ตอนที่ 2 You Are Not Alone คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว

หากท่านพบเห็นการกระทำ หรือเป็นเหยื่อของการทำร้ายด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการ ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไป ท่านจะมีทางออกอย่างไรบ้าง

ในอดีตหากจะพูดกันเป็นภาษาชาวบ้านนั้น เรื่องผัวเมียตีกันเป็นเรื่องในครอบครัว ผู้กระทำผิด (perpetrator) มักจะอ้างว่าเป็นเรื่องของผัว ๆ เมีย ๆ คนอื่นไม่เกี่ยว แม้แต่พ่อตาแม่ยาย หรือญาติก็ห้ามยุ่ง แต่ปัจจุบันมีการออกกฎหมายคุ้มครองเหยื่อ เช่นในประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มี the Violence Against Women Act of 1994 (VAWA) พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้ความรุนแรงต่อสตรี ค.ศ. 1994 หรือเรียกย่อว่า “วาว่า” และได้รับการแก้ไขปรับปรุงในฉบับต่อ ๆ มา ฉบับล่าสุดคือ the Violence Against Women Reauthorization Act of 2013

พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้ความรุนแรงต่อสตรีนี้เป็น พ.ร.บ. ของรัฐบาลกลางแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตราขึ้นเพื่อให้ฝ่ายตุลาการและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ใช้เป็นครื่องมือในการต่อสู้จัดการกับการใช้ความรุนแรงต่อสตรีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้ความคุ้มครองผู้ที่อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสโดยไม่จำกัดว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย (domestic partner) ความรุนแรงในการนัดพบฉันท์ชู้สาว (dating violence) การทำร้ายทางเพศ (sexual assault) และการเฝ้าติดตาม (stalking) ตลอดจนการเฝ้าติดตามทางอินเตอร์เน็ต (cyber stalking)

พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นโดยให้นิยามครอบคลุมแบบกว้าง ๆ เพื่อจัดการปัญหาให้เหยื่อเพื่อนับตั้งแต่การรายงานแจ้งการกระทำรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนถึงการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ในระหว่างและภายหลังกระบวนการทางศาลเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นการอุดช่องโหว่ของการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อมั่นใจในกระบวนการให้ความคุ้มครองนี้ องค์กรหรือบุคลากรหลักที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล ทนาย แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้ประนีประนอม นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น

สำหรับเหยื่อที่มีสถานภาพเป็นผู้ที่ถือวีซ่าคนเข้าเมืองและกำลังจะขอใบเขียว (green card) ก็มีทางออกเช่นกันนะคะ หากท่านมีเอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครครบถ้วน ไม่ถูกคู่สมรสยึดไว้หรือเก็บซ่อนไว้ ท่านก็สามารถขอยื่นเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร (permanent resident) เองได้โดยไม่ต้อพึ่งพาคู่สมรสที่เป็นผู้กระทำผิด บทบัญญัติหนึ่งในพ.ร.บ. นี้กำหนดไว้ว่าเหยื่อของการทำร้ายด้วยความรุนแรงในครอบครัวสามารถยื่นแบบฟอร์ม I-360 ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติ U.S. Citizenship and Immigration Services (USCIS) ได้โดยระบุให้ชัดเจนว่าสมัครด้วยตนเองในฐานะที่เป็นคู่สมรสหรือบุตรของบุคคลสัญชาติอเมริกัน หรือผู้อยู่อาศัยถาวรซึ่งเป็นผู้กระทำทารุณ (Self-Petitioning Spouse / Child of Abusive U.S. Citizen or Lawful Permanent Resident) ท่านอาจมีคำถามตามมาว่าแล้วอีกฝ่ายก็จะรู้น่ะสิว่าสมัครเองเมื่อมีเอกสารส่งมาที่บ้าน เรื่องนี้ก็ไม่ต้องกลัวนะคะ เพราะในแบบฟอร์มมีทางเลือกให้ท่านแจ้ง USCIS ว่าหากท่านไม่ต้องการให้ส่งเอกสารนี้ไปที่บ้านของท่าน ท่านสามารถแจ้งที่อยู่อื่นที่ท่านต้องการจะให้ USCIS ส่งเอกสารไปให้ จะเห็นได้ว่าพ.ร.บ.ให้อำนาจหน่วยงานหลายหน่วยงานในการจัดการเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ

เอาล่ะ เมื่อรู้เช่นนี้แล้วท่านพร้อมหรือยังที่จะเป็นกำลังสำคัญอีกกำลังหนึ่งในการหยุดการทำร้ายด้วยความรุนแรงในครอบครัว หากท่านตกเป็นเหยื่อ เพียงขอให้ท่านมีความกล้าหาญที่จะก้าวออกมาจากความสัมพันธ์นั้น เมื่อท่านตัดสินใจแน่วแน่แล้ว ก็ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ใกล้บ้านท่านได้เลย หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะรีบยื่นมือเข้าช่วยเหลือท่านทันที เช่นหากท่านไม่มีที่อยู่อาศัย หลังจากการร้องเรียน เจ้าหน้าที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยให้ท่านและบุตรหรือผู้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของท่านทันที ตามสภาพความจำเป็นซึ่งอาจจะไม่สุขสบาย ไม่เป็นส่วนตัวเหมือนกับที่อยู่อาศัยที่คุ้นเคย แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องคอยระแวง หรือหวาดกลัวต่อการทำร้ายร่างกายอีกต่อไปแล้ว ก็นึกเสียว่าคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก

ส่วนเรื่องอาชีพการงานนั้น ในบางกรณีเหยื่อเคราะห์ร้ายอาจจะถูกจำกัดอิสรภาพ เช่นคู่สมรสไม่อนุญาตให้ทำใบขับขี่ เพราะเกรงว่าจะควบคุมให้อยู่ในสายตาลำบาก จึงต้องคอยให้คู่สมรสขับรถพาไปสถานที่ต่าง ๆ ที่จำเป็น หรือไม่ก็ให้เป็นแม่บ้าน ไม่อนุญาตให้ออกไปหางานข้างนอกทำ และจำกัดทางด้านการเงิน เช่นให้เงินไว้ติดตัวคราวละ 10-20 ดอลล่าร์ ส่วนคู่สมรสจะเป็นคนดูแลควบคุมการเงินอื่น ๆ ในบ้านทั้งหมด จำกัดกันเสียจนขยับตัวไปไหนมาไหนลำบากขนาดนี้ก็ยังพอทนได้เพราะรัก แต่หากมีพฤติกรรมทำร้ายร่างกาย กล่าวโทษเหยื่อเคราะห์ร้ายไปเสียทุกเรื่องเวลามีปัญหา หรือที่หนักไปกว่านั้น บางกรณีทรมาน หรือทำร้ายร่างกายลูกด้วย อย่างนี้คนเป็นพ่อ-แม่ที่มีจิตสำนึกก็ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะ

บางรายเวลาเมาสุรา และ/หรือยาเสพติดก็เอะอะโวยวาย ตบตี แต่เวลาสร่างก็มางอนง้อขอคืนดี สัญญาว่าจะยอมทำสารพัดอย่าง จนเหยื่อใจอ่อนไม่เอาเรื่อง ไม่เลิกร้างจากไป พออีกสักพักก็กระทำซ้ำอีก ซึ่งกรณีแบบนี้ส่วนใหญ่ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้ง ฝ่ายที่เป็นเหยื่อก็ไม่อยากเลิกรา เพราะยังตัดอาลัยไม่ได้เวลาอีกฝ่ายมาขอคืนดี ซึ่งจะทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคนดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่พอเกิดเหตุการณ์ครั้งต่อไปความรุนแรงก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นวัฏจักรไป เพราะฉะนั้นกลับมาที่ประเด็นแรกว่า ความรุนแรงในครอบครัวนั้นไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ได้รับการจัดการ

สำหรับความช่วยเหลืออื่น ๆ นอกจากที่พัก เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ หรือ advocate ที่รับเรื่องครั้งแรกจะประสานงานกับหน่วยงานฝึกอบรมอาชีพตามความเหมาะสมและความถนัด เพื่อให้เหยื่อสามารถยืนด้วยลำแข้งตัวองต่อไปได้ในอนาคต

ผู้เขียนเคยไปเข้าฟังการฝึกอบรมงานเกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งวันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว หนึ่งในผู้บรรยายวันนั้นเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาให้เหยื่อที่แจ้งมาได้ดีมาก จิตวิทยาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนของการเข้าไปแก้ไขปัญหาดีเยี่ยม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง สุดท้ายก่อนจบการฝึกอบรมวันนั้น เจ้าหน้าที่เฉลยว่าเธอเคยเป็นเหยื่อเคราะห์ร้ายมาก่อนเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ก่อนจะตัดสินใจก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ ซึ่งสำหรับเธอนั้นไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเลย ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เธอมาถึงจุดนี้ได้เพราะวันหนึ่งเธอมีความกล้าหาญมากพอ และเมื่อสถานกาณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย เธอกลับกลายมามีอาชีพที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเหยื่อเคราะห์ร้ายเหมือนที่เธอเคยประสบมา สำหรับเธอแล้วการที่เคยเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง (first-hand experience) นั้นทำให้เธอเข้าสามารถเป็น advocate ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาละเอียดอ่อนนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ท่านอื่น หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องล้วนแต่ได้รับการฝึกอบรมมาเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

