จริยธรรมหรือจรรยาบรรณกับงานล่ามอิสระ
ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะคะ การทำงานล่ามไม่ได้ง่ายอย่างที่ คิด ล่ามจะต้องรู้จักช่วยตัวเอง ต้องรู้ทางหนีทีไล่ แก้ไขสถานการณ์ นอกเหนือจากที่จะต้องเก่งภาษาระดับสูงแล้ว จะต้องมีความรู้รอบตัวและในเนื้อหาที่ตนแปลเป็นอย่างดีด้วย

สัปดาห์นี้คุณจั๊ม อาภัณตรี ปุระเทพ ล่ามไทยที่มีประสบการณ์สูงแห่งรัฐวอชิงตันได้ฝากบทความมาให้ คุณผู้อ่านได้อ่านกันว่าด้วยเรื่องจริยธรรมหรือจรรยาบรรณกับงานล่ามอิสระค่ะ


....................

เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง โดย อาภัณตรี ปุระเทพ

งานล่ามอิสระ ฟังดูเผิน ๆ ก็เหมือนง่าย ไร้กฎเกณฑ์ ไม่มีหัวหน้างานมาคอยติดตามควบคุมแบบหายใจรดต้นคอ แท้ที่จริงแล้วงานล่ามนี้เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดวิ จารณญาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ ต้องคิดเอง แก้ปัญหาเอง ซึ่งถ้าจัดการได้ไม่ดีแล้วนั้น ผลที่ตามมาอาจสร้างความเสียหายให้ทั้งแก่ตัวล่ามเอง และฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเป็นอันมาก

บางครั้งในเวลาว่างฉันก็นึกทบทวนในใจว่าเป็นนักมวยนี้ดี นะ มีพี่เลี้ยงหลายคนคอยนวด คอยให้น้ำ มีคนคอยบอกว่าให้ออกหมัดตอนไหนอย่างไร นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลยังมีหัวหน้าโค้ชคอยวางแผนและสั่งการในแต่ละเพลย์ โดยเฉพาะอย่ายิ่งผู้เล่นตำแหน่งสำคัญอย่างควอเตอร์แบคยังสามารถใส่หูฟังเพื่อการสื่อสารในขณะลงเล่นในสนาม นักเทนนิสหญิงระดับโลกที่มีพ่อเป็นโค้ชยังคอยมองและส่งสัญญาณว่าจะให้นักกีฬาดื่มน้ำหรือพักเบรคกินอาหารเสริมเติมพลังเมื่อไหร่ แต่งานล่ามอิสระเป็นงานที่ต้องวางแผนการทำงาน คิดและตัดสินใจแก้ปัญหาในงานด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราทำอะไรแบบไร้ทิศทางตามอำเภอใจ อาชีพล่ามนั้นมีข้อบังคับสำคัญให้ยึดถือ จะเรียกว่าเป็นคัมภีร์ก็ได้ นั่นก็คือประมวลจริยธรรม (หรือจรรยาบรรณ) สำหรับวิชาชีพล่าม ซึ่งในระเทศสหรัฐอเมริกานั้นประมวลจริยธรรมสำหรับวิชาชีพล่ามไม่เหมือนกันในแต่ละรัฐ จะแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด แต่หลักสำคัญนั้นจะคล้าย ๆ กัน เช่น แปลทุกอย่างที่พูดในศาล แปลไม่ให้ตกหล่น ห้ามเพิ่มเติมหรือตัดข้อความ ห้ามอธิบาย ฯลฯ ซึ่งข้อนี้เกี่ยวกับการใช้ ความรู้ ความสามารถทางภาษามาประยุกต์ใช้ ในงาน หากล่ามได้ยินไม่ชัด หรือไม่เข้าใจคำไหน ก็สามารถร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้พูดนั้นพูดซ้ำให้ชัดเจน หรือทำให้กระจ่างชัดได้ พูดง่าย ๆ ว่าล่ามใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการใช้ภาษาเพื่อเป็นช่องทาง (conduit) ในการติดต่อสื่อสารภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาที่แปล อีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นความรับผิดชอบและเกณฑ์วิธีของล่าม (Interpreter’s Responsibility and Protocol) ซึ่งตัวอย่างของส่วนนี้ได้แก่ ความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง การรักษาความลับ การตระหนักรู้ว่าตนเองมี ความสามารถเหมาะสมสำหรับงานแต่ ละงานหรือไม่ การทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและเป็นมืออาชีพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

