อยากมีแฟนฝรั่ง ฟังทางนี้ ตอนที่ 9

การหย่าร้าง Divorce

เมื่อความอดทนสิ้นสุดลง เจ้าตัวได้ตระหนักแล้วว่าอยู่กับคนๆ นี้ต่อไปก็ไม่มีความสุข ไม่มีอนาคต เมื่อมีทางเลือกได้ คู่สมรสจำนวนมากจึงได้หาทางออกโดยการหย่าร้างกันไป

ในวัฒนธรรมไทยเมื่อไม่นานมานี้ การหย่าร้างมักจะเป็นเรื่องที่เสียหน้าเป็นอย่างมาก และเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความล้มเหลว เนื่องจากมลทินทางสังคม คู่สมรสไทยจำนวนมากถูกบีบบังคับให้อยู่ด้วยกัน และมีชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขไปจนกว่าจะตายจากกัน ในอดีต อัตราการหย่าร้างค่อนข้างต่ำ เนื่องจากคู่สมรสรู้สึกมีพันธะที่จะต้องอดทนอยู่กินด้วยกันนต่อไป ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาครอบครัวมากมาย

ปัจจุบัน หญิงไทยจำนวนมากขึ้น มีอิสระทางการเงินและมีอิสระในการดำรงชีวิตมากขึ้น พวกเธอมีแหล่งสนับสนุนทางจิตใจมากขึ้น พวกเธอกล้าที่จะหย่ากับผู้ที่ทำร้ายตนและสามารถเลี้ยงตนเองได้ อัตราการหย่าร้างในประเทศไทยจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ และผู้หญิงสามารถแต่งงานใหม่ได้บ่อยครั้งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหญิงไทยจำนวนมากขึ้นที่ตั้งใจอยู่เป็นโสดและเลี้ยงตนเองแทนที่จะแต่งงานโดยไม่มีความสุข ทุกวันนี้ การหย่าร้างถือเป็นเรื่องธรรมดา เศรษฐีจำนวนมาก หรือแม้แต่ดาราดังๆ ก็หย่ากันเป็นว่าเล่น ซึ่งเหตุผลไม่ได้มาจากเรื่องเงิน แต่มักมาจากการเข้ากันไม่ได้และปัญหาส่วนตัวเรื่องอื่นของแต่ละคน

บทความนี้จะกล่าวเพียงคร่างๆ ถึงการสิ้นสุดการสมรสสำหรับเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจเพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติม


การสิ้นสุดการสมรสที่เมืองไทยโดยทั่วไปมี 3วิธี ดังนี้
1. สามีหรือภรรยาเสียชีวิต
2. โดยการจดทะเบียนหย่า
3. โดยคำพิพากษาของศาล

ในอเมริกา การหย่าร้าง (divorce) หรือการสิ้นสุดการสมรส (dissolution of marriage) หมายถึงสิ่งเดียวกัน (แต่ในบางรัฐให้คำจำกัดความที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงสิ่งเดียวกัน) การสิ้นสุดการสมรสเป็นภาษากฎหมายของคำว่า "การหย่าร้าง" ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือทั้งสองคนที่สมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ยื่นเรื่องต่อทางศาลเพื่อขอให้การสมรสสิ้นสุดลง จะมีคำพิพากษา (judgment) ของศาลที่ระบุรายละเอียดว่าการสมรสสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อใด สามารถสมรสใหม่ได้เมื่อใด ค่าเลี้ยงดูคู่สมรส (alimony) มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สิน (property division) การเปลี่ยนชื่อ (name change) การมีสิทธิในตัวบุตร (child custody) เวลาที่แต่ละฝ่ายได้รับในการเยี่ยมบุตร (child visitation) ค่าเลี้ยงดูบุตร (child support) เป็นต้น

