รู้ภาษาอังกฤษ ชีวิตก้าวไกล ตอนที่ 4

ทักษะการอ่าน Reading Skills

ใครที่รักการอ่าน ถือว่าคนนั้นโชคดีมาก การอ่านทำให้เราได้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว ให้ความบันเทิง เป็นเพื่อนคู่ใจ ช่วยสร้างจินตนาการ เป็นการกระตุ้นสมอง ผ่อนคลายความเครียด ทำให้เป็นคนรู้จักคิด ทำให้มีสมาธิดีขึ้น ทำให้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ช่วยให้เราเป็นผู้ฟัง ผู้พูดและผู้เขียนที่ดีขึ้น

ฉันโชคดีที่เป็นคนรักการอ่าน ฉันพยายามอ่านหนังสือทุกวัน กว่าที่ฉันจะมาเป็นล่ามและนักเขียนได้ ฉันได้อ่านหนังสือหลายร้อยเล่มในหลายๆ ภาษา เวลาที่อ่านหนังสือจะรู้สึกว่าได้เข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง บางครั้งงานเขียนดีๆ จะทำให้ฉันสามารถสัมผัสถึงรูป รส กลิ่นเสียง ได้อย่างชัดเจน ทำให้ได้รู้จักกับผู้เขียนราวกับว่าเคยได้พบกันถึงแม้ผู้เขียนคนนั้นจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉันเรียนเอกวิชาภาษาอังกฤษและโทวรรณคดีตะวันตก ฉันจึงได้อ่านงานวรรณกรรมตะวันตกเป็นภาษาอังกฤษมากพอสมควร นักเขียนที่ฉันชอบมากที่สุดคือมาร์ค ทเวน (Mark Twain) โดยเฉพาะเรื่องการผจญภัยของฮัคเคิลเบอร์รีฟินน์ (The Adventures of Huckleberry Finn) นอกจากจะได้ฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษแล้ว ทุกครั้งที่อ่าน ทำให้รู้สึกเหมือนได้เดินทางย้อนกลับไปในอดีต ได้สัมผัสถึงบรรยากาศของอเมริกาในสมัยที่ยังมีระบบทาสอยู่ ฉันรักการอ่านมากและคิดว่าการอ่านเป็นทักษะเป็นที่สำคัญที่ควรจะพัฒนา เพราะเมื่อเราอ่านได้ดีแล้ว เราจะสามารถหาความรู้ใส่ตัวเองได้ในทุกสาขาวิชา เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรปลูกฝังให้ลูกของตนรักการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังเด็ก อย่าให้ดูทีวี เล่นเกม ใช้โทรศัพท์มือถือหรือแทบเบล็ทมากจนเกินไป

ถ้าคุณสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ดี คุณยิ่งจะได้เปรียบ เพราะตอนนี้ข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตมีเป็นภาษาอังกฤษมากที่สุด หนังสือวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นนำก็ล้วนแต่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ

ถ้าคุณยังอ่านภาษาอังกฤษไม่เก่งนัก ลองเริ่มหัดอ่านหนังสือของเด็กหรือนิทานสำหรับเด็กก่อน พอเริ่มอ่านได้ดีแล้วจึงค่อยๆ ขยับไปอ่านหนังสือที่มีระดับสูงขึ้น ลองอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ข่าวหรือบทความออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษดูบ้าง คุณสามารถฝึกการอ่านด้วยตนเองได้ทุกวัน เมื่อคุณอ่านได้คล่องแคล่วแล้ว ลองหานวนิยายเป็นภาษาอังกฤษมาหัดอ่านดู ถ้าคุณอ่านได้อย่างสนุกสนานเมื่อใด แสดงว่าทักษะการอ่านของคุณได้พัฒนาขึ้นมากแล้ว อย่าลืมเปิดดูคำศัพท์ที่ไม่เข้าใจในพจนานุกรมและเขียนบันทึกความหมายไว้ คุณจะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ไปในตัว การอ่านหนังสือ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้คำศัพท์

