แนะนำตัว กฤษพร สุริยจันทร์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ก่อนอื่นฉันต้องขอแนะนำตัวเองก่อนนะคะ ฉันชื่อ กฤษพร สุริยจันทร์ (บี) ค่ะ วันนี้ขออาศัยพื้นที่ในคอลัมน์ "เรื่องเล่าจากล่าม" ของคุณเบญจวรรณ ภูมิแสน มาแชร์ประสบการณ์ชีวิต ในชิคาโกนะคะ ตอนนี้ได้เริ่มทำงานเป็นล่ามมืออาชีพบ้างแล้ว หากมีข้อผิดพลาดประการในต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ วัยเด็ก โดย กฤษพร สุริยจันทร์

ตอนเด็กๆ ฉันค่อนข้างสบาย พ่อเป็นวิศวกรและรับเหมาก่อสร้าง มีบ้านสามหลังในละแวกเดียวกัน ฉันมีพี่ชายหนึ่งคน ที่บ้านเรามีพี่เลี้ยงสองคนและมีคนขับรถไปส่งที่โรงเรียน พ่อเปิดร้านเสริมสวย และร้านขายของชำให้แม่ ดูเหมือนชีวิตมีความสุขดี จนกระทั่งพ่อป่วยเป็นอัมพฤกษ์ตอนที่ฉันอายุได้เจ็ดขวบ แม่พาพ่อไปรักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แผนไทย ไสยศาสตร์ ใครว่าที่ไหนดีแม่ไปหมด แต่อาการของพ่อไม่ดีขึ้นเลย พ่อไม่ได้ไปทำงานสองปี หมดเงินไปกับค่ารักษาพยาบาล จนต้องขายบ้าน ขายกิจการ จนวันหนึ่งพ่อตัดสินใจยิงตัวตายที่ห้องพระในบ้าน เพราะไม่ต้องการเห็นพวกเราทุกคนลำบาก แม่เล่าว่าตอนนั้นแม่มีเงินติดกระเป๋าแค่สามร้อยบาท ไม่พอที่จะทำศพ โชคดีที่พ่อมีคนรักมาก ทั้งเพื่อนร่วมงานและเจ้านายต่างช่วยกันจัดงานให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี หลังจากที่พ่อตาย ฉันกับพี่ต้องช่วยแม่ทำงาน แม่กลับมาเปิดร้านเสริมสวยอีกครั้งโดยดัดแปลงหน้าบ้านเป็นร้านเสริมสวย พวกเราไม่เคยไปเที่ยวไหนกันเลย และก็ไม่อยากไปไหนอยู่แล้ว เพราะการไปเที่ยวไหนๆ หมายถึงแม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

แม่

แม่เป็นต้นแบบของความดีงาม ปลูกฝังและถ่ายทอดแต่สิ่งที่ดีๆ ให้กับลูก กิจวัตรประจำวันของแม่คือ ตื่นตีสี่ครึ่งเตรียมของทำกับข้าวใส่บาตรพร้อมๆ กับฟังเทศน์ทางสถานีวิทยุ ฉันไม่เคยเห็นแม่ขาดจากการใส่บาตรเลยแม้แต่วันเดียว ยกเว้นแม่ป่วย กับข้าวใส่บาตรแม่ต้องทำเองเพราะจะได้แน่ใจว่าของที่ใส่เป็นของที่ดีที่สุด พอใส่บาตรเสร็จ แม่จะไปสวดมนต์และนั่งสมาธิต่ออีกหนึ่งชั่วโมง ก่อนจะมาเปิดร้านตอนเก้าโมงเช้า ทำผมไปเรื่อยๆ จนถึงสามทุ่ม แม่จะสวดมนต์ แม่นั่งสมาธิต่ออีก หนึ่งชั่วโมง ทำแบบนี้ทุกวันไม่เคยขาด แม่บอกว่านี่เป็นเสบียงบุญที่แม่เตรียมไว้เมื่อแม่ลาจากโลกนี้ไปแล้ว หลังจากที่พ่อตาย แม่รับหลานๆ จากศรีสะเกษ บ้านเกิดของแม่ให้มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพหลายต่อหลายรุ่น รวมๆ กันเกือบสักสิบคนน่าจะได้ แม่บอกว่าชีวิตคนเราไม่แน่นอน มีการศึกษาไว้ติดตัวจะได้ไม่ลำบากเหมือนแม่ แม้ว่าแม่จะต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้น แต่แม่ไม่เคยบ่น ตอนนี้หลานๆ ทุกคนต่างก็เติบโต แยกย้ายกันไปทำงานกันหมดแล้ว ทุกๆ สิ้นปี หลานๆ จะกลับมาหาแม่ บ้างก็เอาเงินโบนัสมาให้ บ้างก็เอาของขวัญมาให้ แล้วมากราบขอพรปีใหม่จากแม่ ถ้าไม่ได้แม่ ชีวิตพวกเขาคงจะลำบากกว่านี้ แม่บอกว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับเสมอ”

ศึกษาธรรมะ

แม่ไม่เคยบังคับลูกให้ต้องมาปฏิบัติธรรมเหมือนแม่ แต่แม่ปฏิบัติให้เราดูเป็นตัวอย่าง เช่นเดียวกับ ที่ยายเป็นต้นแบบให้กับแม่ แม่ว่าธรรมะต้องมาจากใจที่ศรัทธา ไม่ใช่การบังคับ พอฉันอายุได้ ประมาณสิบห้าสิบหก แม่ลดการทำงานลงเพราะเห็นว่าลูกช่วยตัวเองได้แล้ว และไปปฏิบัติธรรม โดยอยู่ที่วัด ครั้งละสามวันบ้าง ห้าวันบ้าง ฉันได้มีโอกาสไปกับแม่ด้วยบ่อยๆ แต่ยังไม่เข้าใจมากนัก วันหนึ่ง มีป้าข้างบ้านเอาหนังสือกฎแห่งกรรมรวมเล่มของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรีมาให้ยืมอ่าน ขนาดหนังสือเท่ากับครึ่งหนึ่งของสมุดหน้าเหลือง แม่บอกหนักยกอ่านไม่ไหว ฉันเลยอ่านให้แม่ฟัง แม่อัดเสียงอ่านของฉันส่งไปให้ป้าที่ศรีสะเกษฟังด้วย สมัยนั้นยังเป็นแบบเทปคาสเซ็ต นับเป็นครั้งแรกที่ฉันเข้าใจธรรมะมากขึ้น และสนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังเข้าใจว่า ชีวิตของเรานั้นเป็นไปตามกรรมกำหนด หากอยากเจอสิ่งที่ดีๆ ก็ต้องทำความดี และการสร้างความดีที่ง่ายที่สุดคือการดูแลพ่อแม่ที่เป็นพระอรหันต์ในบ้านของเรานั่นเอง แต่เห็นจะจริงเพราะเวลาฉันจะสอบแข่งขันหรือไปสมัครงานที่ไหนๆ ก็ตาม จะขอพระจากแม่ แม่จะสวดบทชัยมงคลคาถาและให้พรมายาวเหยียด ผลก็คือประสบความสำเร็จดังใจหวังทุกที่ไป น่าอัศจรรย์จริงๆ