เช่นเดียวกันกับงานอื่น ๆ งานล่ามเป็นงานที่ต้องพัฒนาด้านภาษา และติดตามอัพเดตข่าวสารบ้านเมือง การใช้ภาษาแสลง ซึ่งปัจจุบันในเทคโนโลยี สารสนเทศช่วยให้การเรียนรู้ และติดตามข่าวสารง่ายขึ้นกว่าในอดีต แต่ปัญหาที่อาจจะพบได้บ่อยและเป็นเรื่องที่ต้องใช้ ความระมัดระวังและรอบคอบอย่างยิ่งในการจัดการ นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมในงานล่าม (Interpreters’ Code of Ethics) ในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบและเกณฑ์วิธีของล่าม

ด้วยความสำคัญดังกล่าวข้างต้นนั้น ในการต่อใบอนุญาต ซึ่งสำหรับรัฐวอชิงตันนั้นต้องกระทำทุกสองปี สำนักงานบริหารศาล ประจำศาลสูงแห่งรัฐวอชิงตัน (Administrative of Courts, the Supreme Court of Washington) จึงมีข้อกำหนดให้ล่ามผ่านการฝึกอบรมการศึกษาต่อเนื่อง โดยสองหน่วยกิตในบรรดาสิบหน่วยกิตนั้นต้องเป็นการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมสำหรับล่าม 2 หน่วยกิต ส่วนหน่วยกิจที่เหลือเป็นวิ ชาอะไรก็ได้ที่ล่ามแต่ละคนสนใจ แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติจาก สำนักงานบริหารศาล ฯ เสียก่อน หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการฝึกอบรมนี้ ถือว่าขาดคุณสมบัติทันที จะถูกยึดใบอนุญาต และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามในศาลของรัฐ ฯ ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะผ่านการสอบและการอบรมเพื่อขอรับใบอนุญาตใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ เวลานานเกือบหนึ่งปีและมีขั้นตอนต่าง ๆ เป็นลำดับตามที่สำนักงานบริ หารศาล ฯ กำหนด ถือว่าเรื่องยาวเลยล่ะค่ะงานนี้ โดยความคิดเห็นส่วนตัวแล้วกว่าจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพล่ามมานั้นถือว่ายากพอสมควรแล้ว การรักษาใบอนุญาตไว้นั้นยากและมีรายละเอียด และข้อควรระวังที่ซับซ้อนยิ่งกว่า

เรื่องประมวลจริยธรรมในงานล่ามนั้น บางครั้งเวลารับงานผ่านบริษัทนายหน้าเมื่อตกลงเรื่องวัน เวลา และค่าแรงกันได้แล้วล่ามจะได้รับประมวลจริยธรรมในงานล่ามชุดหนึ่งซึ่งเป็นของเอเย่นต์เอง และอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นของลูกค้าที่เป็นองค์กร หรือหน่วยงาน เช่นโรงพยาบาล สำนักงาน DSHS เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีข้อกำหนดที่ซ้ำกัน แต่เราก็ต้องอ่านให้ครบถ้วนทั้งสองชุด ส่วนที่มักจะแตกต่างออกไปก็คือส่วนที่เป็นของบริษัทนั้นจะห้ามล่ามทำการติดต่อลูกค้าของบริษัทโดยตรงในอนาคต ซึ่งจะถือเป็นการแย่งลูกค้า ข้อนี้สำคัญมากเพราะเป็นการผิดมารยาทในการทำธุรกิจ

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเนื้อหาของข้อกำหนดเพียงหนึ่งหน้ากระดาษหรืออย่างมากก็ไม่เกินสองหน้ากระดาษนั้น เนื้อหาก็เป็นเรื่องเดิม ทำไมจึงกำหนดให้เรียนซ้ำแล้วซ้ำ เล่าทุก ๆ สองปี คำตอบก็คือเวลาทำงานมักจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แปลกและใหม่เข้ามาให้ขบคิดและแก้ปัญหาอยู่ เรื่อย ๆ ตัวอย่างแรกเช่น เวลาฉันไปแปลภาษาให้ลูกค้าที่ โรงพยาบาลลูกค้ามักจะถามเราเสมือนเราเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ หากเราตอบคำถามเกี่ยวกับการแพทย์โดยตรงกับลูกค้า นี่คือตัวอย่างที่ผิด เพราะเราเปลี่ยนไปทำหน้าที่ให้ คำปรึกษาแทนการทำหน้าที่แปลภาษา มีบางครั้งลูกค้ายังบอกว่าฉันทำงานในแปลในโรงพยาบาลบ่อย ๆ อย่างนี้ แสดงว่าฉันก็รู้เหมือนกับที่คุณหมอรู้ แถมยุส่งด้วยการถามว่าทำไมฉันไม่ไปเรียนเป็นแพทย์ซะเลยล่ะ จะได้รักษาเอง แปลเองไปด้วย นั่นไงล่ะ คนไข้เล่นบทบาทเป็นอาจารย์ แนะแนวเสียเองเลย

