บทเรียนจากการเป็นล่าม
What I Have Learned as an Interpreter

ทุกคนต่างก็ได้เรียนรู้บทเรียนของชีวิต ทั้งจากการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม จากการท่องเที่ยว จากการอ่านหนังสือและจากการทำงาน สำหรับฉันในฐานะล่ามแล้ว ฉันได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ชีวิตและข้อผิดพลาดของคนจำนวนมาก จากที่ได้นั่งดูนั่งฟังเรื่องราวของคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในศาล จากผู้ที่ฉันเป็นล่ามให้ และจากผู้ที่ได้เปิดใจเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฉันฟังอย่างเปิดอก มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เรียนรู้ที่เป็นเรื่องจริงที่ฉันได้นำมาเป็นอุทธาหรณ์โดยที่ไม่ต้องประสบด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นที่สำนักงานทนายความ ในคุก ในบ้าน ในสถานที่เกิดเหตุหลายร้อยจุดในขณะที่ฉันทำงานเป็นล่ามอยู่นี้ ฉันสามารถเขียนสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้เป็นหนังสือได้อีกหลายเล่ม ฉันขอแบ่งปันบทเรียนที่ฉันได้เรียนรู้จากการเป็นล่ามบางส่วนกับผู้อ่านในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้

บทเรียนจากการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน Lessons from Jury Trials

การที่จะตัดสินว่าใครผิดหรือไม่ผิดนั้น ระบบศาลยุติธรรมของอเมริกาให้สิทธิจำเลยที่จะได้รับการตัดสินโดยคณะลูกขุน การที่ให้คนหลายๆ คนที่เป็นกลาง ที่ไม่มีอคติมาตัดสินนั้น โอกาสที่จะได้รับความยุติธรรมก็มากกว่าที่จะได้รับการตัดสินโดยพิพากษาเพียงคนเดียว ลูกขุนไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมาย แต่จะใช้สามัญสำนึก ความสมเหตุสมผลมาใช้ในการตัดสิน การเลือกลูกขุนจึงเป็นขั้นตอนที่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยให้ความสำคัญมาก ผู้พิพากษาจะถามลูกขุนทุกคนที่ถูกเลือกมาว่าจะสามารถตัดสินด้วยความยุติธรรมได้หรือไม่ เช่น ในคดีการล่วงละเมิดทางเพศ ฝ่ายจำเลยจะถามลูกขุนว่าเคยมีประสบการณ์ด้วยตนเองหรือไม่ มีสมาชิกครอบครัวคนใดเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ เป็นต้น ถ้าลูกขุนคนใดตอบว่ามี ก็มักจะถูกคัดออกเพราะประสบการณ์ที่ข่มขื่นนั้นอาจมีผลที่จะทำให้การตัดสินเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรมได้

ผู้พิพากษาจะบอกย้ำให้ลูกขุนเข้าใจก่อนการพิจารณาคดีว่า ให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่ามีอคติใดๆ อย่าตัดสินก่อนที่จะได้รับฟังหลักฐานพยานทั้งหมด หลังจากที่รับฟังหลักฐานพยานทั้งหมดแล้ว จึงค่อยไตร่ตรองตัดสินร่วมกัน

ในคดีที่ให้คณะลูกขุนตัดสิน มีหรือไม่ที่คุณเห็นใครสักคน คุณก็มีอาการโกรธเกลียดหรือไม่ชอบเขาทันทีเพราะคุณได้ยินได้ฟังแต่เรื่องไม่ดีเกี่ยวกับคนๆ นั้น ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้จักคุณและไม่เคยทำอะไรให้คุณเลย และในทางตรงกันข้าม คุณอาจจะชอบใครมากมาย จากการบอกเล่าของใครสักคนหรือจากสื่อมวลชนทั้งๆ ที่คนๆ นั้นก็ไม่รู้จักคุณและไม่เคยทำอะไรให้คุณ

จำเลยในคดีอาญาที่ไม่ได้ประกันตัวออกมา จะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชุดจากชุดนักโทษมาใส่ชุดสูทหรือชุดสุภาพอื่นๆ ได้ การใส่ชุดนักโทษมาฟังคดีต่อหน้าลูกขุนนั้นจะทำให้ลูกขุนรู้สึกไม่ดีต่อจำเลยและสามารถเกิดอคติได้

ในขณะที่ฉันเป็นล่ามให้จำเลย ฉันจะมีโอกาสได้นั่งฟังคดีตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงการตัดสิน ทั้งตอนที่ลูกขุนอยู่ด้วยและตอนที่ทนายความทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันเรื่องกฎหมายในตอนที่คณะลูกขุนไม่อยู่

