Do I Need a Certified and Notarized Translation for USCIS Documents? จำเป็นต้องให้มีการรับรองการแปลและทำโนตารีสำหรับเอกสาร USCIS หรือไม่

คำถามนี้มีคนถามมาตลอดเลยค่ะว่า จะต้องทำโนตารีสำหรับเอกสารที่แปลเพื่อยื่นให้กับ USCIS (United States Citizenship and Immigration Services) หรือไม่ สำหรับทำใบเขียวหรือทำเอกสารประกอบการเข้าเมืองอื่นๆ เช่น ใบสูติบัตร ใบเปลี่ยนชื่อ ใบมรณบัตร ใบหย่า และหนังสือสำคัญอื่นๆ ที่ออกให้จากทางการของไทย

คำตอบคือ ณ ตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องทำโนตารีค่ะ (เมื่อหลายปีก่อนอาจจะใช่สำหรับเอกสารบางอย่าง) ตอนนี้ให้คนที่แปลเซ็นรับรองหรือยืนยันว่าข้อความที่ตนแปลมานั้นถูกต้องและสมบูรณ์ตามความรู้และความสามารถของผู้แปลก็เพียงพอแล้ว ผู้รับรองคำแปลจะเป็นใครก็ได้ หรือบริษัทแปลภาษาใดก็ได้ นี่เป็นข้อความตัวอย่างที่ใช้ ในการรับรองการแปล จะต้องมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของผู้แปลมาพร้อมกับการรับรองนั้นด้วย

การแปลที่ได้รับการรับรองเรียกว่า “certified translation” ส่วนการรับรองคำแปลเรียกว่า “certification of translation” และใบที่แสดงการรับรองการแปลเรียกว่า “certificate of translation”


ตัวอย่างการรับรองการแปล

CERTIFICATE OF TRANSLATION (CERTIFICATION OF TRANSLATION)


I, ___________________________, am competent to translate from ________________ into English, and certify that the translation of ______________________________ ____ is true and accurate to the best of my knowledge and abilities.

Signature of Translator _______________________

Name of Translator _______________________

Address of Translator _______________________

<>Telephone Number of Translator _______________________

ถึงแม้คนที่แปลนั้นจริงๆ แล้วจะเป็นใครก็ได้ แต่ทางที่ดีควรให้นักแปลมืออาชีพเป็นผู้แปลให้เพราะนักแปลมืออาชีพมักจะมี แบบฟอร์มต่างๆ ที่แปลและจัดหน้าไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้นักแปลที่มีประสบการณ์ ก็จะรู้จักใช้ภาษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ถ้าเป็นเอกสารที่ซับซ้อนและไม่มีแบบฟอร์มที่เคยมีการแปลไว้ก่อน ควรให้ผู้แปลที่เป็นมืออาชีพที่สามารถแปลได้ทั้งสองทิศทาง (หมายถึงสามารถแปลเป็นไทยเป็นอังกฤษ หรือ อังกฤษเป็นไทย) เป็นผู้แปลให้

เพื่อนๆ อย่าสับสนระหว่างคำว่า “translator” กับ “interpreter” นะคะ “translator” หมายถึงผู้แปลเอกสารหรือแปลหนังสือ ส่วน “interpreter” คือผู้แปลภาษาพูดหรือภาษาใบ้ ซึ่งเราเรียกกันว่าล่าม เจ้าของภาษาหลายคนก็เรียกผิด เหมาเรียกล่ามว่าเป็น “translator” ก็มี ส่วนตัวสะกดก็ต้องระวังนะคะ “translator” พยัญชนะสองตัวหลังสะกดด้วย “or” ส่วน “interpreter” พยัญชนะสองตัวหลังสะกดด้วย “er” ค่ะ


แล้วโนตารีล่ะ คืออะไร

โนตารี ภาษาอังกฤษคือ notary หรือ notary public เป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมและสาบานตนเพื่อทำหน้าที่ เป็นเจ้าหน้าที่ของสาธารณะเพื่อที่จะให้บริการเกี่ยวกับเรื่องเอกสารต่างๆ เช่น การรับรองลายมือชื่อ (ลายเซ็น) การรับรองว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงจากต้นฉบับ การลงชื่อเป็นพยานในเอกสาร จะเห็นได้ว่า โนตารีไม่ได้เป็นนักแปล จะมารับรองการแปลได้อย่างไร ยกเว้นว่าโนตารีคนนั้นเป็นนักแปลด้วย ดังนั้น เวลาที่จะให้โนตารีรับรองการแปลนั้น จริงๆ แล้วก็คือเป็นการรับรองลายเซ็นของผู้แปลเท่านั้นเอง ตอนนี้ USCIS จึงให้มีแต่เฉพาะการรับรองคำแปลอย่างเดียวก็พอ