การอ่านตามซีดีหรือซับไตเติลในดีวีดีก็เป็นเทคนิคการอ่านที่ดีเพราะเป็นการฝึกฟังการออกเสียง สำเนียงและจังหวะจะโคนไปในตัวด้วย ฉันชอบดูหนังในดีวีดีที่บ้านอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งเรื่องและจะเปิดซับไตเติลอ่านตามด้วยทุกครั้งพร้อมกับปากกาและกระดาษวางไว้ข้างๆ เวลามีคำศัพท์หรือวลีที่ไม่เข้าใจ จะได้จดไว้แล้วมาค้นหาความหมายดูทีหลัง

เวลาที่อ่านควรทำความเข้าใจเนื้อหาโดยรวมเสียก่อน ยังไม่ต้องห่วงว่าจะต้องเข้าใจทุกคำ พอได้ไอเดียคร่าวๆ แล้ว ให้กลับไปอ่านซ้ำ คราวนี้ให้ดูรายละเอียดและเปิดดูคำศัพท์ที่ไม่เข้าใจ

พยายามบังคับตัวเองให้อ่านภาษาอังกฤษให้ได้มากที่สุด อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า เช่น เมนูอาหารภาษาอังกฤษ ฉลากที่ติดมากับเครื่องอุปโภคบริโภค ใบปลิว ป้ายโฆษณา หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เข้าร้านหนังสือภาษาอังกฤษ ห้องสมุด หาดูหนังสือใหม่ๆ ในเรื่องที่คุณสนใจ พร้อมกับลองหัดอ่านสาขาวิชาอื่นๆ ดูเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ ลองค้นหาดูได้ใน Amazon.com มีหนังสือเป็นภาษาอังกฤษมือสองนับล้านเล่มที่สามารถซื้อได้ในราคาถูกมาก

งานเขียนบางอย่างคุณอาจจะต้องอ่านเพื่อให้ได้ข้อมูล หรืออาจจำใจต้องอ่านเพราะเป็นการบ้านหรืองานวิทยานิพนธ์ซึ่งก็ให้ถือว่าเป็นการฝึกหัด โดยทั่วไปแล้ว คุณจะต้องสนุกสนานกับการสิ่งที่คุณอ่านไม่ว่าจะเป็นเพื่อความรู้หรือความบันเทิง


ทักษะการเขียน Writing Skills

การเขียนภาษาอังกฤษนั้นมีหลายระดับ ถ้าเขียนเพื่อการสื่อสารให้เข้าใจกันแล้ว ภาษาอังกฤษไม่ถือว่ายากนัก แต่ถ้าจะเขียนให้ถูกต้องตามไวยากรณ์ ใช้เครื่องหมายวรรคตอนและตัวพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ให้ถูกต้อง ใช้สำนวนให้เหมาะสมตามบริบทแล้ว การเขียนเป็นภาษาอังกฤษที่สละสลวยและถูกต้องนั้นยังยากสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ เพราะภาษาไทยไม่มีการผันกริยา ไม่มีรูปพหูพจน์ ไม่มีคำนำหน้านาม ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนมากนัก ไม่มีตัวพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่

การพัฒนาทักษะการเขียนก็เช่นเดียวกับทักษะอื่นๆ คือต้องฝึกบ่อยๆ มีความอดทนและตั้งใจ คุณต้องค่อยๆ หัดเขียนทีละน้อย อาจจะเป็นการแช็ทกับเพื่อนต่างชาติเป็นประโยคสั้นๆ ก่อน ต่อไปควรหัดเขียนเป็นจดหมายหรือส่งข้อความที่ยาวขึ้นทางอีเมลโดยเขียนทั้งข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นของตนลงไปด้วย หัดเขียนบันทึกประจำวันเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นไปได้ควรมีคนแก้ภาษาเขียนของคุณ คุณจะได้รู้ว่าตัวเองเขียนผิดตรงไหน หลังจากที่ภาษาค่อยๆ พัฒนาขึ้นแล้ว ลองหัดเขียนบทความสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษดู

ถ้าคุณจริงจังกับทักษะนี้หรือต้องการที่จะเป็นนักเขียน อันดับแรกคือ คุณจะต้องเป็นนักอ่านที่ดีเสียก่อน จะต้องอ่านหนังสือให้มากและหลากหลาย คุณสามารถลงทะเบียนเรียนคอร์สการเขียนภาษาอังกฤษออนไลน์หรือตามโรงเรียนสอนภาษาหรือในมหาวิทยาลัย การเรียนทักษะการเขียนอย่างเป็นทางการจะสอนให้คุณรู้จักโครงสร้างของประโยคดีขึ้น รู้ว่าจะวางแผนการเขียนอย่างไร คุณจะเรียนรู้วิธีร่างสิ่งที่คุณจะเขียน เทคนิคการเขียนมีหลากหลาย หลังจากที่คุณช่ำชองแล้ว คุณสามารถที่จะเขียนตามสไตล์ของคุณเองได้

ฉันได้เป็นนักเขียนมืออาชีพมาได้ยี่สิบปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเขียนหนังสือและบทความต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับการเรียนภาษาและสุขภาพและจะเป็นหนังสือในเชิงสารคดีทั้งหมด (non-fiction) ฉันฝึกเขียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก มีเพื่อนทางจดหมายเป็นชาวต่างชาติหลายคน ได้ส่งบทความหรือเรื่องสั้นเข้าประกวดอยู่เสมอ และได้เรียนคอร์สวิชาการเขียนภาษาอังกฤษตอนอยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งฉันคิดว่าเป็นคอร์สที่ดีมากสำหรับฉันที่อยากเป็นนักเขียนแต่ไม่มีพรสวรรค์ ฉันจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก นักเขียนหรือกวีบางคนไม่จำเป็นต้องเรียนการเขียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็สามารถเขียนได้เอง ฉันได้เรียนรู้ว่างานเขียนที่ดีนั้นจะต้องดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน จะต้องมีอารัมภบท เนื้อเรื่องและบทสรุป แต่ละย่อหน้าจะกล่าวถึงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ภาษาต้องสละสลวย ชัดเจน ไม่กำกวม แล้วแต่สไตล์การเขียนของแต่ละคน และจะต้องสะกดคำให้ถูกต้อง งานเขียนทุกครั้งก่อนที่จะถึงผู้อ่าน จะต้องได้รับการแก้ไขจากบรรณาธิการ (editor) ได้รับการตรวจทานอย่างละเอียดจากผู้พิสูจน์อักษร (proofreader) และผู้เขียนเองต้องอ่านซ้ำอีกครั้ง

ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเริ่มลงมือเขียน ยังไม่ต้องห่วงเรื่องผิดเรื่องถูกมากนัก ฝึกเขียนบ่อยๆ และหาคนที่รู้ภาษาอังกฤษดีหรือเจ้าของภาษาให้ช่วยตรวจดู ถ้าคุณไม่มีคนแก้งานเขียนของคุณแล้ว คุณก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมีข้อผิดพลาดอย่างไร และข้อผิดพลาดนั้นอาจติดเป็นนิสัย การเขียนบทความหรือหนังสือนั้นต้องมีความอดทน มีวินัย มีสมาธิ ต้องรู้จักการทำวิจัย ต้องรู้จักหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หลายคนอยากจะเป็นนักเขียนแต่เขียนไม่เสร็จสักทีเพราะขาดวินัย หรือบางคนมีแต่คิด แต่ไม่เคยลงมือจริงๆ เลย

การเขียนเป็นทักษะที่สำคัญในการสื่อสาร ถึงแม้คุณพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ฟังไม่เข้าใจ แต่ถ้าคุณอ่านออกเขียนได้ คุณก็สามารถสื่อสารได้ ฉันรู้จักเพื่อนคนจีนคนหนึ่ง เขาเขียนภาษาอังกฤษได้เพอร์เฟ็คมาก แต่พอเจอกันแล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง ฉันก็พออ่านภาษาจีนได้แต่ตอนนั้นยังพูดไม่ค่อยได้ จึงต้องสื่อสารกันด้วยการเขียนเป็นภาษาอังกฤษ

เมื่อคุณสามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ในระดับดีแล้ว โอกาสที่คุณจะได้งานดีก็จะเพิ่มมากขึ้น คุณจะสามารถสื่อสารกับคนหลายๆ ชาติได้ เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จะเปิดโลกทัศน์ของตัวเองให้กว้างขึ้น