สำหรับลูกค้าที่ฉันไปแปลให้ ในศาลก็เช่นเดียวกัน มักจะถามเกี่ยวกับข้อกฎหมาย วิธีแก้ปัญหาคือ เมื่อเจอคำถามลักษณะนี้ฉันจะบอกลูกค้าว่าจะจดจำคำถามไว้ แล้วจะถามทนาย หรือ advocate หรือถามศาล หรือผู้เกี่ยวข้องให้ แล้วเมื่อมีโอกาสก็ถามผู้ที่เกี่ยวข้องที่สามารถให้คำตอบได้ ฉันเข้าใจดีว่าผู้มีคดีความกัน ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ ผู้ร้องทุกข์ หรือจำเลยก็ย่อมวิตกกังวล ประหม่ากันทั้งนั้น บางครั้งในคดีการฟ้องหย่าแต่ฝ่ายเดียว (Ex parte) ซึ่งคู่ความที่เป็นผู้ตอบ (respondent) ไม่มา มาเฉพาะ โจทก์ที่ยื่นฟ้องหย่าที่ศาลเรียกฉันไปแปลให้ วันนั้นมีผู้ช่วยเหลือโจทก์ ในการกรอกเอกสารแต่ไม่สามารถขึ้นว่าความแทนโจทก์ได้เพราะไม่ใช่ ทนาย ช่วงที่นั่งในห้องพิจารณา รอศาลท่านขึ้นนั่งบัลลังก์ ท่าทางโจทก์จะตกประหม่าเธอจึงถามฉันว่า ”วันนี้จะใช้เวลานานมั้ยคะ” อยากบอกเธอเหลือเกินว่า “คุณพี่ขา ตัวดิฉันเองทำหน้าที่เป็นล่าม ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้พิพากษาท่านจะไต่สวนอะไรนานแค่ไหนก่อนที่ท่านจะมีคำวินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุดว่าให้หย่าขาดได้” แต่ดูจากเอกสารแล้วไม่น่าจะนานเพราะเป็นคดีที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีทรัพย์สินหรือหนี้สินต้องแบ่ง แถมไม่มีบุตรมาเกี่ยวข้องในคดี เอกสารที่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการของศาล (facilitator) ตรวจให้ก่อนนำยื่นต่อศาลก็เรียบร้อย ครบถ้วนทุกประการ เลยตอบไปว่าเรื่องนี้ไม่ สามารถให้คำตอบได้ แต่ยินดีที่จะถามคำถามเดียวกันกับผู้ที่สามารถให้คำตอบได้ถ้าต้องการ และยินดีจะแปลให้ คำถามลักษณะนี้เจอค่อนข้างบ่อย แต่ถามโจทก์ถามผิดคน ผู้ที่ให้คำตอบที่ดีที่สุดคือศาลเองว่าท่านมีข้อสงสัยอะไร ต้องการไต่สวนเรื่องใดโดยเฉพาะมากน้อยแค่ไหน ถ้าท่านพิจารณาเอกสารแล้วเห็นสมควรวินิฉัยได้เลยก็คงไม่นาน ปรากฏว่าคดีนั้นดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เพราะศาลท่านถามคำถามโจทก์ ในประเด็นที่ต้องวินิฉัยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนนำมาออกเป็นคำสั่งให้สิ้นสุดการสมรส (Divorce Decree) เมื่อเสร็จกระบวนการในศาลและออกจากห้องพิจารณาคดีแล้วนั้น ผู้ช่วยเหลือโจทก์จึงพูดขึ้นมาว่าศาลท่านใช้เวลาในการสอบถามล่าม และถามคำถามล่ามเกี่ยวกับคุณวุฒิการศึกษา และคุณสมบัติอื่นในการเป็นล่ามของฉันนานกว่า และหลายคำถามกว่าที่ท่านถามโจทก์เสียอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นระเบียบวิธีการที่ศาลท่านปฏิบัติอยู่แล้วในกรณีที่ ใช้ล่ามแปลภาษาในคดี

