ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



หิวแสง คืออะไร

สวัสดีค่ะ วันนี้มาคุยกันถึงเรื่องที่มาดามได้ยินมาบ่อยๆ ในระยะหลังๆนี้ คือ การ “หิวแสง” หรือ “อยากเด่น อยากดัง” นี่เอง ใครๆก็มีความรู้สึกอย่างนี้ทั้งนั้น แล้วแต่อาการมากหรือน้อยหรือพอดี ของแต่ละคน ไม่เท่ากัน เพราะทุกคนอยากให้ตัวเองมีความสำคัญ เป็นที่ยกย่องของคนอื่น สังเกตุได้ว่าถ้าใครที่ไม่ค่อยพบเห็นกัน เรียกชื่อเราถูก จะมีความยิดีเป็นพิเศษ ใช่ป่าว ฉะนั้น เรามอ่านกัน ถึงเหตุผลที่มีผู้รู้ วิเคราะห์ ถึงสาเหตุนี้ให้ฟังกัน

ศัพท์ที่หลายคนได้ยินกันหนาหูในระยะหลัง ไม่ว่าจะในกลุ่มเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม – ก็คือคำว่า ‘หิวแสง’

โดยทั่วไป คำนี้มีความหมายถึงคนที่โหยกระหายหาชื่อเสียง อยากดัง จนสามารถทำอะไรก็ได้ที่คนอื่นไม่คาดคิดเพื่อ ‘เรียกเรตติ้ง’ ให้ตัวเอง เพื่อให้ ‘แสง’ สาดส่องมาตกกระทบและเป็นที่พูดถึง เปรียบได้กับคนที่อยู่บนเวทีละคร แล้วต้องวิ่งไปหาแสงสปอตไลต์อยู่ตลอดเวลา เพราะแสงย่อมหมายถึงความโดดเด่น ถ้าได้อยู่ในแสง ก็อาจแปลว่าคนคนนั้นเป็นที่จับตาดูมากที่สุดในโรงละคร แต่จะเป็นแง่บวกหรือลบเป็นอีกเรื่อง หากร่างกายหิวโหยอาหาร เราสามารถเติมเต็มได้ด้วยการกิน อันเป็นกิจกรรมที่เราทำได้ด้วยตัวเอง แต่อาการ ‘หิวแสง’ นั้นเป็นยิ่งกว่าความหิวอาหาร เพราะไม่สามารถบำบัดได้ด้วยตัวเราเพียงลำพัง แต่จะบำบัดให้รู้สึก ‘อิ่มแสง’ ขึ้นมาได้ ก็เมื่อมีคนอื่นมาจับตาดู – โดยเฉพาะจับตาดูในแง่บวก หรือด้วยความชื่นชม แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย

เหตุที่แสงไม่ยอมส่องมาที่เรา (จนทำให้เราเกิดอาการหิวแสง) ก็คือ – เพราะเราไม่ได้สร้างความ ‘แตกต่าง’ ในแบบที่ผู้คนชอบขึ้นมา

ประเด็นแรกที่ทำให้แสงส่องมาที่เราก็คือ เราต้องสร้างความแตกต่างจากคนอื่นให้ได้เสียก่อน แต่คนที่มีอาการ ‘หิวแสง’ ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามผิด นั่นคือกลับไปตั้งคำถามว่า คนอื่นๆ จะ ‘เห็น’ ถึง ‘ตัวฉัน’ ได้อย่างไรบ้าง จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ที่ส่งผลต่อผู้อื่น ส่วนใหญ่คนที่มีอาการแบบนี้มักสื่อสารเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับตัวเองเพื่อให้ตัวเองเป็นจุดเด่นเท่านั้น

เหตุผลข้อที่สองที่แสงไม่ส่องมาที่ตัวเราก็คือ – เพราะเราไม่ได้ชื่นชมผลงานของคนอื่น เรื่องนี้คล้ายๆ ละครเวทีจริงๆ นั่นแหละ นั่นคือถ้าเราอยากได้แสง สิ่งที่เราต้องทำก็คือการ ‘ส่งแสง’ ของเราไปให้คนอื่นด้วย บนเวทีละคร หากเราเอาแต่พยายามขโมยซีนคนอื่น แย่งความเฉิดฉายโดดเด่นมาไว้ที่ตัวเองคนเดียว ละครทั้งเรื่องก็จะไม่สนุกเลย นักแสดงคนอื่นๆ ที่ร่วมเล่นอยู่บนเวทีจะรู้สึกได้ ผลที่เกิดขึ้นคืออาจมีการพยายามขโมยซีนกลับก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทีมเวิร์กก็ไม่เกิด และสุดท้าย คนดูก็จะจับได้ว่าคณะละครทั้งคณะนั้นไม่ได้ทำงานสอดประสานกัน ละครจึงไม่สนุก

อาการ ‘หิวแสง’ จึงซับซ้อนกว่าแค่อยากดัง มันมักเกิดขึ้นเพราะเราคิดว่าตัวเราคู่ควรกับแสง แต่แสงไม่ยอมส่องมาที่เราเสียที

ผลสุดท้ายเราจึงทำอะไรลงไปหลายอย่างโดยไม่รู้ตัวเพื่อพยายามเรียกแสงมาส่องที่ตัวเรา

จะว่าไป มนุษย์แทบทุกคนล้วนมีอาการ ‘หิวแสง’ กันทั้งนั้น เราต่างต้องการความสนใจจากผู้อื่น เพราะความสนใจจากผู้อื่นคือการยืนยันถึงความมั่นคงในสถานะและความเป็นอยู่ของเราในฝูง ความหิวแสงอย่างพอประมาณจึงเป็นอาการปกติ แต่จะไม่ปกติก็ต่อเมื่ออาการหิวแสงนั้นแสดงตัวออกมามากเกินควรโดยที่เราไม่รู้ตัว

ตัวตนของเราเกิดจากประสบการณ์ ต้นทุน และมุมมองที่เรามีต่อโลก เราใช้ประสบการณ์เหล่านี้เพื่อประเมินโลกรอบตัวเรา

แต่ที่ยากกว่า – ก็คือการใช้ประสบการณ์เหล่านี้มาประเมินตัวเองนี่แหละ

เมื่อประเมินพลาด อาการหิวแสงจึงไม่เคยได้รับการเติมเต็มจนอิ่มเสียที มีหลายๆคน ที่ผลัดกันเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยแดนไกลแห่งนี้ ต้องการเป็นจุดเด่น จุดสนใจ บางคนถึงกับกระวนกระวาย ใจร้อน สร้างบารมีทานทางลัด เพื่อให้คนทั่วไปยอมรับ ทำตัวเด่น ดัง หากไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร ก็คงไม่มีใครว่า

จะทำตัวอย่างไรก็ตาม ขอให้ยึดถือ คาถาป้องกันตัว ท่องไว้ทุกวัน “คิดดี ทำดี พูดดี” แล้วทุกๆอย่าง ย่อมดีเอง แสงก็จะวิ่งเข้ามาหาเราเองแหละ

ด้วยรัก และปรารถนาดี จาก มาดาม SP (323)702-0788