คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



“ปาริชาต” ดอกไม้แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ช. กลิ่นล่องลมมาหอมปาริชาตสวรรค์ (ฮัม…)
….กลิ่นเจ้าเท่านั้นสัมพันธ์ชาติที่ผ่าน (ฮัม…)
….ดอกเจ้าก็งาม สมนามเขากล่าวขาน
ญ.สีแดงงามตระการ
ช. พิศเพียงแก้วประพาฬ
พ. ดอกไม้วิมานสุขาวดี
ญ.กลิ่นเจ้าล่องลมพริ้วพรมมาแห่งนี้ (ฮัม…)
….กลิ่นเจ้ายวนยีฤดีให้ป่วนปั่น (ฮัม…)
…กลิ่นเจ้าดลใจโน้มในฤทัยฝัน
ช. ภพชาติแต่เบื้องพรรพ์
ญ.นึกได้โดยฉับพลัน
พ. กลิ่นทิพย์ผูกพัน สวรรค์ดลใจ
ช. โอปาริชาตเอย ชื่นเชยชีวิตให้
ญ.ชาติหลังปางใด (ฮัม…) เข้าใจทุกปาง
ช. เกิดชาติปางไหน (ฮัม…) ขอได้ร่วมใจทุกทาง
ญ.ปางรักร่วมใจไม่จืดจาง ปางร้างไม่จางเลย
ช. ศักดิ์สิทธิ์หนักหนาโอปาริชาตเอย (ฮัม…)
….กลิ่นเจ้ารำเพยชิดเชยไม่ขาดกลิ่น (ฮัม…)
พ. เจ้าอยู่เมืองแมน มิใช่ของแดนดิน
….สมบัติวิมานชื่นบานประทิน มิใช่ของชาวแผ่นดิน…ชม…เชย

เพลง "ปาริชาต"
ศิลปิน สุนทราภรณ์ –มัณฑนา โมรากุล
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน



เพลงนี้ได้รับความคิด จาก วรรณคดีเรื่อง ‘กามนิต-วาสิฏฐี ที่ประพันธ์โดย ชาวเดนมาร์ก ชื่อว่า คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป (karl Adolph Gjelleru) และแปลเป็นภาษาไทยโดย เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป วรรณคดีเรื่องนี้ บทที่ ๒๔ มีชื่อว่า ต้นปาริชาต เนื้อเรื่องกล่าวถึง กามนิต ตัวเอกของเรื่อง ได้ดมกลิ่นของดอกปาริชาต จึงทำให้ระลึกและจำความหลังของชาติปางก่อนได้ เพลงในชุดเดียวกับปาริชาต อีกเพลงหนึ่งคือ วาสิฏฐี


ประวัติ-ตำนาน "ต้นปาริชาต" กล่าวถึงในวรรณกรรมต่าง ๆ

ปาริชาต (Parijata) เป็นต้นไม้แห่งความสมปรารถนา เกิดจากการกวน "เกษียรสมุทร" ของเหล่าเทวดาและอสูร อันเกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๑๔ อย่าง พระอินทร์นำไปปลูกไว้ในสวนของพระองค์บนสวรรคโลก (Svargaloka) ลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีดอกสีขาวแต้มแดงกลิ่นหอมอบอวล

ในกฤษณาวตาร ภาคหนึ่งของพระวิษณุ ได้แอบไปขโมยต้นปาริชาตจากสวรรค์ตามความปรารถนาของนางสัตยภามา (Satyabhama) ชายาของพระองค์ แต่เกรงว่านางรุกมินี (Rukamini) ชายาอีกคนจะน้อยใจ จึงปลูกต้นปาริชาตไว้ในสวนของนางสัตยภามาแต่หันกิ่งก้านไปทางสวนของนางรุกมินี เวลาที่ดอกปาริชาตร่วงหล่นจะได้ตกใส่สวนของนาง ด้วยเหตุนี้ต้นปาริชาตจากสวรรค์จึงได้ลงมาอยู่บนโลกมนุษย์