อีกข้อหนึ่งที่พึงระวังก็คือการสำแดงเกี่ยวกับวิชาชีพ เมื่อทำหน้าที่เป็นล่ามอยู่นั้น ห้ามบอกกล่าวกับลูกค้าว่าเราเป็นคนแปลเอกสารด้วย เพราะหน้าที่ขัดแย้งกัน อันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน กล่าวคือ ห้ามสำแดงคนว่าเป็นผู้ทำธุรกิจอื่นนอกเหนือจากล่าม เช่นห้ามขายประกัน ขายเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพเป็นต้น อ่านไปก็นึกอยู่ในใจว่าใครจะมี เวลาทำอะไรควบคู่กันไปได้ขนาดนี้ เวลาทำงานฉันก็กังวลแต่เรื่องงาน ตาดูหูฟัง เตรียมพร้อมทุกขณะจิต ไม่มีความสามารถในการทำงานซ้ำซ้อน หรือทำงานไซด์ไลน์ขายผลิตภัณฑ์ เลย แต่จริง ๆ แล้วก็คงมีคนเคยทำมาก่อนแล้ว จึงมีการตั้งเป็นกฎข้อบังคับห้ามกระทำ เช่นเกี่ยวกับกฎหมาย ที่เขียนตามหลังเหตุการณ์เพื่อห้ามการกระทำผิดซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ สิ่งนี้ถือเป็นข้อห้ามที่เคร่งครัดมากจนต้องนำมาเขียนเป็นข้อบังคับ

มีหลายเหตุการณ์ที่เราต้องใช้วิ จารณญาณในการตัดสินใจและคำพูดคำจาที่ใช้ในการปฏิเสธที่ จะทำตามใจผู้ที่เราแปลให้แบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น หลายปีก่อนฉันเคยไปเป็นล่ามในกรณีการขอความช่วยเหลือการดูแลผู้สูงวัยในบ้าน (adult homecare disability) กรณีนี้ผู้ที่เราแปลเป็นผู้สูงวัยที่มีสิทธิในการได้รับความช่วยเหลืออยู่ก่อนแล้ว มีลูกสาวอยู่ข้าง ๆ เวลาสัมภาษณ์ ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมเอกสารสัมภาษณ์และเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล็บท็อปเตรียมใช้งานอยู่นั้น ยังไม่ได้เริ่มสัมภาษณ์ ลูกสาวก็ได้บอกกับฉันว่าถ้าเจ้าหน้าที่ถามก็ให้ฉันพูดไปเลยว่าขอชั่วโมงดูแลคุณแม่อย่างเต็มที่ ให้สูงสุดเท่าที่รัฐจะให้ได้ คุณแม่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องมีคนคอยดูแลทุกอย่างตลอดเวลา “ให้น้องพูดแทนพี่ไปเลยนะ” ปัญหานี้พบบ่อยแต่แก้ไม่ยาก เพียงบอกว่าถ้าคุณมีอะไรจะบอกก็ รอจนเจ้าหน้าที่เริ่มการสัมภาษณ์ เพราะเจ้าหน้าที่จะถามคำถามเป็นชุดอยู่แล้ว และยินดีจะแปลตามที่ผู้พูดแต่ละฝ่ายพูด ข้อนี้เกี่ยวกับความเป็นกลางสำหรับทุกฝ่าย ล่ามเป็นเพียงสื่อ เป็นสะพานเชื่อม เราต้องเป็นกลาง ลักษณะนี้เป็นการส่อเจตนาที่ จะใช้ล่ามเป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าเราทำตัวไม่เป็นกลาง จะเป็นการขัดต่อประมวลจริยธรรมทันที ล่ามต้องตระหนักว่าเราต้องไม่ เป็นเครื่องมือของใคร ควรมีสติและใช้วิจารณญาณควบคู่ ไปด้วยในการทำงาน กว่าจะเป็นล่ามที่ได้รับการรับรองเราต้องผ่านการอบรมและการทดสอบมากมาย เวลาที่ใช้ในการท่องหนังสือหนังหาเตรียมสอบล่าม เสียทั้งเงิน ทั้งแรงกายแรงใจ ทั้งเวลากว่าจะได้ใบอนุญาตมาครอบครอง อย่าให้ใครมาทำให้เราเสีย เพราะถ้าถูกยึดใบอนุญาตแล้วการขอต่ออายุ หรือสอบขอใบอนุญาตใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันวุ่นวาย เสียประวัติอีกต่างหาก เราต้องรู้จักครองตนให้ เหมาะสมอยู่เสมอ

