กระบวนการทางอาญาและทางแพ่งในสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 3

การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน (Jury Trial)

ผู้อ่านคงเคยได้ชมภาพยนตร์อเมริกาบางเรื่องที่มีคณะลูกขุนมานั่งฟังหลักฐานพยาน แต่ตอนนี้มาดูกันว่าขั้นตอนการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนที่อเมริกาจริงๆ แล้วเขาทำกันอย่างไรบ้าง

การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนที่ฉันอธิบายอยู่ในส่วนนี้จะเป็นขั้นตอนที่ใช้ในศาลอาญา ส่วนในศาลแพ่งก็จะคล้ายคลึงกัน แต่จะไม่มีอัยการ เป็นการสู้คดีระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคลที่ฟ้องร้องกัน มีคดีแพ่งในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมากที่จะขึ้นถึงขั้นนี้ ส่วนใหญ่จะสะสางคคดีให้เสร็จสิ้นก่อนโดยผ่านการระงับข้อพิพาท (dispute resolution) เช่น การเจรจาต่อรอง (negotiation) การไกล่เกลี่ย (mediation) หรือการอนุญาโตตุลาการ (arbitration) ดังนั้น ณ ที่นี้ฉันจะอธิบายเฉพาะการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนในคดีอาญา

ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จะมีล่ามทำงานกันเป็นทีม ทีมละสองหรือสามคนในขั้นตอนการพิจารณาคดี ล่ามจะสลับกันแปลทุกๆ 20-30 นาที ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะกระบวนการนี้ใช้เวลานานมาก ล่ามคนเดียวไม่สามารถทำงานแปลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่ามฉับพลันจะทำงานได้ดีและแปลได้ครบถ้วนหรือใกล้เคียงได้ประมาณ 20-30 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นประสิทธิภาพและคุณภาพของการแปลก็จะค่อยๆ ลดลง จึงจำเป็นต้องมีการสลับเปลี่ยนกันเพื่อให้ล่ามได้พัก และล่ามก็จะได้พักช่วงที่คณะลูกขุนได้พักจากการรับฟังหลักฐานพยานด้วย

ถ้าคดีนั้นมีจำเลยมากกว่าหนึ่งคนที่ต้องการล่าม จำเลยแต่ละคนมีสิทธิที่จะมีล่ามประจำตัวของตน ถ้าจำเลยร่วมนั้นพูดภาษาเดียวกัน ทนายความฝ่ายจำเลยและอัยการอาจจะตกลงที่จะให้จำเลยร่วมนั้นใช้ล่ามร่วมกันเพราะล่ามบางภาษา เช่น ภาษาไทยและภาษาลาวหายาก บางทีล่ามต้องเดินทางจากต่างเมืองไกลๆ เพื่อมาแปลเป็นเวลาหลายวัน บางทีล่ามก็จะบินมาจากรัฐอื่น


ขั้นตอนการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนที่อเมริกามีดังต่อไปนี้

1. พลเมืองที่เป็นสัญชาติอเมริกันที่อยู่ในแต่ละเคาน์ตี้จะถูกเรียกแบบสุ่มทางไปรษณีย์ให้มาทำหน้าที่ลูกขุน (jury duty) เพื่อตัดสินคดีแพ่งหรือคดีอาญา เมื่อมาถึงที่ศาล จะต้องไปรายงานตัวกับเสมียน เสมียนก็จะส่งตัวไปยังห้องศาลเพื่อให้เข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกลูกขุน (jury selection)