มหากาพย์เทวภูมิ ชั้นที่ ๒ ดาวดึงส์

"นอกเมืองดาวดึงส์ออกไป ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยานใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า ปุณฑริกวัน มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน กลางสวนมีไม้ทองหลางใหญ่ต้นหนึ่ง เป็นไม้ทิพย์ชื่อว่า ปาริชาต ต้นปาริชาต นี้ จะมีดอกบานครั้งหนึ่งต่อเมื่อครบหนึ่งร้อยปี พูดง่าย ๆ ว่าร้อยปีจะดอกบานครั้งหนึ่ง

และขณะที่ดอกปาริชาตนี้บานจะมีรัศมีเรืองไปไกลถึงแปดแสนวา และเมื่อลมพัดไปทางทิศใด ลมมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทิศนั้นไกลแสนไกล กลิ่นหอมนั้นจะตลบอบอวลอยู่ทั่วบริเวณสวรรค์ชั้นนี้นานเท่านาน กล่าวกันว่า ยามที่ดอกปาริชาตนี้บาน จะมีเหล่าเทพบุตรเทพธิดามาเล่นสนุกสนานใต้ต้นปาริชาตนี้เป็นจำนวนมากและกลิ่นปาริชาตที่โชยโรยรินมาต้องเทพบุตรเทพธิดาองค์ใด จะช่วยทำให้เทพบุตรเทพธิดาองค์นั้นระลึกชาติได้อย่างอัศจรรย์"

ปาริชาต หรือปาริฉัตร เป็นที่นิยมนำมาตั้งชื่อกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งแท้จริงแล้ว ปาริชาต เป็นชื่อของดอกไม้ หรือดอกทองหลาง นั่นเอง โดยมีความเชื่อกันว่า ดอกปาริชาต เป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ หากใครได้ดมดอกปาริชาต ก็จะระลึกชาติได้ ได้รู้เห็นอดีตชาติของตนเอง เป็นต้นทองหลางใหญ่ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า ปาริกชาตกัลปพฤกษ์ เป็นไม้ใหญ่ สูงถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๔๐๐ กิโลเมตร รอบลำต้นได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา หรือ ๖๐ กิโลเมตร กิ่งก้านสาขาที่แผ่ออกไปนั้นกว้างใหญ่นัก ต้นทองหลางปาริกกัลปพฤกษ์นี้ ๑๐๐ ปี จะออกดอกครั้งหนึ่ง ดอกจะออกเต็มทั้งต้น เมื่อดอกบานจะเปล่งแสงงามสุกสว่างไปได้ไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๔๐๐กิโลเมตร กลิ่นหอมกระจายไปไกลถึงแสนวา เทวดาต่างพากันมาเก็บดอกปาริชาตไปตามความต้องการ

แต่การเก็บนั้นไม่ต้องป่ายปีนหรือเหาะเหินขึ้นไปจนถึงต้น เพียงแต่นึกว่าอยากได้ดอกไหน ดอกปาริชาตดอกนั้นก็จะร่วงลงมาสู่ผอบหรือห่อผ้าที่นำมาใส่นั้นเอง หากเทวดายังมาไม่ถึงต้น หรือภาชนะที่จะใส่ยังไม่พร้อม จะมีลมมาพัดดอกไม้นั้นพยุงไว้ไม่ให้ตกลงสู่พื้นแล้วจึงพัดให้มาตกลงในที่รองรับดอกไม้พอดี

ผู้ใดที่ต้องการดอกไม้ไปทัดหูเพียงยื่นมือออกไปดอกไม้นั้นก็หล่นลงมาเอง หากรับไม่ทันจะมีลมหมุนวนประคองไว้จนกว่าจะรับได้ กลิ่นของดอกปาริชาตจะทำให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปเกิดอาการวิงเวียนและสามารถระลึกชาติได้ ตั้งแต่ชาติที่ใกล้ที่สุดจนถึงชาติที่ไกลโพ้นออกไป ในขณะที่ดอกปาริชาตในอินเดีย คือ ดอกกรรณิการ์ ของไทยเรานั่นเอง เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีของหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่ และเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระกฤษณะ

