คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



“พระมหาพิชัยราชรถ” THE ROYAL CHARIOT OF GREAT VICTORY

คำว่า ราชรถ เป็นคำภาษาบาลี มาจากคำว่า ราช+รถ ซึ่งหมายถึง ทางรถหรือทางเดินของพระราชาหรือพระเจ้าแผ่นดิน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ราชรถ คือ รถศึกของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า ราชรถในวรรณคดี แต่ "ราชรถ" ในที่นี้จัดเป็นเครื่องประดับราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญ เป็นเครื่องราชูปโภคที่แสดงออกถึงฐานะและบทบาทอันเป็นสมมติเทพหรือเทวราชาของพระเจ้าแผ่นดิน

พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๘ มีขนาดกว้าง ๔.๘๕ เมตร ความยาวรวมงอนรถ ๑๘.๐๐ เมตร (ความยาวเฉพาะตัวรถ ๑๔.๑๐ เมตร) สูง ๑๑.๒๐ เมตร น้ำหนัก ๑๓.๗๐ ตัน ปัจจุบันใช้กำลังพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก ๒๑๖ นาย เมื่อแรกสร้างนั้นโปรดให้สร้างขึ้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเชิญพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ หลังจากนั้นเมื่อ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๒ ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบน พระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุอีกครั้ง และนับจากนั้น พระมหาพิชัยราชรถ เชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ผู้ทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าในสมัยต่อๆ มา

พระมหาพิชัยราชรถ ใช้ทรงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เป็นพระองค์แรกและใช้ในราชการครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ปี ๒๕๖๐ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระองค์ล่าสุด จนถึงปัจจุบันได้มีการเชิญ พระมหาพิชัยราชรถ ในงานพระบรมศพและพระศพต่างๆ แล้วจำนวน ๒๔ ครั้ง (ไม่นับครั้งที่เชิญ พระเวชยันตราชรถ ใช้งานแต่ให้ออกนามว่า พระมหาพิชัยราชรถ ในหมายกำหนดการ) นอกจากนี้ พระมหาพิชัยราชรถ ยังเคยใช้เชิญพระโกศประกอบพระอิสสริยยศของพระราชวงศ์ที่พระศพไม่ได้ประทับในพระโกศอีกด้วย

ภายหลังการเชิญออกประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วก็มิได้เชิญออก แม้จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยการเพิ่มล้ออีก 1 ล้อ เพื่อรับน้ำหนักและซ่อมแซมเพื่อความสวยงาม โดยมีการเชิญพระเวชยันตราชรถ ออกใช้การแทน แต่ให้ขนานนามราชรถตามหมายกำหนดการว่า พระมหาพิชัยราชรถ จนกระทั่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้มีการบูรณะ พระมหาพิชัยราชรถ ครั้งใหญ่โดยกรมสรรพาวุธทหารบกและเชิญออกใช้การอีกครั้งหนึ่ง

พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่ทำด้วยไม้สักทอง ปิดกระจกและทองคำเปลวบริสุทธิ์ รายรอบบุษบกเป็นพระยานาคและมีรูปของเทวดา (เทพนม) อยู่ด้านล่าง มีการย่อมุมไม้สิบสอง โดยจะเก็บไว้ที่โรงเก็บราชรถ แต่ที่บริเวณประตูนั้น จะมีการสร้างปูนให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย เปรียบเสมือนเป็นธรณีประตู เพื่อคราใดที่ต้องใช้งาน จะมีการทุบทำลายกำแพงปูนนี้ และเมื่อใช้เสร็จแล้ว จะมีการก่อกำแพงปูนขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นเคล็ดที่ว่าราชรถที่เก็บในโรงเก็บราชรถ จะได้ไม่ต้องออกไปอีก เปรียบว่าจะไม่มีพระราชวงศ์องค์ใดสิ้นอีก


การเชิญพระโกศพระบรมศพและพระศพ

พ.ศ. ๒๓๓๙ เชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

พ.ศ. ๒๓๔๒ เชิญพระโกศทรงพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ในรัชกาลที่ ๑

พ.ศ. ๒๓๕๕ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พ.ศ. ๒๓๖๑ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์

พ.ศ. ๒๓๖๘ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พ.ศ. ๒๓๖๙ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑

พ.ศ. ๒๓๗๖ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ

พ.ศ. ๒๓๘๐ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสุลาไลย พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๓

พ.ศ. ๒๓๘๐ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒

พ.ศ. ๒๓๘๒ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระมเหสีใน รัชกาลที่ ๒

พ.ศ. ๒๓๙๕ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. ๒๓๙๕ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในรัชกาลที่ ๔

พ.ศ. ๒๔๐๕ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๔

พ.ศ. ๒๔๐๙ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. ๒๔๑๒ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. ๒๔๒๔ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

พ.ศ. ๒๔๒๙ เชิญพระโกศทรงพระศพ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พ.ศ. ๒๔๓๗ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

พ.ศ. ๒๔๔๓ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

พ.ศ. ๒๔๕๔ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. ๒๕๓๙ เชิญพระบรมโกศประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พ.ศ. ๒๕๕๑ เชิญพระโกศประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พ.ศ. ๒๕๕๕ เชิญพระโกศทรงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พ.ศ. ๒๕๖๐ เชิญพระบรมโกศประกอบพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


ทางเมืองไทยส่งรูป “พระมหาพิชัยราชรถ” ในขณะกำลังบูรณะมาให้พร้อมทั้งประวัติการใช้งาน อ่านดูแล้วเกิดความสนใจอย่างยิ่ง จึงทำการค้นคว้าเพิ่มเติมและสังเกตว่า ในการเชิญพระโกศพระบรมศพและพระศพจากลำดับที่ ๑ ถึงลำดับที่ ๒๔ เริ่มตั้งแต่เชิญพระบรมโกศ พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พ.ศ. ๒๓๓๙ เชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๕๕ และทุกองค์พระมหากษัตริย์เรื่อยลงมาจนถึงเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ และครั้งหลังสุดเชิญพระบรมโกศประกอบพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ และถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้อัญเชิญเครื่องทองน้อย

ตรวจดูด้วยความสงสัยที่ไม่มีการเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ และ รัชกาลที่ ๘ พอดีเห็นมีกล่าวถึง พระเวชยันตราชรถ โดยเฉพาะอ่านพบข้อความที่น่าสนใจยิ่งว่า “สำหรับงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นั้น เดิมจะได้เชิญพระศพขึ้นทรง พระเวชยันตราชรถ ตามพระอิสริยยศ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพด้วย พระมหาพิชัยราชรถ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี พระเวชยันตราชรถ จึงไม่ได้อัญเชิญออกมาใช้งาน”

ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าน่าที่จะต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และคงจะหาคำตอบให้กับตัวเองได้ กรุณาติดตามสัปดาห์หน้า


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