คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



อ.ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์
ผู้ยิ่งใหญ่ในโลก...แห่งความรัก
แสงดาว สวยพราวดูเด่น
เพ่งเห็น เหมือนตาของเธอ
เฝ้าเพ้อ หัวใจละเมอ รำพรรณ
แสงดาว เหมือนเตือนใจเศร้า
โอ้เรา รักเร้าหัวใจ
คอยไป เหมือนตัวแสนไกล รักมั่น

จากเธอ ไปแล้วใจหาย

ดวงใจ ยังคิดถึงสายสัมพันธ์

รักยังมิวาย คลายจาง

ขอเดือน ช่วยเตือนใจมั่น
ใฝ่ฝัน ถึงเธอทุกวัน
มองจันทร์ นึกความสัมพันธ์ ครั้งก่อน




เพลง "สายทิพย์"
ทำนอง สายสุรีย์ (วัชรเกียรติ) จุติกุล
คำร้อง ปานทิพย์ โลจายะ
เรียบเรียง ประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา
ดนตรี คีตะวัฒน์



ที่มาของคีตะวัฒน์

คงจะมีอีกหลายท่านที่ไม่ทราบและยังสงสัยว่า คีตะเสวี กับ คีตะวัฒน์ นี่มันต่อเนื่องมายังไงกัน ผมจึงขอเล่าให้ทราบสั้นๆ ว่า

เดิมทีคีตะเสวีนั้นถือกำเนิดมาจากวงเรมอนด์ (แมนรัตน์) กับสหายโดยบรรเลงทางสถานีวิทยุ เช่น 1 ป.ณ.บ้าง กรมโฆษณาการบ้าง และที่ขึ้นหน้าขึ้นตาก็สถานีวิทยุ จ.ส. ซึ่งมี ร.อ.การุณ เก่งระดมยิง (ยศในสมัยประมาณ พ.ศ.2492-93) เป็นทั้งโฆษกและควบคุมเครื่องส่ง ท่านเรียกตนเองว่าสถานี ONEMAN STATION เมื่อขยายวงใหญ่โตขึ้นก็คิดตั้งชื่อวงโดยนำชื่อ "คีตะเสวี" ซึ่งเป็นชื่อวงดั้งเดิมของท่านอาจารย์ซีแกร่า (บิดาของแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หรือเรมอนด์ฯ) มาใช้ นักดนตรีส่วนมากก็เป็นเพื่อนๆ นักดนตรี (ตามที่คุณสมาน กาญจนผลิน เขียนไว้ในข้อเขียน)

หลังจากนั้นในราวปี 02-03 แมนรัตน์ฯ ถูกงานทางบริษัทน้ำมันสแตนดาร์ด และต่อมาเป็นเอสโซ่รัดตัวต้องเดินทางไปต่างประเทศและสุขภาพก็ไม่สู้สมบูรณ์ วงดนตรีคีตะเสวีจึงสลายตัวไปโดยปริยาย ผมกับจำนรรจ์ กุณฑลจิณดา ซึ่งแตกวงออกมาจากประสานมิตรก็มาร่วมกันอีกครั้งโดยตั้งวงดนตรีกรรณเกษม ซึ่งมีคุณหลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ และคุณเฑียรร์ กรรณสูต เป็นผู้อุปถัมภ์ โดยมีนักดนตรีเพื่อนๆ ที่เคยร่วมกันมาครั้งคีตะเสวี และมีนักดนตรีรุ่นใหม่ อาทิเช่น ชัยยุทธ เวชสวรรค์ เข้าร่วม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รวมกันได้เพียง 2 ปี ก็มีอันเป็นต้องสลายตัวไปอีก

