กว่าจะได้มาเป็นล่ามและอาจารย์สอนภาษาไทย

สัปดาห์นี้เรามาลองฟังเรื่องเล่าของคุณจริยาพร อุดมทรัพย์หรือครูนุคกันดูบ้าง เธอเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ไทยและล่ามไทยแห่งเมืองนิวยอร์กค่ะ

ขณะนี้คุณจริยาพรสอนภาษาไทยที่ Hills Learning Language School http://www.hillslearning.com/ และ www.learnthaistyle.com


........................

ครั้งหนึ่งในชีวิตของทุกคน ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะต้องเคยถูกถามคำถามที่ว่า "เมื่อโตขึ้นหนูอยากจะเป็นอะไร?" เด็กๆ หลายคนอาจจะเอียงอายหรือไม่แน่ใจในคำตอบ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วสามารถบอกได้อย่างไม่ลังเลว่า "หนูอยากเป็นครูค่ะ"

ถ้าจะให้พูดถึงจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความตั้งใจจะเป็นครูอาจจะต้องเล่ากันยาวเป็นนิยายเรื่องสั้นๆ เลยทีเดียวแต่ถ้าถามถึงจุดประกายความอยากเป็นครู (ภาษาไทย) นั้นเริ่มมาจากความเป็นเด็ก เมื่อตอนประถมข้าพเจ้าเป็นเด็กที่

เรียนไม่เก่งแต่เพราะเรียนไม่เก่งเลยต้องตั้งใจเรียนมากเป็นพิเศษ วิชาที่ข้าพเจ้าทำคะแนนได้ดีที่สุดคือวิชาภาษาไทย ทำให้ข้าพเจ้ารักวิชานี้ไปโดยปริยาย ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบเขียน ชอบแต่งเรียงความ เจ้าบทเจ้ากลอนและชอบการพูดสุนทรพจน์ โดยพื้นฐานข้าพเจ้าเป็นคนขี้อายแต่เด็ก ไม่ชอบคนเยอะ ไม่ชอบการเข้าสังคม ไม่ชอบการหาเพื่อนใหม่แต่วิชานี้ทำให้ข้าพเจ้ามีเพื่อน เพื่อนบางคนก็เข้ามาเพื่อให้ช่วยทำช่วยสอนการบ้านซึ่งข้าพเจ้ายินดีและไม่เคยหวงความรู้

ข้าพเจ้าเริ่มมีสังคมนอกโรงเรียนคือเมื่อเวลามีการแข่งขันต่างๆ ก็มักจะเจอคนกลุ่มเดิมๆ ที่เป็นคู่แข่งกันจนกลายมาเป็นเพื่อน ข้าพเจ้าร่วมแข่งขันได้รางวัลตั้งแต่รางวัลเล็กๆ ระดับชั้น ระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด จนถึงรางวัลระดับประเทศจากสมเด็จพระเทพฯ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว นี่อาจจะเป็นส่วนประกอบของความฝันเล็กๆ ที่อยากจะทำให้ความอยากเป็นครูภาษาไทยได้เป็นจริง

(ถ้ามีโอกาสได้แบ่งปันประสบการณ์เรื่องงานเขียนและรางวัล คราวหน้าจะบอกรายละเอียดส่วนนี้เพิ่มเติม)


ผิดหวังจากการแอดมิชชั่น ขี้เหนียวจนสอบไม่ติด

ข้าพเจ้ามีความตั้งใจและมุ่งมั่นมากที่จะเข้าศึกษาต่อคณะครุศาสตร์เอกภาษาไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ชีวิตการศึกษามัธยมปลายข้าพเจ้ามีเป้าหมายที่แน่วแน่ และจบมาด้วย GPA ที่ไม่สวยหรูแต่ก็ไม่เลวร้ายที่ 3.72 ปีนั้นเป็นปีแรกของการใช้วิธีสอบแบบ Admission ซึ่งไม่ใช่การเอนทรานส์อีกต่อไประบบหลายๆ อย่างยังไม่เข้าที่ลงตัวในการสอบปีแรก ข้าพเจ้าได้พลาดคณะที่ตั้งใจไว้และได้อันดับสอง ซึ่งก็คือ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้าพเจ้าผิดหวังมาก แต่ก็หวังว่าครั้งที่สองน่าจะพอลุ้น ก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าฝึกฝนเรื่องภาษาไทย และภาษาอังกฤษอย่างหนัก อีกใจหนึ่งก็เริ่มเบี่ยงเบนอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพราะจะได้ใช้ความถนัดนี้เช่นกัน แม้ในใจลึกๆ ก็ยังหวังจากการสอบแอดมิชชั่นในปีถัดมา แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาปีนั้นข้าพเจ้าจึงลงเรียน คณะธุรกิจการบิน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หัวหินเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อพิสูจน์ความถนัดของตัวเองว่าชอบการทำอะไรมากกว่ากัน แต่กระนั้นก็ยังไม่ทิ้งความอยากเป็นครู ประกอบกับมีเพื่อนรุ่นพี่ชวนไปเป็นครูอาสาสอนภาษาไทยภาษาไทยให้

เด็กๆ ที่วัดหัวหินตอนแรกไปด้วยใจอาสาแต่พระอาจารย์ใจดีก็ให้ค่าตอบแทนครั้งละ 500 บาทเลยทีเดียว ข้าพเจ้าเริ่มสนุกกับการสอนและเป็นการหารายได้เล็กๆ น้อยแต่ความสุขก็อยู่ได้ไม่นานเมื่อการรับสมัครแอดมิชชั่นครั้งที่สองมาถึง ครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ยื่นคะแนนใหม่คือคณะครุศาสตร์สาขาธุรกิจศึกษา

เมื่อประกาศผลปรากฏว่าข้าพเจ้าคะแนนถึง (เกินไปมากพอควร) แต่ไม่ได้รับการตอบรับเข้าศึกษาเพราะไม่มีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ใน A-Net (ผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจไม่เข้าใจระบบนี้ A-Net คือการสมัครสอบพิเศษวิชาละ100บาท มีทั้งหมด 5วิชา ไม่ใช่ทุกสาขาวิชาที่ต้องการคะแนนนี้ ด้วยความเสียดายเงินที่ต้องสอบในวิชาที่ไม่ได้ใช้ ข้าพเจ้าจึงจ่ายแค่ 300 บาท เพื่อสอบแค่ 3วิชาที่ต้องใช้ในการสอบเข้าคณะครุศาสตร์ในปีแรก ซึ่งการสอบ A-Net ทำได้ครั้งเดียว) รอบนี้ทำให้ข้าพเจ้าติดลำดับที่ 3 คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บ้านเกิด ข้าพเจ้าไม่รีรอที่จะเขียนจดหมายถึงคณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัยเพื่อชี้แจงว่าถึงไม่มีคะแนน A-Net (หรือแม้ข้าพเจ้าทำคะแนนเป็น 0) คะแนนโดยรวมก็ถึงที่คณะกำหนด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากมหาวิทยาลัยความหวังเดียวและสุดท้ายด้วย

คือความหวังว่าปีถัดมาคือปีที่ 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่รัฐอนุญาตให้ยื่นคะแนนสอบ ข้าพเจ้าจึงตีตั๋วบินไปประเทศฝรั่งเศสหนึ่งปีเพื่อศึกษาต่อด้านภาษาฝรั่งเศสตามพี่สาวซึ่งได้ทุนรัฐบาลไทยไปอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว