงานล่ามและงานแปลมากมายไม่ใช่แต่เฉพาะภาษาไทยเท่านั้น งานล่ามเกือบครึ่งหนึ่งเป็นงานภาษาลาว ถึงแม้ฉันจะเกิดที่กรุงเทพฯ และครอบครัวของฉันจะพูดภาษาไทยกลางด้วยกัน ฉันก็โชคดีที่โตที่อีสานและได้ฝึกหัดพูดภาษาอีสาน (ภาษาลาว) มาตั้งแต่เด็กๆ

ภาษาอีสานกับภาษาลาวจริงๆ แล้วก็คือภาษาเดียวกัน แต่ภาษาอีสานได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยจนทำให้คำหลายคำถูกกลืนไป เช่น แต่ก่อนคนอีสานเรียก "หน้าต่าง" ว่า "ป่องเยี่ยม" เรียก "ช้อน" ว่า "บ่วง" คำว่า "ทำงาน" ก็ว่า "เฮ็ดเวียก" " คำว่า "ถอดรองเท้า" ก็ว่า "ปดเกิบ" คำว่า "ส่องกระจก" ก็ว่า "แยงแว่น" เป็นต้น ซึ่งเหมือนกับที่คนลาวใช้กัน

แต่เดี๋ยวนี้ภาษาอีสานได้ถูกภาษาไทยกลางกลืนไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ คนอีสานได้ใช้คำศัพท์ภาษาไทยกลางแทนคำภาษาลาวจนชิน เพราะได้ยินการใช้คำศัพท์จากสื่อ จากโรงเรียนและจากสถานที่ราชการ เพียงแต่พูดโดยใช้สำเนียงอีสานเท่านั้น

ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งคือ คนอีสานกับคนลาวก็คือคนเชื้อสายเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องถูกแบ่งแยกด้วยเหตุผลทางการเมือง กลุ่มที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงก็คือคนอีสาน ส่วนกลุ่มที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงก็คือคนลาว มีคนลาวที่อยู่ที่ลาวเพียงเจ็ดล้านคน

แต่คนเชื้อสายลาวที่อยู่ในภาคอีสานของไทยมีมากกว่า 30 ล้านคน คนอีสานและคนลาวกินข้าวเหนียว กินปลาแดก (ปลาร้า) เหมือนกัน เครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวและชาวอีสานก็คือแคนเหมือนกัน วัฒนธรรมอีสานก็ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมลาวมากกว่าวัฒนธรรมไทยและภาษาอีสานก็ใกล้เคียงกับภาษาลาวมากกว่าภาษาไทย เวลาสื่อสารกัน ไม่มีปัญหาทางด้านภาษา (เพียงแต่อาจจะมีบางคำเท่านั้นที่ไม่เข้าใจกัน) ชาวอีสานและชาวลาวได้ต้องถูกแบ่งให้เป็นคนของสองประเทศทั้งๆ ที่ชาวอีสานและชาวลาวนั้นมีเชื้อสายบรรพบุรุษร่วมกัน

คนภาคอื่นๆ มักจะเรียกชาวอีสานว่าเป็นคนลาว โดยเฉพาะคนภาคกลาง ส่วนชาวอีสานเองก็ไม่ชอบถูกเรียกว่าเป็นลาว ด้วยเหตุผลที่ว่า คนอีสานสมัยก่อนที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ๆ มักจะทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย เป็นงานที่ไม่มีเกียรติ และมักจะถูกเรียกว่าเป็น "ลาว" ส่วนคนลาวที่อยู่ประเทศลาว (และที่อยู่ต่างประเทศ) ก็ไม่ได้ยอมรับชาวอีสานว่าเป็นคนลาว เขาจะเรียกพวกเราว่าเป็น ไทยอีสาน ส่วนคนอีสานเองก็ถือว่าตนเป็นคนไทย ฉันก็ถือว่าตนเป็นคนไทยเพราะถือสัญชาติไทยแต่มีเชื้อสายลาว ซึ่งก็เหมือนกับคนเชื้อสายจีนในประเทศไทย เขาถือก็ว่าตัวเองเป็นคนไทย แต่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน

สมัยเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน ตอนนั้นภาคอีสานแห้งแล้ง เป็นภาคที่ยากจนที่สุดของไทย ทำมาหากินลำบาก ทำให้ชาวอีสานจำนวนมากพากันอพยพไปทำงานหาเงินที่เมืองหลวง บางคนรู้สึกอับอายที่จะพูดภาษาลาวเพราะไม่อยากให้คนรู้พื้นเพของตน บางคนก็กระซิบกันเพื่อไม่ให้คนอื่นได้ยินหรือพูดกันเป็นภาษาไทยกลาง แต่ก็ไม่สามารถปกปิดสำเนียงของตนได้ มีเรื่องตลกมากมายเกี่ยวกับการใช้ภาษาของชาวอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง

ปัจจุบันนี้ คนอีสานได้ยกระดับฐานะขึ้นมาเป็นจำนวนมาก คนอีสานหลายคนเป็นคนมีชื่อเสียง มีความรู้ระดับสูงมาก หลายคนถึงขั้นเป็นมหาเศรษฐี ช่วงหลังๆ ที่ฉันกลับเมืองไทย ได้สังเกตเห็นว่า คนอีสานไม่อายที่จะพูดลาวในกรุงเทพฯ เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนอีสานรุ่นใหม่นิยมพูดภาษาไทยกลางกับลูกๆ เพราะเกรงว่าลูกของตนจะพูดภาษาไทยกลางไม่ชัดหรือมีสำเนียงอีสาน จึงได้พูดภาษาไทยกลางกับลูกๆ ไม่ยอมให้ลูกพูดภาษาลาว โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นข้าราชการ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่มีรายได้ดีที่อยู่ในตัวจังหวัดหรืออยู่ในอำเภอใหญ่ๆ ลูกๆ แทบไม่ได้ใช้ภาษาลาวเลย และบางครั้งฉันก็เห็นลูกๆ ของชาวบ้านที่อยู่ในชนบทอีสานที่อยู่ในบ้านนอกมากๆ ก็ยังไม่ยอมพูดภาษาลาวกับลูก เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

เมื่อฉันย้ายมาอยู่อเมริกา ฉันได้ตัดสินใจเรียนภาษาลาวอย่างจริงจัง ฉันฝึกเรียนอ่านเขียนด้วยตนเอง และฝึกพูดกับเพื่อนคนลาว ฉันได้หัดพิมพ์เป็นภาษาลาวโดยใช้คีย์บอร์ดและฟอนท์ลาวจนช่ำชอง ฉันได้รับงานแปลเป็นภาษาลาวและให้เพื่อนคนลาวช่วยแก้ภาษาให้ในช่วงแรกๆ ส่วนงานล่ามภาษาลาวก็ไม่มีปัญหาเพราะคนลาวกับคนอีสานพูดกันรู้เรื่องอยู่แล้ว เพียงแต่มีบางคำที่ต้องถามเพื่อความแน่ใจ ตอนนี้ฉันสามารถสื่อสารกับคนลาวที่มาจากประเทศลาวได้โดยไม่ติดขัด ฉันเป็นคนจังหวัดยโสธรซึ่งอยู่ใกล้กับแขวงจำปาศักดิ์ที่อยู่ทางภาคใต้ของลาว หลายคนก็คิดว่าฉันเป็นคนลาวที่มาจากแขวงนั้น แต่ถ้าฉันตั้งใจพูดลาวจริงๆ ก็จะสามารถพยายามดัดเสียงตัวเองให้เป็นสำเนียงเวียงจันทร์ได้ ได้ถ้าไม่พยายาม ก็จะพูดเป็นสำเนียงชาวปากเซ (เมืองหลวงของแขวงจำปาศักดิ์)

ฉันคิดว่าชาวอีสานควรอนุรักษ์ภาษาลาวและรณรงค์ให้ลูกหลานพูดภาษาลาว หรือถ้ามีโอกาสก็ให้เรียนอ่านและเขียนด้วย ลูกหลานของเราสามารถพูดภาษาไทยกลางได้สบายอยู่แล้วเพราะต้องพูดที่โรงเรียนและสถานที่ราชการ พวกเขามีโอกาสได้ยินได้ฟังภาษาไทยอยู่ตลอดเวลา การที่เรียนรู้ภาษาลาวไปด้วยจะทำให้ได้เปรียบเรื่องภาษา เราจะสามารถอ่านหนังสือลาวได้ อ่านข่าวลาวได้ เพียงแต่ใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนอีสานที่เป็นล่ามในอเมริกาหลายคน ได้งานล่ามทั้งภาษาไทยและภาษาลาวเพราะได้เปรียบเรื่องภาษา เมื่อคนอีสานมาเรียนภาษาลาวเพิ่มเติมแล้ว จะสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว ส่วนมากจะเป็นแค่เพียงเปลี่ยนคำที่เป็นภาษาไทยกลางมาเป็นภาษาลาวดังที่กล่าวข้างต้น หรือใช้คำอนุภาคของลาวแทนคำไทย เช่น โดย (หรือเจ้า) = ครับ/ค่ะ เด้อ = นะ โลด = สิ เป็นต้น

หลังจากที่ฉันได้ศึกษาตัวอักษรลาวและเสียงต่างๆ ของภาษาลาวเป็นที่แตกฉานแล้ว ฉันได้เขียนตำราเรียนภาษาลาวให้ชาวต่างชาติได้ศึกษาชื่อ Lao for Beginners และได้เขียนพจนานุกรมภาษาลาว-อังกฤษที่มีตัวโฟเนติกประกอบให้กับชาวต่างชาติเรียนภาษาลาวด้วย พจนานุกรมนี้มีชื่อว่า Three-Way Lao-English Dictionary ถ้าคุณผู้อ่านสนใจที่จะเรียนอ่านเขียนภาษาลาว สามารถศึกษาจากหนังสือและพจนานุกรมทั้งสองเล่มนี้ได้