คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



พระจันทร์สีเลือด

ฟังดูแล้วเหมือนเป็นชื่อนวนิยายของนักประพันธ์ชื่อดัง ที่จริงแล้วเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่องค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐ หรือ นาซ่า (NASA มาจาก NATIONAL AERONAUTICS AND SPACE ADMINISTRATION) ระบุว่าชาวอเมริกันจะได้ชมจันทรุปราคาเต็มดวงเป็นครั้งแรกของปีนี้ในรูปของ “พระจันทร์สีเลือด” BLOOD MOON ในยามดึกของคืนวันจันทร์ที่ ๑๔ เมษายนไปจนถึงวันอังคารที่ ๑๕ เพราะทางแอล.เอ. นี่เริ่มราวๆ ๕ ทุ่มครึ่ง และเป็นเวลานานถึง ๓ ชม. เมื่อเกินเที่ยงคืนไปจึงกลายเป็นวันอังคารที่ ๑๕

ส.ท่าเกษม นั่งดูข่าวตอน ๑๑.๐๐ น. ทางโทรทัศน์ช่อง ๗ สถานี ABC ถ้าอยู่บ้านจะไม่เคยพลาด ที่ชอบดูช่อง ๗ เพราะเป็นข่าวแถวๆ นี้ มีอะไรจะได้ไม่ตกข่าว เราอยู่ที่ไหนก็ควรจะทราบสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อม คือนอกจากข่าวทั่วๆไปแล้ว มักจะมีข่าวท้องถิ่นเพิ่มเติมมาด้วย ระหว่างนั่งฟังข่าวเกี่ยวกับจันทรุปราคาอย่างสนใจกับหัวหน้าครอบครัว พอทางผู้ประกาศข่าวมีรูปให้ดูว่าเงาของโลกเริ่มทาบดวงจันทร์ ก็จะเดินไปดูของจริงที่หน้าต่างในห้องนอน ปรากฎว่าเหมือนกันเลยขนาดของเงาดำที่ทาบบนพระจันทร์ ประมาณ ๕ ทุ่มครึ่ง สมาชิกคนเล็กของครอบครัวที่อยู่เบย์แอเรียก็ TEXT มาเตือนให้มองดูท้องฟ้าเพราะมีปรากฎการณ์พิเศษ แถมท้ายมาว่า “เห็นไหมคุณแม่ จะบ่นว่าลูกไม่รักคุณแม่ไม่ได้อีกแล้ว เพราะลูกส่งข่าวมาให้ทราบในเรื่องที่ตื่นเต้นและสำคัญ ลูกทราบว่าคุณแม่รักพระจันทร์ !” พร้อมทั้งส่งรูปหน้ายิ้ม (STICKER) มาด้วย

ก่อนที่น้องนุชสุดท้องจะ TEXT มา สมาชิกครอบครัวคนที่ ๒ ได้โทรฯ มาบอกข่าว BLOOD MOON เพราะตัวเองกำลังดูอยู่ที่บ้านกับคู่ชีวิต ส.ท่าเกษม เลยแหย่กลับไปว่า “ลูกไม่ได้รักแม่คนเดียวหรอก พี่ชายของลูกก็เพิ่งโทรฯ มา แสดงว่าเขารักแม่เช่นกัน ! เดี๋ยวแม่จะ TEXT ถึงพี่สาวลูกให้ดูพระจันทร์” ระหว่าง ส.ท่าเกษม กำลัง TEXT ถึงสมาชิกคนโตที่อยู่ EAGLE ROCK เธอก็โทรฯ มาพอดีรายงานว่ากำลังยืนมองดูพระจันทร์อยู่ที่หน้าต่างห้องรับประทานข้าวกับนายแม็กซ์ (ลูกชายคนโต)

ยังแปลกใจว่าทำไมไม่ใช้กล้องดูดาว (TELESCOPE) ที่เพิ่งซื้อมาส่องดูพระจันทร์ เป็นกล้องที่มีคุณภาพดีใช้ระบบ COMPUTER ปรากฎว่าเจ้าของกล้องเหนื่อยมากทำงานทั้งวันหลับไปแล้ว คนอื่นใช้ไม่เป็น ลูกตัวเล็กๆ ก็หลับไปกับพ่อ มานึกดูแล้วปรากฎการณ์ธรรมชาติครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความรักและความผูกพันที่ครอบครัวเรามีต่อกัน ปกติแล้วต่างคนก็ยุ่งกับหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิต จากที่เคยอยู่รวมใต้หลังคาเดียวกัน กลับกลายเป็น ๔ หลังคาต่างเมืองกัน แต่เมื่อคืนวันจันทร์ที่ ๑๔ ดวงใจทุกดวงต่างมารวมกันอยู่ที่พระจันทร์ดวงเดียว

ระหว่างที่ ส.ท่าเกษม ติดต่ออยู่กับ DO-RE-MI ทั้งทางโทรศัพท์ และ TEXT เงาของโลกเพิ่งเริ่มบดบังดวงจันทร์

