คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



เบื้องหลัง ละครเรื่องขุนศึก
อารีย์ : อุ่นอารมณ์สมสุขอย่างนี้ มีแต่เราสอง

กำธร : อกดินถวิลลำพอง คิดปองฟ้าไกลพาให้ตรมชวดชม แล้วซมซานเศร้า

อารีย์ : หวั่นกระไร ฟ้าดินใจตรงกัน

กำธร : แต่กระนั้นยังพรั่นมิเบา ไม่ทำให้เจ้าเหงา ไม่ให้เจ้าช้ำ อกดินถวิลครวญคร่ำ

อารีย์ : อกฟ้าระกำยิ่งกว่า

กำธร : ไหว้วอนขอพระเทวา ให้ดินเสมอฟ้าที

อารีย์ : ถึงยามราตรี

กำธร : ฟ้ามีแสงจันทร์

อารีย์ : ขอปันแสงจ้า

กำธร : เมตตาให้ฟ้าโลมดิน แอบจูบลูบไล้ยุพิน จูบดินด้วยแสงจันทร์ส่อง

อารีย์ : เชื่อใจเพียงใคร่จะลอง ก็กลัวจะหมองมิวาย

กำธร : ทุกทิวา

อารีย์ : ทุกราตรี

พร้อม : สองชีวีมิหน่าย ไม่สลายคลายรักเอย

เพลง "ฟ้ารักดิน" จากละคร "ขุนศึก" ทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ปี พ.ศ. 2502-2504
ผลงานของ..... ครูสง่า อารัมภีร
ผู้ขับร้อง.....กำธร สุวรรณปิยะศิริ - อารีย์ นักดนตรี

ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา นามปากกา ไม้ เมืองเดิม หรือ กฤษณะ พึ่งบุญ ผลงานที่มีชื่อเสียงได้แก่ แผลเก่า, บางระจัน, แสนแสบ, ขุนศึก

ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เกิดเมื่อ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเส็ง (ตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน) พ.ศ. 2448 ที่ ต. วัดมหรรณพ์ กรุงเทพมหานคร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2485 รวมอายุได้ 37 ปี จบการศึกษาที่ โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนวัดบวรนิเวศ

- พ.ศ. 2465 รับราชการสังกัดกรมบัญชาการมหาดเล็ก
- พ.ศ. 2469 ลาออกจากราชการ เพื่อจะทำงานส่วนตัวแต่ไม่ได้เป็นตามที่คาดหวัง กลายเป็นคนว่างงานและเริ่มดื่มสุราจนติดเป็นนิสัย
- พ.ศ. 2478 เริ่มต้นชีวิตนักประพันธ์ โดยเอาประสบการณ์ชีวิตของตนเองมาเขียน ชื่อ “เรือโยงเหนือ” แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ใดสนใจจัดพิมพ์ให้ แต่ด้วยใจรัก จึงเขียนขึ้นอีกเรื่อง ชื่อ “ ห้องเช่าเบอร์ 13 ” ก็ได้รับการปฏิเสธจากผู้พิมพ์จำหน่ายอีก คุณเหม เวชกร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทได้ลาออกจากสำนักพิมพ์ “เพลินจิตต์” และมาตั้งสำนักพิมพ์เองออกหนังสือเป็นรายวัน ใช้ชื่อหนังสือว่า “คณะเหม” ส่วนก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นนักเขียนประจำสำนักงาน และ ได้เขียนเรื่อง “ชาววัง” โดยใช้นามปากกา “กฤษณะ พึ่งบุญ”
- พ.ศ. 2479 ได้พิมพ์จำหน่ายนวนิยายเรื่อง “แผลเก่า” โดยใช้นามปากกาใหม่ว่า “ไม้ เมืองเดิม” โดยเฉพาะเรื่อง “ขุนศึก” เป็นนวนิยายไทยแท้ที่ยาวที่สุดเป็นผลงานชิ้นสุดท้าย

