คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



ประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา-อิสราเอล

ตั้งใจจะเขียนถึง 3 ประเทศนี้ตั้งแต่ทราบว่าอดีตกงสุลใหญ่ จักร บุญ-หลง ได้รับพระราชทานแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศอิสราเอล ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกทีเดียวเพราะท่านรับช่วงต่อจาก รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ณัฐวุฒิ โพธิสาโร (อดีตรองกงสุลใหญ่แห่งนครลอสแอนเจลิส) ซึ่ง ส.ท่าเกษม ได้มีโอกาสพบท่านและภรรยา 2-3 ครั้งที่เมืองแอล.เอ.นี้ ที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะท่านรองปลัดกระทรวง ฯ เป็นศิษย์เก่า ร.ร.วชิราวุธวิทยาลัย (O.V.) ไม่กล้าพูดว่ารู้จักท่านเพราะเราเป็นผู้น้อย มีหลายต่อหลายคนชอบพูดว่ารู้จักคนใหญ่ๆ โตๆ คนนั้นคนนี้ แต่จุดสำคัญคือ "คนนั้นคนนี้เขารู้จักเราหรือเปล่า ?" พี่น้องผู้ชายท้อง(มารดา) เดียวกับส.ท่าเกษม 4 คน และน้องอีก 2 คน (ต่างมารดา) ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์เก่า ร.ร.วชิราวุธฯ เลยพลอยมีความผูกพันไปด้วย เพราะเข้าๆ ออกๆ ต้องนำอาหารอร่อยๆ ไปเยี่ยมนักเรียนประจำทุกสุดสัปดาห์ น.ร.ประจำกลับบ้านได้เพียงเดือนละครั้ง

ในปี ค.ศ. 2010 สมาชิกคนโตของครอบครัวเราไปพักผ่อน (VACATION) ที่ประเทศอิสราเอลกับครอบครัว อยากจะไปสัมผัส DEAD SEA และเมือง JERUSALEM ที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเมืองหลวง พอดีขณะนั้นมี เอกอัครราชทูต ชัชเวทย์ ดำรงตำแหน่งอยู่ ภรรยาของท่านคือ คุณตุ๊กตา วลัยทิพย์ ธิดาของ ม.จ.หญิง ทิพย์สุดา วิเศษกุล เป็นเพื่อนร่วมชั้นกับน้องสาวของ ส.ท่าเกษม ศิษย์เก่า ร.ร.มาแตร์เดอี นีละพงษ์อำไพ นี้เป็นพี่น้องร่วมท้องกับน้องชาย 2 คน ที่เอ่ยถึงว่าเป็น O.V. ระฆุวงศ์ นีละพงษ์อำไพ ไกรกรีกูร ฯลฯ นับว่าเป็นโชคดีและเป็นเกียรติแก่ครอบครัวอย่างยิ่ง ที่ซาแมนธ้า Samantha และครอบครัวได้รับความกรุณาจากเอกอัครราชทูต ชัชเวทย์ และคุณตุ๊กตา เปิดทำเนียบให้เข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมทั้งเลี้ยงน้ำชา ด้วยความประทับใจอย่างที่สุด ลองดูตำแหน่งเต็มๆ ของบุคคลที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย

"H.E. AMBASSADOR OF THAILAND TO ISRAEL" และสถานที่ทำงานคือ "ROYAL THAI EMBASSY" TEL AVIV, ISRAEL

ก่อนจบคอลัมน์ขอฝากบทความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศอิสราเอลพอหอมปากหอมคอ โปรดทราบว่าทั้ง 2 ประเทศนี้มีความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีต่อกันมานาน ชาวอิสเอลลี่ (Israeli) ชอบไปเที่ยวพักผ่อนที่ประเทศไทย เผลอๆ ส.ท่าเกษมยังได้ของฝากจากเพื่อนชาวอิสเอลลี่ และรัฐบาลของประเทศไทยสนับสนุนส่งแรงงานไปยังประเทศอิสราเอล เนื่องจากสภาพแวดล้อมทำให้ประเทศมีความเชี่ยวชาญทางการรบเพื่อความอยู่รอด เพราะมีศัตรูรอบด้าน ทราบว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางการรบและอาวุธเป็นผู้ฝึกให้ทหาร-ตำรวจ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยในบางหน่วย