หลังจากนั้นประมาณ ๑ ชั่วโมงกว่าๆ เงาของโลกก็บดบังดวงจันทร์จนมิด ในช่วงที่เงาของโลกทาบทับบนดวงจันทร์ จะเห็นดวงจันทร์เปลี่ยนจากสีเหลืองนวลๆ เป็นสีออกส้มๆ สีน้ำตาลๆ มากกว่าเป็นสีแดงของเลือด บางคนก็ว่า เหมือนพระจันทร์สีพีช โดยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สาเหตุของสีแดงเกิดจากการที่แสงของดวงอาทิตย์บางส่วนส่องไปกระทบดวงจันทร์ จึงมีแสงสีแดงแบบเดียวกับช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก

จันทรุปราคา (Luna Eclipse) เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์เต็มดวง โคจรซ้อนทับกันพอดี

ประมาณครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นพระจันทร์สีเลือดได้ชัดเจน แต่มีรายงานว่า คนที่อยู่ในเมืองดัลลัส / เดนเวอร์/ ลอสแอนเจลิส เห็นแบบเต็มๆ

เว็ปไซต์ของนาซ่า มีการถ่ายทอดให้คนทั่วโลกได้ดูกันสดๆ ทางออนไลน์ และหากพลาดในครั้งนี้ ชาวอเมริกาเหนือ ก็ยังโชคดีได้เห็นอีก จากนี้ไปจนถึงกันยายนปีหน้า ยังมีให้ดูอีกถึง ๓ ครั้ง โดยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ ๘ ตุลาคม จากนั้นจะเป็นวันที่ ๔ เมษายนและ ๒๘ กันยายนปีหน้า พ.ศ. ๒๕๕๘

ครอบครัวเราสนใจเรื่องดาราศาสตร์เป็นพิเศษ เริ่มจากหัวหน้าครอบครัว พอดีตัวเองก็รักท้องฟ้าที่ประกอบด้วยดวงดาวและดวงเดือน เดทครั้งแรก (ตอนนั้นยังอยู่กับผู้ปกครอง คุณประพีร์ หรือ อาพีร์ ที่ถนน KINGSLEY ใน ฮอลลีวูด) รุ่นพี่ที่เรียนคอลเลจเดียวกันมารับไปดูท้องฟ้าจำลองที่ GRIFFITH OBSERVATORY ด้วยความตื่นเต้นและรีบร้อนจำไม่ได้ว่าปิดเตาหุงต้ม (STOVE) หรือเปล่า ต้องให้เดทช่วยขับรถลงมาที่อพาร์ทเม้นท์เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย แล้วขับย้อนขึ้นเขาไปอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องหน้าแตกพอสมควร

หลังจากร่วมชีวิตมี DO-RE-MI ทุกคนจะรู้จักเพลง “จันทร์เจ้าขา ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงให้น้องข้าใส่ ขอรถไฟให้น้องข้านั่ง ขอเตียงตั้งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู......”

เรื่องที่แปลกคือพ่อของหลานๆ ทั้ง ๕ คน สนใจพระจันทร์และดวงดาว (STARS และ PLANETS) เช่นกัน ถึงกับลงทุนซื้อกล้องดูดาวราคาแพงมาให้ตัวเองและเด็กๆ ไว้ดูพระจันทร์กัน วันไหนท้องฟ้าปลอดโปร่ง พระจันทร์สวยเป็นต้องออกไปดู ไปศึกษาตำแหน่งของ PLANETS เช่น ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ ฯลฯ

เมื่อตอน DO-RE-MI ยังอยู่กับพ่อแม่ทุกครั้งที่มี ฝนดาวตก (METEOR) พวกเราจะขับรถออกไปนอกเมืองที่ไม่มีแสงสี จะเห็นดาวตกร่วงลงมาเหมือนสายฝน ท่ามกลางความมืดสนิท คุณผู้อ่านลองคิดดูซิว่าจะสวยเพียงใด !

บ้านหลังแรกของเราอยู่ที่ EAGLE ROCK เด็กๆ จึงต้องไปโรงเรียนในเขตนั้น พอดี DR. EDWIN KRUPP และครอบครัว เป็นชาว E.R. เช่นกัน ลูกชายคนเดียว (ลูกโทน) เลยเป็นเพื่อนกับลูกชายของเราจากอนุบาลจนจบ EAGLE ROCK HIGH SCHOOL และเป็นลูกเสือค่ายเดียวกันภายใต้การดูแลของ DR. KRUPP ผู้อำนวยการของ GRIFFITH OBSERVATORY

ระหว่างนั่งดูข่าวเกี่ยวกับ “พระจันทร์สีเลือด” ได้เห็น DR. KRUPP บนจอโทรทัศน์อธิบายถึงปรากฎการณ์ธรรมชาติในครั้งนี้ ผู้คนแน่นบนหอดูดาว ซึ่งเปิดจนถึงตี ๒ ในคืนนั้น เสียดายที่ไม่มีโอกาสขึ้นไปดูจันทรุปราคาครั้งสำคัญนี้บน GRIFFITH OBSERVATORY ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบครั้งแรกของเราทั้งสอง ได้แต่นั่งดูจากหน้าต่างห้องนอน เห็นชัดเช่นกัน เพียงแต่บรรยากาศต่างกันไม่คึกครื้นเหมือนขึ้นไปบนนั้น MOON-LOVERS (คนรักพระจันทร์) มาจากเมืองต่างๆ ขับรถกันมาไกลๆ น่าสนุก !


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๙ เมษายน ๒๕๕๗