จากการที่ได้เห็นคดีที่คณะลูกขุนได้ตัดสินหลายสิบคดีด้วยกัน ฉันได้เห็นความสำคัญของความจำเป็นที่ต้องรับฟังความจากทั้งสองฝ่าย ในฐานะล่าม ฉันจะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับคดีโดยเด็ดขาด ฉันมีหน้าที่ที่ต้องแปลไปตามเนื้อความ แต่ในใจของฉันแล้ว ฉันก็อดที่จะคิดไม่ได้

มีหลายครั้งที่ฉันนั่งฟังอัยการเปิดคดีและเบิกพยานฝ่ายอัยการให้กับคณะลูกขุนฟัง ฉันก็มักจะเคลิ้มไปกับคำพูดของฝ่ายโจทก์และคิดว่าจำเลยจะต้องผิดแน่ๆ แต่พอวันรุ่งขึ้น ก็ได้ฟังทนายความฝ่ายจำเลยแก้ต่าง ฉันก็เปลี่ยนใจโอนเอียงมาทางฝ่ายจำเลยว่าไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวหาเลย พอวันที่สามฝ่ายโจทก์ก็ได้นำเสนอหลักฐานพยานอีกครั้ง จะเอาผิดจำเลยให้ได้ พอมาถึงตอนนี้ ฉันเองก็เริ่มไม่แน่ใจว่าจำเลยผิดหรือไม่ผิด จนถึงตอนปิดคดี ฉันก็จะทำนายคำพิพากษาว่าจำเลยจะผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ฉันสามารถเดาถูกแทบจะทุกครั้งไป

พยานที่มาให้การแต่ละคนก็ใช่ว่าจะเชื่อได้ พยานฝ่ายโจทก์ก็จะให้การเข้าข้างโจทก์ และพยานฝ่ายจำเลยก็จะให้การเข้าข้างจำเลย ดังนั้นลูกขุนทั้งคณะต้องมาหารือกันว่าจะเชื่อใคร

การตัดสินโดยคณะลูกขุนก็ใช่ว่าจะยุติธรรมเสมอไป ลูกขุนหลายคนมักจะถูกโน้มน้าวโดยเพื่อนในคณะให้ออกคะแนนเสียงตาม ลูกขุนบางคนก็ได้คิดอยู่ในใจแล้วว่าจะตัดสินให้จำเลยผิดหรือไม่ผิดก่อนที่จะฟังหลักฐานพยานทั้งหมด คุณผู้อ่านสามารถดูการพิจารณาคดีในห้องไตร่ตรองของลูกขุน (jury deliberation room) ได้ในภาพยนต์เรื่อง 12 Angry Men ซึ่งจะเห็นได้ว่าลูกขุนแต่ละคนได้นำอคติ ประสบการณ์ต่างๆ ความโกรธเกลียดของตนเข้าไปในห้องตัดสินด้วย หลายคนก็พยายามที่จะโน้มน้าวชักชวนให้คนอื่นตัดสินเหมือนตนเพื่อจะให้การพิจารณาเสร็จสิ้นโดยเร็ว

ถึงแม้กฎหมายได้พัฒนาขึ้นมามากในเรื่องของความยุติธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็มีคดีนับไม่ถ้วนที่ทำให้หลายคนต้องถามว่าความยุติธรรมนั้นมีจริงหรือ ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกฟรี เป็นแพะรับบาปมากมาย บางคนก็ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ก่ออาชญากรรมนั้น แต่บางรายโชคดีหน่อยที่บางครั้งทางศาล อัยการหรือทนายความเห็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาคดี จึงได้ปล่อยตัวจำเลยไป (ซึ่งอาจจะได้เป็นนักโทษในเรือนจำมาหลายปีแล้ว) ส่วนผู้ที่ทำผิดที่ลอยนวล ไม่ถูกจับ ไม่ถูกดำเนินคดีก็มีถมเถไป บางคดีผู้กระทำผิดเป็นลูกหลานของคนมีเงิน ก่อคดีจนเป็นข่าวใหญ่โต แต่สักพักข่าวก็หายไป และผู้กระทำผิดนั้นก็ไม่ได้รับการลงโทษใดๆ

