ทำไมถึงคนอยากมาอเมริกากันนัก ตอนที่ 2

ฉันได้พูดคุยกับคนไทยหลายพันคนในอเมริกาผ่านงานล่าม งานสังคม เพื่อนๆ ญาติๆ ของฉันเอง จึงได้ยินได้ฟังถึงเรื่องการเดินทางของพวกเขาจากเมืองไทยจนมาถึงอเมริกาว่าพวกเขาได้เดินทางมาถึงที่นี่กันได้อย่างไร ฉันจะสรุปขั้นตอน เทคนิค วิธีต่างๆ ในฐานะล่ามให้กับผู้อ่านฟังแบบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนของการขอวีซ่าแต่ละประเภทในบทนี้ ผู้อ่านที่อยู่ในอเมริกาสามารถส่งข้อมูลนี้ให้กับญาติๆ หรือเพื่อนๆ ที่เมืองไทยได้ หรือสามารถอ่านได้จากหนังสือ "บันทึกของล่าม" ที่มีจำหน่ายที่ร้านดอกหญ้า เมืองลอสแองเจลลิส หรือสั่งทางอีเมลกับผู้เขียนได้ที่ thailao@hotmail.com

อเมริกาไม่ได้อยากที่จะกีดกันไม่ให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศเขา ความจริงแล้วไทยกับสหรัฐมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและทางการทูตที่ดีต่อกัน อเมริกาไม่กลัวว่าคนไทยจะไปก่อการร้าย อเมริกาอยากให้คนไทยได้มาท่องเที่ยว มาดูงาน มาเรียนหนังสือ มาลงทุน อพยพมาอยู่ เพียงแต่ต้องการให้มาอย่างถูกต้อง มาให้ถูกจุดประสงค์ของวีซ่าที่ตนขอมา ดังที่ฉันได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่คนไทยจำนวนนับแสนได้วีซ่ามาแล้ว ไม่ทำตามเงื่อนไขของวีซ่าที่ตนได้รับ ทำให้คนไทยที่กำลังจะตามหลังมาต้องได้รับความไม่สะดวก และหลายคนถูกปฏิเสธวีซ่า ทั้งๆ ที่มีเอกสารครบถ้วนและมีเจตนาที่จะมาทำธุระของตนตามวีซ่าที่ตนขอไป

ที่ฉันเขียนวิธีการขอวีซ่าเพื่อมาอเมริกาในหนังสือเล่มนี้ก็เพราะได้มีผู้อ่านได้ร้องขอให้ฉันสรุปวิธีการวีซ่าและการสัมภาษณ์เป็นภาษาไทยที่เข้าใจง่าย และตัวฉันเองก็อยากสนับสนุนให้คนไทยเดินทางมาอเมริกาให้มากที่สุดเพื่อได้มีโอกาสได้เห็นประเทศของเขาอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ฉันคิดว่าคนเราควรมีอิสรภาพที่จะเดินทางไปไหนในโลกนี้ได้ แต่ก็เข้าใจเหตุผลที่บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ต้องมีวีซ่าที่ยุ่งยากด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว

ดูเหมือนว่าการขอวีซ่าเข้าอเมริกานั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ซับซ้อนสำหรับคนจำนวนมาก ถ้าคุณมีเงิน มีงานดี มีธุรกิจรับรอง มีการศึกษาดี มีผู้ให้ทุนการศึกษา ก็โชคดีไป สำหรับผู้ที่ไม่มีเงิน ไม่มีการศึกษาก็ไม่ใช่ว่าจะมาไม่ได้ จากประสบการณ์ของฉันได้บอกว่าผู้ที่มีความพยายาม ขวนขวายหาข้อมูล มีเพื่อนๆ หรือญาติๆ ที่อยู่ต่างแดนคอยช่วยเหลือ ในที่สุดก็ได้มาแทบทุกคน ถ้าไม่มีญาติๆ หรือเพื่อนๆ ที่มาเคยมาอยู่ก่อนแล้วคอยช่วยเหลือก็อาจจะไม่ได้มาหรือมาแล้วก็จะลำบาก อย่างไรก็ตาม มันก็แล้วแต่ดวงของแต่ละคนด้วย ฉันจะบอกขั้นตอนและเทคนิคสั้นๆ ในการขอวีซ่าแต่ละประเภทในบทนี้ ก่อนอื่นขอยกตัวอย่างเคสพิเศษๆ ให้ผู้อ่านฟังดังนี้

