รู้ภาษาอังกฤษ ชีวิตก้าวไกล ตอนที่ 2

ทำไมเราจึงต้องเรียนภาษาอังกฤษ Why Do We Have to Learn English?

สมัยยุคล่าอาณานิคมเมื่อประมาณ 500 ปีที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษหรือที่เรียกกันว่าจักรวรรดิบริติช (British Empire) ได้ขยายอาณาจักรของตนไปทั่วทุกมุมโลก มากกว่าประเทศนักล่าอาณานิคมอื่นๆ ในยุคเดียวกันจนได้สมญานามว่า "ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรวรรดิบริติช" (The sun never sets on the British empire.) เมื่ออังกฤษเข้าไปปกครองประเทศใด ก็จะให้ประเทศนั้นใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ทำให้ภาษาอังกฤษได้เป็นที่นิยมนำมาใช้ในการสื่อสารระหว่างประเทศตั้งแต่นั้นมา

มีเรื่องเล่ากันว่า ตอนที่อเมริกาประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษในปีค.ศ. 1776 นั้น ชาวอาณานิคมจำต้องเลือกภาษาประจำชาติของตน แต่พวกตนจงเกลียดจงชังประเทศอังกฤษยิ่งกว่าสิ่งใดเพราะถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอด ชาวอาณานิคมประกอบด้วยหลายเชื้อชาติหลายภาษาด้วยกัน แต่ไม่เคยมีภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการ ชาวอาณานิคมมาจากประเทศในเครือจักรภพอังกฤษจำนวนไม่น้อย แต่ก็มีชาวเยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศสอยู่ด้วย แต่ในที่สุดชาวอาณานิคมก็ได้โหวตคะแนนเสียงให้อเมริกาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ถึงแม้ว่าพวกตนจะเกลียดชังอังกฤษมากเพียงใดในตอนนั้นก็ตาม

การที่สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นอภิมหาอำนาจหลังจากจักรวรรดิบริติชได้หมดยุคไปนั้น ทำให้ภาษาอังกฤษยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเป็นภาษาที่ทั่วโลกต้องยอมรับโดยปริยาย ตอนนี้ทั่วโลกได้ตกลงกันที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าภาษาจีนจะมีคนพูดเป็นภาษาแม่มากที่สุดก็ตาม แต่ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษากลางที่คนนิยมใช้สื่อสารกันมากที่สุด

ปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษ ถูกใช้เป็นทางการในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก คาดว่ามีคนกว่า 400 ล้านคนพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ดังนั้นการที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จะทำให้สื่อสารกับคนจำนวนมากในโลกนี้ได้

ในแวดวงสื่อ วิทยาศาสตร์ การแพทย์แล้ว ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาหลักที่ใช้กัน ตำราต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยนานาชาติล้วนแต่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ในโลกของอินเตอร์เน็ตก็เช่นกัน อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นในประเทศอเมริกา ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาหลักของโลกอินเตอร์เน็ต โปรแกรมเมอร์ทั่วโลกใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนโปรแกรม

ตอนนี้ทั่วโลกได้ตกลงที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกัน คนสวีเดนต้องการจีบสาวไทย แต่เขาไม่รู้ภาษาไทย ส่วนสาวไทยก็ไม่รู้ภาษาสวีเดน ก็จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันไปก่อนจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะพัฒนาภาษาของฝ่ายตรงข้ามได้ถึงระดับที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างราบรื่น มีหลายกรณีที่ฉันเห็น ทั้งคู่ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาของอีกฝ่ายหนึ่งได้ถึงระดับนั้น จึงยังต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นตัวสื่อสารจนถึงรุ่นลูก

นี่เป็นเหตุผลหลักๆ ที่เราควรจะเริ่มจริงจังกับการเรียนภาษาอังกฤษเสียตั้งแต่ตอนนี้ ถึงแม้จะพอพูดได้แล้ว ก็ควรจะเรียนให้ดียิ่งขึ้นไป เพราะการเรียนภาษาไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ตัวฉันเองถึงจะเป็นล่ามมืออาชีพมาได้กว่ายี่สิบปี ก็ยังต้องเรียนอยู่แทบทุกวันเพื่อพัฒนาทักษะที่มีอยู่และเพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมา ฉันจึงมีงานที่ดีให้เลือกอยู่เสมอ ไม่เคยขาดงาน ไม่เคยขาดเงิน ไม่ว่าจะเป็นงานล่าม งานวิจัย งานเขียน งานเป็นวิทยากร งานที่ทำแต่ละครั้งเหมือนเป็นครู เหมือนเข้าจ้างเราแพงๆ เพื่อให้ฝึกภาษา ฉันจึงอยากสนับสนุนให้ผู้อ่านและลูกหลานรักที่จะเรียนภาษาอังกฤษเสียแต่ตอนนี้