ผลงาน :-

แผลเก่า แสนแสบ หมื่นซ่อง เสื้อข้าม ล้างบาง หงสาพ่าย เกวียนหัก สำเภาล่ม เสือบาง บางระจัน สาวชะโงก บึงขุนสร้าง คุ้งเผาถ่าน แม่หม้าย กลางเพลิง ศาลเพียงตา ชายสามโบสถ์ ค่าน้ำนม คนละถิ่น หน้าไถ ข้าเก่า สินในน้ำ สองศึก เสือทุ่ง นางถ้ำ รอยไถ โป๊ะล่ม นางห้าม บ้านนอกเข้ากรุง ข้าหลวงเดิม อ้ายขุนทอง ศึกกระทุ่มลาย หนามยอกหนามบ่ง เรือเพลง-เรือเร่ ทหารเอกพระบัณฑูร กระท่อมปลายนา และขุนศึก


อาชีพ: นักเขียน
บิดา: หม่อมหลวงปลี พึ่งบุญ
มารดา: หม่อมหลวงแสง พึ่งบุญ
คู่สมรส: เติม พึ่งบุญ ณ อยุธยา

ในที่สุดละครโทรทัศน์เรื่องขุนศึก ก็ได้ถึงบทอวสานไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นับว่าเป็น TALK OF THE TOWN ทีเดียว แสดงโดยพระเอกนางเอกยอดฮิตทั้งสวยทั้งหล่อที่ชื่อ อั้ม อภิชาติ และ พลอย เฌอมาลย์ ตัวคนเขียนคอลัมน์นี้ก็บ้าจี้ ไปกับเขาด้วย อยากทราบว่าดีอย่างไร จะดีเหมือนเวอร์ชั่นแรกของคณะนาฎศิลป์สัมพันธ์ที่มี อาจารย์ สัมพันธ์ พันธุ์มณี ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2502 ให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 หรือเปล่า ?

ทางเดียวที่จะทราบคือคลิ๊กเข้ายูทูบ พอดี้พอดีเป็นตอนแต่งงานระหว่างขุนศึกและแม่หญิงเรไร เห็นแต่พระเอกนางเอกกราบพระ กราบคุณพ่อคุณแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายในลักษณะ SLOW MOTION เดี๋ยวๆ ก็สบตากันแบบเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่กำลังอยู่ในห้วงแห่งความรัก เต็มไปด้วยความสุข แล้วก็เป็นฉากเรือนหอจู๋จี๊กันอยู่ที่หน้าต่าง สรุปแล้วเลยไม่ได้เห็นว่าแสดงดีแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่านางเอกสวยหวานเหมาะกับบทแม่หญิงเรไร เนิบนาบกริยานุ่มนิ่มเคลื่อนไหวแบบเชื่องช้าจริงๆ สำหรับพระเอกคิดว่าใครๆ คงสู้ กำธร สุวรรณปิยะศิริ ไม่ได้ ในเรื่องของความหล่อ หาเรื่องแล้วไหมล่ะเดี๋ยวแม่ยก แฟนคลับของ อั้ม อภิชาติ คงจะส่งก้อนอิฐมาให้ ส.ท่าเกษม ต้องหลบกันวุ่นวาย ทำไงได้มันฝังจิตฝังใจเสียแล้ว ดู "ขุนศึก" ช่อง 4 ทุกตอน นั่งชิดติดจอแก้วยาวนานเกือบ 2 ปี (พ.ศ. 2502-2504) เพราะเป็นละครใหญ่ อย่างว่าเทสของคนโบราณมักจะยึดติดกับของเก่าๆ