ปาริชาต หรือปาริฉัตร เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่าเมื่อต้นปาริชาตในดาวดึงส์บานเต็มที่แล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างพากันดีใจเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำรุงบำเรออยู่ตลอดระยะ ๕ เดือนทิพย์ ณ ใต้ต้นปาริชาต


ในวรรณกรรมอิงพุทธประวัติและหลักธรรมเรื่อง ‘กามนิต-วาสิฏฐี’ ได้บอกไว้ว่า กามนิตซึ่งได้ไปเกิดในสวรรค์ เมื่อได้กลิ่นหอมจากต้นปาริชาตก็สามารถระลึกชาติของตนครั้งที่อยู่ในโลกมนุษย์ได้

หนึ่งในห้าของดอกไม้สวรรค์ ชื่อดอกปาริชาต ดอกไม้นี้ มีอีกชื่อว่า ไม้สังกัลปวิษัย แปลว่าใครผู้ใดได้กลิ่นหอม...แล้ว “ยังผลสำเร็จปรารถนาให้ทุกอย่าง”

คัมภีร์พราหมณ์เล่าว่า ครั้งหนึ่งฤาษีมีฤทธิ์ ชื่อทุรวาส ไปเที่ยวป่าหิมพานต์ เจอนางฟ้าถวายพวงดอกไม้ให้ กลิ่นหอมของดอกไม้ทำให้ฤาษีมึนเมา เผลอเหาะขึ้นไปร่ายรำอยู่กลางอากาศ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สวนทางมาพอดี ฤาษีส่งพวงมาลัยให้ พระอินทร์รับวางไว้บนกระหม่อมช้าง ช้างมีภูมิต้านทานต่ำกว่าฤาษี ได้กลิ่นดอกไม้สวรรค์เข้า...ก็ถึงกับคลั่ง ชูงวงจับพวงมาลัยลงมาเหยียบขยี้

ฤาษีโกรธ หาว่าพระอินทร์ดูหมิ่น สาปให้เสื่อมฤทธิ์ลงเสียบ้าง ตั้งแต่นั้นมา พวกเทวดาซึ่งเคยรบชนะ ก็เริ่มรบแพ้พวกอสูร ถูกอสูรบุกรุกรังควานจนทนไม่ไหว พระอินทร์ไปฟ้องพระพรหม พระพรหมโยนลูกให้ไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์แนะอุบาย...ให้เจรจาผูกมิตรกับอสูร ด้วย การไปช่วยกันกวนน้ำอมฤต ได้น้ำอมฤตแล้ว ทั้งเทวดาอสูรจะเป็นอมตะไปด้วยกัน

ตกลงกันได้ เทวดาอสูรก็แยกย้ายกันไปสี่ทิศเก็บตัวยาโยนลงไปในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) แล้วไปถอนภูเขา มันทรมาวางกลางทะเล ฉุดเอานาคมาพันภูเขาห้าเปลาะ ให้เทวดาอยู่ทางหาง ให้อสูรอยู่ทางหัว ขณะชักนาคให้ภูเขาหมุนไปมา ภูเขาเริ่มโอนเอน พระนารายณ์อวตารเป็นเต่ายักษ์ ดำลงไปใต้ทะเลเอาหลังรองเป็นฐาน ให้ชักนาคต่อไป จนปรากฏของวิเศษ ผุดขึ้นมา ๑๔ อย่าง

วันนี้ขอบอกเพียง ๓ อย่าง

อย่างที่ ๑ เป็นสาวสวย พระนารายณ์ ทรงยึดเป็นพระชายาพระนามพระลักษมี อย่างที่สอง ดวงแก้ววิเศษ พระนารายณ์ก็ยึดเป็นเพชรประทับทรวง

อย่างที่ ๓ เป็นต้นไม้วิเศษ ชื่อปาริชาต พระอินทร์ก็ขอรับเอาไปปลูกไว้กลางนันทอุทยานบนสวรรค์

