รู้ภาษาอังกฤษ ชีวิตก้าวไกล ตอนที่ 5

องค์ประกอบทั้งสี่ The Four Elements

การที่คุณจะเก่งภาษาอังกฤษได้นั้น คุณจะต้องฝึกทักษะทั้งสี่ข้างต้นให้แข็งแกร่ง การที่ทักษะทั้งสี่จะแข็งแกร่งได้นั้น คุณจะต้องมีพื้นฐานขององค์ประกอบสี่อย่างนี้ด้วย


คำศัพท์ Vocabulary

การที่จะสื่อสารไม่ว่าจะเป็นภาษาใด คุณจะต้องรู้คำศัพท์ของภาษานั้นให้มาก ยิ่งรู้คำศัพท์จำนวนมากและสามารถเรียกมาใช้ได้รวดเร็วเท่าใด ยิ่งได้เปรียบในการสื่อสารมากขึ้นเท่านั้น

นักภาษาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้คาดประมาณกันว่า เจ้าของภาษาโดยทั่วไปรู้คำศัพท์ประมาณห้าพันคำ นี่เป็นตัวเลขที่กะประมาณเท่านั้น ไม่มีใครรู้แน่นอน แต่ก็เป็นจำนวนที่ฉันคิดว่าสมเหตุสมผล ดังนั้นถ้าเราต้องการที่จะเรียนรู้คำศัพท์ภาษาใดภาษาหนึ่งให้อยู่ในระดับเจ้าของภาษาแล้ว จำเป็นต้องมีคำศัพท์บันทึกไว้ในสมองอย่างน้อยประมาณห้าพันคำ

นักภาษาศาสตร์กลุ่มนี้ยังให้ตัวเลขคร่าวๆ อีกว่าจำนวนคำศัพท์ที่เรารู้นั้น จะสามารถบอกระดับความสามารถและประสิทธิภาพในการสื่อสารในแต่ละภาษาได้มากน้อยเพียงใด เช่น

- 250 คำจะพอให้รู้ภาษานั้นบ้างเล็กน้อยแต่ยังไม่สามารถสร้างประโยคหรือสื่อสารได้

- 750 เป็นจำนวนคำที่ใช้ในชีวิตประวันของทุกภาษา

- 2,500 คำจะสามารถช่วยให้สื่อสารและแสดงความรู้สึกที่ต้องการได้ แต่ก็ยังตะกุกตะกักอยู่

- 5,000 เป็นจำนวนคำที่เจ้าของภาษาทั่วไปพึงมีโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูง

- 10,000 เป็นจำนวนคำที่เจ้าของภาษาที่มีความรู้สูงขึ้นมาอีกพึงมี

- 20,000 คำขึ้นไป จะเป็นตัวเลขสำหรับนักเขียน กวี นักปราชญ์ที่รู้ภาษานั้นในระดับสูงมากเพราะคำศัพท์ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่คนส่วนมากไม่รู้ความหมายหรือไม่เคยได้ยิน

ดังนั้นถ้าคุณต้องการที่จะเข้าใจภาษาอังกฤษให้ดีและสามารถแสดงออกได้ คุณควรจะรู้คำศัพท์อยู่ที่ประมาณห้าพันคำ

การที่จะรู้ความหมายของคำศัพท์จำนวนมากและสามารถนำมาใช้ได้มีหลายวิธีด้วยกัน สำหรับฉันแล้วคิดว่าการอ่านเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะจะสามารถโยงคำศัพท์เข้ากับประโยคหรือเนื้อเรื่องได้ ทำให้จำได้ว่าคำๆ นั้นถูกใช้ในสถานการณ์ใด และควรอ่านหนังสือ บทความ หนังสือพิมพ์ที่หลากหลายเพราะจะได้รู้คำศัพท์ในสาขาที่ตนไม่ถนัดด้วย

ฉันเป็นคนชอบใช้พจนานุกรมมาก ชอบท่องคำศัพท์ ถ้าคำไหนไม่รู้จะเปิดดิกค้นหาทันที ชอบเล่นเกมคำศัพท์ เช่น Hangman, Scrabble, Word Streak ปริศนาอักษรไขว้ (crossword puzzle) ตอนนี้มีแอพมากมายที่ช่วยพัฒนาคำศัพท์ ฉันชอบเล่นเกมคำศัพท์เวลาว่าง ในโทรศัพท์กับแท็บเบล็ตของฉัน มีแอพเป็นสิบสำหรับเรียนคำศัพท์โดยเฉพาะ ที่ชอบที่สุดคือ แอพที่ชื่อว่า Test Your Vocabulary เป็นแอพฟรีที่ทดสอบคำศัพท์ TOEIC TOEFL GMAT SAT GRE MCAT PCAT และ ASVAB มีเกมหลายเกมอยู่ในแอพนี้ด้วย