ในขณะที่ผมดำเนินวงดนตรีกรรณเกษม ร่วมกับจำนรรจ์ กุณฑลจินดา นั้น ผมเองก็ทำงานประจำในตอนกลางวันอยู่องค์การยูซ่อมของสหรัฐฯ ซึ่งมีชรินทร์ นันทนาคร ประจำอยู่ด้วย ผมเองก็วงแตกมาจากกรรณเกษม ส่วนชรินทร์ก็บ้านแตก ทั้งสองจึงมีเรื่องปรับทุกข์กันอยู่ทุกเย็น ใจผมในตอนนั้นคิดจะเลิกเล่นดนตรีเพราะชักจะเบื่อๆ บังเอิญวันหนึ่งได้ไปนั่งคุยกับเพื่อนรักรุ่นพี่คนหนึ่งคือ สมาน กาญจนผลิน ซึ่งควบคุมวงดนตรีธนาคารออมสินอยู่ในขณะนั้นว่าจะเลิกเล่นดนตรีเสียที เพราะทำงานกลางวันเงินเดือนก็พอจะถูไถไปได้ ยิ่งเล่นดนตรีก็ยิ่งจน แต่สมานฯ กลับคัดค้านและให้กำลังใจว่า "เฮ้ย เลิกได้ยังไงวะ วงใหญ่ๆ ที่เล่นดนตรีด้วยความมีมาตรฐานและเป็นที่เชื่อถือของนักดนตรีและผู้ฟังเวลานี้ไม่มีสักวง ยกเว้นวงสุนทราภรณ์แล้วก็ไม่มีใครเลย คีตะเสวีลื้อก็ยุบเสีย ประสานมิตรก็ล้ม กรรณเกษมก็ล้ม ตั้งวงใหม่อีกทีเถอะวะ เพลงไม่มีมาบอก เพลงไทยจะเขียนให้ฟรีๆ เพลงฝรั่งเพลงไหนต้องการมายืมไปลอกได้ขออย่างเดียวห้ามเลิกเท่านั้นแหละ นักดนตรีขาดบอกใช้นักดนตรีออมสินได้ อั๊วอยากให้พวกเขาออกไปหาความชำนาญและประสบการณ์จากวงลื้อจะได้เก่งๆ"

ความอันนี้ก็ได้มาปรึกษากับชรินทร์ๆ ก็เห็นด้วยและเขาเกิดความคิดที่จะจัดชรินทร์โชว์ทางโทรทัศน์ และจำเป็นต้องใช้วงดนตรีก็เลยเข้าเค้าเหลือแต่ชื่อวง ชรินทร์เขาก็มีความคิดว่าระหว่างนี้ยังนึกไม่ออกก็ทำประชาสัมพันธ์ให้คนเขาตั้งชื่อมาให้แล้วเลือกเอา ส่วนระหว่างนั้นก็ใช้เครื่องหมายคำถามติดที่สแตนด์โน้ตไปก่อน ส่วนชื่อนั้นส่งกันมาเป็นร้อยๆ ก็ยังไม่ถูกใจผม ผมนึกถึงครูแก้ว อัจฉริยะกุล ขึ้นมาได้ก็ตรงไปหาที่ศาลาเฉลิมเขตต์ พอดีคูรกำลังจะออกไปทำแว่นตาก็เลยรับครูนั่งรถออกมาและคิดตั้งชื่อกันในรถนั่นแหละ ครูถามว่า "จะเอายังไง" ผมก็ตอบไปว่า "อยากให้มีคำว่า คีตะหรือเสวีก็ได้จากชื่อวงเก่ารวมอยู่ด้วย และอยากให้มีคำว่า PROGRESS เป็นภาษาไทยรวมอยู่ด้วยก็ดี" เพราะในขณะนั้นผมกำลังคลั่ง PROGRESSIVE JAZZ ของวง STAN KENTON อยู่มาก และผมได้เห็นความเป็นอัจฉริยะสมนามสกุลของครูในวันนั้นเองเพราะครูตอบทันทีเลยว่า "เอาคำว่า "คีตะ" รวมกับคำว่า "วัฒน์" ในนามสกุลของตุ๋ย ซึ่งมีความหมายว่า PROGRESS อยู่แล้วมารวมกันเข้าเป็น "คีตะวัฒน์" พอใจไหม" ผมรีบตอบรับด้วยความยินดีและก็เริ่มใช้ชื่อวงดนตรี "คีตะวัฒน์" มาตั้งแต่ปี 2504 โดยเริ่มทางโทรทัศน์ช่อง 7 ขาวดำในสมัยนั้นในวันซึ่งผมถือว่าวันดีที่สุดในขณะนั้นคือวันที่เราเรียกว่าวันนิวัติ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จเยี่ยมประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นวันมหาอุดมฤกษ์ของ "คีตะวัฒน์"

