คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



ตำนานรัก... “บ้านนรสิงห์”
ตอน 5 (ทำเนียบรัฐบาล)

ตอนที่แล้วจบลงที่สิ่งตกแต่งภายนอกรอบตึกไทยคู่ฟ้า (ตึกไกรสร) จะเห็นปูนปั้นเป็นรูปไก่ในลักษณะต่างๆ ประดับอยู่ทั่วตัวตึก เป็นเพราะคุณหญิงประจวบ ภริยาของท่านเจ้าของบ้านเกิดปีระกา (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๓ – ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐) ท่านเจ้าคุณรามฯ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศทหารเป็นพลเอกไม่ถึง ๒ เดือนก็เข้าพิธีเสกสมรส วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่ออายุ ๓๔ ปี ในปีต่อมาคุณหญิงประจวบให้กำเนิดธิดาคนแรก มีนามพระราชทานว่า “รุจิรา”

ท่านเจ้าพระยารามฆพ มีสิ่งหนึ่งซึ่งดูจะเป็นหลักชัยของท่าน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะผันผวนอย่างไรและเพียงไร ท่านก็คงไว้ยศรักษาเกียรติท่านอยู่อย่างเต็มภาคภูมิ อันใดที่เป็นสิ่งเชิดชูพระเกียรติคุณของรัชกาลที่ ๖ อันนั้นท่านย่อมมีส่วนเกี่ยวด้วย แม้เมื่อคราวที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตมงคล ทรงทำบุญงานพระชนมายุ ๖๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๙๖ ในงานนั้นได้มีการแสดงโขนตอน สุครีพหักฉัตร ท่านเจ้าพระยารามรามฆพแสดงเป็นตัวพระราม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงเป็นตัวทศกัณฐ์ คุณประจวบ บุรานนท์ แสดงเป็นตัวพระลักษมณ์ คุณประจวบฯ ได้เขียนเล่าไว้ว่า

และก่อนการแสดง ก็ได้ทำพิธีถวายสักการะพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเจ้าพระยารามฯ ได้มาทีหลัง ต้องการจะถวายความสักการะบ้าง แต่หาพระบรมรูปไม่พบ เพราะฝ่ายเจ้าของงานนำไปเก็บเสียแล้ว เที่ยวค้นหาก็ไม่พบ จึงมีบัญชาเรียกหา คุณคึกฤทธิ์ให้มาช่วยสั่งให้หามาให้ได้ และได้ทราบจากคุณชายว่า ถ้าไม่ได้พระบรมรูปพระองค์นั้นแล้ว เจ้าพระยารามฯ จะไม่ออกแสดง ในที่สุดก็หากันจนพบ หลังจากที่ได้จุดธูปเทียนบูชาแล้ว เจ้าพระยารามฯ จึงได้เล่าฝันประหลาดให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จมาเข้าฝันแล้วรับสั่งว่า “คุณคึกฤทธิ์เขามาเล่นโขนร่วมกับเธอ เพราะฉะนั้น เธอต้องให้แหวนเพชรเขาวงหนึ่ง” แล้วท่านเจ้าคุณก็หยิบแหวนทองคำประดับด้วยเพชรซีก เป็นรูปแหวนมณฑปมาสวมนิ้วให้แก่ผู้ที่แสดงเป็นทศกัณฐ์ คู่อริของพระราม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตวันที่ ๒๖ พ.ย. ๒๔๖๘ (๔๕ พรรษา) ดำรงราชสมบัติรวม ๑๕ ปี หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แล้ว ได้กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ร.๗ ไปศึกษาวิชาอักษรศาสตร์และทางการทหารที่ประเทศอังกฤษ ท่านเจ้าคุณรามฯ ให้สัมภาษณ์ น.ส.พ. “เสนาศึกษา” ไว้ว่า การไปครั้งนี้มีข่าวลืออะไรกันไปต่างๆ มาก อย่างที่คุณสงสัย แท้จริงก็ไม่มีอะไรสักนิด ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงโจษกันไปเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานค่าเดินทางให้ทั้งหมด แต่ค่าใช้สอยตลอดจนค่าเล่าเรียนระหว่างที่อยู่ในอังกฤษนั้น เป็นของส่วนตัวผมเอง” ท่านอยู่ที่อังกฤษจากวันที่ ๖ มิ.ย. ๒๔๖๙ ถึง วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๒๔๗๖ รวม ๗ ปีครึ่ง ระหว่างนั้นได้เล่าถึงการเรียนของท่านไว้ในจดหมายลงวันที่ ๙ พ.ค. ๒๔๗๑ ถึงน้องชาย พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ตอนหนึ่งมีว่า “การกลับของพี่ยังไม่ต่ำกว่าอีก ๓ ปี เพราะเวลานี้ก็พอพูดจาได้ แต่การหนังสือยังอ่อนมาก พี่เรียนไปพลางดูงานพลางปนกัน เวลาที่อยู่ในลอนดอนก็เรียนการปกครอง และจะดูการปกครองทั่งทั้งอังกฤษและสินค้าทั่วไปด้วย การทหารก็ได้ไปดูบ้างแล้วหลายแห่งทั้งทางบกและทางเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ของทหารเรือก็ไปดูแล้ว และดูอย่างจริงจังต้องค้างคืน บางอย่างเขาก็สอนให้ทีเดียว แปลว่าดูการแถมเรียนไปในตัวเพราะเป็นผู้ใหญ่แล้ว เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ไม่ให้เสียชื่อว่าแต่งทหารเล่นเปล่าๆ…..”

