ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



มารยาทในการให้ทิป (Ep. 1)

สวัสดีค่ะ มาดามเพิ่งกลับจากล่องเรือสำราญ ยุโรป ครู๊ซ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2024 หลังจากไปล่องเรือสำราญท่องยุโรป 5 ประเทศ จึงขออนุญาติหยิบยกเรื่องท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนชื่นชอบ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง การวางแผนการเงินสำหรับท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายให้กับเรา ไม่ให้งบประมาณบานปลาย ไม่มีหนี้สินติดตัวกลับมา ทำให้เที่ยวได้อย่างมีความสุขตลอดทริป

หนึ่งในหลายๆค่าใช้จ่ายทีจำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่มากก็น้อยคือเรื่องทิป หรือรางวัลสินน้ำใจที่เราได้รับบริการจากหลายๆแผนก คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เกิดความคุ้นชินเรื่อง “การให้ทิป” กันมากนัก เนื่องจากแต่เดิมนั้นในประเทศไทยตามธรรมเนียมแล้วไม่ได้มีการให้ทิปแต่อย่างใด แต่การให้ทิปในไทย ก็มีให้เห็นบ่อยมากขึ้นในยุคปัจจุบัน จึงขอหยิบยกมาพูดในบทความนี้กันสนุกๆแบบมีสาระ

แต่สำหรับคนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้ว มารยาทการให้ทิปจัดเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดี ก่อนเดินทางไปเยือนประเทศจุดหมายปลายทาง เนื่องจากมารยาทการให้ทิปของแต่ละประเทศนั้น มีความแตกต่างกันออกไปนั่นเอง

มาดามและคณะ 64 คน พากันล่องเรือสำราญ Norwegian Dawn Cruise ท่องยุโรป 5 ประเทศ สเปน, อังกฤษ, เบลเยี่ยม, ปอร์ตุเกส, ฝรั่งเศส เป็นเวลา 12 วัน หรรษา ค่าทิปในเรือ คิดวันละ $20 ต่อคน ไม่รวม ทิปของความพอใจที่ได้รับบริการอีกต่างหาก จากพนักงานต่างๆ เช่น ทัวรไก๊ด์ คนขับรถพาเที่ยว กัปตันห้องอาหาร พนักงานขนกระเป๋า ทั้งที่สนามบิน พนักงานเข็นรถ wheelchairs มาดามแลกเงินธนบัตรใบย่อยๆ เช่น แบ๊งค์ $5, $10, $20 ไว้แจกตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นสินน้ำใจคนทำงานบริการ ถือคติ “ยิ่งให้ ยิ่งได้ “ ได้รับความอิ่มเอิบใจที่เห็นรอยยิ้ม เห็นดวงตาแห่งความปลื้มปิติ จากผู้ที่ได้รับทิปจากเรา เป็นอันดับแรก

1ประเทศสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันมีมุกตลกติดปากว่า “มีเพียงการยื่นจ่ายภาษีเท่านั้น ที่มีความสับสนมากกว่าการให้ทิป” ซึ่งประวัติการให้ทิปในสหรัฐฯ ถูกนำเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยชาวอเมริกันที่ร่ำรวยเริ่มเดินทางไปเยือนประเทศแถบยุโรป เดิมทีแล้วการให้ทิปยังไม่เป็นที่ยอมรับในสหรัฐฯ และยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยต่างบอกว่าเป็นการต่อต้านประชาธิปไตย ทั้งยังกล่าวกับคนให้ทิปอีกด้วยว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดชนชั้นแรงงาน ด้วยเงินจากการเอาอกเอาใจ

กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 21 ก็ยังมีคนถกเถียงกันเรื่องการให้ทิปกันอยู่ ทั้งขอดีและข้อเสีย แต่ในปัจจุบันนี้การให้ทิปได้กลายเป็นสิ่งสำคัญ ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกของอเมริกันชนไปแล้ว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์นามว่าโอเฟอร์ อาซาร์ ได้ประเมินไว้ในปี 2007 ว่า ธุรกิจร้านอาหารแค่อย่างเดียว จะมีพนักงานบริการได้รับเงินจากทิปประมาณ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 1.37 ล้านล้านบาท

2.ประเทศจีน จีนก็เหมือนกับหลายประเทศในเอเชีย ที่แต่เดิมแล้วไม่มีการให้ทิป และจีนก็ออกกฎห้ามมีการให้ทิปมานานเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่สำคัญยังถือว่าเป็นการติดสินบนอีกด้วย ส่งผลให้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ค่อยเห็นการให้ทิปในประเทศจีน ซึ่งบรรดาร้านอาหารที่มีลูกค้าเป็นคนจีน ลูกค้ามักจะไม่ให้ทิป ยกเว้นเป็นร้านอาหารที่บริการลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก ส่วนโรงแรมที่พักหากมีแขกเป็นชาวต่างชาติ การให้ทิปกับคนช่วยถือกระเป๋าเท่านั้น ที่มองว่าเป็นเรื่องยอมรับได้ ส่วนที่เป็นข้อยกเว้นจริง ๆ เลยคือ การให้ทิปแก่ไกด์นำเที่ยวและคนขับรถบัสนำเที่ยว ที่สามารถทำได้

วันนี้คุยกันแค่นี้ก่อน ฉบับหน้าจะมาคุยกันต่อถึงธรรมเนียมการให้ทิปจากประเทศต่างๆกัน หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ให้กับท่านที่รักการท่องเที่ยวได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ

ด้วยรักและปรารถนาดี จาก มาดาม Super Pat (323)702-0788