เรื่องเล่าจากล่าม 12 พฤศจิกายน 2559

การแปลแบบต่อเนื่อง (Consecutive Interpretation)

การแปลแบบต่อเนื่องนั้นล่ามจะรอให้ผู้พูดหยุดก่อนแล้วจึงค่อยแปล ซึ่งมักจะหยุดระหว่างประโยค ย่อหน้าหรือวลี มักจะใช้ในการสัมภาษณ์ การประชุมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การให้การเป็นพยาน เป็นต้น

กฎนี้จะเป็นการแนะนำทั่วไปสำหรับงานล่ามแบบต่อเนื่อง แน่นอนกฎต่างๆ เหล่านี้ เวลาทำงานจริง จะสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์

ล่ามต้องเรียกตัวเองว่า ล่าม (The interpreter) ให้พูดถึงตัวเองเป็นบุคคลที่สาม


นี่เป็นเทคนิคที่ฉันได้รวบรวมไว้จากประสบการณ์และจากภาคทฤษฎี

1. ต้องมีสมุดบันทึกโน้ตและปากกาติดตัวไว้เสมอ นี่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะต้องใช้ในการแบบในโหมดนี้ ล่ามมืออาชีพทุกคนจะต้องมีติดตัวไว้เสมอเพื่อจดข้อมูลที่สำคัญๆ เช่นหมายเลขทะเบียนรถ ชื่อของผู้ต้องสงสัย วันเดือนปีเกิด สีเสื้อผ้า บ้านเลขที่ คำที่เป็นกุญแจสำคัญ (key word) ต่างๆ ข้อมูลบางอย่างแปลผิดไม่ได้เลย จึงต้องจดดีๆ

2. ให้ผู้พูดพูดจนจบประโยค วลีหรือความคิดนั้นๆ เสียก่อน จึงค่อยเริ่มแปล อย่าขัดจังหวะผู้พูด ยกเว้นบางเคสที่สำคัญ เช่น การให้การเป็นพยานในศาลที่แท่นพยานหรือที่สำนักงานทนายความใน deposition ที่ต้องแปลทุกอย่าง ควรบอกกับผู้ให้การล่วงหน้าว่าไม่ควรพูดยาวเกินไป ควรหยุดเป็นพักๆ ให้ล่ามแปล แต่หลายๆ ครั้งล่ามต้องไม่ขัดจังหวะผู้พูด เพราะเป็นการเสียมารยาทและไม่เป็นมืออาชีพ เช่น ประธานบริษัทกำลังพูดอธิบายอยู่ ไม่ควรไปบอกให้ท่านหยุด บางทีท่านอาจพูดเป็นหลายนาที ถึงจะให้ล่ามแปล ในกรณีนี้ ล่ามต้องแปลข้อความสำคัญที่ผู้พูดต้องการสื่อให้ได้ พร้อมกับรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญให้ได้หมด ซึ่งจะทำได้โดยการจดบันทึกโน้ตให้ดี อย่าไปแปลพร้อมกับผู้พูด อันนั้นเป็นการแปลแบบฉับพลัน ยิ่งในกรณีที่มีการอัดเทปหรือวิดีโอหรือจดบันทึกโดยผู้รายงานศาล ต้องให้พูดทีละคน มิฉะนั้น ก็จะพูดเสียงทับซ้อนกันจนฟังไม่รู้เรื่อง

3. อย่าแต่งเติมในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด ต้องแปลในสิ่งที่เขาต้องการสื่อ ล่ามจะต้องถ่ายทอดข้อความหรือประเด็นของผู้พูดให้ได้ตามนั้น เช่น ผู้พูดต้องการจะส่งข้อความที่มีห้าประเด็น ก็ต้องเก็บประเด็นทั้งห้านั้นให้ได้ อย่าให้ใจความที่สำคัญตกหล่น

4. อย่าเปลี่ยนเนื้อหาหรือข้อความที่ได้รับมา ล่ามต้องเข้าใจว่าผู้พูดต้องการสื่ออะไร ต้องแปลไปตามนั้น อย่าไปเปลี่ยนเรื่องของเขา อันนี้ไม่ง่ายนัก จึงต้องฝึกอยู่เสมอ

5. ระวังการใช้สรรพนามและเพศของผู้ที่เกี่ยวข้อง จะแปลคำว่า "เขา" ว่า he หรือ she จะแปลคำว่า "หลาน" ว่า grandson, granddaughter, niece หรือ nephew บางทีอาจต้องขอเวลานอกเพื่อให้แน่ใจ

