ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



สุขสันต์วันปีใหม่ไทย

ใกล้ถึงวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย วันที่ 13 เมษายน ขอให้ทุกคนจงมีความสุขสำหรับปีใหม่ไทยกันถ้วนทั่วทุกคนด้วย ขอให้เป็นปีแห่งความสดใส ปลอดภัย ไร้โรคา ไร้เสนียดจัญไร ใดๆทั้งปวง

เดือนเมษายนทั้งเดือนจะมีการเฉลิมฉลองสงกรานต์ตามพิธีทางศาสนาที่วัดไทยต่างๆทั่วอเมริกา มีการรดน้ำดำหัวให้ผู้ใหญ่ที่เคารพแสดงกตัญญูกตเวทีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ในการต้อนรับปีใหม่ 2564 ที่จะต้องดีกว่าปี 2563 อย่างแน่นอน เมื่อปี 2563โลกทั้งโลกต้องปิดตัวเองให้ห่างจากการแพร่ระบาดโรคร้าย โควิด 19 มีผู้คนเจ็บป่วยล้มหายตายจากกันเป็นล้านๆคนทั่วโลก ปีนี้จะต้องเป็นปีที่เปิดสู่ความสุขสนุกสนาน ร่าเริงเบิกบาน กลับคืนความมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน

มารู้จักประเพณีไทยกับสงกรานต์ปีใหม่ไทย ที่ประเทศไทยจะมีการแห่นางสงกรานต์กันทุกปี ปีนี้...นางสงกรานต์ 'รากษสเทวี' จะมาพยากรณ์ปีใหม่ไทย 2564

กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ ประจำปี 2564 พร้อมเผยแพร่ประกาศสงกรานต์ของฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ดังนี้ ปีฉลู (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน) ตรีศก จุลศักราช 1383 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 เวลา 3 นาฬิกา 39 นาที 40 วินาที

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมราภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูลพระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวราหะ เป็นพาหนะ วันที่ 16 เมษายน เวลา 07 นาฬิกา 37 นาที 12 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1383 ปีนี้ วันอาทิตย์เป็นธงชัย วันจันทร์เป็นอธิบดี วันเสาร์เป็นอุบาทว์ วันพุธเป็นโลกาวินาศ

โดยวันเสาร์เป็นอธิบดีฝนบันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 6 ตัว เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ ๐ ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหารแลเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก สรุป ว่า ปีนี้จะมีน้ำมากมาย เป้นผลเสียแก่เกษตรกร รู้แล้วก็อย่าวิตก หาทางแก้ไขกันต่อไป

มาทำความรู้จักความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทยกันอีกสักครั้ง

ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายนแต่วันทางสุริยคติไม่แน่นอน คนสมัยก่อนจึงถือเอาวันที่ 13 เมษายน วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย

การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยครั้งที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 4 จนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ

1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา

3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่

1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ

2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร

3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ

และเพื่อไม่ให้เพื่อนๆ งง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 กับครั้งที่ 3 ซึ่งเดือนเมษายนกับเดือนห้า ก็คือเดือนเดียวกัน ดังนี้

ปีใหม่ไทยในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย

ครั้งที่ 2 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งนับทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับทาง จึงเป็นวันที่ไม่แน่นอน

ครั้งที่ 3 วันที่ 1 เมษายน (เดือน 5)

ครั้งที่ 4 วันที่ 1 มกราคม

วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น หลายคนละทิ้งสิ่งต่างๆ ที่เลวร้ายให้มันผ่านไปกับวันสิ้นปีเก่า ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ก่อนเขียนเรื่องนี้คิดว่าหากได้เผยแพร่ในโพสท์เพื่อนๆ หลายคนคงได้รับข้อมูลที่อาจลืมเลือน และถ้าหลายคนที่อ่านได้ทำการแชร์ต่อๆ กันไป อย่างน้อยวันปีใหม่ไทยในอดีตก็อาจจะเป็นที่รู้จักสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีวันขึ้นปีใหม่ไทยในอดีต ขออวยพรปีใหม่ล่วงหน้าแต่เพื่อนๆ ทุกคนในโพสท์จัง ให้มีความสุข ความสำเร็จ คิดสิ่งใดสมความปรารถนาทุกประการ เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ mata

Happy Thai New Year 2021

ด้วยรักและปรารถนาดีจาก Super Pat (323)702-0788