คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





เสี้ยวหนึ่งของชีวิต… “จงรัก จันทร์คณา”
ครูเพลงไทยสากลลูกกรุงแห่งรัตนโกสินทร์
จากกันไปนานหลายปี
ไม่มี ข่าวและวี่แวว
คิดว่า ลืมฉันเสียแล้ว
ยังนึกเสียดายดวงแก้วที่หลุดลอยไป
แต่วันนี้โลกหมุนกลับ
จันทร์ที่ลับ หวนคืนฟ้าใหม่
ไฟรัก จวนเจียนมอดหมดใจ
ก็คุขึ้นมาใหม่จุดที่ปลาย ใจเบาเบา
*(ซ้ำ) อยากโผเข้าหาอ้อมกอด
อยากอ้อน ออดถามความเก่า
คิดถึง ฉันบ้างหรือเปล่า
เธอยังเหมือนชายคนเก่าอยู่หรือเปล่าหนอ
แต่พอนึกขึ้นมาได้
ใจเหี่ยวหาย เหมือนใบไม้ห่อ
สงสาร คนที่บ้านจะรอ
ได้แต่แอบพ้อเธอให้รอ นานเกินไป

เพลง "นานเกินรอ"
ขับร้อง โดย…สวลี ผกาพันธุ์
คำร้องและทำนอง โดย…จงรัก จันทร์คณา

เสาร์ที่แล้วคุยถึงเพลง “จงรัก” ของ จงรักที่แต่งทั้งคำร้องและทำนองตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จนทุกวันนี้นักร้องอาชีพและนักร้องสมัครเล่นยังคงร้องกันอยู่ ที่สำคัญคือยังเป็นเพลงที่นักฟังเพลงชอบฟังกันแบบไม่เบื่อหน่าย เพลงขึ้นทีไร จะปรบมือกันกราวใหญ่ตั้งใจฟัง บ้างก็ร้องตาม เพลงนี้ยั่งยืนมานานถึง ๔๑ ปี และยังคงเป็นเพลงประทับใจของแฟนเพลงไปอีกนานเท่านาน....

คุณผู้อ่านคงไม่แปลกใจ ถ้าจะเรียนให้ทราบว่า เพลงนี้เป็นเพลงประจำตัวของครูจงรัก จันทร์คณา ไปโดยปริยาย และเป็นเพลงที่ท่านร้องได้ไพเราะที่สุดในชีวิตเพราะในบรรดาเพลงดังๆ ทั้งหลาย เพลงนี้บอกความเป็นตัวตนที่แท้จริงของครูจงรัก ท่านชอบร้องเพลงมาก่อนที่จะเป็นนักแต่งเพลง ดังที่ท่านเขียนไว้ใน หนังสือคอนเสิร์ต มหกรรมดนตรี เพลงไทยยุคทอง ๑๒ ครูเพลง “...สมัยเป็นนักเรียนข้าพเจ้าชอบร้องเพลง ฟังเพลง นักร้องขวัญใจของข้าพเจ้าก็มี สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ งามเมือง (นันทนาคร) และ นริศ อารีย์ ว่างจากอ่านหนังสือ ข้าพเจ้าจะเปิดวิทยุฟังเพลง หมุนคลื่นไปเจอนักร้องคนโปรด ก็จะหยุดฟังแล้วร้องตาม...”

ครูจงรักเกิดเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๑ ที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนสุดท้องของ พรานบูรพ์ เป็นผู้ที่รับมรดกด้านศิลปะมาจากบิดาโดยแท้ เพลงจากสมองของครูจงรักติดอันดับเพลงยอดนิยม ถ้าเป็นคนที่นี่คงจะพูดว่า “LIKE FATHER, LIKE SON !” หรือสมัยนี้คงจะเป็น GOOD DNA! ซึ่งก็หมายถึง “GOOD GENES (GENETICS) นั่นเอง ! ส่วน ดีเอ็นเอ (DNA) คือชื่อย่อของสารพันธุกรรม มีชื่อแบบเต็มว่า ดีออกซีไรโบนิวเคลอิก แอซิด (DEOXYRIBONUCLEIC ACID) ทำการเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ เอาไว้ ซึ่งมีลักษณะที่มีการผสมผสานมาจากสิ่งที่มีชีวิตรุ่นก่อน ก็คือรุ่นพ่อและแม่ทั้งยังสามารถถ่ายทอดลักษณะไปยังสิ่งมีชีวิตรุ่นถัดไป ซึ่งก็คือรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน (OFFSPRING) นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกแต่จริง เพราะเกิดกับครอบครัวของ ส.ท่าเกษม เช่นกัน ในด้านถ่ายทอดศิลปะ

คีตา พญาไท เขียนถึงครูจงรักว่าเป็น “ลูกไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้นของครูพรานบูรพ์” ส่วนครูจงรักเองก็เขียนไว้ใน “หนังสือ จงรัก จันทร์คณา เล่าเบื้องหลังเพลงดัง” ว่า “พ่ออยากให้ข้าพเจ้าเป็นอย่างพ่อ !” จากผลงานเพลงรักอมตะทั้งหลายเป็นข้อพิสูจน์ที่เราๆ ท่านๆ ต้องยอมรับกันอย่างเต็มอกว่า ครูจงรัก คือผู้ที่มี “พรสวรรค์” และความสามารถ เดินตามรอยเท้าบิดาของท่านคือ ครูพรานบูรพ์

ในหนังสือครูเพลง ครูจงรักเขียนถึง “พรสวรรค์” ไว้ดังนี้ “....เขากล่าวว่า นักแต่งเพลง คือคนที่มีพรสวรรค์ เป็นคนที่สวรรค์ ให้มาเกิดพร้อมให้พรมา เพื่อสร้างเพลง ไม่ให้โลกเหงา ปลอดทุกข์ให้คลายโศก ปลุกโลกให้ตื่นด้วยความรัก แต่...สำหรับข้าพเจ้า ไม่ค่อยแน่ใจนักว่า สวรรค์ให้พรมาหรือเปล่า ข้าพเจ้าว่า ถูกสิ่งแวดล้อมกล่อมเกลาเสียมากกว่า....”