-น้าคนหนึ่งของฉันคนหนึ่งมีเงินหลายล้านบาท มีลูกสาวที่แต่งงานกับสามีอเมริกันที่ฐานะดี ไปขอวีซ่าท่องเที่ยว (B2) ถูกปฏิเสธติดต่อกันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่ย่อท้อ จนครั้งที่ห้าถึงได้วีซ่า ตอนนี้ลูกสาวของน้าได้เป็นซิติเซ่น (พลเมือง) ของอเมริกาแล้วจึงได้ทำใบเขียว (ใบอนุญาตให้อยู่ในอเมริกาแบบผู้อาศัยถาวร) ให้แม่เป็นที่เรียบร้อย

-เพื่อนสนิทคนหนึ่งของฉันแทบจะไม่มีเงินในธนาคารเลย แต่ไปขอวีซ่าท่องเที่ยว (B2) ครั้งแรกก็ได้ถึงสิบปี เพราะมีลูกเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่มาเรียนในระดับปริญญาเอกที่นี่ และอีกคนก็ได้วีซ่าท่องเที่ยวมาเพียงแต่มีจดหมายเชิญว่าจะมาแต่งงานลูกสาว

-ลูกค้าแปลภาษาของฉันไปขอวีซ่านักเรียน (F1) หลายครั้งไม่ผ่าน ไปขอวีซ่าท่องเที่ยว (B1) ก็ไม่ผ่าน เพราะเจ้าหน้าที่สถานทูตได้ข้อมูลมาว่าเขามีแฟนเป็นชาวอเมริกันที่นี่ จนต้องเปลี่ยนมาขอเป็นวีซ่าคู่หมั้น (K1) ในที่สุดก็ได้มาอเมริกาหลังจากใช้ความพยายามถึงสี่ปี

-มีคนไทยสองคนที่ฉันรู้จักในซานฟรานซิสโกที่โชคดีได้ใบเขียวผ่านโครงการล็อตเตอรรี่กรีนการ์ด (Green Card Lottery) ซึ่งทุกปีกระทรวงต่างประเทศของอเมริกาได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติสมัครขอได้ เป็นโครงการแจกใบเขียวปีละ 50,000 ใบให้กับผู้โชคดีและครอบครัวเข้ามาทำงาน เรียนหนังสือหรืออาศัยอยู่ในอเมริกาในฐานะผู้อาศัยถาวร

-ฉันได้เป็นล่ามให้กับคนไทยจำนวนหนึ่งที่ต้องบินจากเมืองไทยเพื่อมาเป็นพยานในศาลในคดีอาญาสถานหนักคดีหนึ่ง ทุกคนได้วีซ่าเข้าอเมริกากันหมด (B2) เนื่องจากมีหนังสือเชิญจากทนายความและหมายศาล

-รุ่นน้องคนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบ อยากมาหาประสบการณ์ที่อเมริกาโดยทำงานด้วย จึงเลือกที่จะมาเป็นออแพร์ (พี่เลี้ยงเด็ก) และได้วีซ่า J1 โดยมีเอเจนซี่ช่วยดำเนินเรื่องให้ทั้งหมด

-รุ่นน้องอีกคนหนึ่งเป็นนักศึกษาอยู่และได้วีซ่า J1 มาทำงานชั่วคราวในช่วงปิดเทอม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในโครงการ Work & Travel

-มีคนที่รู้จักคนหนึ่ง ทำงานเป็นกุ๊กในเรือสำราญ เข้าอเมริกาทางเรือโดยวีซ่า C1 และไม่ยอมกลับขึ้นเรือ โดดวีซ่าเป็นโรบินฮูด มีคนไทยจำนวนน้อยมากที่เข้าอเมริกาทางเรือ เกือบทั้งหมดจะบินเข้ามา