นักดนตรีที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกวงดนตรีคีตะวัฒน์ ร่วมกับผมในขณะนั้น เป็นนักดนตรีหนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยหลายคน เช่น ธรรมนูญ ปวณะฤทธิ์ สุบัน (ขอโทษที่จำนามสกุลไม่ได้ ขณะนี้ประจำอยู่เอสโซ่) สุรพล สุดารา (ปัจจุบันเป็นถึงศาสตราจารย์ ดร.สุรพล อยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) รวมทั้งพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตร ช้อนอัตถ์ บุนนาค ศรีศักดิ์ ศาสตระรุจิ ซึ่งสมาน กาญจนผลินจัดการส่งมาช่วยผนึกกำลัง นอกจากนั้นก็ยังมีชัยยุทธ เวชสวรรค์ ประภาส อมรพันธ์ ที่กอดคอกันมาตั้งแต่วงดนตรีกรรณเกษม ส่วนประสิทธิ์ พยอมยงค์ มาโนช ศรีวิภา นริศ ทรัพย์ประภา ปรีชา เมตไตรย์ และเสนอ สุขบุตร เพื่อนเก่าทั้งหลายก็นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกคีตะวัฒน์ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น

ผมเป็นคนโชคดีในด้านดนตรีเพราะได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง นักร้อง นักดนตรีทุกรุ่นตลอดมา แม้กระทั่งรุ่นครูบาอาจารย์เช่นครูเอื้อ สุนทรสนาน ยังได้ให้ความกรุณาแก่ผมซึ่งคนอื่นๆ อีกหลายคนไม่เคยได้รับคือ เมื่อครั้งที่ผมอุตริไปทำไน้ท์คลับที่มีชื่อว่า โด เร มี นั้น ใครจะเชื่อว่าครูเอื้อฯ ได้ให้เกียรติรับเชิญจากผมให้ไปร้องเพลงและแถมสีไวโอลินให้ทั้งคืนที่คลับของผม วงดนตรีอิมพอสสิเบิ้ล ซึ่งเพิ่งชนะเลิศ 3 ปีซ้อน เป็นประจำควบคุมโดยเศรษฐา ศิระฉายา ก็ไปช่วยเล่นให้ฟรีทุกคืนศุกร์เสาร์ แถมในคืนครบรอบ 10 ปี เมื่อปี 2514 ครูเอื้อฯ ยังให้เกียรติไปคอนดักวงดนตรีคีตะวัฒน์ของผมทางโทรทัศน์ช่อง 7 สี ในเพลงจุฬาตรีคูณอีกด้วย

ท่านที่ได้อ่านมาโดยตลอดคงจะเห็นแล้วว่า ตัวผมเองและวงดนตรีของผมนั้นถ้าปราศเสียจากคูรบาอาจารย์ เพื่อนนักร้องนักดนตรีทั้งรุ่นพี่และน้องตลอดจนเพื่อนๆ สื่อมวลชนและท่านที่ให้ความสนใจในวงดนตรีทั้งคีตะเสวี และคีตะวัฒน์ แล้วจะอยู่มาได้ถึง 30 ปีอย่างไร บุญคุณทั้งหมดนอกจากพ่อและแม่แล้ว สำหรับผมก็คือหลายๆ ท่านที่กล่าวมานี้แหละที่เป็นที่มาของคีตะวัฒน์......

ไพบูลย์ สีสุวัฒน์


อาจาร์ไพบูลย์ หรือ พี่ตุ๋ย ของน้องๆที่เมืองแอล.เอ. ได้จากพวกเราไปแล้วอย่างสงบที่บ้านพักในเมืองเบอร์แบงค์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตั้งใจจะเขียนแสดงความอาลัยคารวะถึงท่านเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พอดีมีเวลาเตรียมตัวน้อย ต้องหาข้อมูลและรูปต่างๆ และมีธุระที่ต้องออกนอกเมือง การเขียนหนังสืออย่างรีบเร่งมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย โดยเฉพาะเขียนในวาระโอกาสที่สำคัญ เขียนถึงผู้ใหญ่ในวงการเพลงที่ดังคับฟ้าเมืองไทย เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ "ตุ๋ย ยังวันส์" มือกลอง (ยีน ครูป้า ของเมืองไทย) นอกจากฝีมือกลอง ท่านยังมีความสามารถรอบตัวในด้านการบันเทิง ดังที่คุณผู้อ่านจะได้ทราบจากข้อเขียนของผู้ใหญ่หลายๆท่านที่เขียนบทความลงเป็นที่ระลึกให้พี่ตุ๋ย ในหนังสือ "30 ปี คีตะเสวี - 20 ปี คีตะวัฒน์" คิดว่าพิมพ์ในปี 2524 จากการอ่านข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ของ คุณนคร วีระประวัติ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยลงวันที่ "มีนาคม 2524" ส่วนข้อเขียนอื่นๆ จะลงวันที่ในราวๆ ปลายปี 2523 ตัวหนังสือเองมิได้ระบุวันเดือนปีไว้