บิดาข้าพเจ้าเป็นนักแต่งเพลง และเป็นคนแรกของประเทศไทยที่แต่งเพลงไทยสากลเสียด้วย (เขายกย่องกันยังงั้น) มารดา (นางเทียมน้อย นวโชติ) ของ ข้าพเจ้าเป็นนางละคร เพราะบิดาข้าพเจ้าเป็นเจ้าของ คณะละครจันทโรภาส....”

จะสังเกตได้ว่าครูจงรักเป็นผู้ที่เทิดทูนและจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ท่านเขียนไว้ใน หนังสือจงรักฯ เล่าเบื้องหลังเพลงดังว่า... “๕ ธันวาคม มหาราชคือวันพ่อ ซึ่งข้าพเจ้าโชคดี ที่ได้บารมีแห่งพระองค์ปกกระหม่อม เกิดในวันเดียวกันนี้เช่นกัน จึงถือเอาฤกษ์ดีนี้ เป็นฤกษ์กำเนิดฺหนังสือ เบื้องหลังเพลงดัง ฉบับปฐมฤกษ์....”

เหมือนคนละฟากฟ้า เป็นเพลงแรกและครั้งแรกในชีวิตที่ได้บันทึกเสียงสู่ผู้ฟังเพลงทั้งแผ่นดิน เนื่องจาก ครูมนัส ปิติสานต์ ขาดเพลงที่จะอัดลงโควต้าที่ให้กับห้างแผ่นเสียงอยู่เพลงหนึ่ง จึงเอาเพลงที่ครูจงรักแต่งไว้ในสมุดไปอัดเสียง ท่านเขียนไว้ว่า “เพราะเพลงนี้ เพลงเดียวทำให้ข้าพเจ้าเกิด ทำให้ได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ทำให้วงการเพลงยอมรับข้าพเจ้า และทำให้ห้างแผ่นเสียงมีใบสั่งเพลงจากข้าพเจ้าอย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้าต้องแต่งเพลงเพิ่มมากขึ้นและให้ดีขึ้นมีคุณภาพขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อชื่อเสียงของ จงรัก จันทร์คณา จะได้ไม่เป็นที่ผิดหวังของพ่ออีกต่อไป !”

ดังที่คุยไว้เสาร์ที่แล้วว่ามีเพื่อนร่วมรุ่น ๗๑ OSK สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบของครูจงรัก เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๔ คือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ท่านเป็นลูกชายคนโปรดของป๋าเปรมประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ๓ สมัยชอบร้องเพลง “คนเดียวในดวงใจ” ของ ทิพย์ประภา ช่วงที่นั่งทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาล (บ้านนรสิงห์) ส.ท่าเกษม เคยเห็นภาพของ พลเอกสุรยุทธ์ฯ ยืนร้องเพลง มือหนึ่งถือไมโครโฟน อีกมือหนึ่งถือ “กุหลาบแดง ๑ ดอก” ในงานเลี้ยงสังสรรค์ “ศิษย์เก่าสวนกุหลาบ” ณ ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ GrandMonte ที่มีคุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ศิษย์เก่าสวนกุหลาบ เพื่อนเก่า (ที่ไม่แก่) ของ ส.ท่าเกษม สมัยวัยรุ่นที่บ้านท่าเกษม เป็นเจ้าของไร่องุ่นพันธุ์ดีและผลิตไวน์องุ่นระดับอินเตอร์ เผลอๆ บิ๊กแอ่ดอาจ ร้องเพลง “จงรัก” (ของเพื่อนร่วมรุ่นคือครูจงรัก) ให้พันเอกหญิง ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ (สันทัดเวช) ฟัง ถึงคืนนั้นท่านอาจจะไม่ได้ร้องเพลง “จงรัก” แต่มั่นใจว่า พลเอก สุรยุทธ์ฯ ร้องเพลงนี้ได้ หรือใครจะพนันกับ ส.ท่าเกษม ! โปรดอย่าถามว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต และโปรดอย่าถามว่าอดีตฉันเคยรักใคร....

หมายเหตุ (วิกิพีเดีย) พล.อ.สุรยุทธ์ นั้นมีชื่อเล่นว่า “แอ่ด” คือมาจากชื่อของรถรบสมัยนั้น ที่ทหารม้าหรือทหารรถรบ (ม้าเหล็ก) ตั้งฉายาว่า “รุ่นไอ้แอ่ด” คุณพ่อของ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงเอาชื่อเล่นของรถถังรุ่นไอ้แอ่ดมาเป็นชื่อเล่นของลูกชาย ดังนั้น ที่เรียกกันว่า “แอ๊ด” หรือ “บิ๊กแอ๊ด” นั้น จึงเป็นการเรียกผิดและเขียนผิด เปลี่ยนชื่อกันไปเองโดยความเข้าใจผิด เพราะชื่อเล่นที่แท้นั้นคือ “แอ่ด” คือออกเสียงเป็น ไม้เอก ไม่ใช่ไม้ตรี[


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๓๑ มกราคม ๒๕๕๘