อยากมีแฟนฝรั่ง ฟังทางนี้ ตอนที่ 4

มีแฟนฝรั่งสบายจริงหรือ Is it Really a Comfortable Life with a Farang?


ภาพที่เห็นชีวิตของเมียฝรั่งในเฟซบุ๊คหรือการสร้างภาพของเมียฝรั่งเวลากลับเมืองไทยกับชีวิตจริงนั้นอาจต่างกันราวกับฟ้ากับดิน เวลาที่กลับเมืองไทย เขาจะเอาเงินที่หาได้จากเมืองนอกไปใช้ หลายคนมักจะแสดงว่าตนมี อยากจะโชว์ให้คนอื่นรู้ว่าตนประสบความสำเร็จ ส่วนพวกที่อยู่ทางบ้านก็จะคอยดูว่า มันไปเมืองนอกมาแล้วมันจะมีเงินหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องโชว์ให้ดู ซึ่งเป็นค่านิยมของสังคมไทยที่นิยมคนมีเงิน แต่น้อยคนนัก ที่จะเล่าเรื่องถึงความลำบากที่แท้จริงของตัวเองให้กับทางบ้านฟัง อาจจะเป็นเพราะไม่อยากให้ทางบ้านรู้ว่าตนต้องทำงานหนักมากที่เมืองนอก หรือไม่อยากให้ทางบ้านเป็นห่วง หรืออยากแสดงให้ทางบ้านรู้ว่าตนเองอยู่สบาย

คนส่วนมากจะคิดว่าฝรั่งรวยเพราะเวลาเทียบเงินเดือนออกมาเป็นเงินไทยแล้วเป็นเดือนละสองสามแสน แต่ประเทศนี้ค่าภาษีหนักมาก เสียภาษีแทบจะทุกอย่าง ค่าครองชีพก็แพงกว่าที่เมืองไทยสามหรือห้าเท่าแล้วแต่เมืองที่อยู่ ไหนจะค่าประกันสุขภาพ ไหนจะค่าประกันภัยต่างๆ อีกจิปาถะ คนไทยมาอยู่ที่เมืองนอก ก็ต้องใช้ค่าเงินของเมืองนอก ดูได้จากราคาก๋วยเตี๋ยว ที่เมืองไทยชามละ 40 บาท ที่ซานฟรานซิสโกชามละสองร้อยห้าสิบบาท ค่าเช่าห้องเล็กๆ ในซานฟรานซิสโกตกห้องละสี่หมื่นบาท ถ้าเป็นบ้าน ค่าผ่อนบ้านก็ตกเดือนละหกเจ็ดหมื่นหรือเป็นแสน

ถ้าพ่อบ้านฝรั่งต้องทำงานคนเดียว เขาก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจะต้องเลี้ยงดูเมีย (หรือลูกที่ติดมาด้วย) จากเมืองไทย ถ้าจะต้องส่งเงินไปช่วยทางบ้านที่เมืองไทยอีก ก็เป็นการเพิ่มภาระ เมียฝรั่งที่มาอยู่ที่อเมริกาที่ฉันรู้จักเกินครึ่งต้องทำงานช่วยพ่อบ้านเพราะจะได้มีเงินส่งกลับไทยด้วย มีเงินที่จะซื้อของที่ตัวเองอยากได้ มีเงินสำหรับท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกๆ

การทำงานอยู่ที่เมืองนอกก็ไม่ใช่จะสบาย บางครั้งฉันคิดว่าหนักกว่าที่เมืองไทยด้วยซ้ำ พวกที่ไม่ได้ภาษาต้องทำงานเป็นกรรมกร เป็นลูกจ้างในร้านอาหาร ในโรงงาน เป็นนแม่บ้านในโรงแรม เป็นพนักงานทำความสะอาด ซึ่งรายได้น้อยและต้องทำชั่วโมงที่ยาวนานและต้องเสียภาษีอีกด้วย ส่วนพวกที่ได้ภาษาหน่อยก็จะได้เป็นพนักงานเสิร์ฟหน้าร้าน เป็นพนักงานตอนรับ เป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ (หัวหน้าดูแลคนงาน) พวกที่มีหัวการค้าและมีเงินทุน ไม่ว่าจะได้ภาษาหรือไม่ก็อาจจะเปิดร้านอาหาร ร้านนวด ส่วนพวกที่ได้ภาษาระดับสูงหรือมีความรู้มากๆ ก็อาจทำงานให้รัฐบาล งานบริษัทใหญ่ๆ เป็นอาจารย์ หมอหรือทนายความ ซึ่งก็มีเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่แล้ว คนไทยที่มาอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะแต่งงานกับฝรั่งหรือไม่ก็ตาม ล้วนแต่ต้องทำงานกันทั้งนั้น เวลาพักผ่อนก็น้อย วันหยุดก็น้อย ถ้าทำงานร้านนวดหรือร้านอาหาร ถ้าวันไหนหยุดก็ไม่ได้เงิน ส่วนพวกที่ลูกยังเล็กอยู่ก็ต้องอยู่บ้านเลี้ยงดูลูก ยังออกไปทำงานไม่ได้ เพราะถ้าจ้างคนมาดูลูกก็จะต้องเอาเงินที่ไปทำงานมาจ่ายค่าคนเลี้ยงหมด ต้องรอจนลูกโตเข้าโรงเรียนแล้วจึงจะออกไปทำงานได้