ต้นปาริชาตอยู่บนสวรรค์เรื่อยมา จนถึงยุคพระนารายณ์อวตาร ปางที่ ๘ เป็นพระกฤษณะทรงพานางสัตยาภา พระชายาองค์โปรดไปเที่ยวสวรรค์ พระชายาเห็นก็ชอบมากเกินหักใจ ยุให้พระกฤษณะลักต้นปาริชาต พระอินทร์จับได้ สองผู้ยิ่งใหญ่ก็รบกัน พระอินทร์นั้น ตั้งแต่ถูกฤาษีสาป ก็ป้อแป้เต็มที รบกับอสูรยังแพ้ ไฉนเลย เมื่อรบกับพระกฤษณะจะไม่แพ้

พระกฤษณะจึงได้ต้นปาริชาตไปโลกมนุษย์ ปลูกกลางนครทวารกา ต่อมาพระกฤษณะทำพิธีบวงสรวงใหญ่ มีการเล่นสนุกและเลี้ยงสุรากันครึกครื้น สุราเข้าปากกษัตริย์ยาทพ ก็เมาถึงขั้นเปิดศึกรบกันเอง บ้านเมืองเป็นจลาจล

กรรมสนองพระกฤษณะ นับแต่ผิดศีลไปชิงปาริชาตมา ถือว่าผิดศีล อำนาจบารมีก็เสื่อม สั่งใครไม่ได้ต้องทรงเตลิดหนีเข้าป่า เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ไปถูกพรานป่ายิงตาย เจ็ดวันต่อมา นครทวารกาก็จมหายลงในทะเล ต้นปาริชาตจึงได้กลับไปอยู่บนสวรรค์เหมือนเดิม

รูปพรรณปาริชาต " กาญจนาคพันธุ์ " ท่านว่า คล้ายต้นทองหลาง ต้นทองกวาว และต้นแคฝอยในโลกมนุษย์เพียงแต่กลิ่นไม่หอม

- ชื่อพื้นเมือง ทองหลาง ,ทองหลางด่าง (กรุงเทพฯ) ปาริฉัตร ทองบ้าน ทองเผือก (ภาคเหนือ)

- ชื่อวิทยาศาสตร์ Rrythrina variegata Linn..

- ชื่อสามัญ Indian Coral Tree , Variegated Coral Tree , Variegated Tiger's Claw , Tiger's Claw,Parijata

- ชื่อวงศ์ PAPILIONCEAE

- ลักษณะ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 510 เมตร กิ่งอ่อนมีหนามเรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางจะโตกว่า สองใบด้านข้าง ออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 3040 เซนติเมตร รูปดอกถั่ว สีแดงเข้ม ผลเป็นฝักยาว 1530 เซนติเมตร


ทุกเพลงที่ ส.ท่าเกษม เขียนลงในคอลัมน์จะมีที่ไปที่มาจากความประทับใจกับบุคคล สถานที่ ธรรมชาติ หรือความผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอน ความรักความอบอุ่นที่ได้รับมาในอดีตยังคงฝังจิตฝังใจอยู่จนทุกวันนี้....

เพลงนี้ก็เช่นกันถึงแม้จะรู้จักเพลงสุนทราภรณ์ไม่มากนัก แต่เพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่ร้องตามได้ ชอบมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนที่เมืองไทย เมื่อคืนวันเสาร์ที่ ๘ พฤศจิกายนได้พบกับผู้ที่มีดนตรีอยู่ในหัวใจเกินกว่า ๒๕๐ คน พบน้องๆ และผู้ที่คุ้นหน้าคุ้นตาทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายกันด้วยไมตรีจิต... เพราะมีจุดประสงค์อันเดียวกันคือมาฟังเพลงรักอมตะที่ไพเราะ เพลงโปรดของแต่ละคน ! โต๊ะที่ ส.ท่าเกษมนั่งเป็นโต๊ะของชมรมสุเทพแฟนคลับฯ และมีผู้ใหญ่ของเมืองแอล.เอ. หลายท่านให้เกียรติเป็นแขกรับเชิญของชมรมฯ ดังที่เขียนคุยไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เลยอยากจะทำอะไรให้ถูกต้องตามหลักของ SIT- DOWN DINNER ได้เตรียม PLACE CARDS ติดตัวไปที่พัก “เกษียรสมุทร” เมือง CARLSBAD, SAN DIEGO COUNTY พอดีระยะนั้นพักผ่อนอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ท่านกงสุลใหญ่ เจษฎา และภรรยาคุณปาริชาต กตเวทิน กรุณาให้เกียรติกับศิลปินแห่งชาติ เป็นแขกรับเชิญของชมรมฯผ่าน ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของชมรมฯ นั่งเขียนชื่อของทุกๆ คนไม่มีปัญหา จนมาสะดุดที่ชื่อของภรรยาท่าน กสญ. เพราะตาม น.ส.พ. ท้องถิ่น หรือแม้แต่เวบฯ ต่างๆ สะกดทั้ง ๒ อย่าง “ปาริชาติ” และ “ปาริชาต” ไปๆ มาๆ เลยต้องอาศัยเข้าเวบฯ ของสถานกงสุลใหญ่ที่นี่ จึงเขียนโดยไม่มีสระอิ บน ต.เต่า

