ประวัติของการเป็นล่ามโดยสังเขป A Brief History of Interpretation

โดย เบญจวรรณ ภูมิแสน ล่ามภาษาไทยและภาษาลาว By Benjawan Poomsan, Thai and Lao Interpreter

น้อยคนนักที่จะรู้ถึงประวัติความเป็นมาของงานล่าม ในบทความนี้ ผู้อ่านจะได้ทราบว่างานล่ามนั้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

ยังไม่รู้แน่ชัดว่ามนุษย์เราเริ่มใช้ภาษาพูดเป็นครั้งแรกในยุคใดและการใช้ล่ามเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่าการใช้ล่ามคงจะมีขึ้นหลังจากที่การสื่อสารโดยใช้ภาษาใบ้ สัญลักษณ์ต่างๆ ไม่สามารถที่จะใช้สื่อสารตามที่ต้องการได้ เมื่อมนุษย์ที่พูดภาษาต่างกันต้องการที่จะสื่อสารกันให้เป็นที่เข้าใจ จึงจำเป็นต้องใช้ล่ามเพื่อที่จะช่วยให้บรรลุจุดประสงค์นั้น

ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงการใช้ล่ามในยุคสมัยแรกๆ ว่ามีมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณมานับพันปีแล้ว มีการอ้างถึงบุคคลหนึ่งที่เรียกว่า หัวหน้าล่าม ซึ่งคาดว่าประมาณสามศตวรรตก่อนคริสตกาลในสมัยของเจ้าชายเอเลแฟนไทน์ มีการอ้างถึงผู้ที่เป็นล่ามมืออาชีพนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา ล่ามของอียิปต์จะแปลภาษาให้กับฝ่ายบริหารของประเทศทางด้านการค้า ศาสนาและการทหารเป็นส่วนใหญ่

ยุคกรีกและโรมันโบราณก็ได้ใช้การบริการของล่ามซึ่งเรียกกันว่า การกระซิบ (ซึ่งก็เหมือนกับล่ามกระซิบที่แปลแบบฉับพลันในปัจจุบัน) ที่ผู้แปลจะกระซิบเบาๆ จากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งให้บุคคลสำคัญฟัง จูเลียต ซีซ่าร์ได้กล่าวถึงว่ามีการใช้ล่ามในสงครามแกลลิค ซิเซโรก็ได้พูดถึงว่าล่ามที่ดีคือล่ามที่สามารถถ่ายทอดความหมายให้เป็นที่เข้าใจ

งานล่ามได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคกรีกและโรมันเนื่องจากชาวกรีกและโรมันไม่ยอมที่จะลดตัวลงมาเรียนภาษาอื่นที่ด้อยกว่าตน พวกตนจะใช้แต่ภาษาภาษากรีกหรือโรมันเพื่อแสดงอานุภาพทางด้านการเมือง พวกเมืองขึ้นทั้งหลายจึงต้องใช้ล่ามเพื่อที่จะเข้าใจภาษาเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ล่ามในสมัยนั้นยังไม่ได้รับการเคารพนับถือ ล่ามส่วนใหญ่ก็คือทาสหรือจำเลยจากศึกสงครามหรือผู้ที่พอพูดภาษาได้ตามชายแดน แต่ปัญหาก็คือ ล่ามจะต้องมีความจงรักภักดีต่อผู้ที่ตนแปลให้และจะต้องรักษาความลับให้ได้ มีครั้งหนึ่งที่ข่าวบางอย่างรั่วไหลจากกรุงโรมไปยังข้าศึก ผู้ต้องสงสัยคนแรกก็คือล่าม เพราะล่ามเป็นคนเดียวที่เข้าใจสิ่งที่พูดกันในที่ประชุมลับ ดังนั้นตั้งแต่นั้นมา ล่ามที่เป็นเชลยศึกหรือที่ไม่ใช่คนของฝ่ายนั้นมักจะถูกสังหารเพื่อปิดปาก

แต่พอมาถึงยุคกลางของยุโรป อาชีพล่ามเริ่มได้รับการนับถือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่มีความสามารถแปลภาษาในระดับสูงได้ถูกเชิญให้มาทำงานในราชวังเมื่อมีการเจรจาที่สำคัญระหว่างประเทศเกิดขึ้นทั้งในช่วงสงบและช่วงสงคราม ล่ามจะต้องมีความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านยุทธศาสตร์และด้านอื่นๆ ในยุคกลางนี้ก็เป็นยุคที่มีการที่มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์อย่างกว้างขวาง ผู้ที่มีความสามารถแปลภาษาได้ในระดับสูงก็จะได้รับการว่าจ้างให้มาแปลให้พระสอนศาสนาตามโบสถ์หรือตามพิธีต่างๆ ยิ่งคริสตศาสนาแผ่ขยายไปไกลเท่าใด ยิ่งจำเป็นต้องใช้ผู้แปลภาษามากขึ้นเท่านั้น บางทีล่ามจะต้องเดินทางไปดินแดนที่ห่างไกลพร้อมกับเหล่ามิชชันนารี (ต่อมามิชชันนารีที่จะไปเผยแผ่ศาสนนาของตนจะเรียนภาษาของประเทศที่ตนจะไปปฏิบัติพันธกิจจนแตกฉานเสียก่อน)