แต่ฉันคิดว่าการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะผู้หญิงไทยที่แต่งงานมาอยู่ต่างประเทศ ถ้างานนั้นไม่หนักจนเกินไป การทำงานทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเอง มีเพื่อนมากขึ้น ไม่ทำให้เหงา ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และสามารถหาเงินสำหรับส่งไปเมืองไทยหรือใช้จ่ายส่วนตัวได้ ไม่ต้องคอยขอสามี การมีงานทำในขั้นที่ช่วยเหลือตัวเองได้จะเป็นหลักประกันในอนาคตว่าเราจะสามารถดูแลตนเองในอนาคตได้ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน สามีฝรั่งอาจเสียชีวิตโดยที่ไม่ได้ทิ้งสมบัติไว้ให้หรือทำพินัยกรรมไว้ให้ ถ้าเขามีลูกติดมา สมบัติก็จะตกเป็นของลูกก่อน และหลายครั้งเมียคนไทยต้องเซ็นข้อตกลงก่อนการสมรส (prenuptial agreement) ยอมสละสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งเงินค่าเลี้ยงดู

อย่าเพิ่งอิจฉาถ้าเห็นหญิงไทยที่ได้สามีที่รวยมากๆ น้อยคนนักที่จะได้สมบัติของเขาทั้งหมด ยกเว้นคู่ที่สร้างตัวขึ้นมาด้วยกัน แต่งงานกันมาตั้งแต่ยังหนุ่มสาว มีลูกด้วยกันสำหรับผู้หญิงไทยที่มาแต่งงานกับชายอเมริกันที่มีอายุ ที่เคยแต่งงานมาก่อน มีลูกติดหรือที่มีทรัพย์สมบัติมากมายนั้น แทบจะทุกคนจะต้องให้ภรรยาในอนาคตทำข้อตกลงก่อนการสมรส ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะโรแมนติกนัก บางข้อตกลงมีเงื่อนไขที่ฟังแล้วเหมือนกับเขาไม่รักเราเลย แทบจะไม่ให้อะไรเราหากมีการหย่าร้างเกิดขึ้น หลายคนต้องน้ำตาตกในยอมเซ็นนเอกสารตัวนี้ มิฉะนั้นแล้ว เขาจะไม่ยอมแต่งงานด้วย ผู้ที่จำเป็นต้องเซ็นข้อตกลงนี้ ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะถ้าเราทำดี เขาแน่ใจว่าเรารักเขาจริง ทั้งสองฝ่ายสามารถยกเลิก เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงนี้ได้ทุกเมื่อ หรือเขาอาจทำพินัยกรรมพิเศษให้คุณได้ มีหลายคู่ที่สามีฝรั่งได้ยกเลิกข้อตกลงนี้เมื่อเห็นว่าภรรยารักเขาจริงและจะไม่ทิ้งเขาไปหาคนใหม่ มาดูกันว่าข้อตกลงก่อนการสมรสนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง


ข้อตกลงก่อนการสมรส Prenuptial Agreement

ข้อตกลงก่อนการสมรส (บางทีแปลว่า สัญญาก่อนการสมรส) ภาษาอังกฤษเรียกว่า prenuptial agreement หรือเรียกสั้นๆ ว่า prenup เป็นสัญญาที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบุคคลสองคนก่อนที่จะทำการสมรส โดยทั่วไปสัญญานี้จะบันทึกรายการของทรัพย์สิน (และหนี้สิน) ของแต่ละฝ่าย แล้วระบุว่า บุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินแต่ละชิ้นหลังจากที่สมรสไปแล้ว