เมื่อท่านเดินทางไปศึกษายังประเทศอังกฤษนั้นบ้าน “นรสิงห์” ซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์จึงต้องระวังในการใช้จ่ายดังจะเห็นได้จากจดหมายอีกฉบับที่ท่านเขียนถึงน้องชายของท่าน “พี่ขอบใจมากที่เธอเตือนสติพี่มาเรื่องใช้เงินใช้ทองที่ยุโรป พี่ก็ระวังอยู่แล้ว แต่เป็นปีแรกก็ต้องเปลืองหน่อยเป็นธรรมดา แต่ปีต่อๆ ไปคงถูกลงเป็นแน่....” นอกจากนี้ท่านกล่าวถึงเรื่องรถพึ่งบุญ และที่ดินที่ถนนราชดำริห์ ที่มีคนมาขอซื้อ “....พี่ได้ไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าถ้าได้ราคาสมควรก็ควรขาย เพราะเป็นของนอกกาย ถ้ามีเงินก็หาเอาใหม่ได้ ประกอบทั้งเวลานี้ก็ต้องการเงินอยู่ด้วย ขายได้เงินมาก็จะได้ทำบ้านเสียให้แล้ว และใช้หนี้พระคลังข้างที่ด้วย เวลานี้เสียดอกเบี้ยอยู่ถึงเดือนละ ๕๐๐ บาทเศษ นอกนั้นจะได้เก็บเป็นทุนบำรุงความสุข ซึ่งเหน็ดเหนื่อยมาถึง ๒๓ ปีเต็ม ทั้งจะได้เป็นค่าเล่าเรียนของตัวและบุตรีภรรยา....”

อีกฉบับมีว่า “....ส่วนการใช้จ่ายของพี่ทางนี้ก็ได้ระมัดระวังอย่างมากแล้ว ตั้งแต่ออกมายังมิได้ซื้ออะไรเป็นชิ้นเป็นอันราคาถึงพันบาทเลย นอกจากรถยนตร์อย่างเดียว นั่นเห็นว่าเป็นของจำเป็น....” ทั้งยังเขียนว่า เสื้อผ้าก็มีมาจากเมืองไทย ไม่ต้องตัดที่นี่นับว่าทุ่นไปได้อีก

ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ คุณหญิงประจวบหรือคุณแม่หญิงของพวกเราให้กำเนิดบุตรอีกคน ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ร.๗ ว่า “มานน”

เป็นที่น่าเสียดายที่ต่อมาภายหลังท่านเจ้าคุณรามฯ และคุณหญิงประจวบได้แยกทางเดิน แต่ก็ยังมีสัมพันธ์ไมตรีที่ดี นั่นคือสาเหตุที่มาของคำว่า “คุณแม่หญิง” พวกเรารักเคารพนับถือท่านประหนึ่งญาติผู้ใหญ่ไปมาหาสู่กัน

ขอย้อนกล่าวไปถึง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ท่านให้ความรักความเมตตา แด่ท่านเจ้าคุณรามฯ และ เจ้าคุณอนิรุธเทวา อาจจะเป็นเพราะท่านทำงานถวายเบื้องพระยุคลบาท ล้นเกล้าฯ ร.๖ มาด้วยกันอย่างใกล้ชิด

ในสมุดบันทึกปกแดงของท่านเจ้าคุณรามฯ วันที่ ๑๙ ส.ค. ๒๔๖๗ ส่วนหนึ่งบันทึกไว้ว่า “...เย็นไปเฝ้ากรมพระนเรศ คุณจอมมารดาแส เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ยาม ๑ มีเลี้ยงบ้านพระยาอนิรุทธฯ ในการฉลองลงทะเบียน คุณสุวัทนาเป็นเจ้าจอม เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ และฉลองเราแต่งงานด้วย”

และในวันที่ ๒๘ ส.ค. ท่านเจ้าคุณรามฯ บันทึกว่า “... ๒ โมงเช้าไปเล่นกอล์ฟสปอร์ตคลับกับพระชลาลัยวิชิต เที่ยง เจ้าคุณพระประยูรวงศ์มาหา....” เจ้าคุณพระฯ มีบ้านพระราชทาน ณ ตำบลสามเสน จังหวัดพระนครตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ มีชื่อว่า “สวนสุพรรณ” ซึ่งบิดามารดาสมัยก่อนมักจะพาลูกสาวไปฝากให้เรียนรู้มารยาทของกุลสตรี การร้องรำละครกับเจ้าคุณพระฯ เด็กผู้หญิงวัยรุ่นเหล่านั้นมีคุณแม่ๆ ของพวกเรารวมอยู่ด้วย นอกจาก “สวนสุพรรณ” แล้ว เจ้าคุณพระฯ ต้องไปพำนักประจำหลังรดน้ำสงกรานต์คืออ่าวเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์ เพราะท่านได้ไปปลูกบ้านตากอากาศไว้ที่นั่น และเมื่อท่านเจ้าคุณรามฯ ไปพักตากอากาศที่เกาะหลัก จึงได้พบกับคุณแม่ๆ ของพวกเราที่ตามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์หรือเจ้าคุณย่าไปเป็นคณะใหญ่ และท่านเจ้าพระยาหนุ่มโสด พลเอกแห่งกองทัพบกก็ได้พบสาวชาววังที่ “เกาะหลัก”


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๐ กันยายน ๒๕๕๗