2. ขั้นตอนต่อไปเรียกว่า voir dire (วัวร์เดียร์) ซึ่งเป็นการคัดเลือกลูกขุนโดยการถามคำถามทีละคนโดยผู้พิพากษา ทนายฝ่ายจำเลยและอัยการ voir dire มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า พูดความจริง แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะคัดลูกขุนที่ถูกเลือกมาออกตามจำนวนที่ผู้พิพากษากำหนด หลังจากที่คัดเลือกลูกขุนได้ครบ 12 คนแล้ว ก็จะมีการเลือกตัวสำรองอีก 1-3 คนเพื่อเป็นการเผื่อไว้ในกรณีที่ลูกขุนตัวจริงคนใดคนหนึ่งไม่สามารถเข้าห้องไตร่ตรองปรึกษา (deliberation room) ได้ ตัวสำรองจะต้องนั่งฟังหลักฐานพยานตั้งแต่ต้นจนจบเช่นเดียวกับตัวจริง แต่จะไม่เข้าในห้องไตร่ตรองปรึกษาด้วย ส่วนพลเมืองที่ถูกเรียกตัวมาทำหน้าที่ลูกขุนแต่ไม่ถูกคัดเลือกในวันนั้นก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ก่อนที่จะเข้านั่งฟังคดี เสมียนประจำห้องศาลนั้นจะให้คณะลูกขุนสาบานตนว่าจะให้คำพิพากษาโดยดูจากหลักฐานพยานและจะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม

การทำหน้าที่ลูกขุนเป็นหน้าที่หนึ่งที่สำคัญมากของพลเมืองที่ถือสัญชาติอเมริกันและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนิติธรรม (due process) ของสหรัฐอเมริกา แต่คนส่วนมากไม่อยากจะทำหน้าที่นี้ เพราะต้องขาดงาน เสียเงิน เสียเวลา บางคดีใช้เวลาพิจารณาคดีไม่กี่วัน บางคดีก็เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน บางบริษัทหรือหน่วยงานก็อนุญาตให้พนักงานของตนไปทำหน้าที่นี้โดยให้ค่าแรงตามปกติ แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นเช่นนั้น คนส่วนใหญ่จึงพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นลูกขุนหรือถ่วงเวลาให้ได้มากที่สุด คุณสามารถบอกผู้พิพากษาได้ว่าการที่จะต้องมานั่งฟังคดีเป็นเวลาหลายวันจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณ เช่น คุณป่วยเป็นโรคบางอย่าง นั่งนานๆ ไม่ได้ มีคนแก่ที่บ้านต้องดูแล มีแผนการที่จะเดินทางและได้ซื้อตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว ภาษาอังกฤษไม่ดีพอที่จะเข้าใจการเสนอหลักฐานพยานทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งผู้พิพากษาจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป หลังจากที่ได้คณะลูกขุนแล้ว การพิจารณาคดีก็จะเริ่มต้นขึ้น

3. การกล่าวนำเสนอเปิดคดีโดยฝ่ายอัยการ (opening statement by the prosecution) จะเริ่มก่อน อัยการจะเป็นฝ่ายที่ต้องทำหน้าที่นำสืบหรือมีภาระที่ต้องพิสูจน์ (burden of proof) จะต้องอธิบายให้คณะลูกขุนฟังถึงที่มาของคดี พยายามให้คณะลูกขุนเห็นภาพโดยรวมของคดี

4. การกล่าวนำเสนอเปิดคดีโดยฝ่ายจำเลย (opening statement by the defense) ทนายความของฝ่ายจำเลยก็จะกล่าวเปิดคดีในลักษณะเดียวกันแต่จะกล่าวแย้งกับสิ่งที่อัยการกล่าว บางครั้งฝ่ายจำเลยก็จะไม่กล่าวเปิดคดีเนื่องจากเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการสู้คดีของตน แล้วค่อยเปิดเผยข้อมูลในตอนกล่าวปิดคดี

5. ฝ่ายอัยการจะเป็นผู้นำเสนอคดีต่อคณะลูกขุน โดยการสืบพยานซึ่งจะเป็นการเรียกพยานของฝ่ายตนมาซักถามก่อนเรียกว่า direct examination ตัวอย่างของพยานก็จะมี

ประจักษ์พยาน (eye witness) พยานผู้เชี่ยวชาญ (expert witness) พยานวัตถุ (material witness) พร้อมกับนำเสนอหลักฐานต่างๆ เช่น หลักฐานแวดล้อมกรณี (circumstantial evidence) หลักฐานโดยตรง (direct evidence) หลักฐานที่เป็นเอกสาร (documentary evidence) หลักฐานที่เป็นวัตถุ (physical evidence) เช่น รายงานจากพยานผู้เชี่ยวชาญ อาวุธปืน รูปถ่ายต่างๆ

