สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
สมาธิ

จิตของคนเราไม่อยู่นิ่ง คิดอยู่ตลอดเวลา การมีสมาธิจะช่วยให้เรียนดีขึ้น สามารถรวบรวมจิตอยู่นิ่ง ฟังคำสอนบรรยายของครูอาจารย์ได้ไม่วอกแวกไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ตามประสาจิต วิธีการฝึกสมาธิโดยมากเราจะเรียนจากพระสงฆ์ของศาสนาพุทธ ผู้เขียนเรียนจากท่านพระครูไพบูลย์ นิสัยสุตานุยุติ วัดตากฟ้า ท่านเดินทางจากนครสวรรค์มาสอนวิปัสสนากรรมฐานที่ตึกกรรมฐานวัดไทยหลายสิบปีมาแล้ว ผู้เขียนต้องไปนอนค้างที่ตึกกรรมฐานตอนเย็นวันศุกร์ พอตีสี่วันเสาร์ ท่านจะมาที่ตึกกรรมฐาน ตอนนั้นโชคดีมีผู้เขียนคนเดียว ได้เวลาตีสี่ ท่านก็มาที่ตึกกรรมฐาน สวดมนต์เสร็จแล้ว ท่านก็สั่งว่า ทำสมาธิให้ได้นะโยม อาตมาจะส่งดวงแก้วมาให้ทางสมาธิ ท่านสั่งว่า

“รับให้ได้นะโยม”

ผู้เขียนไม่รู้ดวงแก้วนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็ทำจิตเป็นสมาธิ เพื่อรับดวงแก้วให้ได้ตามที่ท่านสั่ง

การฝึกสมาธิ มีหลายรูปแบบ จำเป็นต้องฝึกจิตให้นิ่งเสียก่อนเป็นการปูพื้นฐานด้านจิต ผู้เขียนอารัมภบทในหนังสือชื่อ Healing with Reiki and Chakra หลังจากไปเรียนที่เมืองไทย สอนโดยอาจารย์ เยาวเรศ บุนนาค และคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละแขนงอีกหลายท่าน หลังจากเรียนจบได้กลับมาสอนวิชานี้ที่วิทยาลัยของรัฐในแคลิฟอร์เนียอีกหลายอย่าง นัยว่าวิชาการบำบัดด้วยจักระจากสถาบันพลังจิตานุภาพ ที่เมืองไทย เป็นต้นตำรับแห่งศาสตร์อันลึกซึ้งให้ประโยชน์ต่อชีวิตได้ดี ควรบูรณะให้คงอยู่ เพื่อประโยชน์สุขแห่งชีวิตต่อไป การบำบัดด้วยจักระ เริ่มต้นด้วยการฝึกจิตเป็นสมาธิให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถส่งจิตไปบำบัดอาการบกพร่องในร่างกายของตนเอง แล้วฝึกขั้นต่อไป ที่จะบำบัดให้ผู้อยู่ใกล้ แล้วจึงฝึกในการส่งจิตไปยังผู้ที่อยู่ไกลออกไปได้เป็นผลสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการฝึกพลังสมาธิของตนเองที่จะส่งพลังจิตออกไปบำบัดผู้อยู่ไกล

สมาธิ ก่อให้เกิดพลังแห่งจิต 3 ประการ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Voice, Vision, Void คือหลังจากรวบรวมจิตตามเสียง จะก่อให้เกิดมโนภาพ จากความนิ่งของจิต ไม่คิดอะไร แล้วใช้พลังสมาธินั้น ทำการบำบัดตามที่จิตบงการ

โดยปกติจากการทำงานของสมอง จะมีการติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา การทำสมาธิแห่งจิตจะสามารถให้ประโยชน์ต่อการส่งพลังอันแน่วแน่แห่งจิตไปบำบัดอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้ เริ่มจากการมีสมาธิของตัวเอง ช่วยความจำ ช่วยการคิดแยกแยะเหตุและผล ช่วยการเรียนรู้ในการศึกษาวิชาต่างๆ ช่วยการโยงถึงแหล่งแห่งความรู้อื่นๆ ช่วยรวบรวมจิตให้อยู่นิ่งไม่วอกแวก ช่วยฟื้นความทรงจำ และส่งผลถึงความสมดุลระหว่างกาย จิต และวิญญาณ

เริ่มต้นจากการฝึกสมาธิแห่งจิตเสียก่อน เพื่อให้จิตรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่คิดอะไร ไม่วอกแวกไปที่อื่น และอยู่ในภาวะจิตว่าง ผู้ฝึกควรเริ่มต้นฝึกจิตให้สะอาด ปราศจากความวิตกกังวล ความกระวนกระวาย ไม่มีความคิดถึงเรื่องอื่นใดๆทั้งสิ้น ปราศจากความรบกวนจากภายนอก วางกำหนดจิตไว้ ณ ดวงใจ อยู่กับความว่าง

ก่อนทำสมาธิ เวลาเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอันดับต้น สถานที่เป็นอันดับต่อไป และสภาวะร่างกายเป็นอันดับสำคัญถัดมาก สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นตัวประกอบในความสำเร็จของการมีสมาธิจิตที่กำหนดไว้ว่าจะดำรงสมาธิเป็นเวลาเท่าใด เช่นอย่างน้อย 5 นาที 10 นาที 15 นาที หรือ 30 นาที โดยปราศจากการรบกวน