เมื่อหลายปีก่อน ฉันก็เป็นโนตารีเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยได้มีโอกาสรับรองลายเซ็นหรือทำนิติกรรม จึงไม่ได้ไปอบรมและต่ออายุซึ่งจะต้องทำทุกๆ สี่ปี (สำหรับรัฐแคลิฟอร์เนีย) และจะต้องเสียค่าเป็นสมาชิกให้ กับ National Notary Association อีกด้วย ค่าทำโนตารีต่อหนึ่งลายเซ็นคิดกันที่ลายเซ็นละ $10 เท่านั้น นานๆ ถึงจะได้ทำโนตารีสักที จึงไม่ได้ต่ออายุ ปกติก็มีงานแปล งานล่าม งานเขียนเยอะอยู่แล้ว งานโนตารีมีไว้เพื่อบริการคนไทยและคนลาวที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น แต่เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้ใช้บริการดังที่กล่าวไว้แล้ว จึงยกเลิกงานโนตารีไป

ทีนี้มาดูข้อแตกต่างระหว่าง “certified translation” กับ “certified translator” กันนะคะ

การแปลที่ได้รับการรับรองที่เรียกว่า “certified translation” กับผู้แปลที่ได้รับการรับรอง “certified translator” นั้นไม่เหมือนกัน อันแรกใครจะไปคนรับรองการแปลก็ได้ แต่ “certified translator” นั้นจะต้องได้รับการรับรองวิทยฐานะโดยการสอบหรือการวัดระดับในด้านการแปลจากสถาบันหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น สมาคมล่ามและนักแปล สภาตุลาการ กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ หลายๆ ประเทศจะมีการสอบสำหรับผู้แปลที่ เป็น “certified translator” หรือล่ามที่เป็น “certified interpreter” ส่วนในรัฐแคลิฟอร์เนียและในอเมริกายังไม่มีข้อสอบสำหรับ “certified interpreter” สำหรับล่ามภาษาไทย แต่มีข้อสอบรับรองวิทยฐานะอีกอันที่เรียกว่า “registered interpreter” เป็นการขึ้นทะเบียนของล่ามที่มีความสามารถในการแปลและได้ผ่ านการทดสอบด้านภาษาในระดับสูงมาแล้ว หน่วยงานที่จัดสอบคือสภาตุลาการแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (Judicial Council of California) ซึ่งฉันก็เป็นหนึ่งในล่ามคนไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ส่วนภาษาลาวมีข้อสอบสำหรับการเป็น “certified interpreter” ในบางรัฐแล้ว เช่น รัฐวอชิงตัน รัฐมินนิโซตาและรัฐเท็กซัส

การเลือกผู้แปลเอกสารนั้นก็สำคัญเพราะถ้ามีการแปลผิดหลายๆจุด แปลผิดความหมาย แปลไม่เรียบร้อยหรือไม่สมบูรณ์ เอกสารอาจถูกตีกลับ ทำให้การทำเรื่องล่าช้าได้ และทำให้เสียเงิน เสียเวลาเพิ่มขึ้นด้วย มีหลายครั้งที่ฉันต้องแก้ ไขเอกสารที่ถูกตีกลับเพราะเหตุผลข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องแปลใหม่ทั้งหมดเพราะไม่มีไฟล์ต้นฉบับของผู้ที่เคยแปลไว้แล้ว ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าแปลหลายรอบ

ผู้ที่ทำหน้าที่แปลเอกสารควรมีความรู้เรื่องการแปลบ้าง การรู้สองภาษาในระดับหนึ่งนั้นไม่ทำให้คนผู้นั้นเป็นนักแปลที่ดีหรือเป็นนักแปลมืออาชีพที่ดีได้ การแปลมีเทคนิคมากมายที่ต้องเรียนรู้ นักแปลจะต้องรู้จักเลือกคำ ต้องรู้ว่าควรจะแปลตามตัวหรือไม่แปลตามตัวเมื่อใด จะต้องสะกดคำให้ถูกต้อง ต้องใช้ภาษาที่สละสลวย เอกสารที่ต่างกันก็ต้องใช้เทคนิคการแปลและภาษาที่ต่างกัน เช่น การแปลแบบฟอร์มต่างๆ นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะในการแปลมาก แต่สำหรับการแปลสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายอื่นๆ ผู้แปลจะต้องรู้จักใช้ภาษากฎหมายที่ถูกต้องและสละสลวย ส่วนการแปลเอกสารทางเทคนิค ผู้แปลก็ต้องคุ้นเคยกับศัพท์เทคนิค นั่นคือ ผู้แปลควรมีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของสิ่งที่ตนเองแปลด้วย การรู้ภาษาที่ตนแปลเป็นอย่างดีนั้น ไม่เพียงพอที่จะเป็นนักแปลที่ดี ได้


ฉันรับแปลเอกสารสำหรับ USCIS และเอกสารทางกฎหมายอื่นๆ ให้กับคนไทยทั่วอเมริกา นอกจากนั้น ฉันยังได้เปิดสอนวิชาการเป็นล่ามและการแปลทางออนไลน์ ผู้ที่สนใจที่อยากจะเป็นนักแปลหรือล่าม สามารถอีเมลมาสอบถามฉันได้ที่ benjawanpoomsan@gmail.com หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.paiboonlanguageacademy.com


- นักแปลและล่ามเอ๋ – เบญจวรรณ