เรา ๒ คน นั่งรถมาจากเมือง CARLSBAD ระยะทางประมาณ ๙๐ ไมล์ แต่เป็นวันเสาร์รถติดใช้เวลานานกว่าปกติ จึงมาถึงหลัง ๖ โมงครึ่ง

พอมาถึงผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือนั่งเรียบร้อยแล้ว ต้องกล่าวขออภัยตามระเบียบ รวมทั้ง PLACE-CARDS ซึ่งควรจะวางไว้บนโต๊ะก่อนแขกมาถึง กลับนำมาวางหลังจากแขกนั่งกันอย่างลงตัว ตอนนำไปวางให้ภรรยา ท่านกสญ. แอบกระซิบถามว่าสะกดถูกต้องหรือเปล่า คุณปาริชาตบอกว่าถูกต้องค่ะ โอ๊ย ! เลยหายใจทั่วท้อง ได้รับคำอธิบายจากเจ้าของชื่อที่ไพเราะนี้ว่าที่สะกดกันด้วย ต.เต่า สระอิ เพราะคงจะสับสนกับประเทศชาติ ปาริชาตที่แปลว่าดอกไม้ไม่มี “สระอิ” ส.ท่าเกษมเลยขอถือโอกาสเรียนให้พวกเราทราบตามนี้ด้วย

จากการที่ได้นั่งติดกับคุณปาริชาตระหว่างรับประทานอาหารคลุกเคล้าเสียงเพลงที่ภัตตาคารจีน ๘๘๘ เลยเกิดความประทับใจกับสุภาพสตรีคู่ชีวิตแรงใจสำคัญของท่าน กสญ. ด้วยอัธยาศรัยและการทำตัวสบายๆ แบบมาฟังเพลงเป็นส่วนตัวไม่ได้มาเป็นทางการ ส.ท่าเกษม เลยสบายๆ ไปด้วยไม่ต้องเกร็งแบบนั่งโต๊ะร่วมกับภรรยากงสุลใหญ่ ถ้าจะพูดในฐานะผู้อาวุโส (วัยวุฒิ) คงจะต้องกล่าวว่า “คุณปาริชาตทำตัวน่ารัก!” และนี่คือที่มาของ “ปาริชาต” ดอกไม้แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในคอลัมน์ประจำเสาร์นี้


หมายเหตุ ขอบคุณรูปและข้อมูลที่รวบรวมมาจากเวบฯ ต่างๆ สถานกงสุลไทยในแอล.เอ. ผู้จัดการออนไลน์ กระปุกดอทคอม น.ส.พ.ไทยแอล.เอ. บ้านมหาดอทคอม บ้านคนรักสุนทราภรณ์ ถ้าไม่นับเวบฯสถานกงสุลไทยฯ ก็ต้องขอชมคอลัมน์ “ชักธงรบ” ของกิเลน ประลองเชิง ที่สะกด “ปาริชาต” ถูกต้อง ในขณะที่เวบฯ อื่นๆ จะสะกดด้วย “ปาริชาติ” แม้แต่เนื้อเพลง ชื่อเพลง เลยต้องขอให้ WEBMASTER ช่วยแก้ให้ มีคำว่า “ปาริชาติ” เต็มไปหมด...เฮ้อ !


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