ในบางกรณี คู่สมรสอาจขอให้ศาลสั่งให้เป็น การแยกกันอยู่ตามกฎหมาย (legal separation) ศาลสามารถออกคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินและเรื่องบุตร แต่ยังคงสมรสกันด้วยเหตุผลทางด้านศาสนา การที่อีกฝ่ายหนึ่งยังต้องพึงพาอีกฝ่ายในเรื่องการเงิน ด้านภาษีหรือการประกันสุขภาพ คู่สมรสสามารถยื่นเรื่องขอหย่าได้ภายหลัง

ในบางกรณี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถขอให้ศาลสั่งให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะ (annulment)ได้ แต่ต้องมีเหตุผลที่ดี ส่วนใหญ่แล้ว ศาลจะสั่งให้เป็นโมฆะก็ต่อเมื่อการสมรสนั้นผิดกฎหมาย เนื่องจากคู่สมรสคนใดคนหนึ่งจดทะเบียนซ้อน หรือเป็นผู้เยาว์ที่กฎหมายไม่อนุญาตให้สมรส การสมรสที่เป็นโมฆะอาจจะตัดสิทธิต่างๆ ของอีกฝ่ายในด้านทรัพย์สินและสวัสดิการอื่นๆ ที่สมควรได้รับในฐานะคู่สมรส การแต่งงานเพียงระยะสั้นหรือการที่คู่สมรสไม่มีบุตรด้วยกันเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้การสมรสเป็นโมฆะ ต้องมีเหตุผลอย่างอื่น เช่น

- การทำให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นหรือการหลอกลวง (misrepresentation or fraud) เช่นโกหกว่าตัวเองสามารถมีลูกได้ทั้งๆ ที่ตัดมดลูกไปแล้ว หรือการหลอกให้อีกฝ่ายแต่งงานเพื่อต้องการใบเขียว

- การปิดบังข้อมูลที่สำคัญบางอย่าง (concealment of an important piece of information) เช่น ติดยาเสพติดหรืออัลกอฮอล์ เป็นอาชญากรหรือนักโทษอุกฉกรรจ์ เคยมีบุตรมาก่อน การไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นเหตุผลในการยื่นขอให้การสมรสเป็นโมฆะได้

- การที่คู่สมรสปฏิเสธหรือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ (spouse’s refusal or inability to consummate the marriage)

การจดทะเบียนหย่าในเมืองไทยทำได้ง่าย คู่หย่าสามารถไปทำได้ที่อำเภอหรือสำนักงานทะเบียนเขต โดยการทำหนังสือสัญญาหย่าที่มีข้อตกลงในเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน หนี้สิน การปกครองบุตร การจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร และอื่น ๆ หรือคู่หย่าจะนำคำพิพากษาของศาล พร้อมใบสำคัญแสดงคดีถึงที่สุดมาขอบันทึก ณ สำนักทะเบียน พร้อมเอกสารต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวของคู่หย่า ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของคู่หย่า ใบสำคัญการสมรสของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย กรณีหย่าตามคำพิพากษา ต้องใช้คำพิพากษาถึงที่สุดที่มีคำรับรองถูกต้อง พยานบุคคล 2 คน เอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี) สูติบัตรบุตร (ถ้ามี)


เหตุฟ้องหย่า Grounds for Divorce

กฎหมายไทยกำหนดเหตุฟ้องหย่าไว้ดังนี้

- สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยาคบชู้

- สามีหรือภริยากระทำความผิดทางอาญาหรือประพฤติชั่ว ทำให้อีกฝ่ายได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ได้รับความดูถูกเกลียดชังหรือได้รับความเสียหายเกินควร

- สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง

- สามีหรือภริยาจงใจทอดทิ้งฝ่ายหนึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี

- สามีหรือภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี

- สามีหรือภริยาฝ่ายหนึ่งหายสาบสูญไปเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี

- สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร

- สามีหรือภริยาฝ่ายหนึ่งถูกประกาศว่าเป็นบุคคลวิกลจริตมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 ปีและยากที่จะรักษาให้หายได้

