คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



เที่ยวไปกับ “ส.ท่าเกษม”
ถ้าเราจะนัดพบกัน
เมื่อตะวันลับไม้ ฉันไม่หลอกจะบอกให้ อย่าเอ็ดไป สิจงฟัง
ฟัง สิฟัง สักนิด แล้วอย่าคิดว่าฉันสอน ว่าฉันสั่ง
ฟังสิฟัง ฟังกันเล่นเพลินเพลิน แต่มันสุขเหลือเกิน ไม่เชื่อเชิญลองจำ
ถ้าเราจะนัดพบกัน เมื่อตะวันพลบค่ำ
ธรรมชาติชุ่มฉ่ำ ฉ่ำชื้น ชื่นใจ ใต้ร่มไม้ใบบางบาง แสงสว่างรำไรรำไร
ไม่ต้องระวังไม่ต้องระไว จะอายทำไมกับพระจันทร์
ถ้าเราจะนัดพบกัน ควรให้จันทร์เห็นใจ
ลมอ่อนอ่อนพัดผ่าน ชูกิ่งก้านช่อใบ
บ้างก็แกว่งบ้างก็ไกว บ้างเขยื้อนสะเทือนไหว
สะบัดใบไปตามลม ผสมน้ำค้างพร่างพรม
เรไรจิ้งหรีดหวีดผสม ต่างคลอต่างคล้อต่างล่ออารมณ์เรา
ให้ชมให้ชื่นใจ นี่แหละถิ่นนัดพบ
แต่เราไม่พบกับใคร เพียงแต่พบกับธรรมชาติ
แล้วเราก็อาจจะสุขใจ ไม่ต้องไปพบกับใครที่ไหน
เพลินใจ เพลินตา

เพลงนี้ขับร้องกันหลายคน เท่าที่เคยฟังมามี ๓ ศิลปินแห่งชาติ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สุเทพ วงศ์กำแหง จินตนา สุขสถิตย์ และอารีย์ นักดนตรี

เขียนถึงเพลง “นัดพบ” มาหลายครั้งเพิ่งจะทราบเรื่องราวของผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง ไปอ่านพบในหนังสือ ตำนานครูเพลง เพลงไทยสากล ลูกกรุง ของ คีตา พญาไท ท่านเขียนไว้ว่า “....นอกเหนือจาก พรานบูรณ์ แล้ว ไทยเรายังมีครูเพลงรุ่นเก่า ที่ช่วยสร้างสรรค์ สร้างสีสัน ให้แก่วงการเพลงไทยสากลยุคแรกๆ คือ สมประสงค์ รัตนทัศนีย์ ซึ่งเป็นเจ้าของนามปากกา เพชรรัตน์ เป็นบุตรคนเดียวของ คุณหญิงเทียน และ พระยามหิมานุภาพ (เป๋า) ต้นตระกูลผู้รับพระราชทานนามสกุล “รัตนทัศนีย์” จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ......

นามปากกา “เพ็ชร์รัตน์” นั้นได้รับพระราชทานจาก ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เช่นกัน

เพลง นัดพบ ผลงานของ เพ็ชร์รัตน์ เป็นเพลงเอกในละครเรื่อง กระดี่ได้น้ำ ซึ่งมีแนวการร้องแบบละครร้อง ที่มีเสน่ห์น่าฟัง

เนื่องจากตัวเองชอบออกกำลังกายด้วยการเดินและว่ายน้ำ ที่สะดวกที่สุดคือการเดิน เลยต้องหาที่เดินใหม่ๆ แรกทีเดียวเดินอยู่แถวๆนี้จนเบื่อกับเส้นทาง ระยะหลังเลยนั่งรถไปตามสถานที่ต่างๆ แล้วลงเดิน เมื่อเร็วๆ นี้ไปติดใจน้ำผลไม้สดคั้นชนิดต่างๆ ที่ GREEN CRUSH บาร์น้ำผลไม้ใน GLENDALE GALLERIA รสที่อร่อยที่สุดเป็นน้ำผลไม้ที่เขาปั่นเนื้อฝรั่งเป็นชิ้นเล็กๆ ปนไปด้วย ดื่มแล้วสดชื่นดีมีรสฝาดนิดๆ ไม่หวานเจี๊ยบเหมือนน้ำผลไม้รสอื่น !