มีครั้งหนึ่งที่ฉันเอง แปลคำว่า "หลาน" ว่า "grandson" ผู้เสียหายที่เป็นคนไทยบอกว่า "เขาสั่งให้หลานเขามาตีหัวผม" ล่ามหันไปมองจำเลย เห็นหงอกเต็มหัว ก็เลยสันนิษฐานว่าคงแก่เป็นยายเป็นหลานกัน เลยแปลว่า grandson ปรากฏว่าจริงๆ แล้วคือ niece หลานสาวที่ไปตีหัวคนไทยคนนั้น ต้องมาแก้ข้อมูลกันวุ่นวายเพราะล่ามแปลผิดทั้งเพศและคำศัพท์ เขาก็พาไม่เข้าใจว่าทำไมล่ามถึงแปลได้ต่างถึงขนาดนั้น

6. ดูการใช้ไวยากรณ์ให้ดี การใช้เอกพจน์ พหูพจน์ โดยเฉพาะเรื่องการใช้กาล (tense) และมาลา (mood) ภาษาอังกฤษเขาให้ความสำคัญเรื่องเวลามาก จึงมีหลาย tense มีกริยาสามช่อง ล่ามไทยหลายคนอ่อนจุดนี้มากถึงแม้จะอยู่เมืองนอกมานานก็ตาม

7. หลีกเลี่ยงการให้คำเติมเต็ม เอ่อๆ อ่าๆ โอเค ยกเว้นว่าจะติดจริงๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพราะจะทำให้น่ารำคาญและถ้าล่ามติดขัดบ่อย เขาจะรู้เลยว่าเราฝีมือไม่ดี ถ้าผู้พูดไม่ได้พูดเราก็ไม่ควรพูด เพราะเราต้องแปลเฉพาะสิ่งที่เขาพูด แต่ถ้าเขาพูด well, ah, um, you know, ok เราก็ต้องแปลด้วย โดยใช้คำเติมเต็มที่เทียบเคียงกันได้ตามความเหมาะสม

8. แปลให้ผู้ฟังเข้าใจทันทีโดยใช้คำให้น้อยที่สุดและให้กระชับ อย่าแปลตามตัว อย่าใช้คำที่เขาไม่ได้ใช้ ไม่ต้องไปอธิบายขยายความ ล่ามบางคน ไม่สามารถหาคำแปลได้เนื่องจากขาดการฝึกหัดหรือไม่เข้าใจเนื้อหาเสียเอง จึงต้องอธิบายเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ แทนที่จะเป็นการแปลเฉยๆ เช่น ทนายพูดมาสองประโยค ล่ามหันไปคุยกับลูกความเสียยาวเหยียด แล้วค่อยกลับมาแปลให้ทนายฟัง ถ้าเราจำเป็นต้องถามข้อมูลบางอย่างเพื่อความชัดเจน ควรบอกกับทนายว่า "The interpreter would like to clarify something with the deponent." อย่าไปอธิบาย ให้แปลเฉยๆ

9. แปลระดับภาษาตามที่ผู้พูดพูดมา (register) ถ้าผู้พูดใช้ศัพท์สูง ก็ต้องแปลศัพท์สูง (แต่จะมีข้อยกเว้นในบางกรณีเพราะถ้าเป็นภาษาที่สูงเกินไป ผู้ที่เราแปลให้ฟังอาจไม่เข้าใจ) ถ้าเป็นคำด่า คำหยาบ หรือลามก เราก็ต้องแปลตามนั้น ไม่ต้องอายที่จะต้องใช้คำนั้นๆ เพราะเราไม่ได้พูดเอง เราแค่แปล

เช่น "Your Excellency" (ฯพณฯ ท่าน)

"preliminary hearing" การรับฟังหลักฐานพยานขั้นต้น

"You son of a bitch." ไอ้หน้าตัวเมีย

ถ้าเป็นสำนวนหรือสุภาษิต เช่น "She talks a mile a minute." ถ้าคิดทัน ก็ให้แปลว่า พูดน้ำไหลไฟดับ หรือ "It cost me an arm and a leg." แพงหูฉี่ ซึ่งจะใกล้เคียงกับระดับภาษาที่ผู้พูดต้องการสื่อ

