คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครบ ๑๐๓ ปี

โรงเรียนเพาะช่าง ตั้งอยู่ที่ ๘๖ ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ มีสี แดง-ดำ เป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน เพาะช่างเป็นโรงเรียนศิลปะการช่าง ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเอาวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นวันกำเนิดโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งเป็นวันชุมนุมศิษย์เก่าของทุกปี ที่ทำการอยู่ภายใน วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ติดกับหอศิลป์เพาะช่าง และตึกคณะออกแบบ นายกสมาคมคือ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ปัจจุบันเพาะช่างมีชื่อเต็มคือ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

คำว่า "เพาะช่าง" ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวาระที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ สืบเนื่องมาจากงานเฉลิมพระชนมพรรษา ในการที่โรงเรียนเพาะช่างได้รับพระราชทานกำเนิดจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็เพราะพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงห่วงใย ในศิลปะการช่างของไทยจะถูกอิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายเข้าครอบงำ อาจถึงคราวเสื่อมสูญได้ จึงมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงศิลปะการช่างของไทยให้พัฒนาถาวรสืบไป ปัจจุบันเพาะช่างได้เปิดหลักสูตรการสอนในระดับปริญญาตรี ๔ ปี ทั้งภาคปกติและภาคสบทบ มีทั้งหมด ๔ กลุ่มวิชา คือ ศิลปะประจำชาติ ศิลปหัตถกรรม วิจิตรศิลป์ และ ออกแบบ โดยสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้อำนวยการสถาบัน ปัจจุบันคือ นายโสภณ จงสมจิต

พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๒ เปิดแผนกช่างถ่ายรูป ซึ่งในช่วงนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัย เสด็จทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนเพาะช่าง

พ.ศ. ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการแสดงภาพเขียน ของ เหม เวชกร และเพื่อนพร้อมครู อาจารย์ โรงเรียนเพาะช่าง โดยจัดร่วมกับสโมสรโรตารี่แห่งประเทศไทย

พ.ศ. ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานแสดงภาพถ่าย ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ร่วมกับโรงเรียนเพาะช่างและทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนเพาะช่างด้วย

พ.ศ. ๒๕๑๐ กระทรวงศึกษาธิการยกฐานะโรงเรียนเพาะช่างให้เป็นวิทยาลัย พร้อมกับอนุมัติให้เปิดรับนักศึกษาภาคบ่ายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ.๒๕๑๘ จัดตั้ง วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เพื่อยกฐานะทางการศึกษาด้านวิชาชีพ ให้สูงถึงระดับปริญญา เปิดการศึกษา ๖ สาขา รวมทั้งโรงเรียนเพาะช่างให้เปิดสายศิลปกรรมในนามคณะศิลปกรรม

พ.ศ. ๒๕๒๐ กระทรวงศึกษาธิการได้โอนกิจการของโรงเรียนเพาะช่าง จากกรมอาชีวศึกษาไป สังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยมีสถานภาพเป็น วิทยาเขตเพาะช่าง

พ.ศ. ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนาม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาใหม่เป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๑

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคาร ๗ ชั้น ( อาคารจุฑาธุช ) งบประมาณพิเศษจากการสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระนคร สุเทพ วงศ์กำแหง แล้วขอประทานนามอาคารจาก พระวรวงศ์พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ว่าอาคาร "จุฑาธุช" ตามพระนามของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

พ.ศ. ๒๕๔๙ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ทำให้เพาะช่างต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์" โดยลบคำว่าเพาะช่างออกไป ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ในปีนี้ได้มีโครงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในหลายๆแขนงวิชาให้เป็นหลักสูตรปริญญาตรี ๔ ปี และบางสาขาวิชาให้มีหลักสูตร ๒ ปีหลังต่อเนื่อง