สำหรับเหยื่อบางรายนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ยังไม่มีเหตุปัจจัยใดที่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขามีความกล้าที่จะกระทำเช่นเดียวกันกับเธอ เรื่องนี้เราไม่สามารถไปตัดสินใจแทนบุคคลอื่นได้หรอก ทางที่ดีเราควรจะรับฟัง คำแนะนำที่เธอมักจะให้กับเหยื่อก็คือให้จัดกระเป๋าใบย่อมสำหรับเสื่อผ้าและสัมภาระอื่น ๆ ที่จำเป็น และแอบซ่อนให้พ้นสายการหรือการตรวจค้นของคู่สมรสที่มีนิสัยชอบทำร้ายร่างกาย หากพร้อมเมื่อไหร่ก็ให้โทรศัพท์หรือติดต่อขอความช่วยเหลือ ในกรณีบางรายจัดเตรียมกระเป๋าไว้และตั้งใจว่าจะละทิ้งชีวิตเดิมที่ทุกข์ทรมาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิบปีเธอผู้นั้นก็ยังคงอยู่ที่เดิม ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ หรืออาจจะไม่มีจุดที่จะทำให้มีแรงฮึดตัดสินใจก็เป็นได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าไปอีกกรณีหนึ่ง

มีอีกหนึ่งกรณีที่เหยื่อมีอดทน ความเพียร และความกล้าหาญ วันหนึ่งเธอคิดจะออกจากความสัมพันธ์ แต่ด้วยความไม่พร้อมหลายประการ เธอจึงเพียรเก็บสะสมเงินไว้ในที่ที่ผู้ชายไม่คิดจะตรวจค้น นั่นคือในกล่องผ้าอนามัย เธอเก็บออมเงินเช่นนี้อยู่เป็นเวลานานมาก ก็น่าแปลกใจว่าเหตุใดอีกฝ่ายหนึ่งไม่เอะใจว่าทำไมในบ้านมีกล่องผ้าอนามัยเยอะแยะ ท้ายที่สุดเมื่อเธอก้าวออกมาจากความสัมพันธ์นั้น เธอก็พอจะมีความมั่นคงทางการเงินในการดำเนินชีวิตต่อไปบ้างจากเงินที่เก็บสะสม และจากการสันับสนุนช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ตามมา

ในบางกรณีเหยื่อถูกร้ายจิตใจมาตลอดเจนเกิดอาการผวา หวาดระแวงจนไม่กล้าจะทำอะไรแม้แต่การสืนค้นทางอินเทอร์เน็ต เพราะกลัวว่าจะทิ้งร่องรอยประวัติการสืบค้นเพื่อขอความช่วยให้ถูกจับได้ ผู้เขียนเคยเห็นเว็บไซต์ให้ความความเหลือเหยื่อบางแห่งทำแท็บไว้เพื่อลบประวัติการค้นหา ซึ่งเป็นแท็บที่เมื่อผู้ใช้คลิกที่แท็บนั้นเพียงครั้งเดียวหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็จะเปลี่ยนเป็นพยากรณ์อากาศทัที ซึ่งนับว่าเป็นความคิดที่ดีมากที่มีทางออกสำหรับเหยื่อในยามคับขัน กรณีที่ผู้กระทำผิดเข้ามาในบริเวณนั้นโดยกระทันหัน หรือไม่เคาะประตู

สำหรับท่านที่มีครอบครัวที่อบอุ่น ปราศจากปัญหานี้ โปรดจงใส่ใจผู้อื่นรอบข้าง ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นญาติ เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน หากท่านสังเกตเห็นสัญญาณ สิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านจะทำได้คือถามว่าท่านจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง มีวิธีตั้งคำถามหลายวิธี เหยื่อบางรายอาจจะไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว หรืออาจจะถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย บางรายอาจจะยอมเล่าให้ท่านฟัง แต่อาจจะตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ยังไม่พร้อมที่จะออกจากความสัมพันธ์ สิ่งที่ท่านทำได้คือรับฟัง และคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอ ส่วนการตัดสินใจนั้นเป็นของเหยื่อ ไม่ควรตัดสินเหยื่อที่ยังไม่พร้อม เพราะเราไม่ใช่เหยื่อ เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเหยื่อ (in someone else’s shoes)

สำหรับท่านที่เป็นเหยื่อ ขอให้ท่านมีความกล้าหาญที่จะร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อเปลี่ยนชีวิตตัวท่านเอง คนรอบข้าง และผู้กระทำผิดเองในทางที่ดีขึ้น

สำหรับท่านที่ไม่เป็นเป็นเหยื่อ แต่หากพบเห็น หรือรู้ทราบถึงการกระทำรุนแรงในครอบครัว ท่านสามารถแจ้งได้ เมื่อเป็นการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวโดยสุจริต ก็ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และทางปกครอง ซึ่งถ้าหากไม่แจ้งจะมีความผิด

ขอให้โชคดีมีชัยทุกท่านนะคะ

ป.ล. ตอนเริ่มขึ้นเรื่องนี้ผู้เขียนคิดว่าเนื้อหาที่มีจะจบภายในหนึ่งหรือสองตอนสั้น ๆ แต่เขียนไปเขียนมา คงต้องมีตอนสามจึงจะปิดประเด็นได้

(จากกลุ่มเฟซบุ๊ค Thai and Lao Interpreters' Study Group)