ข้อตกลงก่อนการสมรสนี้ จัดว่าเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ซึ่งคนไทยส่วนมากจะยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้นเฉพาะในหมู่ของเศรษฐีที่เมืองไทย ยังไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาสำหรับคู่แต่งงานไทยที่จะต้องเซ็นข้อตกลงก่อนการสมรส

ประเทศไทยใช้ระบบการแบ่งสินสมรสซึ่งคล้ายกับของเหล่าประเทศตะวันตกที่เรียกว่า community property แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยได้บัญญัติอย่างชัดเจนถึงข้อแตกต่างระหว่างสินส่วนตัวและสินสมรส โดยสินส่วนตัว หมายความถึง ทรัพย์สินที่สามารถแยกเป็นของส่วนบุคคลซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้นๆ ก่อนสมรส ส่วนสินสมรส หมายความถึง ทรัพย์ที่เป็นสมบัติร่วมกันและทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่สมรส โดยเมื่อเกิดการหย่าร้างขึ้น จะมีเพียงสินสมรสเท่านั้นที่นำมาพิจารณาในการแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไป อาจจะเป็นการลำบากที่จะพิสูจน์ว่า ทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัว ดังนั้น การทำข้อตกลงก่อนการสมรสอาจจะสามารถช่วยในการแบ่งทรัพย์สินได้ในกรณีที่การสมรสจบลงด้วยการหย่าร้าง

เมื่อชายฝรั่งต้องการให้ภรรยาไทยในอนาคตเซ็นข้อตกลงก่อนการสมรส ก็มักจะเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบากใจและยุ่งยากพอสมควร ส่วนใหญ่สามีฝรั่งจะมีอายุมากกว่าภรรยาไทย และมักจะมีทรัพย์สินที่เก็บสะสมมาเป็นเวลาหลายปี หรือมีรายรับจากหลายแห่งเข้ามาในระหว่างการสมรส ในขณะที่ภรรยามีอายุน้อย ยังไม่มีเงินและทรัพย์สินมากนัก สามีจึงต้องการที่จะวางแผนสำหรับสถานการณ์การเงินในอนาคต และปกป้องผลประโยชน์ของตนเองหากมีการหย่าร้างเกิดขึ้น ภรรยาไทยบางคนอาจจะรู้สึกเสียใจ เจ็บปวด น้อยใจและรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความไว้วางใจเมื่อพวกเธอทราบเรื่องว่าจะต้องทำข้อตกลงก่อนการสมรส เนื่องจากหญิงไทยคาดหวังว่าสามีจะดูแลและรักพวกเธอตลอดไป นอกจากนั้น พวกเธอยังคิดว่า ข้อตกลงก่อนการสมรสเป็นการไม่แสดงถึงความรักอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่ถ้าสามีต้องการความมั่นคงในอนาคตทางการเงิน การเซ็นสัญญาก่อนสมรสจะเป็นการตัดสินใจที่ดีโดยเฉพาะในกรณีที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมากระหว่างทรัพย์สินของสามีและภรรยา

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคลที่จะต้องตัดสินใจว่าจะต้องมีข้อตกลงก่อนการสมรสหรือไม่ คุณควรให้ทนายความที่มีประสบการณ์เป็นผู้จัดเตรียมให้ จากนั้นจึงค่อยแปลเป็นภาษาไทยโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นลายลักษณ์อักษรหรือให้ล่ามอ่านให้ฟังเป็นภาษาไทยเพื่อที่คุณจะได้ทำความเข้าใจในเนื้อหาของสัญญาก่อนที่จะเซ็น ขั้นตอนนี้ สำคัญมากในการป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายมาเรียกร้องภายหลังว่าไม่เข้าใจในเนื้อหาของสัญญาก่อนสมรส

ขอแนะนำว่า สัญญาก่อนสมรสควรจะได้รับการร่างโดยทนายความผู้มีประสบการณ์ และจัดทำขึ้นเป็นสองภาษา คุณต้องเข้าใจเนื้อหาของสัญญาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะเซ็นเพื่อที่จะให้สัญญามีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

บทความข้างล่างนี้ได้รับอภินันทนาการจากคุณเอ็ดเวิร์ด ดับบลิว ฮอลแลนด์ (Edward W. Holland, Jr. ewhollandjr@aim.com) ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัว