Thai and Lao Interpreters' Study Group กลุ่มศึกษาของล่ามภาษาไทยและภาษาลาว

เนื่องจากโลกยุคโลกาภิวัตน์อพยพได้พาคนทุกเชื้อชาติโยกย้ายไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก คนไทยย้ายไปอยู่ยุโรปบ้าง คนลาวย้ายไปอยู่ออสเตรเลียบ้าง คนสวีเดนย้ายไปอยู่ไทยบ้าง เป็นต้น ประเทศที่คนไทยและคนลาวอพยพไปอยู่มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ความต้องการล่ามภาษาไทยและภาษาลาวจึงได้เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร

ฉันจึงได้ตั้งกลุ่มล่ามศึกษาขึ้นในเฟซบุ๊คชื่อ Thai and Lao Interpreters' Study Group สมาชิกกลุ่มนี้มีทั้งล่ามและผู้สนใจแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสารและงานล่ามต่างๆ คุณผู้อ่านสามารถแอดเป็นสมาชิกในเฟซบุ๊คของเราได้โดยพิมพ์คำว่า Thai and Lao Interpreters' Study Group

เรามีโพสท์ต่างๆ ที่น่าสนใจจากสมาชิก จึงนำมาเสนอให้กับคุณผู้อ่านในคอลัมน์นี้


***นี่เป็นเบสิคๆ สำหรับผู้ที่ต้องการทราบว่าจะเริ่มงานล่ามยังไงนะคะ

- อันดับแรกก็คือ ต้องแน่ใจว่าเรามีความรู้ในคู่ภาษาที่เราจะแปลแน่นจริงๆ ซึ่งจะต้องแน่นทั้งไวยากรณ์ การออกเสียง คำศัพท์ การใช้สำนวนต่างๆ ถ้าภาษาไม่ดีพอ ไม่ควรทำ เพราะจะแปลผิด แปลตก

- สอง ต้องดูว่าตัวเองชอบงานนี้หรือไม่ ชอบด้านภาษาหรือไม่ ชอบพูดกับคนและต่อสาธารณะหรือไม่ ชอบเดินทางหรือไม่ ถ้าไม่ชอบ ควรหางานอื่นทำ

- สาม ต้องฝึกแปลให้ชำนาญในฐานะมือสมัครเล่นหรือล่ามอาสาจนช่ำชองก่อน เพราะจะได้เก็บประสบการณ์และไม่เครียด คนที่จ้างเรา เขาอยากได้คนมีประสบการณ์ ล่ามที่เก่งคือล่ามที่ผ่านภาคสนามที่มีชั่วโมงบินสูง

- สี่ เตรียมประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน (resume) ที่ใส่ประสบการณ์ทางด้านภาษาของเราให้ได้มากที่สุด ทำยังไงที่จะให้คนที่เห็นอยากจ้างเรา

- ห้า ส่งเรซูเมของเราไปยังบริษัทล่ามหรือองค์กรต่างๆ และเตรียมตัวสอบเป็นล่ามตามหน่วยงานที่จัดสอบ (ถ้ามี)

หก อ่านหนังสือ ดูยูทูบ เน็ตเวิร์คกับล่ามคนอื่นๆ ต้องขยันพัฒนาตนเองโดยเฉพาะเรื่องภาษาและความรู้รอบตัว หาข้อมูลให้มากที่สุด

รายละเอียดได้เขียนไว้ในหนังสือ บันทึกของล่าม แล้วค่ะ ใครสนใจที่จะทำงานนี้อย่างจริงจัง ควรอ่านนะคะ หรือรออ่านโพสท์ต่างๆ ในกลุ่มนี้ได้ค่ะ เราโพสท์เกร็ดความรู้ต่างๆ แทบทุกวันค่ะ


*** อีกเหตุผลหนึ่งที่ชอบงานล่าม

นอกเหนือจากเป็นงานที่ได้ใช้ภาษาซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบมากๆ เป็นงานที่มีเกียรติและได้ท่องเที่ยวแล้ว เหตุผลที่สำคัญคือ สามารถหาเงินได้เองและเป็นรายได้ที่ดีทีเดียว

ฉันไม่ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยและสามีอเมริกันก็มีฐานะปานกลาง