-มีคนที่รู้จักอีกคนหนึ่งที่มาเป็นผู้ช่วยประสานงานให้นักร้องชื่อดังคนหนึ่ง ได้วีซ่าประเภท P ติดตามนักร้องคนนั้น แต่พองานแสดงสิ้นสุดลงก็ไม่เดินทางกลับไทย

-ชายไทยกว่าสี่ร้อยคนได้รับวีซ่า H1 มาทำงานเก็บผลไม้ที่รัฐฮาวาย วอชิงตันและรัฐอื่นๆ แต่ถูกบริษัทนายหน้าโกง ต้องจ่ายค่านายหน้าหลายแสนบาท ให้ทำงานหนัก อยู่แบบแออัด ไม่ให้ค่าตอบแทนตามที่สัญญา ทางรัฐบาลอเมริกาได้ช่วยให้หลายคนได้วีซ่าประเภท T ซึ่งเป็นวีซ่าสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

ในบทนี้ ฉันจะอธิบายถึงวิธีการต่างๆ คร่าวๆ ที่จะเดินทางมาอเมริกาเท่านั้น จะไม่อธิบายถึงการเปลี่ยนสถานะจากวีซ่าที่ได้รับมาเป็นวีซ่าประเภทอื่นหลังจากที่เดินทางเข้าอเมริกาแล้ว หลายคนที่โดดวีซ่าท่องเที่ยวหรือมาวีซ่านักเรียนก็ได้แต่งงานกับซิติเซ่น คนที่มาวีซ่านักเรียนบางคนก็เปลี่ยนเป็นวีซ่านักลงทุนหรือมีบริษัทรับรองให้ทำงานเมื่อเรียนจบ บางคนก็จ้างซิติเซ่นแต่งงาน (ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายแต่ก็ทำกันนับไม่ถ้วน) บางคนญาติสปอนเซอร์มาแบบใบเขียวแล้วค่อยมาเปลี่ยนเป็นซิติเซ่นหลังจากอยู่อเมริกาได้ห้าปี บางคนมาเป็นออแพร์แล้วมาทำเรื่องขอลี้ภัยเพื่อที่จะซื้อเวลาเพื่อที่จะอยู่ต่อ บางคนก็เป็นโรบินฮูดนานจนลูกอายุ 21 ปีถึงสปอนเซอร์ให้พ่อแม่ได้ โรบินฮูดบางคนถูกตีจนบาดเจ็บสาหัสก็ได้วีซ่าประเภทยู (U) บางคนที่มาแล้วตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ก็ได้วีซ่าประเภทที (T) พระไทยหลายรูปได้มาประกอบการด้านศาสนาภายใต้วีซ่า R1 ตามวัดไทยในอเมริกา แล้วได้มาเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ถือใบเขียว เป็นต้น

การเปลี่ยนสถานะวีซ่านั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยซึ่งยุ่งยากซับซ้อน ควรปรึกษาทนายอิมมิเกรชั่น (ทนายที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเข้าเมือง) อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้ามาได้ก่อน เมื่อเข้าอเมริกาได้แล้ว ค่อยว่ากันถึงเรื่องเปลี่ยนสถานะอีกที

ฉันได้สรุปการขอวีซ่าแต่ละประเภทโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายให้กับผู้อ่านในบทนี้ ขอให้คุณผู้อ่านใช้วิจารณาณว่าตนเหมาะกับวีซ่าประเภทใด ข้อมูลนี้เป็นเพียงการชี้แนะคร่าวๆ เท่านั้น แต่ผู้อ่านก็จะได้แนวทางว่าควรจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้อย่างไร มีหนังสือและเว็บไซท์อื่นๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขอวีซ่าเข้าอเมริกามากมายซึ่งผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ กรุณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้หรือปรึกษากับทนายความเพื่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลอีกครั้ง



อ่านต่อตอนหน้า