เป้าหมายของการทำสมาธิจิต ก็เพื่อให้เกิดความสุขแห่งภาวะจิตใจ ภาวะกำลังแห่งความคิด เพื่อที่จะสามารถรวบรวมภาวะจิตเพื่อใช้ในการบำบัดต่อไป

การเตรียมพลังจิตเพื่อทำสมาธิขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ คือ กาย ความคิด จิต และการหลุดพ้น

การเตรียมกาย หมายความว่า ร่างกายพร้อมสำหรับการปฏิบัติสมาธิ มีความสบายเพียงพอที่จะอยู่ในภาวะนั่งสมาธิในจิตว่าง ตามกำหนดเวลาที่ตั้งใจไว้สำหรับการทำสมาธิ หรืออีกประการหนึ่ง คือการไร้บาป 10 ประการต่อไปนี้

1.ไม่ฆ่าหรือทำให้สิ่งมีชีวิตลำบาก

2.ไม่ขโมยสิ่งของหรือครอบครัวสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ยกให้

3.ไม่ผิดประเวณี หรือลวงเกินสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

4.ไม่ครอบครองสิ่งที่ถูกดัดแปลงรูปร่างหรือทางจิตใจ เช่นถูกบังคับ

5.ไม่โกหก

6.ไม่พูดคำหยาบหรือทำร้ายจิตใจผู้อื่น

7.ไม่ทำลายมิตรสัมพันธ์ของผู้อื่น

8.ไม่โอ้อวด ยกตน หรือประพฤติผิด เป็นที่น่ารังเกียจ

9.ไม่งกเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของตน

10.ไม่คิดทำร้ายบุคคลอื่น

ก่อนการปฏิบัติทำสมาธิ ควรทำความสะอาดร่างกาย สวมเสื้อผ้าที่สบาย ไม่รู้สึกหิวหรืออิ่มเกินไป ดื่มน้ำบริสุทธิ์เช่นน้ำกลั่น กินอาหารที่ถูกระบบร่างกาย เลือกสถานที่โปร่งเย็นสบาย มีความสันโดษสงบเพียงพอไร้การรบกวนจากสิ่งภายนอก

การเตรียมความคิด ก่อนเริ่มสมาธิควรมีจิตว่าง ไร้ความกังวลกับสิ่งใดๆ เป้าหมายอย่างเดียวคือความสำเร็จในการมีสมาธิของจิต

การเตรียมภาวะจิต มีหลายวิธีการในการเตรียมภาวะจิตเข้าสู่สมาธิ วิธีง่ายๆอาจเป็นการสวดมนตรา เสียง รูปภาพ ดวงเทียน สิ่งของ เช่นลูกแก้วกลมใส เป็นต้น

การทำสมาธิจิต โดยวิธีใช้คำพูด หรือ คาถาสวดมนต์ สามารถส่งจิตให้เป็นสมาธิได้ เช่น “พุทธ” เมื่อหายใจเข้า คำว่า “โธ” เมื่อหายใจออก เมื่อเริ่มภาวนาคำว่า พุทธ ก็นำอากาศเข้าจกาปลายจมูก ตามลมหายใจเข้าสู่ปอดและช่วงท้องขยายตัว และหดตัวเมื่อลมออกจากปอดและช่วงท้องแผ่วลง นี่คือ สมาธิอยู่ที่การตามลมหายใจเข้าและออก ไม่แตกซ่านไปไหน ระหว่างการติดตามลมหายใจก็ไม่คิดไปเรื่องอื่น สมาธิเท่านั้น

การนำสมาธิจิต โดยวิธีใช้มือ วิธีนั่งสมาธิขัดสมาธกับพื้น เท้าขวาวางทับขาซ้าย วางมือทั้งสองไว้บนหัวเข่าทั้งสอง นับ 1 ในใจเมื่อยกมือขวาขึ้นตั้งฉากกับหัวเข่า นับ 1 ในใจ แล้วยกมือขึ้นระดับสะดือนับ 2 ในใจ แล้ววางมือที่สะดือพร้อมกับนับ 3 หลังจากนั้น เปลี่ยนเป็นยกมือซ้ายตั้งฉากกับเข่าซ้าย พร้อมกับนับ 4 ยกมือซ้ายขึ้นสะดือพร้อมนับ 5 แล้วย้ายมือซ้ายไปวางทับบนมือขวา พร้อมกับนับ 6 โดยวิธีนี้ จะกำหนดจิตให้อยู่ที่มือเท่านั้น ไม่คิดเรื่องอื่น

การนำสมาธิจิต โดยการเดิน เริ่มจากการยืนเท้าทั้งสองห่างจากกัน เริ่มจากยกส้นเท้าขวาจากพื้น นับ 1 ยกเท้าจากพื้นทั้งหมด นับ 2 ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า นับ 3 ลดปลายนิ้วของเท้าขวาลงนับ 4 ลดเท้าขวาลงทั้งหมดนับ 5 เมื่อเท้าขวาแตะวางบนพื้นนับ 6 เรียกว่าการทำสมาธิด้วยการก้าวเดิน