อย่างไรก็ตาม พี่ตุ๋ยได้กรุณามอบให้ ส.ท่าเกษม เมื่อครั้งได้มีโอกาสร่วมทำงานกับท่าน เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2003 เกือบจะ 9 ปีเต็ม ท่านทราบว่าเป็นคนเขียนหนังสือคงต้องการให้มีหนังสือที่มีคุณค่าเก็บไว้ยามต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง จำได้ว่าเคยใช้ประโยชน์มาครั้งหนึ่งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 เมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว เลยไม่ได้เห็นผลงานครั้งนี้ ขอถือโอกาสกราบขอบพระคุณในความกรุณา ความใจดี และขอให้วิญญาณของพี่ตุ๋ยจงสถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สถานที่ซึ่งเหล่า เทวดา นางฟ้า ร่ายรำทำเพลงชั่วนิจนิรันดร์

คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสามารถพอที่จะเขียนถึงผลงานและประวัติของพี่ตุ๋ย เพราะตอนอยู่เมืองไทยนั้นเป็นเด็กหางแถวเข้าไม่ถึงพี่ๆ ที่เคารพรัก ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นศิลปินแห่งชาติกันทั้งนั้น และแต่ละท่านต่างก็เป็นเพื่อนรักของพี่ตุ๋ย ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว ในกลุ่มพี่ๆ ส.ท่าเกษม เป็นคนไม่มีชื่อ อย่างเก่งก็เอ่ยกันว่า "นี่ไง น้องคุณ.... (ชื่อพี่สาว/พี่ชาย ที่อยู่บ้านเดียวกัน "บ้านท่าเกษม")" หรือบางครั้งจะเอ่ยว่า "นี่ไง ลูก.... (ชื่อบิดา).." พี่ๆ มารู้จักชื่อจริงของ ส.ท่าเกษมที่แอล.เอ. นี่เอง !

แม้แต่ชื่อของวงดนตรีที่ พี่ตุ๋ยและ คุณจำนรรจ์ กุณฑลจินดา ร่วมดำเนินงานหลังจากแตกวงออกมาจากวงประสานมิตร วงใหม่ที่ชื่อ "กรรณเกษม" มีหลวงสุขุม นัยประดิษฐ์" และคุณเฑียร กรรณสูต เป็นผู้อุปถัมภ์ ขนาดตัวเองเกิดและวิ่งเล่นอยู่ในบ้าน "ท่าเกษม" ยังไม่ทราบความเป็นมาของชื่อวงดนตรี เพิ่งทราบจากพี่ตุ๋ยตอนพบกันที่แอล.เอ. ชื่อ วงดนตรี "กรรณเกษม" มาจากกรรณสูตนามสกุลของ "พี่เฑียร" และชื่อบ้านท่าเกษม เพราะคุณพ่อหลวง (หลวงสุขุมฯ) พำนักพักพิงอยู่ในบ้านท่าเกษม กรรณ + เกษม เลยกลายเป็น วงดนตรี กรรณเกษม หลังจากนำข้อเขียนของพี่ตุ๋ย "ที่มาของคีตะวัฒน์" ลงในตอนต้นของคอลัมน์แล้ว ต่อไปจะนำเพียงบางตอนจากข้อเขียนของผู้ที่พี่ตุ๋ยรัก-เคารพ-นับถือ มาลง คุณผู้อ่านจะได้รู้จักพี่ตุ๋ยดีขึ้น โดยเฉพาะใน เรื่องของความรัก อ่านต่อไปแล้วจะทราบถึงความรักของพี่ตุ๋ย....

เด็ก......ที่ข้าพเจ้ามองมา 30 ปี โดย เอื้อ สุนทรสนาน

เมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมานี้ในขณะที่ข้าพเจ้าคุมวงดนตรีซึ่งเรียกว่าวงดนตรีกรมโฆษณาการในประมาณปี พ.ศ. 2492 และทำการซ้อม ณ ห้องส่งกระจายเสียงของกรมเชิงสะพานเสี้ยว จะมีเด็กหนุ่มในเครื่องแบบของ น.ร. อัสสัมชัญพาณิชย์ ไปเฝ้าคอยดูอยู่เป็นประจำเกือบทุกครั้งที่มีการซ้อม เด็กคนนั้นมักจะมาพร้อมกับคุณแก้ว อัจฉริยะกุล..........