การที่เราหาเงินได้และได้ทำในสิ่งที่ชอบมันเป็นสิ่งที่ทำให้มีความภูมิใจในตัวเอง มันเป็นประกายแห่งความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในใจที่หลายคนที่เกิดมาเป็นลูกคนรวยหรือคนที่ต้องพึ่งสามีอาจไม่เคยได้สัมผัส ฉันได้ฝ่าฟันอุปสรรคมามากเหมือนกันกว่าจะได้เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการระดับสูงทั้งในไทย ลาวและประเทศตะวันตก และที่สำคัญคือได้รับการนับถือจากสามีและครอบครัว

งานล่ามอิสระแบบฟรีแลนซ์ดีอีกอย่างหนึ่งคือมีอิสระที่จะรับงานที่ตนชอบหรือสนใจ มีเวลาเขียนหนังสือ โดยเฉพาะที่อเมริกา มีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด จะมีความสนใจเรื่องเพศแบบใด ถ้าใครขยัน เปิดโอกาสให้เข้ามาหาตัว ก็สามารถ "make it" ได้

งานล่ามจึงเป็นพาหนะที่ฉันเลือกใช้ในการเดินทาง ถึงแม้จะไม่ทำให้ฉันร่ำรวยระดับเศรษฐี (ฉันไม่นิยมวัตถุอยู่แล้ว) แต่มันทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง ได้มีเวลาศึกษาปรัชญาชีวิต และอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นในตอนนี้


***จะทับศัพท์และใช้คำย่อเมื่อไหร่ดี

การเป็นล่ามจะไม่เหมือนการแปลเอกสาร ต้องรวดเร็วและมีไหวพริบอย่างมาก เวลาแปลเอกสาร เรามีเวลาคิด เราสามารถใส่วงเล็บอธิบายได้ แต่เวลาแปลแบบฉับพลันต้องรีบหาคำมาใช้ให้ถูกต้องและรวดเร็ว หลายครั้งไม่มีเวลาอธิบาย เพราะฉะนั้นการทับศัพท์และการใช้คำย่อจะสามารถช่วยได้

ง่ายๆ คือเราจะใช้คำทับศัพท์ได้ ก็เมื่อเรารู้ว่าคนที่เราแปลให้ฟังนั้นเขาเข้าใจและรู้ว่ามันคืออะไร บางครั้งถ้าเรามีเวลา เราก็จะอธิบายให้เขาฟังก่อน เช่นคำว่า jury trial (3 พยางค์) แปลว่า การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน (12 พยางค์) เวลาแปลฉับพลัน จะพูดไม่ทันเพราะภาษาไทยยาวเกินไป เราก็สามารถใช้ jury trial ได้ เมื่อเรารู้ว่าคนที่เราแปลให้ฟังนั้นเข้าใจแล้ว ตัวอย่างอีกคำคือคำว่า preliminary hearing ในคดีอาญาสถานหนัก (felony) ภาษาอังกฤษเรียกย่อๆ ว่า prelim ภาษาไทยแปลว่า การรับฟังหลักฐานพยานในขั้นต้น เวลาแปลฉับพลัน ยากที่จะพูดทัน ต้องหาคำสั้นๆ มาใช้แทน หรือทับศัพท์ว่า prelim ไปเลย ถ้าได้มีโอกาสอธิบายให้จำเลยฟังก่อนแล้วว่า preliminary hearing คืออะไร

บางทีคนไทยที่อยู่อเมริกานานๆ ก็ใช้คำทับศัพท์จนชิน ล่ามก็ใช้ตามเขาได้เลย เช่น คำว่า ticket หรือจะแปลว่า ใบสั่ง ให้เขาฟังก่อน แต่เขาก็ยังเรียกมันว่า ticket ตลอด ก็เรียกตามเขาได้

บางทีคำย่อต่างๆ เช่น UN ที่คำเป็นที่รู้จักกันดี ก็ทับไปเลย ยกเว้นถ้าเขาพูดเต็มว่า United Nations เราก็ควรแปลเต็มว่า องค์การสหประชาชาติ ยกเว้นตอนแปลฉับพลัน สามารถย่อเป็นยูเอ็นได้ แต่ถ้ามีเวลาก็ควรแปลเต็ม ถ้าเขาพูดว่า Lao PDR เราก็แปลว่า สปป.ลาว แต่ถ้าเขาพูดว่า Lao People's Democratic Republic เราก็ควรจะแปลเต็มว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น