ขอแนะนำให้จอดรถที่ GLENDALE GALLERIA แล้วเดินทะลุผ่านร้านรวงต่างๆ ออกจากตัวตึก เดินข้ามถนนไปยัง AMERICANA, เป็น SHOPPING MALL กลางแจ้ง นอกจากมีร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ร้านสินค้า ยังมีสนามหญ้ากว้างขวางเขียวขจีอยู่ตรงกลาง ได้ยินเสียงเพลงไพเราะดังมาจากลำโพงที่ติดตั้งไว้รอบบริเวณ จากนักร้องรุ่นเก่าเช่น แฟรงค์ ซินาทร้า อยากเดิน อยากนั่งรถรางผ่านรอบๆ ร้านรวง หรือนั่งพักที่สนามหญ้า ดูน้ำพุ ฟังเพลงได้ทั้งนั้น ภาพแรกถ่ายที่ AMERICANA ใช้มือถือแอนดรอยด์เก็บภาพเช่นกัน จากการที่ชื่นชมสะดุดตากับดอกไม้สีชมพูเต็มต้น!

เรา ๒ คน เป็นสมาชิกที่ HUNTINGTON LIBRARY เลยไปที่นั่นบ่อย ออกกำลังกายไปพลาง ชมสวนดอกไม้ไปพลาง สามารถพาลูกหลานที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เข้าฟรีกี่คนก็ได้ !

มีพรรคพวกถามว่าบุฟเฟ่ต์ในลาสเวกัสที่ไหนดีที่สุด? (คงเห็นว่าไปบ่อย) ส.ท่าเกษม เลยนำรายชื่อบุฟเฟต์จำนวน ๑๐ ท็อปของปี ๒๐๑๖ บนสทริปมาลงให้คุณผู้อ่านดู และขอแนะนำว่า BACCHANAL BUFFET ที่ ซีซ่า พาเลซ ดีที่สุด

๑) STERLING @ BALLY’S (มีแต่ BRUNCH ในวันเสาร์-อาทิตย์)

๒) BACCHANAL @ CAESARS PALACE

๓) BELLAGIO @ BELLAGIO

๔) WYNN

๕) LE VILLAGE @ PARIS

๖) WICKED SPOON @ COSMOPOLITAN

๗) THE BUFFET @ ARIA

๘) VILLAGE SEAFOOD @ RIO SUITES HOTEL

๙) RIO’S CARNIVAL WORLD BUFFET @ RIO HOTEL

๑๐) MIRAGE BUFFET CRAVINGS @ MIRAGE

รายการสุดท้ายสำหรับสัปดาห์นี้ อาทิตย์ที่ ๓ เมษายน อย่าลืมแวะไปชมผลงานชิ้นใหม่ๆ สดๆ ที่สียังแห้งไม่สนิทของ ดร.กมลฯ @ THE ARTCORE BREWERY ANNEX จากบ่ายโมงถึงบ่าย ๓ โมง เวลาบ่าย ๒ โมง ช่วงสนทนากับศิลปิน ๒ ซีกโลกเป็นส่วนตัว ท่านยินดีตอบคำถามต่างๆที่ท่านผู้มีเกียรติสนใจอยากจะทราบเกี่ยวกับงานทางด้านศิลปะทั่วๆไป

ก่อนจากกันเสาร์นี้ ส.ท่าเกษม ขอแสดงความยินดีกับ ดร.กมล ทัศนาญชลี เนื่องในโอกาสที่ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เพิ่มอีก ๒ ปริญญาในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ ท่าน จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและสถาบันศิลปะโอตีส ลอสแองเจลีส MFA OTIS ART INSTITUTE LOS ANGELES CALIFORNIA, U.S.A.

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ทัศนศิลป์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พ.ศ. ๒๕๕๙

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ทัศนศิลป์) มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พ.ศ. ๒๕๕๙

สรุปแล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก ๑๐ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย

เป็นที่ได้รับการยอมรับและยกย่องทั้งในและต่างประเทศ ว่าเป็นศิลปินที่อุทิศตนให้กับการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนส่งเสริมศิลปินและนักวิชาการศิลปะของไทย ในเรื่องการศึกษาและหาประสบการณ์ เป็นผู้ดำเนินการศูนย์ศิลปกรรมไทยและสภาศิลปกรรมไทย เพื่อการเผยแพร่ศิลปะไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ให้บริการสังคมด้วยศิลปะและวิชาการเป็นอย่างดี ถ่ายทอดความรู้และประสบประการณ์เป็นวิทยาทานแก่สถาบันการศึกษาวิชาศิลปะทั้งในและต่างประเทศ


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒ เมษายน ๒๕๕๙