มีใครทราบไหมว่า อารีย์ นักดนตรี ตอนทำงานเป็นโฆษกและเป็นนางเอกละครให้ทีวีช่อง 4 ได้อ่านหนังสือเรื่องขุนศึกของ ไม้เมืองเดิม แล้วสนุกมากจึงแนะให้ครูสัมพันธ์อ่าน พอดีตอนนั้นเขาพิมพ์ออกมาขายเป็นเล่มๆ ต่อกันหลายเดือน พออ่านเล่มแรกครูสัมพันธ์ก็ว่าเข้าท่า อ่านถึงเล่ม 2 ก็รู้สึกว่าสนุก ไม้เมืองเดิมผูกเรื่องได้ดี เมื่อครูสัมพันธ์ตัดสินใจทำละครเรื่องนี้ตามที่อารีย์ นักดนตรีแนะนำ จึงต้องหาคนทำบทที่มีฝีมือ คือ สุวัฒน์ วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ แล้วต้องหาผู้กำกับมือดี มาลงเอยที่ ทัติ เอกทัติ จากนั้นยังต้องหาพระเอกหน้าใหม่ ที่เหมาะจะเป็นขุนศึก นับว่าโชคดีที่ได้ กำธร สุวรรณปิยะศิริ และเรื่องขุนศึกนี้เป็นละครของคณะนาฎศิลป์สัมพันธ์ ที่ครูสัมพันธ์รักและภูมิใจมากที่สุด จนทุกวันนี้ยังมีคนพูดถึงกัน ถึงแม้กำธรฯ จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม บทพระบทนางของเสมา (ขุนศึก) ที่กำธรแสดง และตัวแม่หญิงเรไรที่แสดงโดย อารีย์ ไม่ว่าเป็นหนังหรือละครใครๆ ก็พูดว่าไม่มีใครเหมาะเท่าคู่นี้

เหตุผลอันหนึ่งคงจะเป็นเพราะ สุวัฒน์ ผู้เขียนบทละครเขียนตามแคเร็กเตอร์ของตัวแสดง ละครพันทางต้องอิงการเขียนของละครเวทีด้วย สุวัฒน์ได้มีโอกาสใกล้ชิด ได้เห็น และรู้นิสัยการเล่นละครของอารีย์ จึงเขียนได้สมบูรณ์ที่สุด

ส่วนพระเอก ขุนศึกเป็นช่างตีเหล็ก ต่อไปเป็นนักรบ นักดาบที่มีฝีมือ เผอิญโครงร่างของกำธรหนา มองดูบึกบึน เหมาะจะเป็นพระเอกที่มาจากช่างตีดาบ ที่แต่แรกยังไม่เคยเข้าเจ้าเข้านาย ก็ไปตรงกับลักษณะของกำธรที่ยังไม่รู้ทางเล่น และมีประสบการณ์น้อย คือทุกอย่างมันลงตัวสมเหตุสมผล ถึงได้ส่งให้พระเอกเด่นขึ้นมา นี่คือความเห็นของสุวัฒน์

ถ้าย้อนกลับไปดูภาพยนตร์เรื่องขุนศึกที่ สมบัติ เมทะนี แสดง สมบัติแสดงเก่งมีประสบการณ์มาก หูตาแพรวพราวเฉลียวฉลาด สีหน้าทันคน เลยมองดูแล้วไม่เหมาะเท่ากำธร ซึ่งเสมาในตอนแรกต้องดูเซ่อซ่า น่าขันน่าเอ็นดูจึงจะใช่ช่างตีเหล็ก อารีย์แสดงความคิดเห็นไว้เช่นนี้

สุวัฒน์พูดถึงพระเอกนางเอกว่า เมืองไทยทั้งพระ-นาง ต้องหล่อต้องสวยเอาไว้ก่อน เผอิญละครขุนศึกของคณะนาฎศิลป์สัมพันธ์โชคดีได้ตัวขุนศึก ที่หน้าหล่อแบบผู้ชายไทย บึกบึน และเข้มแข็ง ไม่ใช่หล่อแบบอัศวินหน้าหยกบอบบาง

