คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



เที่ยวบาร์หลังเกษียณ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาได้รับเท๊กซจากสมาชิกครอบครัวคนกลางชวนไปเที่ยวบาร์ มีใจความว่าตัวเธอจะไปบาร์ที่สวยมากแห่งหนึ่งกับเพื่อนๆ อีก ๒-๓ คน ประมาณซัก ๑ ชั่วโมงในตอน ๒ ทุ่ม ถามว่าเรา ๒ คนจะไปร่วมสังสรรค์ด้วยกันไหม ? เธอใช้คำว่า “PRETTY BAR !” เลยถามไปว่า “PRETTY BAR นั้นอยู่ที่ไหน ?” ความที่ไม่เคยเที่ยวบาร์ที่นี่ ครั้งสุดท้ายคงที่เมืองไทย หลังเลิกจากไนท์คลับแล้วจะต้องไปหาของว่างทานกัน บางทีจะเป็นข้าวต้มกุ๋ย หน้า ร.พ.กลาง บางทีจะไปต่อที่บาร์แถวพัฒน์พงศ์ นอกจากจะมีของว่างอร่อยๆ แล้ว ยังมีเสียงเพลงจากนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ให้ฟังด้วย มีเครื่องดนตรี ๒-๓ ชิ้น บางครั้งจะมีเพียงเปียโนตัวเดียว ส.ท่าเกษม อยู่หางแถว พี่ๆ ไปไหนก็ตามไปด้วย ไม่มีสิทธิเลือกว่าจะรับประทานอะไร ราดหน้าแถววังบูรพาก็อร่อย บะหมี่ราชวงศ์ยิ่งอร่อยเข้าไปอีกแถมด้วยคอฟฟี่ไอศครีมแบบเหนียวหนึบรสกลมกล่อม มาอยู่ที่นี่เลือกอยู่หลายชนิด ที่ใกล้เคียงกับของร้านสีฟ้าเห็นจะเป็นของ HAAGEN-DAZE ซึ่งต้องมีติดอยู่ในช่องน้ำแข็งเป็นประจำ เลยตกทอดไปถึงนายแม๊กซ ชอบมากเช่นกัน “ของโปรด” ว่างั้นเถอะ !

อย่างที่กล่าวว่าความที่ไม่เคยเที่ยวบาร์ ถ้าไม่นับบาร์ตามโฮเต็ลที่ลาสเวกัส เลยถามไปถึงเรื่องอาหาร ในบาร์เขาบริการอาหารไหม เผื่ออย่างไงจะได้รับประทานอาหารไปก่อน ได้คำตอบว่ามีอาหารเบาๆ พวกรับประทานเล่นๆ (แต่ถ้ารับประทานจริงๆ ก็อิ่มได้ ประโยคนี้ ส.ท่าเกษมพูดเอง)

สรุปแล้วมีพวก APPERTIZERS ที่เป็นเมนูตำราอาหารมาจาก ค.ศ. ๑๙๔๑ รวมทั้งเครื่องดื่มด้วย น่าสนใจใช่ไหมว่ามีอะไรบ้าง? แซนวิชไก่อร่อยมาก ใส่มาเป็นชิ้นยาวๆ ไม่บดเป็นชิ้นเล็กๆ แบบที่เคยสั่งในร้านอาหารอื่น สิ่งที่ประทับใจคือพอผู้จัดการทราบว่าเป็นวันเกิดของ RAYMOND สหรัฐ ก็ริน FREE DRINK ต้อนรับเลย

IDLE HOUR CAFÉ นี่เป็นเสมือน LANDMARK (จุดหรือสถานที่สังเกต ของ NORTH HOLLYWOOD) นานมาแล้วเป็นสิบๆ ปี มีบาร์เป็นรูปถังบรรจุสุราเมรัยนี้หลายใบในแอล.เอ. แต่ที่เหลืออยู่ใบเดียวเวลานี้คือที่ IDLE HOUR CAFÉ IN NORTH HOLLYWOOD เปิดครั้งแรกในปี ๑๙๔๑ เจ้าของชื่อ MICHAEL D. CONNOLLY เป็นนายช่างทางภาพยนตร์อยู่ที่ UNIVERSAL STUDIOS สร้างโดยนักวิศวกรจาก SILVER LAKE ชื่อ GEORGE F. FORDYK เจ้าของคือไมเคิลอาศัย อยู่ในอพาร์ทเม้นท์ข้างบนคาเฟ่กับภรรยาไอรีนจนหย่าร้างจากกัน ไมเคิลย้ายออก ไอรีนอยู่คนเดียวและภายหลังขายให้สามีภรรยา JOSE และ DOROLES FERNANDEZ ในปี ๑๙๗๑ ซึ่งเปิดอีกครั้งเป็นแบบ FLAMENCO DINNER THEATER ชื่อว่า LA CANA และปิดในปี ๑๙๘๔ แต่ โดเรเรสยังอาศัยอยู่ข้างบนคาเฟ่จน ๒๐๐๙ ตัวอาคารกลายเป็น LANDMARK เพราะรูปร่างที่แปลกไม่เหมือนใครอื่น

ในที่สุด ๑๙๓๓ GROUP ที่ประกอบด้วย THIRSTY GROW, OLDFIELD’S, BIGFOOTS EAST AND WEST ซื้อต่อไปในปี ๒๐๑๑ ทุ่มเงิน ๑.๕ ล้านเหรียญซ่อมแซมบูรณะอย่างน่าทึ่ง เดินเข้าไปแล้วมีความรู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย โล่งๆ เรียบๆ ไม่หรูหราเหมือนกับที่ใช้เงินไป ๑.๕ ล้านเหรียญ แต่ถ้าเดินพิจารณาดูใกล้ๆ จะเห็นว่าโครงสร้างประกอบตกแต่งด้วยไม้เนื้อดีล้วนๆ แถมโค้งไปตามรูปถัง ไม่ใช่ง่ายๆ เลยเป็นงานที่ละเอียดมาก

ลานข้างนอกต่อจากตัวบาร์หรือคาเฟ่น่านั่ง สบายๆ เหมาะสำหรับเพื่อนฝูงจับกลุ่มสนทนาหรือประชุมแบบไม่เป็นทางการ ได้ยินเสียงดนตรีแจ๊ซเบาๆ ส.ท่าเกษม ขอขนมมีเทียนปักจะได้ร้องเพลง HAPPY BIRTHDAY ให้เรย์มอนด์ ปรากฎว่าบริการช้ามาก แขกเต็ม PATIO พอนำขนมมาให้ พนักงานเสิร์ฟขอโทษขอโพยและแถมให้อีกจานไม่คิดเงิน คล้ายๆ กับเป็นการขอโทษไปในตัวเลยได้ลูกค้าประจำ ผู้จัดการเห็นเรายิ้มแย้มแจ่มใสเข้าใจสถานการณ์ เพราะร้านเพิ่งเปิดบริการเป็นการอุ่นเครื่อง พวกเราจะกลับไปอีก เซียร่าภรรยาเรย์มอนด์ ทำงานอยู่ที่สตูดิโอแถวๆ นั้นเดินถึงกันได้ ตั้งใจจะชวนเพื่อนๆ มารับประทานและดื่มที่นี่ สรุปแล้วบรรยากาศดีมีไฟเล็กๆ ประดับตามกิ่งก้านของต้นไม้ มีอิฐก่อไฟ (BONFIRE)


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