ที่ศาลและหน่วยงานราชการใช้คำย่อเยอะมาก ล่ามต้องรู้ด้วยว่า คำย่อต่างๆ นั้นมันย่อมาจากอะไร เพราะทนาย ตำรวจ ผู้พิพากษาเขาใช้กันจนชิน เขาจะสันนิษฐานว่าคนอื่นก็จะรู้ด้วย เช่น คำว่า CHP = California Highway Patrol หรือ ตำรวจทางหลวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย อันนี้ล่ามต้องรู้ไว้ คำย่อบางตัวเราไม่รู้จริงๆ ก็ถามเขาได้ถ้ามีโอกาส ถ้าไม่มี ก็ใช้คำย่อนั้นซื้อเวลาไปก่อน

สรุปคือเราจะใช้คำย่อหรือทับศัพท์เมื่อเราแน่ใจว่าผู้ฟังทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เข้าใจ ถ้ามีผู้ฟังเป็นร้อย ต้องดูดีๆ ว่าควรจะใช้หรือไม่ ถ้ามีเวลาอธิบายก่อนก็จะช่วยได้ แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าจะใช้คำไหน บางทีล่ามที่ทำงานเป็นทีมก็จะปรึกษากันก่อนเรื่องการใช้คำ และก็ดูด้วยว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน ขอให้คนฟังเข้าใจและเนื้อหาสำคัญไม่ขาดตกบกพร่อง ก็ถือว่าการสื่อสารประสบความสำเร็จ


***คนมักถามฉันว่าทำไมแปลคำว่า department ว่า กระทรวง ทำไมไม่แปลว่า กรม

คำตอบคือ อเมริกาเป็นประเทศที่ไม่ใช้ระบบ ministry แบบไทย ลาวหรืออังกฤษ ระดับ department ของเขาเทียบเท่ากับ ระดับกระทรวงบ้านเรา เขาไม่มีกรม มีแต่แผนกหรือสำนักงาน ให้เลือกคำแปลโดยการเทียบเอาว่าจะตรงกับส่วนราชการไหนของไทยหรือลาว ถ้าไม่มีก็แปลให้ใกล้เคียง เช่น IRS (Internal Revenue Service) = กรมสรรพากร เป็นต้น มีที่เขาแปลเอาไว้แล้ว ค้นหาดู แล้วเอาไปใช้ได้เลย

และในกรณีนี้คำว่า secretary ไม่ได้แปลว่าเลขา หรือ เลขาธิการ นะ ต้องแปลว่า รัฐมนตรี

State Department หรือ Department of State คือกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่ แผนกของรัฐ อันนี้คนอเมริกาบางคนยังไม่รู้ ฉันบอกว่า "I work for the Department of State." คนอเมริกาบางคนเคยถามว่า "Which state?"

ส่วนคำว่า Secretary of State ในระดับเฟดเดอรัลต้องแปลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่ เลขาธิการของรัฐ ห้ามแปลอย่างนั้นเด็ดขาด อายเขา

นี่เป็นหนึ่งในคำถามของข้อสอบการเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน ผู้เป็นล่ามจะเก่งแค่ภาษาอย่างเดียวก็ไม่สามารถแปลได้ดี ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง กฎหมาย ภูมิศาสตร์และสังคมของอเมริกาให้แตกฉานด้วย จะช่วยได้มากในเรื่องการแปล เพราะเราจะได้เห็นภาพกว้างๆ และจะช่วยให้แปลได้ดีขึ้น

What are two cabinet-level positions?

ให้บอกชื่อตำแหน่งในระดับรัฐมนตรีมาสองตำแหน่ง

Secretary of Agriculture

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร

Secretary of Commerce

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

Secretary of Defense

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

Secretary of Education

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

Secretary of Energy

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

Secretary of Health and Human Services

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชน

Secretary of Homeland Security

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

Secretary of Housing and Urban Development รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมือง

Secretary of the Interior

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

Secretary of Labor

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

Secretary of State

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

Secretary of Transportation

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่ง

Secretary of the Treasury

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

Secretary of Veterans Affairs

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทหารผ่านศึก

Attorney General

อัยการสูงสุด

Vice President

รองประธานาธิบดี