สุวัฒน์เคยเขียนบทละครเรื่องขุนศึกไว้หลายครั้งด้วยกัน ครั้งที่ 2 ทำให้ กนกวรรณ ด่านอุดม ทางช่อง 5 และอีกครั้งให้กนกวรรณเช่นกันทางช่อง 9 ทำครั้งแรกนั้นท่านบอกอารีย์ว่า ผ่านไปแล้ว 40 กว่าปี ผู้คนยังพูดถึง เพราะความพร้อมในทุกๆ ด้านของช่อง 4 ทุกคนช่วยกันทำด้วยความรัก ความเข้าใจ ความขยัน ซ้อมบทกันจนคล่อง ทั้งฟันดาบ เข้าพระเข้านาง ทั้งๆ ที่เป็นการแสดงสด ไม่มีการบันทึกเทป และตอนเขียนบทให้กำธรและอารีย์แสดงนั้น ท่านอยู่ในลหุโทษ เขียนบทออกมาจากในนั้น ใช้นามแฝงของ สุมทุม บุญเกื้อ (น้องชาย ไม้เมืองเดิม) เพราะตอนนั้นจะใช้ชื่อจริงไม่ได้ ตำรวจกวน แล้ว สุมทุม บุญเกื้อ ก็ขอตรวจบทด้วยทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนเขียนบทละคร พอขุนศึกใกล้จบอยู่ไม่กี่ตอน พี่อู๊ดหรือสุวัฒน์เลยใช้นามปากกา เอก สองทัติ บางครั้งจะถูกผู้คุมแกล้ง ขอยืมหนังสือไปอ่านแล้วไม่คืน เลยต้องดำน้ำเอา แล้วมันก็ไม่ตรงตามบท ทัติ เอกทัติ ผู้กำกับต้องแก้ไขให้ แต่ก็ไม่มาก

เรื่องที่ สุมทุม บุญเกื้อ หรือ กิ่ง พึ่งบุญ ณ อยุธยา ขอตรวจบทละครนั้น ส.ท่าเกษม พอจะเข้าใจ เพราะท่านร่วมประพันธ์กับพี่ชายของท่าน

ไม้เมืองเดิม และ สุมทุม บุญเกื้อ สองคนพี่น้องมีความเห็นคล้ายคลึงกัน ในการคิดตั้งนามปากกา ด้วยการเอา ชื่อ กับ นามสกุล มาแผลงหรือแปลงชื่อไป ไม้ ก็มาจาก ก้าน คือต้นไม้ เมืองเดิม คือ อยุธยา หรือ ณ อยุธยา นั่นเอง ส่วน สุมทุม ก็มาจาก กิ่ง คือสุมทุมพุ่มไม้ และบุญเกื้อ ก็มีความหมายเช่นเดียวกับ พึ่งบุญ

กวี พึ่งบุญ ณ อยุธยา ทายาทของสุมทุม บุญเกื้อ เป็นห่วงงานเขียนอมตะของ ไม้เมืองเดิม มากกล่าววิงวอนไว้ว่า นักทำหนังสือก็ดี บริษัทสร้างภาพยนตร์ สร้างละครก็ดี ถ้าจะหยิบเรื่องของ "ไม้เมืองเดิม" ไปทำก็ทำเถิดครับ แต่ขอให้ทำในเชิงอนุรักษ์สักหน่อย คือว่าอย่าเห็นแก่ประโยชน์หรือว่าเห็นแก่รายได้ในการที่จะต้องขยายยืดออกไปยืดยาว ถ้าจะให้ยืดยาวก็ควรจะให้อยู่ในกรอบ แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เพิ่มเติม ซึ่งไม่เพิ่มในกรอบของเรื่องเดิม จริงอยู่การทำละครต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มรายละเอียดบ้าง เพื่อให้ละครมีความยาวตามที่ท่านผู้จัดกำหนดไว้ แต่การขยายเรื่องให้ยาวมันไม่จำเป็นต้องแหกออกไปนอกเรื่อง !