เสมียนจะให้พยานทุกคนที่ขึ้นให้การที่แท่นพยานยกมือขวาขึ้นเพื่อสาบานว่าจะพูดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความจริง

6. ต่อไปฝ่ายจำเลยจะซักพยานของฝ่ายค้านหรือที่เรียกว่า cross examination ทนายความฝ่ายจำเลยมักจะถามคำถามเพื่อที่จะลดความน่าเชื่อถือของพยานฝ่ายอัยการ ในขั้นตอนนี้ ทนายฝ่ายจำเลยจะถามได้แต่เฉพาะคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่อัยการได้ถามไปก่อนหน้านี้

ในขั้นตอนการสืบพยานนี้ จะได้ยินทั้งสองฝ่ายแสดงการคัดค้านต่อคำถามของอีกฝ่ายหนึ่งว่า "Objection!" "ขอคัดค้าน!" และจะบอกเหตุผลที่ตนคัดค้านคำถามนั้น ที่ได้ยินเป็นประจำก็มี "กำกวม (vague)" "หลอกให้เข้าใจผิด (misleading)" "เป็นการโต้เถียง (argumentative)" "ถามแล้วตอบแล้ว (asked and answered)" "ประโยคซับซ้อน (compound)" "เป็นคำบอกเล่า/ข่าวลือ (hearsay)" "นอกเรื่อง/ไม่ตรงประเด็น (irrelevant)"

เมื่อมีการคัดค้านของทนายความอีกฝ่ายเกิดขึ้น ผู้พิพากษาจะตอบว่า "sustained" (อนุญาตให้ค้านได้) หรือ "overruled" (คำค้านตกไป) ถ้าตอบว่า "sustained" หมายถึงผู้พิพากษาเห็นด้วยกับการคัดค้านและจะไม่อนุญาตให้ทนายความฝ่ายที่กำลังถามอยู่นั้นถามต่อหรือให้ถามใหม่ หรือ ถ้าตอบว่า "overruled " หมายถึงผู้พิพากษาไม่เห็นด้วยกับการคัดค้าน และอนุญาตให้ทนายความถามต่อหรือใช้คำให้การ หลักฐานพยานต่างๆ ต่อไปได้

7. ต่อไปฝ่ายอัยการจะสามารถสืบพยานซ้ำได้อีก เรียกว่า (redirect examination) อัยการจะพยายามแก้ไขประเด็นที่สับสนหรือไม่ชัดเจนที่ทนายฝ่ายจำเลยสร้างภาพให้กับคณะลูกขุน

8. ฝ่ายจำเลยก็จะสามารถสืบพยานค้านซ้ำได้อีก เรียกว่า (recross examination) ทนายฝ่ายจำเลยจะพยายามทำให้พยานฝ่ายอัยการหรือคำถามของอัยการไม่น่าเชื่อถือ (discredit) ขั้นตอนสืบพยานซ้ำนี้อาจจะใช้เวลานานมา กเ ปลี่ยนกันถามกลับไปกลับมา ราวกับว่าจะไม่มีวันเสร็จสิ้น บางครั้งมันทำให้ฉันคิดว่ามันเป็นการต่อสู้ทางด้านวิชาการและความสามารถของทนายฝ่ายอัยการและทนายฝ่ายจำเลยมากกว่า เพราะบางครั้งสู้กันถึงพริกถึงขิงเพื่อที่จะต้องเอาชนะคดีนี้ให้ได้ หลังจากที่ฝ่ายอัยการเรียกพยานและเสนอหลักฐานประกอบอื่นๆ หมดแล้ว อัยการก็จะบอกกับผู้พิพากษาว่า "Your Honor, the People rest." "ท่านผู้พิพากษาที่เคารพ ทางฝ่ายประชาชน (โจทก์) ขอพักการแสดงหลักฐานพยาน"

9. หลังจากนั้น ฝ่ายจำเลยก็จะมีโอกาสสร้างภาพของตน โดยใช้ลำดับการนำเสนอเช่นเดิมคือ direct examination, cross-examination, redirect examination และ recross examination

