คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





ขอต้อนรับ...พูลสุข (ครูดำ) สุริยพงษ์รังสี หัวหน้าวงดนตรี “สุนทราภรณ์”
คิดถึงใจจะขาดแล้วเอย
คิดถึงที่เคยได้ชมได้เชยชื่นใจ
คิดถึงรอยยิ้มเพราพริ้มผ่องใส
คิดถึงจนใจจะขาดรอนรอน

คิดถึงแต่ดวงหน้าหวานละมุน
คิดถึงไออุ่นที่เคยได้หนุนตักนอน
คิดถึงแต่เสียงกระซิบอ้อนซ้อน
คิดถึงจนนอนละเมอทุกวัน
*** (ซ้ำ) สัมผัสรักน้อมอ้อมกอด
ฉะอ้อนออดนุ่มนวลชวนให้ฝัน
ยังฝังใจชื่นทั้งคืนทั้งวัน
เราเคยรักกันลืมแล้วหรือดวงใจ

คิดถึงใจจะขาดร้าวรอน
คิดถึงความก่อนให้สะท้อนร่ำไป
คิดถึงแต่รสจุมพิตติดใจ
คิดหวนอาลัยไม่รู้ลืม

เพลง “คิดถึง” เนื้อร้องจากหนังสือ “พระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์”
ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน
คำร้อง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล
ขับร้อง สุนทราภรณ์

ครูดำ เป็นคนจังหวัดธนบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ มีชื่อเล่นว่า “ดำ” ซี่งเพราะมีผิวกายดำสมชื่อ หรือจะเรียกว่า “DRUM” ที่แปลว่า กลอง ก็ได้ เพราะ ครูดำ เล่นดนตรีกลองเพียงอย่างเดียวเรื่อยมาตั้งแต่ต้นจนภายหลังได้ตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีของคณะ สุนทราภรณ์

ครูดำ เป็นบุตรชายของ นายปรีฑีย์ มิซซรา และ นางสมคิด สุดเสวต ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของ นางปาน พี่สาวคนเดียวของ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ดังนั้น ครูดำ จึงมีศักดิ์เป็นหลานตาแท้ๆ ของ ครูเอื้อ ผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เนื่องจากชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างจะไม่ใส่ใจในการเรียนจนบิดามารดาต้องส่งให้มาอยู่ในความปกครองของ คุณตาเอื้อ จะได้คอยกำราบอย่างจริงจังตั้งแต่อายุได้ ๘ ขวบ ซึ่งคุณตาได้หมายมั่นปั้นมือให้หลานชายเอาดีทางด้านกฎหมายเป็นทนายความ เพราะมีเพื่อนสนิทเป็นทนายความใหญ่คือ คุณชมพู อรรถจินดา

เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนคอนแวนต์หลัง ร.ร.เซนต์คาเบรียล ต่อที่ ร.ร.เทเวศร์ศึกษา ร.ร.นันทศึกษาราชวัตร และจบ ๘ ที่ ร.ร.ไพศาลศิลป์ ช่วงนั้นดนตรีชาโดว์กำลังดังในประเทศไทยเลยสนใจอยากเป็นนักดนตรี และยังได้เห็นนักดนตรีวง สุนทรภรณ์ ซ้อมกันอยู่เสมอ แต่แววความเป็นศิลปินของ ครูดำ เริ่มฉายในช่วงศึกษาอยู่ชั้นประถมที่ ๔ โดยได้เข้าประกวดขับร้องเพลงของโรงเรียน ไทยานุศาสตร์ ซึ่งเรียนอยู่ในขณะนั้น ด.ช.พูลสุข สุริยพงษ์รังสี ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” มาขับร้อง (เพลงบังคับ) และเพลง “สุดที่รัก” ของ สุเทพ วงศ์กำแหง (ปัจจุบัน ร.ต. สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งกำลังโด่งดังมากในขณะนั้น มาขับร้องเป็นเพลงเลือกและได้รับรางวัลชนะเลิศ

ต่อมา ด.ช. พูลสุข ได้เข้าประกวดขับร้องเพลงในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ โดยได้เลือกเพลง “คิดถึง” ของ คุณตาเอื้อ มาเป็นเพลงประกวด ปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศอีกเช่นกัน

คุณผู้อ่านคงจะแปลกใจถ้าจะเรียนให้ทราบว่า นักร้องที่ชื่นชอบเป็นอย่างยิ่งของ ครูดำ คือ เอลวิส เพรสลี่ย์ ด้วยลีลาการเต้นระหว่างร้องเพลงจึงมีสมญาว่า “ราชาโยกและคลึง” และครูดำก็ได้มีโอกาสไปเยือน “GRACELAND” คฤหาสน์ใหญ่ในบริเวณมโหฬารของนักร้องคนโปรดที่ MEMPHIS, TENNESSEE ครูดำ ได้รับการถ่ายทอดวิชาทางด้านดนตรีแนว สุนทราภรณ์ จาก คุณตาเอื้อ บรมครูคนสำคัญ และครูดนตรีท่านอื่นๆ รวมทั้งมือกลองชั้นยอดอีกหลายท่าน เช่น ครูสาลี่ กล่อมอาภา, ครูสมชาย ปัญญาลักษณ์ และ ครูอธึก นิลจันทร์ ตัว ครูดำ มีโอกาสแจ้งเกิดในงานลีลาศของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยที่มี คุณชมพู อรรถจินดา เป็นหัวเรือใหญ่ เพราะมือกลองของวงยังไม่ถอนเมาเลยได้ทำหน้าที่แทน ครูดำ สารภาพว่า “ดีใจเป็นที่สุด หลังจากหัดตีกลองมานานพอดู ! ”

ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ครูดำ ได้รับการบรรจุเข้าทำงานเป็นนักดนตรีในตำแหน่ง “มือกลอง” ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๔๐๐ บาท ซึ่งนับว่ามากทีเดียวในเวลานั้น ก่อนหน้านั้นระหว่างที่ซ้อมกลองอยู่มีหน้าที่ประจำคือเป็นเด็กขนเครื่องดนตรี และรับใช้บริการนักดนตรีรุ่นพี่ๆ ซ้อมกลองอยู่หลายเดือน คุณตาเอื้อ เห็นแววว่าน่าจะเป็นนักร้องได้ จึงตั้งชื่อว่า “กวี สุริยธานินทร์” ซึ่งที่มาของชื่อก็มาจากนามสกุล “สุริยพงษ์รังษี” นั่นเอง แต่กลับหันไปเอาดีทางด้านตีกลองเพราะรายได้ดีกว่านักร้อง เมื่อครั้งที่ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ไปทอดผ้าป่า ณ วัดป่าหลวงพ่อหอม จ.ระนอง ครูดำ ได้แหวกแนวไปขับร้องเพลง BLUE SUEDE SHOES ของ เอลวิส เพรสลี่ย์

พ.ศ.๒๕๑๓ ครูดำ ลาออกจาก “กรมประชาสัมพันธ์” พร้อมกับที่ คุณตาเอื้อ เกษียณอายุราชการ หลังจากนั้นไม่นานในปี ๒๕๑๕ คุณตาเอื้อ ได้มอบหมายหน้าที่ใน วงดนตรีสุนทราภรณ์ ให้ ครูดำ เป็นผู้ช่วยดูแลมาโดยตลอด และหลังจาก ครูสริ ยงยุทธ มือเปียโนเพื่อนสนิทของ ครูเอื้อ ที่เป็นศิษย์ ท่านอาจารย์พระเจนดุริยางค์ มาด้วยกัน วางมือจากการเป็นหัวหน้าวงดนตรีฯ ต่อจาก ครูเอื้อ เมื่อปี ๒๕๓๐ ครูดำ จึงรับหน้าที่ต่อมาตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

ช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตคือราวต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๓ ครูตาเอื้อ ขอร้องแกมบังคับให้ร่วมขบวนไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ครูเอื้อ กราบบังคมทูลรายงานว่า จะให้หลานชายคนนี้เป็นผู้ควบคุมดูแล วงดนตรีสุนทราภรณ์ และถวายความจงรักภักดีต่อ พระบรมราชจักรีวงศ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายน้ำมนต์ของ หลวงปู่แหวน ให้เป็นพิเศษ ยังความปลื้มปิติหาที่สุดมิได้ให้แก่ ครูดำ

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นวันที่ ครูดำ ต้องจดจำอย่างไม่รู้ลืม เพราะเป็นวันที่ คุณตาเอื้อ สิ้นบุญและจากทุกๆ คนไปอย่างไม่มีวันกลับ ครูดำ กล่าวว่า “พระคุณของ คุณตาเอื้อ และ คุณยายอาภรณ์ นั้นมีต่อตนเป็นล้นพ้นไม่มีวันเลือนหายไปจากความรู้สึกได้เลย และไม่มีอะไรที่จะทำให้ตนต้องจาก วงดนตรีสุนทรภรณ์ ไปได้ นอกเสียจากว่าจะสิ้นลมหายใจไปก่อนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ สุนทราภรณ์ เป็นชีวิตจิตใจ เป็นความภาคภูมิและจะขอรัก สุนทราภรณ์ ตลอดไป...”

และวันนี้...วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน คอนเสิร์ตสุนทราภรณ์ เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แสดง ณ หอประชุมพาโนราม่า ไฮสคูล ส. ท่าเกษม ขอต้อนรับ ครูดำ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ มา ณ ที่นี้ด้วย


หมายเหตุ ข้อมูลจากหนังสือ “พระเจ้าทั้งห้า ฯ” ขอบคุณ คุณรุจิโรจ เอี่ยมลำเนา ที่ส่งข้อมูลเพิ่มเติมและรูปสวยๆ มาให้ ขณะท่องเที่ยวอยู่แถว SCANDINAVIA


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๓ กันยายน ๒๕๕๙