ฉันได้ตั้งชื่อกลุ่มเรียนภาษาอังกฤษบนเฟซบุ๊คของเราว่า "รู้ภาษาอังกฤษ ชีวิตก้าวไกล Love English Language" ขอเชิญผู้อ่านแอดเป็นสมาชิกได้ เรามีครูภาษาอังกฤษทั้งที่เป็นคนไทยและเจ้าของภาษาที่จะช่วยตอบคำถามภาษาอังกฤษและเป็นกำลังใจที่จะให้การเรียนภาษาอังกฤษของคุณประสบความสำเร็จได้


ทำอย่างไรถึงจะเก่งภาษา How to Succeed at Learning a Language

ถึงตอนนี้ผู้อ่านก็เข้าใจถึงความสำคัญและข้อดีขอการรู้ภาษาอังกฤษแล้ว ต่อไปเรามาดูกันว่าทำอย่างไรถึงจะเรียนภาษาอังกฤษให้เก่งได้

ผู้ปกครองจำนวนมากได้ถามฉันว่าทำอย่างไรลูกๆ จึงจะเก่งภาษาอังกฤษฉันก็ตอบสั้นๆว่า ต้องมีพื้นฐานที่ดี ต้องมีวินัย ต้องฝึกฝนบ่อยๆ และต้องเรียนรู้ให้ถูกวิธี

มีหนังสือ เว็บไซท์ ตำรามากมายที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เฉพาะในยูทูบอย่างเดียวคุณก็สามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่ A B C จนถึงระดับสูงได้ มีตำราที่ผลิตออกมาจำหน่ายจนเกลื่อนตลาด แต่ทำไมคนไทยยังอ่อนภาษาอังกฤษอยู่ ทำไมเราจึงอยู่ในอันดับสุดท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน

ก่อนที่ฉันจะบอกเทคนิคการเรียนภาษาอังกฤษ (หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ) ให้เก่งนั้น เราควรมาดูสาเหตุที่ว่าทำไมคนไทยถึงไม่พัฒนาทางด้านภาษาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา

ฉันคิดว่าเหตุผลอันดับแรกก็คือประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่าประเทศตะวันตก ประเทศเพื่อนบ้านของเราต่างเคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา สเปนมาก่อนทั้งสิ้น การที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นนี้ ทำให้เราไม่เคยถูกบังคับให้ใช้ภาษาของประเทศที่เข้ามาปกครอง เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศนั้น แม้แต่คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็ไม่ได้สัมผัสหรือคลุกคลีกับชาวต่างชาติ ยกเว้นพวกที่ทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ได้พอคลุกคลีบ้าง แต่ก็เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

เหตุผลที่สองก็คือระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเรายังเป็นแบบเดิมๆ (ยกเว้นในโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนานาชาติ) นั่นคือ เน้นเรื่องไวยากรณ์และการท่องจำ ไม่ได้สอนแบบองค์รวม ขาดสื่อการสอนที่ดี บุคลากรที่เป็นครูคนไทยที่สอนการออกเสียงภาษาอังกฤษก็ยังออกเสียงไม่ถูกต้องจำนวนมาก ทำให้นักเรียนจำการออกเสียงและสำเนียงนั้นมาก นอกจากนี้ชาวต่างชาติที่จ้างมาสอนเป็นชาวฟิลิปปินส์บ้าง หรือเป็นเจ้าของภาษาจริงแต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ครูสอนภาษาอังกฤษมืออาชีพ พวกเขามาเมืองไทยเพื่อหางานทำเพราะต้องการอยู่ที่เมืองไทย เพียงแต่ผ่านการอบรมในประเทศของเขาเพียงไม่กี่ชั่วโมงและก็สามารถสอนมาภาษาที่เมืองไทยได้ คนไทยหลายคนไม่รู้ เห็นว่าเป็นฝรั่งแล้วก็คิดว่าเขาจะสามารถสอนให้เราพูดได้ แต่ครูฝรั่งที่ดีๆ ก็มีเช่นกัน ถ้าโรงเรียนไหนโชคดี ก็จะได้ครูฝรั่งที่มีประสบการณ์สอน มีคุณวุฒิที่เหมาะสม