มีหลายครั้งที่หลายประเทศพยายามที่จะสร้างภาษาสากลขึ้นมาเพื่อที่จะนำมาใช้ในการสื่อสารโดยไม่ต้องใช้ล่าม เช่นภาษาเอสเปอแรนโต แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้งไป เพราะภาษาสากลที่สร้างขึ้นมานั้นไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีสีสัน ไม่มีรสชาติ ไม่มีสำนวน ไม่มีสเน่ห์ของภาษา และที่สำคัญคือไม่ได้มีการวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องอย่างเป็นธรรมชาติ

อาชีพของล่ามเริ่มเป็นอาชีพที่สำคัญและเริ่มที่จะเฟื่องฟูในยุคล่าอาณานิคม เมื่อฝรั่งเศสได้ล่าเมืองขึ้นในทวีปอัฟริกา และเมื่อสเปนได้ล่าเมืองขึ้นโดยการนำของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ สเปนจำเป็นต้องหาวิธีที่จะสื่อสารกับชาวพื้นเมืองที่เป็นอินเดียแดงหลายเผ่า จึงได้มีการฝึกนักแปลภาษาของตนขึ้น ล่ามที่มีชื่อเสียงที่สุดชื่อโดนา มาเรียที่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของล่ามและเป็นที่รู้จักดีในวงการล่ามในฐานะที่เป็นล่ามให้กับสเปนและชาวพื้นเมืองในเม็กซิโก หลายคนถือว่าเธอเป็นวีรสตรีที่ช่วยลดช่องว่างที่เป็นปัญหาในการสื่อสารระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ในทวีปอเมริกา แต่หลายคนก็เห็นว่าเธอเป็นผู้ทรยศและเป็นเหตุผลให้ชาวอินเดียแดงเผ่าอาซเท็ค (Aztec) ต้องถูกสเปนกวาดล้างโดยสิ้นเชิง

ในทวีปเอเชียก็มีการใช้บริการของล่ามมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้อ่านคงเคยเห็นในภาพยนต์เป็นประจำ จีนกับญี่ปุ่นพูดคนละภาษา ไทยกับพม่าพูดกันคนละภาษา ถึงแม้จะเป็นประเทศที่อยู่ติดกัน แต่ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ไทยเราเองก็ต้องมีการใช้ล่ามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาแล้วอย่างแน่นอน แต่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงการใช้ล่ามในประวัติศาสตร์เท่าใดนัก

ขอย้อนกลับมาที่ยุโรปอีกครั้ง ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคที่การแปลภาษากับงานของล่ามเสื่อมถอยลง เนื่องจากมียุคหนึ่งที่ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่คนหลายชาตินิยมใช้เป็นภาษากลาง (lingua franca)ในการติดต่อสื่อสารกันเนื่องจากฝรั่งเศสได้เป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านวัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ประเทศน้อยใหญ่ได้หันมาเรียนภาษาฝรั่งเศสอย่างจริงจังจนไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามในการสื่อสารเพราะต่างก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสกันทั้งนั้น แต่ต่อมากษัตริย์ในราชวงศ์แฮปเบิร์กส์ (Hapsburgs) ของออสเตรียเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงกับฝรั่งเศสและผู้นำจักรวรรดิออตโตมันของตุรกีได้ปฏิเสธที่จะใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน ตอนนั้นจึงได้มีการกลับมาใช้ล่ามในการติดต่อสื่อสารในระดับนานาชาติอีกครั้ง นับจากนั้นมาแต่ละประเทศก็ได้ฝึกล่ามของตนโดยให้คนของตนร่ำเรียนภาษาอื่นจนเป็นที่ช่ำชอง ได้มีการจัดต้องโรงเรียนสอนวิชาล่าม ชื่อ Dragoman School of Interpretation ขึ้นที่เมืองคอนสแตนติโนเพิล (เมืองอีสตันบูลในประเทศตุรกีปัจจุบัน) และจักรพรรดินีมาเรีย เธอเรซา (Empress Maria Theresa) แห่งออสเตรียก็ได้จัดก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาให้ล่ามชื่อ Oriental Academy

หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง ได้มีการประชุมนานาชาติที่กรุงปารีส ผู้เข้าร่วมประชุมจำเป็นต้องใช้ล่าม ในตอนนั้นได้ใช้ล่ามที่แปลแบบต่อเนื่อง (consecutive interpretation) จากการประชุมครั้งนั้นได้มีการก่อตั้งสถาบันและองค์กรนานาชาติขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น องค์กรสันนิบาติชาติ (League of Nations) องค์กรแรงงานนานาชาติ (International Labor Organization) การประชุมระหว่างชาติในระดับสูงนั้นจำเป็นต้องมีการใช้ล่ามที่มีความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความรู้รอบตัวอื่นๆ ในระดับสูง ในระยะต้นๆ ได้ใช้การแปลแบบต่อเนื่อง (consecutive interpretation) ล่ามจะต้องจดบันทึกสิ่งที่ผู้ปราศรัยกล่าวไว้ แล้วเริ่มแปลเป็นภาษาของตนหลังจากที่ผู้ปราศรัยพูดจบ ทำให้การประชุมเหล่านั้นยืดเยื้อและน่าเบื่อ จึงได้มีการคิดค้นวิธีแปลแบบใหม่ขึ้นที่เรียกว่า การแปลแบบฉับพลัน (simultaneous interpretation) ซึ่งได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต พันเอกลีออน โดซเทิร์ท (Colonel Leon Dostert) ผู้ที่เป็นล่ามให้กับจอมพลไอเซนฮาวเวอร์ของสหรัฐอเมริกาได้ใช้เทคนิคการแปลแบบฉับพลันนี้โดยใช้สายเคเบิล ไมโครโฟนและหูฟัง แต่ในตอนนั้นการแปลแบบฉับพลันยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก

แต่ต่อมาไม่นาน เทคโนโลยีได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้น การแปลแบบฉับพลันได้เริ่มนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มขึ้นที่การพิจารณาคดีที่เมืองนูเรมเบิร์กหรือเนือร์นแบร์ก (Nuremberg Trials) ประเทศเยอรมัน การพิจารณาอันเป็นที่กล่าวขานมากที่สุด จำเลยในชุดนี้ประกอบด้วยผู้นำคนสำคัญที่สุดยี่สิบสี่คนของนาซีเยอรมนีซึ่งถูกจับมาได้ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังสงคราม เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การพิจารณาคดีครั้งนี้ได้ใช้การแปลแบบฉับพลันโดยมีการแปลเป็นสี่ภาษาด้วยกันคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันและรัสเซีย และต่อมาในปีค.ศ. 1947 สองปีหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง องค์การสหประชาชาติได้นำการแปลแบบฉับพลันมาใช้อย่างถาวรโดยล่ามที่มีความสามารถในระดับสูงสุด ซึ่งมีภาษาที่เป็นทางการหกภาษาด้วยกันคือ อังกฤษ จีนกลาง รัสเซีย อาหรับ สเปนและฝรั่งเศส ผู้เข้าประชุมในองค์การสหประชาชาติต้องเข้าใจภาษาใดภาษาหนึ่งในหกนั้น

ปัจจุบัน การแปลแบบฉับพลันได้ลดบทบาทลงมากในการประชุมระหว่างประเทศ ยกเว้นการประชุมแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างผู้นำของสองประเทศ จะมีล่ามนั่งอยู่ข้างหลังและจะแปลให้กับผู้นำทั้งสองขณะพูดคุยกัน ส่วนใหญ่ผู้นำของแต่ละประเทศจะใช้ล่ามของตนเอง

งานล่ามที่ฉันทำมีทั้งที่ต้องแปลแบบฉับพลันและต่อเนื่อง ฉันเป็นล่ามอิสระและรับงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ด้านการแพทย์ ธุรกิจ การเมือง เทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องศึกษาคำศัพท์หลายสาขาและติดตามข่าวสารเพื่อให้ทันโลกอยู่เสมอ งานล่ามจำเป็นต้องเดินทางตลอดทั้งปี จึงต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเช่นกัน

ตอนนี้ฉันมีโอกาสได้ทำงานเป็นล่ามในระดับสูง มีโอกาสพบกับบุคคลที่น่าสนใจมากมาย รายได้ก็ถือว่าดีทีเดียว เป็นงานที่ฉันรัก เพราะเป็นคนชอบเรียนภาษาอยู่แล้ว ทำให้ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง งานทุกครั้งที่ทำเหมือนเขาจ้างให้ไปฝึกภาษา แถมได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ อีกด้วย

ผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับงานล่ามจากหนังสือที่ฉันเขียนชื่อ "บันทึกของล่าม" ภาคภาษาไทย หรือ "The Interpreter's Journal"ภาคภาษาอังกฤษได้ค่ะ