- สามีหรือภริยาฝ่ายหนึ่งละเมิดข้อตกลงในความประพฤติที่ดี (กฎหมายไทยกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายตั้งอยู่ในความประพฤติที่ดี และกำหนดคำจำกัดความในข้อตกลงนั้น ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่สามารถกระทำตามข้อตกลงนั้น ก็ถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าได้)

- สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังยากที่จะรักษาให้หายได้

- สามีหรือภริยามีปัญหาทางร่างกายซึ่งทำให้ไม่สามารถร่วมประเวณีได้

เหตุฟ้องหย่าในอเมริกาจะแตกต่างกันไปแล้วแต่กฎหมายครอบครัวของแต่ละรัฐ แต่ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายคลึงกัน ถ้าคุณจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย คุณก็จะสามารถทำเรื่องหย่าในอเมริกาได้ สำหรับรัฐแคลิฟอร์เนีย มีเหตุฟ้องหย่าเพียงสองประการคือ

1. ความแตกต่างที่ไม่สามารถปรองดองกันได้ หรือความแตกต่างที่เกินเยียวยา (irreconcilable differences)

2. ความวิกลจริตที่ไม่สามารถรักษาได้ (incurable insanity)

เพียงแต่เหตุผลข้อที่หนึ่ง ความแตกต่างที่ไม่สามารถปรองดองกันได้ ศาลก็จะเห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะให้การสมรสนั้นสิ้นสุด ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อยากอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ศาลก็จะเห็นว่าไม่ควรที่จะสมรสกันต่อไป

การสิ้นสุดการสมรสแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกันคือ การสิ้นสุดการสมรสโดยที่ทั้งสองฝ่ายยินยอม (uncontested divorce) และ การสิ้นสุดการสมรสโดยที่ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือตกลงกันไม่ได้ (contested divorce)


การสิ้นสุดการสมรสโดยที่ทั้งสองฝ่ายยินยอม Uncontested Divorce

ถ้าทั้งฝ่ายยินยอม ไม่มีการคัดค้านและตกลงรายละเอียดกันได้ทุกเรื่องและพอใจกับข้อตกลงนั้น ก็สามารถยื่นเรื่องหย่าได้ โดยให้ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่อง (petitioner) อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายตอบรับ (respondent)

ถ้าทั้งสองฝ่ายมีเงินที่จะจ้างทนายความก็จะทำให้การหย่าเป็นไปได้ด้วยความมั่นใจ แต่ถ้าไม่มีเงินที่จะจ้างทนายความ สามารถขอความช่วยเหลือจากบริการจากผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย (ที่ไม่ใช่ทนายความ หรือเรียกกันว่า paralegal) ซึ่งจะคิดค่าบริการถูกกว่าทนายความมาก

ปัจจุบันนี้โลกออนไลน์ก็ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทำเรื่องหย่าด้วยตัวเองได้ มีเอกสาร แบบฟอร์มทุกอย่างให้เรียบร้อย เช่น บริการของ 3 Step Divorce (http://www.3stepdivorce.com/) ที่คิดค่าบริการเพียง $300 เท่านั้น เป็นการบริการที่ศาลในอเมริกายอมรับสำหรับการทำเรื่องหย่าในกรณีที่คู่สมรสตกลงกันได้ไม่ว่าจะมีบุตรด้วยกันหรือไม่ คุณจะสามารถประหยัดเงินได้หลายพันดอลล่าร์


การสิ้นสุดการสมรสโดยที่ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม Contested Divorce

การทำเรื่องหย่าในกรณีนี้ เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน ยืดเยื้อและอาจจะทำให้คุณเสียเงินจำนวนมาก เนื่องจากคุณอาจจะต้องว่าจ้างทนายความให้ช่วยเจรจาตกลงกับอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจต้องให้ทนายความดำเนินเรื่องหย่าในศาลและว่าความให้คุณจนกว่าคดีจะสิ้นสุดลง ข้อมูลข้างล่างนี้เป็นเพียงการชี้แนะขั้นตอนเพียงคร่าวๆ