แม้แต่ในอเมริกาเองก็มีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่ประเจิดประเจ้อเหมือนที่เมืองไทย ทนายความที่เก่งๆ สามารถใช้จุดอ่อนของกฎหมายช่วยให้จำเลยหลุดจากคดีได้ เช่น ในคดีฆาตกรรมที่อดีตนักอเมริกันฟุตบอลชื่อดังที่ชื่อ โอ เจ ซิมป์สัน (Orenthal James Simpson) ถูกกล่าวหาว่าได้ฆ่าอดีตภรรยาและคู่รักของเธอตายคาบ้าน คดีนี้เป็นคดีที่ได้รับการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาในปีค.ศ. 1994 ที่ใช้เวลาในการพิจารณาคดีถึงแปดเดือน มีหลักฐานมากมายที่หลายคนเชื่อว่า โอ เจ ซิมป์สัน ผิดจริง แต่ทีมทนายความที่มาแก้ต่างให้โอ เจ ซิมป์สันนั้นเก่งมาก พวกเขาเลือกเอาแต่ลูกขุนที่คนหลายคนบอกว่า "งี่เง่า" ทุกคนออกเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าโอ เจ ซิมป์สันไม่ผิดตามข้อกล่าวหา ตอนหลังความจริงก็ปรากฏในคดีแพ่งว่าเขาได้ฆ่าทั้งสองคนนั่นจริง แต่โอ เจ ซิมป์สันก็ได้ถูกปล่อยตัวไป ไม่สามารถนำเขามาพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนได้อีกเพราะสิทธิอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญของอเมริกาได้ปกป้องจำเลยไม่ให้มีการถูกฟ้องซ้ำ (double-jeopardy) ในข้อกล่าวหาเดียวกัน

ดังนั้นการฟังความจากทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคุณฟังความข้างเดียว รับข้อมูลจากฝ่ายเดียว โดยที่ไม่ยอมฟังอีกฝ่ายหนึ่งเลย แน่นอน คุณก็ต้องเข้าข้างฝ่ายที่คุณฟังความ นั้น

การดูรายการทีวีหรืออ่านข่าวก็ควรฟังจากข้อมูลหลายๆ แห่ง ข้อมูลข่าวสารที่เราเห็นในสื่อปัจจุบันนั้นส่วนมากไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียว จะใส่ข้อคิดเห็น การโฆษณาชวนเชื่อ เนื้อหาที่สปอนเซอร์ต้องการเพื่อป้อนข้อมูลให้กับผู้บริโภคโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับที่ผู้พิพากษาจะคอยเตือนลูกขุนอยู่เสมอว่าอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือได้ยินโดยไม่ได้ไตร่ตรองร่วมกัน ฉันจึงได้เรียนรู้ว่าต้องทำตัวเป็นคนหูหนักเข้าไว้ เวลาจะฟังความต้องฟังทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่าฉันอาจจะเข้าข้างฝ่ายผิดเพราะเขาเป็นเพื่อนหรือญาติกับเรา แต่อย่างหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือ หลังจากที่ได้ข้อมูลมากที่สุดแล้วและได้ใช้วิจารณญาณของตนเองแล้ว ไม่ว่าจะเชื่อฝ่ายใดก็ตาม จะไม่ถือโกรธหรือเกลียดอีกฝ่ายให้เสียความรู้สึก จะไม่โกรธหรือเกลียดใครตามคนอื่น

ฉันได้ไปแปลให้พยานหลายคนในคดีเดียวกัน พยานที่เห็นเหตุการณ์ต่างจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่เหมือนกัน มีคดีหนึ่งมีพยานห้าคน แต่ละคนต่างบอกกับสารวัตรสอบสวนด้วยความมั่นใจว่า ผู้ต้องสงสัยใส่เสื้อแจ็คเก็ตสีขาว สีฟ้า สีดำ สีน้ำตาลและสีแดงตามลำดับ บังเอิญมีพยานผู้หนึ่งได้ถ่ายวิดีโอไว้ แล้วมาเปิดให้ดูทีหลัง ปรากฏว่าผู้ต้องสงสัยในคดีนั้นใส่เสื้อแจ็คเก็ตสีขาวและมีแถบสีดำเล็กน้อยอยู่ชายเสื้อ และอีกคดีหนึ่งที่ฉันเพิ่งทำมาไม่นานมานี้ เป็นคดีผู้ร้ายบุกเข้าบ้าน ผู้สอบสวนได้ถามพยานสองสามีภรรยาว่า ตอนที่เหตุการณ์เกิดขึ้นนั้นประตูเปิดหรือปิดอยู่ ฝ่ายสามีตอบว่า "ประตูเปิดอยู่" แล้วผู้สอบสวนก็ได้หันกลับมาถามคำถามเดียวกันกับภรรยาซึ่งได้ตอบว่า "ประตูปิดอยู่" แล้วก็โวยวายสามีต่อหน้าผู้สอบสวนและล่ามว่าสามีเป็นประสาท หลงๆ ลืมๆ อย่าเชื่อ ส่วนสามีก็ยืนยันอย่างหัวชนฝาว่าประตูเปิดอยู่ ณ ตอนเกิดเหตุ ทั้งๆ ที่ทั้งสองเห็นเหตุการณ์พร้อมกัน