ตอนนี้มีพจนานุกรมมากมายที่คุณสามารถเลือกใช้ได้ ทั้งในร้านหนังสือ ทั้งที่เป็นแอพและที่อยู่ในออนไลน์ ถ้าคุณต้องการทราบความหมายของคำ สามารถค้นหาได้อย่างง่ายดาย ไม่มีข้ออ้างว่าทำไมไม่รู้คำศัพท์นั้นๆ อีกต่อไป

เวลาเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ นั้น ควรจำวิธีสะกดคำและการออกเสียงไปพร้อมกันด้วย หลายคนเปิดดูคำศัพท์ เพื่อเอาแต่ความหมาย ไม่สนใจที่จะจำตัวสะกดหรือการออกเสียง ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้เวลาอีกเพียงเล็กน้อยเพื่อศึกษาสองอย่างนี้ควบคู่ไปด้วย

มีหลายวิธีที่จะจำคำศัพท์ใหม่ๆ ขอย้ำ การอ่านเป็นวิธีที่ดีที่สุด การพูดและใช้บ่อยๆ ก็จะสามารถทำให้จำได้เช่นกัน การฝึกเขียนคำศัพท์และท่องอยู่เป็นประจำก็พอช่วยได้บ้าง แต่จะลืมง่ายเพราะถ้าไม่เคยใช้หรือไม่เคยเห็นในบริบทแล้ว คำนั้นจะไม่ถูกบันทึกไว้ในสมอง ไม่นานก็จะลืมไป ดังนั้นต้องพยายามใช้คำศัพท์ที่เรียนมาในบริบทต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

การเรียนรากศัพท์ คำอุปสรรคหรือคำนำหน้า (prefix) คำปัจจัยหรือคำต่อท้าย (suffix) จะช่วยให้สามารถเดาความหมายและขยายคำศัพท์ได้มากขึ้น นอกจากนั้นควรเรียนความหมายของคำที่แสดงภาพพจน์ด้วย เช่น อุปมา (simile) อุปลักษณ์ (metaphor) บุคลาธิษฐาน (personification) อติพจน์ (hyperbole) นามนัย (metonymy) อนุนามนัย (synecdoche) ปฏิพจน์ (paradox) สัทพจน์ (onomatopoeia) ปฏิวาทะ (oxymoron) สัญลักษณ์ (symbol) เป็นต้น

การดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลง ฟังวิทยุก็สามารถช่วยเพิ่มคำศัพท์ได้พร้อมกับเป็นการฝึกทักษะการฟังไปด้วย

ควรบันทึกคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เรียนมาในสมุดหรือในโทรศัพท์เพื่อใช้สำหรับทบทวน การทบทวนบ่อยๆ จะสามารถทำให้จำคำศัพท์ได้ขึ้นใจและสามารถเรียกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว


ไวยากรณ์ Grammar

ไวยากรณ์เป็นปัจจัยสำคัญของการติดต่อสื่อสารไม่ว่าจะเป็นภาษาใด ยิ่งไวยากรณ์ดี ข่าวสารที่นำเสนอก็ยิ่งจะชัดเจน ทำให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดในโลก ดังนั้นการที่สามารถใช้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องและแม่นยำจะทำให้ได้เปรียบในการสื่อสาร

คุณสามารถเรียนไวยากรณ์ได้เองจากการอ่านโดยการศึกษาจากหนังสือและเว็บไซท์ต่างๆ ที่เน้นสอนด้านไวยากรณ์ การฟังเจ้าของภาษาพูดบ่อยๆ ก็จะช่วยให้เรียนรู้ไวยากรณ์ได้โดยธรรมชาติ

สิ่งที่ต้องเรียนเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษคือ

- การผันคำกริยา (verb conjugation) กริยาสามช่อง กริยาแท้ (finite verb) กริยาปกติ (regular verb) กริยาที่เปลี่ยนรูป (irregular verb) กริยาช่วยหรือวิกตรรถกริยา (auxiliary verb) กริยานุเคราะห์ (helping verb) ทั้ง 24 ตัว การใช้กาล (tense) ต่างๆ

- คำนำหน้านาม (article) a, an และ the

- การใช้วาจก (voice) ทั้งสอง ซึ่งได้แก่ กรรตุวาจก (active voice) และกรรมวาจก (passive voice)