10. ต่อจากนั้นจะเป็นการโต้เถียงเพื่อปิดการนำเสนอ (closing argument) ฝ่ายอัยการจะสรุปก่อน ตามด้วยฝ่ายจำเลย และฝ่ายอัยการจะได้โอกาสที่จะกล่าวสรุปปิดคดีเป็นครั้งสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากฝ่ายอัยการมีภาระที่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยผิด จึงมีโอกาสที่จะได้กล่าวปิดท้าย

11. ลำดับต่อมาคือการอ่านคำชี้แจงให้กับคณะลูกคุณ (jury instructions) ผู้พิพากษาจะอ่านบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คณะลูกขุนใช้ในการไตร่ตรองปรึกษากันก่อนตัดสิน นี่เป็นขั้นตอนที่ล่ามไม่ชอบทำกันเพราะมีรายละเอียดมากมายและต้องแปลอย่างรวดเร็ว

12. หลังจากนั้น จ่าศาล (bailiff) จะสาบานตนเพื่อที่จะเป็นผู้ควบคุมดูแลและประสานงานในขณะที่คณะลูกขุนอยู่ในขั้นตอนการไตร่ตรอง

13. คณะลูกขุนทำการไตร่ตรองปรึกษากัน (jury deliberations) ในขั้นตอนนี้ลูกขุนจะคัดเลือกหัวหน้า (foreperson) และสามารถขอดูหรือฟังหลักฐานหรือคำให้การของพยานเป็นบางส่วนที่ได้บันทึกไว้

14. เมื่อการไตร่ตรองนั้นสิ้นสุดลง คณะลูกขุนจะทำการโหวตคะแนนเสียงเพื่อที่จะส่งคำพิพากษา (verdict) ว่าจำเลยผิดหรือไม่ให้กับทางศาล ในคดีอาญาการที่จะเห็นว่าจำเลยผิดตามข้อกล่าวหานั้นลูกขุนทั้งสิบสองคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันว่าผิด และการที่จะเห็นว่าจำเลยไม่ผิดนั้นลูกขุนทั้งสิบสองคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอีกว่าจำเลยไม่ผิด ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้พิพากษาจะประกาศว่าเป็นการพิจารณาคดีผิดพลาด (mistrial) ฝ่ายอัยการอาจจะยกฟ้องหรือขอให้มีการพิจารณาโดยคณะลูกขุนชุดใหม่ขึ้นอยู่กับจำนวนคะแนนเสียง มีคดีหนึ่งที่ฉันทำที่คะแนนเสียงเป็น 11 ต่อ 1 มีลูกขุนเพียงคนเดียวในคณะที่เชื่อว่าจำเลยไม่ผิด อัยการจึงขอวันใหม่จากทางศาลเพื่อให้ลูกขุนชุดใหม่มาตัดสินแทนเพราะต้องการที่จะเอาผิดจากจำเลยคนนี้ให้ได้

15. หลังจากที่คณะลูกขุนได้ยื่นคำพิพากษาให้กับทางศาลแล้ว เสมียนจะเป็นคนอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง ผู้พิพากษาจะถามลูกขุนแต่ละคนเพื่อเป็นการยืนยันว่านั่นใช่คำตัดสินของตนหรือไม่ หลังจากนั้นคณะลูกขุนจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้และจะไม่ถูกเรียกมาทำหน้าที่ลูกขุนอีกเป็นเวลาหนึ่งปีหรือมากกว่าแล้วแต่เคาน์ตี้

16. การตัดสินลงโทษในชั้นราชทัณฑ์เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา ซึ่งการลงโทษแต่ละคดีจะแตกต่างกันออกไป

คุณสามารถอุทธรณ์การตัดสินของคณะลูกขุนได้ แต่โอกาสที่จะหลุดมีน้อยมาก ศาลอุทธรณ์จะดูว่าผู้พิพากษาได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือได้ทำอะไรที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงหรือไม่เท่านั้น



อ่านต่อตอนหน้า