อีกเรื่องหนึ่งที่ฉันเคยกระทำผิดเพราะลืมตัวคือเรื่องการถือเอกสารให้ลูกค้า ตอนเป็นล่ามใหม่ ๆ รู้สึกว่ามือไม้เกะกะไปหมด นี่ขนาดมีเพียงสองมือนะยังไม่รู้ ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหน ข้อแนะนำ (แกมบังคับตามความจำเป็นในวิชาชีพนี้) ก็คือให้ถือเครื่องเขียน สมุดจดและปากกานี่ล่ะค่ะเป็นอุปกรณ์สำคัญมากสำหรับล่ามเลยทีเดียว ขาดกันไม่ได้ เช่นเดียวกับตำรวจซึ่งจะสังเกตุ เห็นได้ว่าตำรวจทุกนายที่ไปสอบสวนในที่เกิดเหตุต้องมีปากกาและสมุดพกเล่มเล็ก ๆ ติดกระเป๋าเสื้อไว้ กลับเข้าเรื่องกันต่อนะคะ ถ้าไม่ถือสมุดและปากกาก็กุมมือตัวเองไว้ที่ด้านหน้าระดับเอวก็เหมาะสมดี

ขอขยายความเรื่องนี้นะคะ ด้วยพื้นนิสัยฉันเป็นคนไม่นิ่งดูดาย เวลาใครทำของตกหล่น หรือต้องช่วยหยิบจับอะไรก็จะรีบเข้าไปช่วยเหลือทันที นิสัยนี้จึงติดตัวมา แรก ๆ ที่ไปทำงานในศาลก็มีทำผิดบ้าง เช่นจ่าศาลส่งเอกสารเพื่อให้ฉันแปลเอกสารจากการอ่านในขณะนั้น (sight translation) ตอนนั้นคู่ความฝ่ายหนึ่งที่ฉันแปลให้ก็มีข้าวของและเอกสารเต็มมือ และด้วยความเคยชินก็เลยช่วยถือเอกสารนั้นซึ่งเป็นสำเนาฉบับที่ เป็นของคู่ความฝ่ายนั้น พอสักพักนึกขึ้นได้จึงยื่นเอกสารให้คู่ความถือไว้เอง ข้อนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะเกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความแท้จริง (authentication) ของหลักฐาน ล่ามไม่ควรช่วยเหลือ หรือหยิบจับเอกสารในส่วนที่เป็นของคู่ความไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะหากมีการถามว่าเอกสารผ่านมือใครบ้างมาก่อนหน้านี้ แล้วหากมีล่ามเข้ามาเกี่ยวข้องในการส่งต่อเอกสารแล้วนั้นนับว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง มิหนำซ้ำยังอาจจะเป็นประเด็นให้ อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ล่ามเข้าใจผิดคิดว่าล่ามนั้นไม่ เป็นกลาง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่ลุกลามไปกระทบกฎข้อบังคับว่าด้วยความไม่ลำเอียงและความเป็นกลาง (Impartiality and Neutrality) ได้อีก ในกระบวนการทางศาลนั้น หากคู่ความต้องใช้เวลาในการหยิบย้าย หรือเตรียมเอกสารก็ให้ฝ่ายนั้น ๆ ดำเนินการเอง ล่ามทำหน้าที่เป็นผู้แปลภาษา ไม่ใช่ผู้ถือเอกสารหรือแมสเสนเจอร์ส่งสาร ข้อนี้สำคัญมากเช่นกัน แต่ถ้าฉันก็จำไว้ว่าเคยทำผิดแล้วก็จะจำขึ้นใจไม่ทำผิดซ้ำอีก