ส.ท่าเกษม เคยอ่านหนังสือเรื่องที่ติดใจมาก ตามดูละคร แล้วก็ผิดหวังหลายครั้ง เลยคุยกับผู้ประพันธ์ท่านก็ผิดหวังเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อเราขายลิขสิทธิ์เขาไปแล้ว เรื่องเศร้าคือ หลังจากผู้ประพันธ์เสียชีวิตไปแล้ว 50 ปี ผู้ผลิตผลงานต่างๆสามารถหยิบเอาไปทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องเสียสตางค์ค่าลิขสิทธิ์ ใครจะฟ้องไม่ได้ เลยทำตามอำเภอใจ ทายาทเลยขอร้องว่าถ้าจะเอาไปทำก็ขอให้เอาไปทำในเชิงอนุรักษ์หน่อย มันจะได้ดีด้วยกันทุกฝ่าย เวลานี้สมาคมนักเขียนพยายามขยายลิขสิทธิ์ออกไปคือยืดอายุไปเป็น 70 ปี หลังจากผู้ประพันธ์เสียชีวิตไปแล้ว

ถ้าคนเขียนบทภาพยนตร์หรือโทรทัศน์เป็นเช่น สุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งตัวท่านเองเป็นนักประพันธ์จึงเข้าใจถึงจิตใจของผู้ประพันธ์ด้วยกัน ทายาทของผู้ประพันธ์ทั้งหลายคงไม่ต้องกังวลวิตก เนื่องจากท่านเขียนตรงตามบทประพันธ์ของไม้เมืองเดิม เพราะคนทำบทละครนั้นต้องเคารพเจ้าของเรื่อง ไม่มีการแก้ไขดัดแปลงให้เสียเรื่องของเขา เพียงแต่ใส่รายละเอียดให้มากขึ้น เช่นบทผู้หญิงบางตัวถ้ามีน้อยก็ต้องเพิ่มให้ตัวละครมีความหมายมากขึ้น จะทำตรงๆ 100% ไม่ได้ ความสนุกของละครจะอยู่ที่รายละเอียด อยู่ที่ตลก ซึ่งก็จะเพิ่มให้ตัวละครมีบทบาทมากขึ้นไป ฯลฯ นี่คือความคิดเห็นของท่าน

ตอนที่ อารีย์ นักดนตรี ดาราจอแก้วทำงานหลายหน้าที่รวมทั้งนางเอกละครโทรทัศน์ช่อง 4 รับบทแม่หญิงเรไร ได้รับค่าเหนื่อยเพียง 450 บาทต่อตอนเท่านั้น เพราะเรื่องนี้ตัวแสดงมากมายต้องแบ่งกันไป แต่ถึงค่าตัวจะน้อยก็ยังมีเงินเดือนกิน อยากทราบจังว่า พลอย เฌอมาลย์ ได้รับค่าตอบแทนในบท แม่หญิงเรไร เท่าไรต่อตอน ?


หมายเหตุ ข้อมูลจากหนังสือ วิทยุสราญรมย์ ฉบับที่ 14 (มกราคม-มีนาคม 2545) และ โลกมายาของอารีย์ พิมพ์ มีนาคม 2546

จากข้อมูลมีการสะกดทั้งแบบติดกัน ไม้เมืองเดิม และแบบแยกกัน ไม้ เมืองเดิม

ขอขอบคุณ คุณวราภา อุดมศิลป์ (วราภา) ผู้ประพันธ์ "วันนี้ที่รอคอย" (จะกลับมาเป็นละครอีกครั้ง) ที่กรุณานำโลกมายาฯ หนังสือที่มีคุณค่ามาฝาก พร้อมลายเซ็นของ คุณอารีย์ นักดนตรี ผู้ซึ่ง ส.ท่าเกษม เป็นแฟนท่านมาเมื่อครั้งอยู่บ้านท่าเกษม บางขุนพรหม