เหตุผลที่สามในความคิดของฉันก็คือ พ่อแม่เด็กไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะให้ลูกๆ เรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ไม่กล้าลงทุน ไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ให้การสนับสนุน พอเห็นว่าลูกไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษหรือไม่สนใจก็ยอมให้ลูกเป็นเช่นนั้นต่อไป ต้องดูที่สาเหตุว่าทำไมลูกถึงไม่สนใจเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเรียนแล้วไม่พัฒนาขึ้น พูดไม่ได้สักที เบื่อครูที่สอน เรียนแล้วรู้สึกไม่สนุก เมื่อรู้สาเหตุแล้วจึงค่อยหาวิธีแก้ไขตั้งแต่เขายังเด็กอยู่ มิฉะนั้นแล้วจะแก้ไขได้ยากเมื่อเด็กเรียนชั้นสูงขึ้นไป พ่อแม่มีบทบาทมากในการที่จะปลูกฝังให้ลูกรักการเรียนภาษาตั้งแต่เขายังเด็ก

เหตุผลสุดท้ายและเหตุผลสำคัญที่ฉันคิดว่าทำไมคนไทยถึงอ่อนภาษาอังกฤษก็อยู่ที่ตัวของผู้เรียนเอง หลายคนมีเงิน มีโอกาส สามารถซื้อสื่อการเรียนการสอนได้ แต่ก็ยังไม่พัฒนาด้านภาษามากขึ้น สมัยนี้คนใช้เวลากับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โซเชียลมีเดียมากจนเกินไป ไม่ค่อยอ่านหนังสือ ขนาดหนังสือภาษาไทยก็ยังไม่ค่อยอ่าน ใช้เวลาแช็ทวันละหลายชั่วโมงแทนที่จะเอาเวลานั้นไปทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ บางคนอยากจะเรียนแต่ไม่รู้วิธี บางคนรู้วิธีแต่ขี้เกียจ บางคนอยากเรียนจริงๆ แต่ก็ไม่มีเวลา จึงต้องมาดูว่าตนเองจะแก้จุดอ่อนนี้ได้อย่างไร

ตัวฉันโชคดีที่เป็นคนรักภาษามาตั้งแต่เด็ก ฉันขยันเรียนด้วยตนเอง พ่อแม่ไม่เคยบังคับ ไม่ได้ไปเรียนพิเศษ นอกจากบทเรียนที่ได้จากโรงเรียนแล้ว ฉันมักจะขวนขวายเพิ่มเติมด้วยตนเองตลอด แต่ฉันก็ได้เปรียบตรงที่พ่อของฉันเก่งภาษาอังกฤษมากและคอยชี้แนะแนวทางให้

ฉันเริ่มเรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกตอนอยู่ชั้นป. 5 สมัยที่เรียนนั้นมีเพียงหนังสือของ Oxford สองเล่มและพจนานุกรมเล่มเล็กๆ ที่มีคำศัพท์เพียงไม่กี่คำ แต่ฉันก็ได้ท่องคำศัพท์และศึกษาไวยากรณ์ด้วยตนเองจากหนังสือไม่กี่เล่มที่มีอยู่ในตอนนั้นจนรู้คำศัพท์ทุกคำในพจนานุกรมเล่มเล็กนั้น พอขึ้นชั้นมัธยม ฉันจึงมีโอกาสได้ฟังเพลงสากล ฟังเทปการสอนภาษาอังกฤษ ได้ซื้อหนังสือกริยาสามช่องและหนังสือไวยากรณ์ระดับสูงมาอ่านเอง ในห้องสมุดที่โรงเรียนยโสธรพิทยาคม มีหนังสือภาษาอังกฤษไม่กี่เล่มในตอนนั้น ฉันได้อ่านแทบจะหมดทุกเล่ม ฉันสมัครเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ Student Weekly ในช่วงมัธยมต้น และในช่วงมัธยมปลาย ตอนหลังเลิกเรียนหรือในวันเสาร์อาทิตย์ ฉันก็ได้สอนพิเศษให้เด็กนักเรียนรุ่นน้อง ซึ่งนอกจากจะได้เงินใช้ส่วนตัวแล้ว ฉันยังได้ฝึกฝนพื้นฐานภาษาอังกฤษของตัวเองให้แน่นขึ้นอีกด้วย ฉันได้ปลูกฝังให้ทุกคนรักการเรียนภาษาอังกฤษ ตอนนี้นักเรียนรุ่นน้องที่ฉันสอนทุกคนต่างก็ได้งานดีๆ ได้เป็นข้าราชการ ผู้บริหาร นักธุรกิจและนักวิชาการกันทุกคน ฉันจึงรู้สึกเสียดายมากที่เด็กสมัยนี้มีสื่อมากมายที่จะใช้เรียน แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ในบทนี้ฉันได้รวบรวมเทคนิคต่างๆ ที่ฉันได้ใช้ในการเรียนรู้ภาษาต่างๆ ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม อาจจะใช้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