พ.ศ. ๒๕๕๐ หลังจากได้เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างของสถาบันเป็น "คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์" ทำให้กลุ่มศิษย์ปัจจุบัน, ศิษย์เก่า คณาจารย์, ซึ่งนำโดยศิษย์เก่าซึ่งเป็นนักวิชาการด้านศิลปะ, ศิลปินแห่งชาติ แสดงความเห็นคัดค้านกับการลบชื่อ "เพาะช่าง" ออกไป เนื่องจากคำว่า เพาะช่าง เป็นคำพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงเป็นตักศิลาเก่าแก่ด้านศิลปะของชาติ ได้มีการชุมนุมใหญ่ของศิษย์เก่าในวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยศิษย์เก่าจำนวนมากได้ใส่เสื้อดำแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลบชื่อเพาะช่าง รวมไปถึงมีการยื่นเรื่องสอบถามร้องเรียนกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงสื่อมวลชน จนท้ายสุดทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จึงเปลี่ยนแปลงชื่อของสถาบันให้อีกครั้งเป็นกรณีพิเศษโดยยังคงชื่อ “เพาะช่าง”ไว้เป็นชื่อหน่วยงาน วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

งานฉลองครบ ๑๐๓ ปีของเพาะช่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผ่านพ้นไปอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะเป็นทั้งวันกำเนิดของโรงเรียนเพาะช่างและเป็นวันชุมนุมศิษย์เก่าของทุกปี ส.ท่าเกษม ได้นำประวัติย่อๆมาลงให้คุณผู้อ่านที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยได้รู้จักร.ร.เพาะช่างดีขึ้น

โชคดีที่เส้นทางชีวิตได้เดินมาบรรจบพบกับพี่ๆศิษย์เก่าเพาะช่าง เริ่มตั้งแต่อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าฯถึงนายกฯคนปัจจุบัน ส่วนทางนี้ดร.กมลผู้ที่รู้จักกันมาเกือบจะครึ่งศตวรรษ ได้กรุณาจัดฉากให้สัมภาษณ์ ดร.ถวัลย์ และ ศ.ประหยัด เมื่อ ๑๒ ปีที่แล้ว ประมาณว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” อย่างไรอย่างนั้น ! จากการที่ได้พบปะสังสรรค์กับพี่ๆ ทำให้ได้เรียนรู้ปรัชญาชีวิตที่ดีๆ ได้รับความรู้เพิ่มเติมในด้านการใช้ชีวิตและงานเขียนหนังสือ พบกันครั้งใดมีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความคิดที่สร้างสรรค์ ความสุข....

วันที่ ๑๗ มกราคมนี้ พี่ๆ น้องๆ ชาวศิลปินแห่งชาติจะร่วมกันฉลองอวยพรวันคล้ายวันเกิดครบ ๖ รอบ ให้กับ ดร.กมล ที่กำลังเดินสายทำงาน INTERNATIONAL ART WORKSHOP ทำค่ายยุวศิลปินที่คัดมาทั่วประเทศจาก ๒๗ มหาวิทยาลัย จาก ๗๐ คนจะคัดเหลือเพียง ๑๐ เพื่อเดินทางมาทัศนศึกษาและแสดงผลงานที่ประเทศอเมริกาในต้นเดือนเมษายนนี้ - ดูแลศิลปินนานาชาติจัดนิทรรศการที่หอศิลป์ราชดำเนิน ต่อด้วยศิลปินแห่งชาติสัญจร ฯลฯ ฟังดูแค่ ๓ โปรเจ็คก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งอายุมากขึ้นงานก็มากขึ้นตามอายุ แต่ ดร.กมล ยังคงมีไฟอยู่ในหัวใจไม่เคยท้อถอย คงจะเป็นเพราะทำงานเร็ว ทำได้ทุกโอกาสทุกสถานที่และมีสุขภาพดีจิตใจแข็งแกร่ง หนักแน่น ทำงานเพื่อตอบแทนพระคุณสถาบันและแผ่นดินที่รักและหวงแหน ถึงแม้จะพำนักพักพิงอยู่กับครอบครัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็มิได้เป็นอุปรรคต่อการทำงาน ยังคงบินไปบินมาปีละหลายเที่ยว!


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๖ มกราคม ๒๕๕๙