คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



ประวัติความเป็นมาของ...พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงวางศิลาพระฤกษ์ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ในรัชมงคลสมัยที่ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 40 ปี สาเหตุสำคัญ ของการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมมี 2 ประการคือ

ประการแรก ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า พระที่นั่งต่างๆในพระราชวังสวนดุสิต ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างขึ้น ณ ตำบลสามเสนคับแคบ ไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่างๆ จึงเห็นควรให้ก่อสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่นี้

ประการที่สอง พระราชมณเฑียรที่เรียกว่า " หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ " ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัย ของพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถจะบำรุงรักษาต่อไปได้ ครั้นจะสร้างขึ้นใหม่ สถานที่ในพระบรมมหาราชวังก็คับแคบ

ด้วยสาเหตุ 2 ประการข้างต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดให้สร้างท้องพระโรงขึ้นใหม่ทางทิศ ตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิต และโปรดให้นำชื่อท้องพระโรงเดิมในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ที่เรียกชื่อว่า "พระที่นั่งอนันตสมาคม " มาใช้เรียกชื่อท้องพระโรงใหม่ในพระราชวังดุสิต รูปแบบทางสถาปัตยกรรมขององค์พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น พระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้สร้างในลักษณะของศิลปกรรมไทย แต่เนื่องจากในขณะนั้นมีช่างไทยที่ทำได้อยู่คนเดียว คือ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล ) ซึ่งไม่อาจทำได้เสร็จบริบูรณ์ทันพระราชประสงค์ในการใช้งาน ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะนายช่างที่จะดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่ง ฯ โดยให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม ) เป็นผู้อำนวยการ พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย ส่วนช่างชาวต่างประเทศได้ใช้ช่างชาวอิตาลีเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญมี นายซี อาร์เลกรี นายอี ยีโกโล เป็นวิศวกร นายแอมตามาโย นายเอริโกตี เป็นสถาปนิก

พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบทอดจากพระราชชนก และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการก่อสร้างต่อตามพระราช ประสงค์จนสร้างเสร็จบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2458 รามเวลาในการก่อสร้าง 8 ปี สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 15 ล้านบาท ลักษณะและรูปแบบศิลปกรรม

พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียน สมัยเรอเนสซองตัวอาคารทำด้วยหินอ่อนสีขาว มีริ้วลาย สีน้ำตาลแก่แกมหม่น ซึ่งสั่งซื้อมาจากเมืองคารารา ในประเทศอิตาลี เป็นอาคารสองชั้นมีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆอีก 6 ยอด ขนาดของพระที่นั่ง ฯ ส่วนกว้างประมาณได้ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร

ชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นห้องโถงยาวประดับตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยลวดลายแปลกตา ตั้งแต่เพดานซึ่งประกอบ ด้วยส่วนโค้งเชื่อมจากหัวเสาทั้งสองด้านเป็นระยะๆ เสาสร้างด้วยหินอ่อนทั้งต้นมีทั้งเสาแบบนูนเด่นและเสาแบบลอยตัว ที่หัวเสาสลักด้วย ลวดลายใบไม้อันสวยงาม ซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้กันมากตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เรียกว่า "แบบโครินเธียน" นอกจากนี้เหนือทวารที่จะผ่านแต่ละห้อง ยังตกแต่งด้วยรูปปั้นตุ๊กตาฝรั่งซึ่งเป็นศิลปะแบบโรมัน

บนเพด้านโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม มีศิลปกรรมที่น่าสนใจคือ ภาพเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่ เป็นฝีมือเขียนภาพของ นายริกุลี่ ช่างเขียนชาวอิตาลี ส่วนภาพเขียนบนเพดานโดมของพระที่นั่งฯ เป็นภาพแสดงถึงพระราชกรณียกิจในเหตุการณ์สำคัญๆของ พระมหากษัตริย์ไทยในพระบรมราชจักรีวงศ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 กล่าว คือ

เพดานโดมทางด้านทิศเหนือ เป็นภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมัยเมื่อยัง ดำรงพระยศ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จกลับจากราชการทัพเมืองเขมร บรรดาพสกนิกรทั้งหลายพากันไปกราบบังคมทูลอัญเชิญ ให้ทรงรับราชสมบัติปกครองแผ่นดิน อันนับเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาประสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อปีพุทธศักราช 2454

ที่เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอภัยทาน และทรงยกเลิกประเพณีทาสในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง

เพดานด้านใต้ของโดมทิศตะวันออก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ด้านหลังเป็นการก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่ทรงพระราชดำริสร้างเพิ่มเติมให้สูง ใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนครหลวง เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนานิกายต่างๆ ซึ่งได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ทั้งสองข้าง แสดงนัยแห่งพระราชจรรยา ที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา โดยไม่รังเกียจกีดกัน

ส่วนเพดานด้านเหนือของโดมทิศตะวันออก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบ พระนครทางสถลมารค ฉากหลังเป็นภาพป้อมเผด็จดัสกร พระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพน ฯ และพระมหาปราสาทราชมณเฑียรใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างและบูรณะให้สวยงามขึ้น

ใต้โดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุดมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระราชดำริก่อสร้าง พระที่นั่งอนันตสมาคมที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลาง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร " สลับกับ "ว.ป.ร." อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ

ในส่วนกลางของพระที่นั่งอนันตสมาคม ใต้โดมกลางเป็นท้องโถงใช้ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ มีพระที่นั่งพุทตานกาญจนสิงหาสน์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายใต้พระนพปฏลมหาเศวตฉัตร

นับแต่พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ก่อสร้างแล้วเสร็จมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนอกจากเป็นสถานที่ใช้ประชุม รัฐสภาของชาติในวันที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 กระทั่งวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2517 แล้วยังเป็นสถานที่สำคัญทาง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น รัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกของรัฐสภา พระราชพิธีฉลองวันพระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกๆปี พิธีเปิดประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ ในหลายๆโอกาสอันนับว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าในด้านศิลปกรรม วิจิตรศิลป์ ทั้งเป็นเอกลักษณ์อันรุ่งโรจน์ขององค์กรนิติบัญญัติแห่งชาติ สะท้อนถึง สัญลักษณ์แห่งความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์ และวิวัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ยาวนานนับ จากอดีตกาล สืบทอดถึงปัจจุบัน และเชื่อมโยงต่อไปในอนาคต



หมายเหตุ จาก "คลังปัญญาไทย" ข้อมูลจากเครือข่ายกาญจนาภิเษก
จากพจนานุกรมระบุไว้ว่า
ประวัติศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวประเทศชาติเป็นต้น ตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน
ป้ายสี (ให้ร้ายป้ายสี) คือ ใส่ความผู้อื่นโดยไม่มีข้อมูลความจริง

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
(3 มีนาคม 2555)