ศาลครอบครัวในอเมริกา จะมีฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ยื่นเรื่องหรือฝ่ายร้องขอ (petitioner) เรียกว่า divorce petition หรือ summons ซึ่งจะระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการสมรสและสิ่งที่ตนต้องการ จะต้องยื่นในเคาน์ตี้ที่คู่กรณีอาศัยอยู่

ขั้นตอนต่อไปคือการส่งมอบสำเนาเอกสารให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (have divorce papers served) เพื่อเป็นการแจ้งให้ทราบว่าตนได้ยื่นเรื่องกับทางศาลเพื่อเริ่มดำเนินเรื่องหย่า และเป็นการแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบว่าตนต้องการอะไรและจะต้องตอบกลับภายในช่วงเวลาใด

ก่อนที่ศาลจะรับฟังคดี ศาลจะถามว่ามีหลักฐานที่แสดงว่าได้ส่งมอบเอกสารนั้นให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (proof of service) หรือไม่ ถ้าทนายความเป็นผู้ดำเนินเรื่องให้ คุณก็ไม่ต้องห่วงขั้นตอนนี้ แต่ถ้าคุณดำเนินเรื่องเอง คุณจะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าคุณมีหลักฐานในการส่งมอบหรือแจ้งให้กับอีกฝ่ายหนึ่งทราบโดยการให้ผู้บรรลุนิติภาวะ (ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) ที่ไม่ใช่บุตรของตนเป็นผู้ส่งมอบเรื่องให้อีกฝ่ายและอีกฝ่ายจะต้องเซ็นรับพร้อมลงวันที่ หรือจะส่งทางไปรษณีย์และให้คู่สมรสเซ็นรับพร้อมลงวันที่ในแบบฟอร์มแล้วส่งกลับมาให้ หรือให้ทางเจ้าหน้าตำรวจส่งมอบเอกสารนั้นให้และอีกฝ่ายจะต้องเซ็นรับพร้อมลงวันที่ก็ได้ แต่ถ้าไม่ทราบว่าเจ้าตัวอีกฝ่ายอยู่ที่ไหน ก็จะต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์ (จะต้องเอาสำเนาของการประกาศนั้นเป็นหลักฐานให้กับทางศาล)

ผู้ที่เป็นฝ่ายตอบรับ (respondent) จะต้องกรอกแบบฟอร์มตอบกลับภายใน 30 วัน ยกเว้นอีกฝ่ายยินยอมให้ยืดเวลาออกไปได้โดยมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คุณอาจจะให้ทนายความ หรือเจ้าหน้าที่ที่ให้อำนวยความสะดวกด้านกฎหมายครอบครัว (family law facilitator) หรือเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ช่วยเหลือตนเอง (self-help) เป็นผู้ช่วยตรวจทานเอกสารและช่วยแนะนำเรื่องอื่นๆ เสร็จแล้วให้ทำสำเนาของเอกสารทุกอย่างไว้สองชุดก่อนยื่นเรื่องตอบรับให้กับทางเสมียนศาลภายใน 30 วัน เสมียนศาลจะเก็บตัวจริงไว้และคืนสำเนาให้กับคุณ จะประทับตราว่า "FILED" ซึ่งหมายความว่า "ได้ยื่นเรื่องแล้ว" ต่อจากนั้นคุณก็ต้องส่งมอบสำเนาหนึ่งฉบับที่เป็นของคำตอบของคุณให้กับฝ่ายที่ทำเรื่องร้องขอ (petitioner) และต้องมีหลักฐานที่แสดงว่าได้ส่งมอบเอกสารนั้นให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (proof of service) เช่นเดียวกัน