- การใช้เครื่องหมายวรรคตอน (punctuation mark)

- การใช้เอกพจน์ (singular) และพหูพจน์ (plural)

- การใช้สกรรมกริยาหรือกริยาที่มีกรรม (transitive verb) และอกรรมกริยาหรือกริยาที่ไม่มีกรรม (intransitive verb)

- การใช้มาลา (mood) ซึ่งได้แก่ ศักดิมาลาหรือมาลาบอกเล่า (indicative mood) อาณัติมาลาหรือมาลาคำสั่งหรือขอร้อง (imperative mood) ปริกัลบมาลาหรือมาลาสมมติ (subjunctive mood)

- การใช้คำบุพบท (preposition) คำสรรพนาม (pronoun) คำสันธาน (conjunction) คำอุทาน (interjection) คำวิเศษณ์หรือคำคุณศัพท์ (adjective or modifier) คำกริยาวิเศษณ์ (adverb) กริยาสภาวมาลาคำหรือกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายกับนาม (verbs which function in a manner similar to nouns)

- ข้อยกเว้นต่างๆ

เวลาที่อ่านหนังสือหรือฟังเจ้าของภาษาพูด ให้สังเกตดูการใช้ไวยากรณ์ของเขา การอ่านออกเสียงก็สามารถช่วยได้เพราะจะทำให้คุณได้ยินเสียงตัวเองและจะช่วยในการจำรูปประโยคได้

ขอให้อาจารย์ ติวเตอร์หรือเจ้าของภาษาช่วยแก้ไวยากรณ์ให้และพยายามเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเอง ตอนนี้ในอินเตอร์เน็ตมีเว็บไซท์มากมายที่ช่วยสอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ การเรียนไวยากรณ์นี้จะต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าคุณมีพื้นฐานไวยากรณ์ที่ดีแล้ว ทักษะอื่นๆ ก็จะพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว


การออกเสียง Pronunciation

การออกเสียงเป็นสิ่งแรกที่ผู้ฟังสังเกตได้ทันทีที่คุณอ้าปากพูด คุณควรเรียนวิธีการออกเสียงคำให้ถูกต้องเวลาเรียนรู้คำศัพท์และวลีใหม่ๆ

เวลาที่คุณพูดแล้วฝรั่งไม่เข้าใจ เหตุผลที่สำคัญมักจะมาจากการออกเสียงที่ผิด ไม่รู้จักเน้นคำหรือทำเสียงสูงต่ำ เหตุผลต่อไปคือเรียงคำหรือใช้ไวยากรณ์ที่ผิดๆ

ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ในแต่ละพยางค์ซึ่งมีเสียงต่ำเสียงสูงอยู่ในตัวแล้ว แต่ภาษาอังกฤษจะมีการเน้นเสียงหนักในคำที่มีหลายพยางค์ (stress) มีท่วงทำนองเสียงสูงเสียงต่ำ (intonation) ที่ภาษาไทยไม่มี และมีจังหวะการพูด (rhythm) ที่แตกต่างจากภาษาไทย สิ่งเหล่านี้เป็นจุดอ่อนของคนไทยอย่างมาก เพราะมักจะเน้นเสียงผิด พูดเสียงสูงต่ำแบบฝรั่งไม่เป็น ชอบพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยเหมือนกับเวลาที่พูดภาษาไทย

หลายครั้งคนไทยเวลาพูดภาษาอังกฤษไม่ชอบเติมเสียงเอส แต่พอเวลาไม่มีตัวเอสหรือเสียงเอสก็ชอบไปเติมให้เขาดีนัก

วิธีหนึ่งที่ควรทำคือ อัดเสียงภาษาอังกฤษของตัวเองโดยการอ่านบทความ บทสนทนาสั้นๆ แล้วให้อาจารย์ เพื่อนที่เก่งภาษาหรือเจ้าของภาษาช่วยฟังและช่วยท้วงติง วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีมาก

การร้องเพลง ท่องบทอาขยาน บทกวีสั้นๆ โดยออกเสียงทุกคำให้ถูกต้องและชัดเจน และฝึกให้จำจนขึ้นใจก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การออกเสียงดีขึ้นได้

มีเสียงภาษาอังกฤษหลายเสียงที่คนไทยออกยาก เช่น เสียงพยัญชนะต้น (initial consonant) sh, z, v, j, shr, th, thr, r, v และเสียงพยัญชนะตัวสะกด (final consonant) v, f, s, sh, ch, g, l, r, x, z นอกจากนี้ ยังมีเสียงที่มีการผสมพยัญชนะและสระภาษาอังกฤษอื่นๆ ที่ไม่มีเสียงในภาษาไทย เช่น film, fine, cure, school, require ให้ฝึกเสียงเหล่านี้จนสามารถออกได้ชัดเจน

เสียงสระภาษาอังกฤษออกเสียงหลากหลาย เช่น ตัวโอในคำว่า bone (โบน) gone (กอน) done (ดัน) ต่างออกเสียงต่างกัน เสียงพยัญชนะก็ออกเสียงได้หลากหลายและมีข้อยกเว้นมากเพราะภาษาอังกฤษยืมคำศัพท์จากภาษาอื่นมาใช้มากที่สุด ดังนั้นคุณต้องจำว่าแต่ละคำออกเสียงอย่างไร คำไหนบ้างที่ไม่ออกเสียงตามตัวสะกดซึ่งมีเยอะมากในภาษาอังกฤษ ลองฝึกอ่านคำต่อไปนี้ให้เจ้าของภาษาฟังดู เป็นคำที่คนไทยมักออกเสียงผิดๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำบางส่วนที่คนไทยส่วนมากออกเสียงผิดหรือออกไม่ได้

juice, mosquito, three, receipt, debt, busy, cure, cruel, lettuce, island, history, vegetable, different, factory, medley, temperature, atmosphere, valley, aisle, cruise, aspirin, archive, comfortable, busy, cleansing, leopard, margarine, salmon, reality, restaurant, value, sword, volleyball, failure, voucher, arch, chaos, colonel, monarch, mayonnaise, jewelry, clothes, February, realtor, library, newspaper, grandmother, mischievous, chimera, larvae, cache, cavalry, hyperbole, suite, hierarchy, sorbet, buffet, caramel, chipotle, cognac, pyramid, pronunciation, economy, economics, colonoscopy

ส่วนคำนามเฉพาะที่คนไทยมักออกเสียงผิดก็มี Leonard, Connecticut, Arkansas, Maryland, Kodak, San Jose, Buchanan, Yosemite, Newark, Mercedes Benz, Tucson, Chevrolet, Hawaii, Berkeley, Tijuana, Australia, Lafayette, Louisville, La Jolla, Vallejo, Pakistan, Brisbane, Qatar, Egypt, Iraq, Afghanistan, Montreal, Jerusalem, Nevada, Sweden, Italy, Powell, Hyundai

ภาษาอังกฤษมีเสียง schwa [ə] อยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นเสียงสระที่ใช้มากที่สุดในคำที่มีหลายพยางค์โดยที่จะใช้ในพยางค์ที่ไม่มีการเน้นเสียง ซึ่งออกเสียงคล้ายกับ สระเออะหรือสระอะ ซึ่งจะแล้วแต่สำเนียง เช่นคำว่า again, vitamin, petition, celebrate, president, experiment, occur, campus, support เป็นต้น

ถ้าคุณสนใจเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างจริงจังแล้ว คุณควรศึกษาวิชาสัทวิทยา (phonology) ซึ่งเป็นการศึกษาระบบเสียงในภาษา โดยแบ่งออกเป็นสองแขนงคือสัทศาสตร์ (phonetics) และสรศาสตร์ (phonemics) การเรียนวิชานี้จะทำให้คุณเข้าใจเสียงภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ได้ดีขึ้นและสามารถออกเสียงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น จะสามารถแยกแยะเสียงก้องหรือเสียงโฆษะ (voiced) ออกจากเสียงไม่ก้องหรือเสียงอโฆษะ (voiceless) ได้ และคุณจะสามารถอ่านตัวสัทอักษรสากล หรือ IPA (international phonetic alphabet) ได้

ถึงแม้คุณออกเสียงได้ถูกต้องหรือใกล้เคียง คุณก็จะยังมีสำเนียงภาษาไทยติดมาบ้าง ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะสำเนียงเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เด็กที่โตในครอบครัวที่พูดหลายภาษา จะสามารถพูดภาษานั้นได้โดยไม่มีสำเนียงเสียงต่างชาติ ดังนั้นจึงเป็นการดีที่จะให้ลูกหลานเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเด็กเพื่อที่จะได้สำเนียงที่ดี ภาษาอังกฤษมีหลายสำเนียง คุณสามารถเลือกที่จะพูดสำเนียงแบบไหนก็ได้ ที่นิยมก็มี สำเนียงแบบอเมริกัน สำเนียงแบบบริติชและสำเนียงแบบออสเตรเลีย