โดยทั่วไป ไทยและอิสราเอลมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดี ผู้แทนคนแรกของประเทศอิสราเอลในประเทศไทยคือ นายแพทย์เปเรซ จาคอบสัน ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิติมศักดิ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวอิสราเอลราว ๒๐๐ คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อิสราเอลมีสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2501 ไทยจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟเมื่อ เดือนมกราคม 2539 และมีกงสุลใหญ่กิติมศักดิ์ประจำกรุงเทลอาวีฟ (นาย Eddy Strod) ตั้งแต่ปี 2535 และประจำเมืองไฮฟา (นาย Joseph Gillor) ในปีเดียวกัน ส่วนสำนักแรงงานไทยในอิสราเอลได้จัดตั้งในปี 2540

ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ((ค.ศ. 1954 )และมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๐๑ โดยมีนายมอร์เดคาย คิดรอน เป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลคนแรกประจำประเทศไทย จากนั้นได้มีการเปิดสำนักงานทูตพานิชย์ในอิสราเอลในปี ๒๕๓๑ และเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดร.รณรงค์ นพคุณ ยื่นพระราชสารตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรก ณ กรุงเทลอาวีฟ ประจำอิสราเอลแก่ประธานาธิบดีเอเซอร์ ไวซ์แมนน์

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้บันทึกการเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา

บุคคลสำคัญจากอิสราเอลที่มาเยือนประเทศไทยรวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอล นายยิตซัก ราบิน และผู้นำซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศ นายอับบา อีบัน นางโกลดา เมียร์ นายโมเช ดายัน และ นายชิมอน เปเรส

การก่อตั้งหอการค้าไทย-อิสราเอล เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๓ ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี และขยายอัตราการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างปี ๒๕๓๓-๒๕๓๙ จาก ๑๖๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ หลังจากการเยือนประเทศของรัฐมนตรีต่างประเทศนายชิมอน เปเรส ในปี ๒๕๓๖ ข้อตกลงทางการบินก็มีผลบังคับใช้ โดยสายการบินอิสราเอล “แอล อัล” เริ่มบริการเที่ยวบินมายังประเทศไทยอันเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทย ประกอบกับที่ได้รับข้อยกเว้นในการทำวีซ่าเข้าประเทศด้วย นอกจากนี้ตั้งแต่พ.ศ ๒๕๓๗ เป็นต้นมา อัตราของผู้ใช้แรงงานไทยในอิสราเอลเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ราว ๆ ๓๐,๐๐๐ คนในภาคการเกษตร

โครงการความร่วมมือระหว่างไทย-อิสราเอล ได้แก่ โครงการความร่วมมือทาง ด้านการเกษตรซึ่งอิสราเอลร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของ “มาชาฟ” หรือศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศของอิสราเอล เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๒ ผู้เชี่ยวชาญไทยที่เข้าร่วมหลักสูตรมาชาฟที่อิสราเอลมีสองสาขาหลัก คือ ด้านการเกษตรและการศึกษา โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาของเด็กปฐมวัย โดยมีหม่อมหลวงอนงค์ นิลอุบลและหม่อมดุษฎี บริพัตร เป็นผู้จัดทำหลักสูตร โครงการล่าสุดคือ แปลงสาธิตการเกษตรไทย-อิสราเอลสำหรับพืชมูลค่าสูง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับรัฐบาลอิสราเอล โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เปิดโครงการแปลงสาธิตการเกษตร เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

มูลค้าการค้าระหว่างไทย-อิสราเอล ยังอยู่ในอัตราที่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการค้ากับประเทศต่าง ๆ ในปี 2544 ปริมาณการค้าของไทยกับอิสราเอลมีมูลค่า 34,633.4 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปอิสราเอลมูลค่า 20,240.9 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าของอิสราเอล มูลค่า 14,392.5 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า มูลค่า 5,848.4 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในอิสราเอลในลำดับที่ 8 รองจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเกษตรและอาหาร รถยนต์ อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากพืชและผัก และเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้านำเข้าไทยที่สำคัญได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์การสื่อสาร และเคมีภัณฑ์


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
25 พฤษภาคม 2556