นอกจากนี้ ฉันก็ได้เรียนรู้อีกว่า ในการสู้คดีในศาล แต่ละฝ่ายจะพยายามเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ในคดีอาญา อัยการก็จะพยายามเอาผิดจำเลยให้ได้ ฝ่ายจำเลยก็พยายามทุกอย่างที่จะให้ฝ่ายตนหลุดพ้นคดีหรือได้รับโทษน้อยที่สุด ส่วนในคดีแพ่ง ฝ่ายโจทก์ก็พยายามที่จะเรียกร้องค่าเสียหายให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ฝ่ายจำเลยก็พยายามที่จะเสียค่าชดเชยให้น้อยที่สุดหรือพยายามที่จะไม่เสียอะไรเลย ทุกคดีจะมีสองเวอร์ชั่นสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น มีผู้ดีผู้ร้าย ต้องใช้วิจารณาญาณอย่างมากในการตัดสิน ดังนั้นการให้หลายๆ คนมาช่วยกันพิจารณาตัดสินอย่างเช่นการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา

ผู้อ่านรู้จักหรือเคยเล่นเกมซุบซิบหรือไม่ ภาษาอังกฤษเรียกเกมนี้ว่า "The Telephone Game" "Broken Telephone" "Chinese Whispers" หรือ "Pass the Message" เป็นเกมที่คนแรกจะบอกประโยคที่ได้อ่านมาโดยการกระซิบให้คนที่สองฟัง แล้วคนที่สองก็จะกระซิบสิ่งที่ได้ฟังต่อให้คนที่สามฟัง ทำอย่างนี้เรื่อยๆ จนถึงคนที่ห้าหรือหก แล้วให้คนสุดท้ายบอกว่าตนได้ยินอะไรมาบ้าง จะเห็นได้ว่าประโยคที่คนแรกอ่านมานั้น แตกต่างกับที่คนสุดท้ายบอกอย่างสิ้นเชิงทุกครั้งไป ตัวอย่างเช่น คนแรกอ่านจากโพยที่เขียนไว้ว่า "หมาจิ้งจอกสีน้ำตาลกระโดดข้ามกระต่ายที่นอนตีพุงอยู่ใต้ต้นตาล" แต่พอถึงคนที่หก เขากลับมาเล่าเรื่องใหม่ว่า "หมาป่าวิ่งไล่จับกระต่ายตื่นตูมใต้ต้นมะพร้าว" เป็นต้น ผู้อ่านลองเล่นเกมนี้ดู แบ่งเป็นสองหรือสามกลุ่ม จะเห็นได้ว่าทุกกลุ่มจะเปลี่ยนเนื้อหาของต้นฉบับแทบจะแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ในชีวิตจริง ข้อมูลข่าวสารที่เราได้ยินได้ฟังมาจากคนอื่นก็เป็นเช่นนั้น พอบอกต่อๆ กันไป ก็จะมีการเติมสีสัน ตัดต่อ หรือถ้ามีความโกรธแค้น ความหมั่นไส้หรือความอิจฉาริษยา ก็จะเติมความรู้สึกเหล่านั้นลงไปด้วย บางคนก็มีนิสัยชอบนินทาเป็นงานอดิเรก ชอบชวนคนอื่นนินทา ชอบฟ้อง ชอบเลียแข้งเลียขา ทำให้คนอื่นขัดใจกันหรือเข้าใจผิดกัน ดังนั้น ฉันได้เรียนรู้ว่า จะต้องระวังคำพูดให้ดี จะคอมเม้นท์อะไรทางวาจาต้องคิดให้ดี ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ แม้แต่คนที่สนิทกัน ฉันจึงชอบเขียนมากกว่า เพราะการเขียนเป็นลายลักษณ์ มันชัดเจนกว่า สามารถตีความจากสิ่งที่เขียนได้ ไม่ต้องผ่านการคัดกรองโดยคนอื่น แต่ก็ต้องระวังอย่างมากเช่นกัน การที่จะเขียนสิ่งใดออกไป ต้องคิดให้ดี ดูว่ามันจะเกิดประโยชน์หรือไม่ การที่จะโพสท์ข้อความหรือบทความใดๆ ในโซเชียลมีเดีย ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษเพราะสามารถกระจายไปได้เร็วมาก ยิ่งเป็นข่าวร้ายหรือสิ่งที่ไม่ดี ยิ่งเดินทางได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ก่อนที่ฉันจะตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดี ใครถูกหรือผิดนั้น ฉันจะคิดถึงว่าถ้าตนเป็นลูกขุนแล้ว ตนจะตัดสินอย่างไร ฉันได้พยายามทำตัวเป็นกลางเพื่อให้ความยุติธรรม มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะฉันก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ก็พยายามที่จะไม่ให้ความโลภ โกรธ หลงมามีส่วนร่วมในการตัดสิน