การเรียนรู้ภาษาอังกฤษมีหลายระดับด้วยกัน บางคนก็ต้องการเพียงที่จะพูดพอสื่อสารได้เท่านั้น บางคนก็จะใช้เฉพาะในงานเพื่อติดต่อกับลูกค้า บางคนก็จะใช้สำหรับหาข้อมูล บางคนก็จะใช้ในงานเขียนวิทยานิพนธ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ทักษะเพียงไม่กี่อย่าง แต่การที่จะเรียนภาษาให้อยู่ในระดับที่ถือว่าดีได้นั้นจะต้องให้ชำนาญในทักษะทั้งสี่คือ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน

ปัจจัยอีกสี่อย่างที่จำเป็นต้องเรียนรู้สำหรับการเรียนภาษาควบคู่กับทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ได้แก่ คำศัพท์ (vocabulary) ไวยากรณ์ (grammar) การออกเสียง (pronunciation) และสำนวนต่างๆ (expressions) ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถสื่อสารในระดับที่ถือว่าดีได้ เช่น ถึงแม้จะรู้แต่คำศัพท์มากมาย แต่แต่งประโยคไม่เป็นก็ไม่ได้ รู้คำศัพท์และแต่งประโยคได้ แต่พอออกเสียงแล้ว เจ้าของภาษาฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่ได้ หรือออกเสียงตามฝรั่งได้แนบเนียน แต่ไวยากรณ์ผิดตลอดก็ไม่ได้ หรือรู้คำศัพท์แต่ไม่รู้การใช้สำนวนของภาษานั้นก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

ฉันได้ค้นพบเทคนิคสำคัญที่สุดไม่ว่าจะเรียนอะไรก็ตาม นั่นก็คือจะต้องมีพื้นฐานที่แน่น ต้องโฟกัสไปที่ฐานความรู้ ถ้าเราต้องการจะปลูกต้นไม้ให้อุดมสมบูรณ์ ต้องดูว่าดินนั้นดีหรือไม่ ถ้าต้องการสร้างตึกระฟ้า ต้องดูว่าเสาเข็มลึกและแข็งแรงเพียงใด นักยิมนาสติกต้องฝึกกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นและต้องซ้อมท่าพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนจะตีลังกากลางอากาศได้ นักมวยต้องฝึกชกท่าพื้นฐานนับพันนับหมื่นครั้งก่อนที่จะทำท่าจระเข้ฟาดหางได้ ในการที่จะเรียนภาษาให้เก่ง ก็จะต้องมีพื้นฐานที่แน่นเช่นเดียวกัน พื้นฐานด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนจะต้องแน่น พร้อมกับปัจจัยทั้งสี่คือ คำศัพท์ ไวยากรณ์ การออกเสียง และสำนวนต่างๆ

มีหลายคนที่บอกกับฉันว่า อยากเป็นล่าม เพราะคิดว่าตัวเองพูดภาษาอังกฤษเก่ง สำเนียงดีและแปลให้กับเพื่อนๆ เป็นประจำ แต่พอฉันได้ยินเขาพูด แค่ได้ยินการผันกริยาของเขาก็รู้แล้วว่าภาษาเขาอยู่ระดับไหน ฉันก็เลยบอกว่า "ไปเรียนไวยากรณ์ใหม่ก่อนนะแล้วค่อยมาว่ากัน" บางคนก็เก่งไวยากรณ์มาก เขียนจนฝรั่งอาย แต่พูดไม่ได้ ฟังฝรั่งพูดไม่รู้เรื่อง ออกเสียงไม่ถูกเพราะไม่ได้ฝึกทักษะการพูดและการฟัง ดังนั้นทักษะทั้งสี่อย่างและองค์ประกอบทั้งสี่อย่างนี้ต้องใช้ควบคู่และผสมผสานกันไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้พัฒนาความสามารถในการเรียนภาษาถึงระดับสูงได้ คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนภาษาอื่นได้ ไม่จำเป็นแต่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น