พูดถึงเรื่องการถือข้าวถือของนั้น เมื่อครั้งหนึ่งที่ฉันเป็นล่ามการแพทย์ในฤดูหนาว พอลูกค้าเข้าไปในห้องตรวจและปิดประตูแล้วนั้น มือซ้ายถือสมุดจด ส่วนมือขวาถือปากกาในลักษณะเตรียมพร้อมเต็มที่คอยชำเลืองไปทางที่หมออยู่ รอคอยว่าคุณหมอจะเริ่มพูดเมื่อไหร่ สักพักรู้สักว่ามีอะไรมาพาดที่ แขน เอ๊ะ...เสื้อโค้ตนี่นา แล้วทำไมจึงมาพาดที่แขนเราล่ะนี่ สักพักพอนึกขึ้นได้ ก็เลยบอกลูกค้าไปว่า “คุณยายคะที่ประตูมีตะขอสำหรับเกี่ยวเสื้อโค้ต ถ้าคุณยายเอื้อมไม่ถึงหนู จะนำไปแขวนให้นะคะ” และอีกหลายครั้งที่ลูกค้าฝากเอ่ยปากฝากให้เราดูแลกระเป๋าถือให้ ในขณะจะไปเข้าห้องน้ำบ้าง หรือตอนลูกค้าเปลี่ยนเสื้อในห้องรอก่อนเข้าห้องตรวจบ้าง ฉันคิดอยู่ในใจว่าจะไว้ใจกันอะไรมากมายขนาดนี้ เลยต้องบอกว่าลูกค้าควรจะถือกระเป๋าที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวเอง หรือไม่ก็ใส่ไว้ในล็อกเกอร์ที่ มีกุญแจล็อคไว้ให้ เช่นในกรณีตรวจแมมโมแกรม

มาถึงตอนนี้ก็เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่า นอกจากความรู้ในวิชาชีพที่ต้องมีแล้ว ล่ามยังต้องนึกอยู่เสมอว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อไม่ให้ขัดต่อประมวลจริยธรรมในวิชาชีพล่าม ไม่มีใครคอยให้คำปรึกษาในงาน ไม่มีโค้ช ไม่มีพี่เลี้ยง ต้องบินเดี่ยวอยู่เป็นประจำ ยกเว้นในบางงานที่เป็นการพิจารณาคดีซึ่งต้องใช้ทีมล่ามสองคนหรือมากกว่า งานลักษณะนี้จะเป็นโอกาสที่ดี ในการเรียนรู้กับรุ่นพี่ที่เชี่ยวชาญในงาน ซึ่งฉันเองก็ยินดีน้อมรับฟังคำแนะนำเหล่านั้น และขอบคุณที่เค้าอุตส่าห์เตือน ถ้าเค้าไม่หวังดีเค้าคงไม่เตือนหรอก ปล่อยให้เราทำผิดไปเลยซึ่งเราก็ อาจจะไม่รู้ตัว ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ทำงานร่วมกับทีมล่ามบ่อยนัก แต่ฉันก็รอคอยโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับล่ามท่านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับเรื่องประมวลจริยธรรมในวิ ชาชีพล่ามนี้เป็นเรื่องที่เรียนกันไม่จบ มักจะมีกรณีศึกษาใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้เสมอ เช่นเวลาไปอบรมเพื่อให้ได้หน่วยกิตสำหรับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพดังที่กล่าวข้างต้น ฉันมักจะเลือกเข้าร่วมอบรมกับหน่วยงานที่ผู้บรรยายเป็นผู้มี ประสบการณ์ในการทำงานสูง เพราะจะมีกรณีศึกษาใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ขอยกตัวอย่างนะคะ ตามกฎข้อบังคับทั่วไปที่ 11 (General Rule 11) ว่าด้วยประมวลจริยธรรมสำหรับล่ามศาลรัฐวอชิงตันมีทั้งหมด 7 ข้อ สำหรับรัฐ โอเรกอนซึ่งอยู่ใกล้เคียงมี 11 ข้อ เพียงแค่เรื่องรักษาความลับข้อเดียวซึ่งเป็นเรื่องไม่ ยากเพราะฉันก็ไม่นำเรื่องที่ได้ รู้เห็นในระหว่างการทำงานไปบอกใครอยู่แล้ว เลิกงานกลับบ้านก็มีเรื่องอื่นที่ต้องคิดต้องทำอยู่แล้ว วันรุ่งขึ้นก็ทำงานต่อ เมื่อคดีความจบก็ดำเนินชีวิตต่อไป แต่ในการอบรมฉันมักจะได้ยินเรื่องราวมากมายจากประสบการณ์ ตรงของผู้บรรยาย ซึ่งในกรณีหนึ่งที่ล่ามคนหนึ่งเผลอพูดเกี่ยวกับที่พักพิงสำหรับสตรี (Women Shelter) ออกมานิดเดียวในที่ชุมชุน ซึ่งบังเอิญญาติของอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินและจับต้นชนปลายได้ถูกว่าเหยื่อไปอาศัยอยู่ที่ไหน จนต้องมีการย้ายที่อยู่สำหรับเหยื่ออีกครั้งเพื่อเอาชีวิตให้รอด ซึ่งล่ามผู้นั้นได้รับงานเคสนี้ อย่างต่อเนื่องก็เผลอพูดเกี่ยวกับ Women Shelter แห่งใหม่ออกมาโดยไม่ทันคิดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา ปรากฏว่าฝ่ายที่คุกคามเหยื่อสามารถจับต้นชนปลายได้ถูก ไม่นานต่อมาปรากฏว่าเหยื่อคนดังกล่าวที่อาศัยอยู่ที่ Women Shelter หายตัวไปอย่างลึกลับจนกระทั่งทุกวันนี้ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นเรื่องที่ ชวนขบคิดว่าจะขยับตัวทำอะไร พูดอะไรต้องคำให้รอบคอบก่อน และควรจดจำไปประยุกต์ใช้ ในสถานการณ์ที่ เราอาจจะเจอในอนาคต ส่วนในสถานการณ์ยุ่งยากลักษณะหนี เสือปะจระเข้ (Dilemma) นั้น ถ้าเราอยู่ให้ห้องพิจารณาคดีก็ สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากศาลได้ เช่น ในกรณีที่ผู้ที่เราแปลให้หันมาถามคำถามกับล่าม เราก็สามารถพูดว่า