ในวันนัดฟังคดีที่ศาล ศาลส่วนใหญ่จะกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมการเจรจาตกลง (settlement conference) หรือทำการไกล่เกลี่ย (mediation) เพื่อสะสางคดีด้วยตัวเองก่อนที่จะให้ศาลตัดสิน ขั้นตอนนี้จะช่วยคุณได้มาก เพราะผู้พิพากษาอาจไม่เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณ ถ้าคุณและคู่สมรสสามารถตกลงกันได้ผ่านผู้ไกล่เกลี่ยก่อนถึงขั้นให้ศาลตัดสินแล้ว คุณจะสามารถประหยัดเงินและเวลาได้

ถ้าคุณพบกับผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ คุณอาจต้องขอให้ทนายความช่วยเหลือหรือรอให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสิน ผู้ทำการไกล่เกลี่ย (mediator) จะเขียนรายงานให้กับทางศาล ศาลจะพิจารณาตัดสินและระบุเงื่อนไขต่างๆ ที่ให้ความยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่าย แล้วศาลจะออกหนังสือคำพิพากษา (judgment) ให้กับทั้งสองฝ่าย คำสั่งศาลพร้อมกับเงื่อนไขอื่นๆ ที่แนบมาจะเป็นคำสั่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม และถือว่าเป็นการสิ้นสุดการสมรส

ฝ่ายหญิงอาจกลับไปใช้นามสกุลเดิมหลังจากที่หย่าแล้วหรือใช้นามสกุลของสามีฝรั่งแล้วแต่สะดวก หญิงไทยหลายคนที่หย่าแล้ว ยังใช้นามสกุลเดิมของอดีตสามีฝรั่งอยู่ เนื่องจากการเปลี่ยนนามสกุลเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ต้องเปลี่ยนทั้งใบขับขี่ บัตรประกันสังคม พาสปอร์ต บัตรเครดิตทั้งหมด บิลต่างๆ ทำให้เสียเงินเสียเวลา หญิงไทยบางคนชอบที่จะใช้นามสกุลฝรั่งต่อไปเพราะเรียกง่ายกว่าชื่อไทย ฝรั่งมักออกเสียงชื่อสกุลไทยไม่ได้ โดยเฉพาะชื่อสกุลที่ยาวๆ ของไทย

ถ้าคุณคิดว่าผู้พิพากษาศาลครอบครัวตัดสินโดยมีข้อผิดพลาด คุณสามารถอุทธรณ์คำตัดสินได้ภายใน 30-60 วันนับจากวันที่คุณได้รับคำตัดสิน เหตุผลที่คุณสามารถอุทธรณ์ได้จะจำกัดอยู่ที่การมีข้อผิดพลาดทางกฎหมายหรือในข้อเท็จจริงเท่านั้น เช่น ศาลให้อำนาจในการปกครองบุตรกับอีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่จะเข้าโปรแกรมต่างๆ ครบตามจำนวนที่ศาลสั่ง หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ศาลให้อำนาจในการปกครองบุตรกับฝ่ายที่เคยมีประวัติทำร้ายเด็กทางเพศ ในการอุทธรณ์ คุณจะไม่สามารถส่งหลักฐานใหม่ได้ คุณสามารถเขียนคำอธิบายสั้นๆ ว่าทำไมถึงต้องการอุทธรณ์ แล้วตามด้วยคำอธิบายทางวาจา ผู้พิพากษาที่รับฟังการอุทธรณ์อาจจะยืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือกลับคำพิพากษาหรืออาจขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ขั้นตอนอุทธรณ์ในศาลครอบครัวอาจใช้เวลาถึงหนึ่งปีจึงจะเสร็จสิ้น

สำหรับศาลครอบครัวในเคาน์ตี้ซานฟรานซิสโก คุณสามารถขอบริการล่ามฟรีจากทางศาลได้ในทุกขั้นตอน โดยแจ้งกับทางเสมียนว่าคุณต้องการล่ามภาษาไทย สำหรับเคาน์ตี้อื่นๆ คุณอาจจะต้องจ้างล่ามไปเอง ให้ถามเสมียนดูว่ามีศาลมีบริการล่ามฟรีหรือไม่