10. เลือกใช้คำศัพท์ให้ถูกต้องและเหมาะสม หลีกเลี่ยงการแปลทับศัพท์ ยกเว้นคำศัพท์นั้นใช้เป็นที่แพร่หลาย เช่น คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ เลือกใช้คำบางคำที่คิดว่าผู้ฟังจะเข้าใจ คนไทยที่มาอยู่อเมริกานานๆ อาจจะไม่เข้าใจคำศัพท์บางคำ ก็ให้ทับศัพท์ไปได้ เช่น คำว่า ใบสั่ง ก็ให้แปลว่า ticket เลยก็ได้ แต่อย่าพูดอังกฤษปนไทย

11. ถ้าไม่รู้คำศัพท์ใดหรือไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจ สามารถถามได้ถ้าเหมาะสมหรือมีเวลา แต่ต้องดูกาลเทศะ บางครั้งอาจพอเดาได้ ก็ให้เดาจากบริบท

12. ล่ามสามารถขอให้ผู้พูดพูดซ้ำได้ ถ้าไม่ได้ยินหรือยังไม่เข้าใจให้บอกว่า "May the interpreter have a repetition, please? "Could you repeat that for the interpreter?"

13. จำเนื้อหา เรื่องราวที่แปลมา จำตัวละครให้ได้ว่ามีใครบ้าง ใครพูดอะไร ทำอะไร หรืออาจจะดูจากโน้ตที่จดไว้

14. พยายามใช้คำเดิมที่เราแปลไปแล้วในต้อนต้นๆ สำหรับคำศัพท์บางคำ เช่นแปลคำว่า vehicle ว่าพาหนะ ก็ให้ใช้คำว่าพาหนะตลอด ไม่ใช้คำว่ายวดยาน หรือรถยนต์

15. ถ้ารู้ว่าตัวเองแปลผิด และถ้ามีโอกาส ต้องรีบแก้ โดยบอกว่า "The interpreter would like to correct the previous interpretation. The correct interpretation should be..." "The interpreter made a mistake." "The interpreter misunderstood." ฯลฯ

16. ไม่จำเป็นต้องไปแปลงหน่วยต่างๆ ให้เขา ถ้าเขาบอกมาเป็นปอนด์ก็แปลเป็นปอนด์ เขาว่ามาเป็นฟาเรนไฮท์ก็แปลฟาเรนไฮท์ ถ้าเขาว่า 14 นาฬิกา ก็ให้แปลว่า 14 hours ไม่ใช่ 2 p.m. ไม่ใช่หน้าที่ล่ามที่จะไปคำนวณให้เขา เพราะหนึ่งไม่ใช่หน้าที่เรา สองเราอาจคำนวณผิด เขาจะถามต่อกันเอง ยกเว้นบางกรณีเท่านั้น เช่นปี พ.ศ. กับ ค.ศ. อาจคำนวณไว้ล่วงหน้า ถ้าคิดทันเพื่อลดความสับสน แต่ส่วนใหญ่ล่ามก็แปลอย่างเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนหน่วยต่างๆ ให้เขา

17. ต้องพักช่วงสักสองวินาทีหลังจากที่ผู้พูดพูดจบแล้ว ที่พักช่วงนิดนึงก็เพื่อดูว่า ผู้พูดยังจะพูดต่อหรือไม่ หรือว่าแค่หยุดชั่วคราว แต่ก็ไม่ควรรอนานเกินกว่าเจ็ดวินาที เพราะคนกำลังรอฟังล่ามแปลอยู่ ไม่ควรให้เขารอนาน

18. พูดให้เสียงดังฟังชัดด้วยความมั่นใจ

19. ใช้สมาธิ ตั้งใจฟังทุกคำทุกประโยคให้ดี ให้เขาใจเนื้อหาที่ตัวเองแปล แล้วค่อยแปล

20. เตรียมสุขภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม

การที่จะทำงานล่ามไม่ว่าจะแบบฉับพลันและต่อเนื่องให้ดีนั้น จะต้องฝึก ฝึก ฝึกและฝึก ทั้งจากภาคสนาม ฝึกด้วยตัวเองหรือร่วมกับเพื่อนๆ ที่เป็นล่ามด้วยกัน

ล่ามสมัยใหม่ส่วนใหญ่จะชอบการแปลแบบฉับพลันมากกว่าเพราะไม่ต้องมาห่วงเรื่องการจดบันทึก ตัวฉันเองก็ชอบแปลแบบฉับพลันเป็นการส่วนตัว ลูกค้าก็ชอบเพราะประหยัดเงินและเวลา