ข้าพเจ้าเห็นเขาสนิทสนมกับนักดนตรีและนักร้องในวงโดยเฉพาะกับ วินัย จุลบุษปะ เป็นพิเศษ ภายหลังสมาชิกในวงของข้าพเจ้าจึงได้ชักชวนให้เขามาร่วมวงในบางครั้งในฐานะมือกลองผู้ช่วย ซึ่งในขณะนั้นมี สาลี่ กล่อมอาภา เป็นมือหนึ่ง ซึ่งเมื่อสาลี่ชักจะมึนๆ ก็มี เลิศ ประสมทรัพย์ เป็นมือสำรอง ครั้นเมื่อทั้งครูสาลี่และลูกศิษย์เลิศชักจะมึนไปด้วยกัน ก็ได้อาศัยเด็กหนุ่มผู้นี้แหละเข้าแทน ข้าพเจ้าจำได้ว่าเขาสามารถจำเพลงสากล ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่าเพลงเซ็ทได้ทุกเพลง สามารถตีกลองเข้ากับวงใหญ่โดยอ่านโน๊ตไม่ออกแม้แต่ตัวเดียว.......

อีกไม่นานนักประมาณ ปี 2493 ข้าพเจ้าได้ยินว่าเขา (ไพบูลย์ ฯ) ร่วมกับเพื่อนสนิทชื่อ เรมอนด์ ซีแกร่า (แมนรัตน์ ศรีกรานนท์) ตั้งวงดนตรีชื่อ คีตะเสวี ขึ้นโดยบรรเลงตามสถานีวิทยุต่างๆ เป็นประจำ รวมทั้งรับงานลีลาศทั่วไป เช่น วงดนตรีสุนทราภรณ์ ของข้าพเจ้า.........

คีตะเสวี-คีตะวัฒน์ โดย "แก้วฟ้า"

.......... ตอนนั้นผมได้สนิทสนมกับตุ๋ย ถ้านับตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 40 ปี

ครั้นแล้วต่อมาไม่ช้า หลังจากปี พ.ศ. 2488 วงดนตรี "คีตะเสวี" ก็ได้เกิดขึ้น ผมสอบถามใครก็ไม่ได้ความว่าใครเป็นคนตั้งวง ไม่ได้ความว่าใครเป็นคนตั้งชื่อ ซึ่งมันก็เป็นเวลา 30 ปีมาแล้ว

ต่อมาเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ตุ๋ยก็ได้มาหาผมที่ "เฉลิมเขตร์" เขาบอกผมว่าเขาจะตั้งวงดนตรีคณะหนึ่ง ซึ่งมีความผูกพันกับ "คีตะเสวี" แต่ขอให้ชื่อวงดนตรีนั้นอยู่ยืนยง ผมก็บอกเขาว่า "ชื่อและนามสกุลของลื้อก็แปลว่า ยืนยงถาวรอยู่แล้ว"

"แต่ขอให้ครูตั้งชื่อวง ซึ่งมีความผูกพันอยู่กับคีตะเสวี"

ง่ายจะตาย ผมก็โพล่งบอกเขาไปว่า

"ได้ซี เอาชื่อว่า คีตะวัฒน์ ซี"

ตุ๋ยยิ้มอย่างพอใจ แล้วก็รับเอาชื่อนี้ไปตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

วงดนตรี "คีตะวัฒน์" ก็ใช้เพลง THEME SONG เพลงเดียวกับ เพลงของ "คีตะเสวี" ........ ผมรู้สึกภูมิใจ ที่วงดนตรีนี้ ผมตั้งชื่อให้มีอายุยืนมาถึง 20 ปีแล้ว

ส.ท่าเกษมต้องขออภัยคุณผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถจะจบเรื่องราวของพี่ตุ๋ยในเสาร์นี้ได้ เพราะเนื้อที่จำกัด และยังมีเรื่องราวอีกมากที่คิดว่าจะเป็นที่สนใจของคุณผู้อ่าน ขออนุญาตรวบยอดไปเสาร์หน้าแล้วกัน


อ.ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ ชาตะ 11 กุมภาพันธ์ 2471
มรณะ 10 กรกฎาคม 2555
รวมสิริอายุ 84 ปี

สวดพระอภิธรรมที่วัดไทยแอล.เอ. วันศุกร์ที่ 27 ก.ค. เวลา 19.30 น. (1 ทุ่มครึ่ง)
ณาปนกิจ ที่สุสาน HOLLYWOOD FOREVER วันอาทิตย์ที่ 29 ก.ค. เวลา 13.00 น. (บ่ายโมง)
กรุณาดูรายละเอียดได้จากหนังสือพิมพ์ไทยทั่วไปในแอล.เอ.

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
28 ก.ค. 2555