“Your honor, please instruct the plaintiff (or defendant) to direct the questions to the court.”

“ศาลที่เคารพ ขอความกรุณาสั่งให้โจทก์ (หรือจำเลย) ถามคำถามต่อศาลโดยตรง”

ส่วนข้อไม่มีใครบังคับได้ แต่เป็นสิ่งที่ล่ามอิสระพึงปฏิบัติคือความมีวินัย รับงานแล้วไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกก็ต้องไปตามที่ ตกลงนัดหมายไว้ ควรตรงต่อเวลา ซึ่งหมายถึงไปก่อนเวลาอย่างน้อย 15 นาที ยิ่งไปก่อนยิ่งทำให้เราได้เปรียบ มีเวลาในการสังเกตการณ์ และประเมินสถานการณ์ อีกอย่างควรมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เอ๊ะ...เกี่ยวอะไรกันกับการเป็นนักกีฬา นั่นก็คือควรมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจ เวลาลูกค้าติดต่อมา จะรับงานได้ไม่ได้ฉันก็จะแจ้งกลับไปให้เร็วที่สุด หากรับไม่ได้ลูกค้าจะได้ไม่รอค้างเติ่ง เขาจะได้แสวงหาล่ามคนอื่น เพราะเขาติดต่อเรามาแสดงว่าเขาคัดคุณสมบัติก่อนแล้วและเราก็ผ่านการคัดเลือกนั้น ยิ่งภาษาที่มีล่ามน้อยยิ่งต้องรีบตอบกลับ ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ไม่รับงานก็ไม่มีใครมาบังคับหรืออ้อนวอนให้ทำ เขาเคารพการตัดสินใจของเราอยู่ แล้ว การตอบกลับไปแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ และยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์ ที่ดีสำหรับงานครั้งต่อไปในอนาคตด้วย

หัวข้อประมวลจริยธรรมในวิชาชี พล่ามนี้เป็นเรื่องหนักในเชิงวิ ชาการ ชวนเครียด จุกจิก ยุ่งยาก ห้ามโน่นห้ามนี่สารพัด ฯลฯ แต่ถ้าได้เรียนรู้จากตัวอย่างที่ ทั้งดีและไม่ดีในบรรยากาศที่ ชวนให้เรียนรู้แล้วนั้นนับว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก เรื่องนี้เรียนในห้องเรียนไม่มี วันหมด เพราะประสบการณ์ในการทำงานแต่ ละครั้งจะแตกต่างกันไป ต้องเรียนด้วยตนเองจากประสบการณ์ตรง ฝึกวิเคราะห์แก้ปัญหาเอง เพราะเวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง